กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงห่วงป่าน่าน การอนุรักษ์ต้องเร่งลงมือทำ

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงห่วงป่าน่าน การอนุรักษ์ต้องเร่งลงมือทำ

ด้วยทอดพระเนตรพื้นที่ป่าจังหวัดน่านเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว และทรงตระหนักถึงความจำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้ให้คืนสู่สมดุลโดยเร็วที่สุด

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ร่วมมือจัดประชุมสัมมนา “รักษ์ป่าน่าน” เพื่อร่วมกันหาทางแก้ไข และเสด็จฯไปทรงเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาด้วยพระองค์เองทุกปี เช่นเดียวกับการประชุมสัมมนารักษ์ป่าน่าน ครั้งที่ 4 ณ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน

การนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรนิทรรศการของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่มารายงานความคืบหน้ากิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการรักษ์ป่าน่าน จากนั้นทรงเปิดงาน โดยมี นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เฝ้าฯ รับเสด็จ พร้อมกันนี้ได้พระราชทานพระราชดำรัสและทรงบรรยาย “สร้างป่า สร้างรายได้” ความสำคัญตอนหนึ่งว่า

“เราทั้งหลายทราบกันดีว่าการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าที่ถูกทำลายไปมากแล้วเป็นงานยาก และมีรายละเอียดมากมาย กว่าจะเห็นผลต้องใช้ระยะเวลานาน ระหว่างทำงานก็ต้องพบกับอุปสรรคใหญ่น้อยที่ทำให้งานขาดความราบรื่น แต่ถ้าเราไม่ลงมือทำตั้งแต่บัดนี้ ในวันข้างหน้าความยากลำบากต้องเกิดแก่อนุชนรุ่นหลัง ซึ่งเป็นเชื้อสายของลูกเรา การอนุรักษ์ป่าน่านจึงเป็นวาระสำคัญที่ต้องเร่งลงมือทำ

Advertisement

“จากการเยี่ยมชมนิทรรศการในการประชุมครั้งนี้ มีการพูดถึงปลูกพืชเชิงเดี่ยว มีหลายสำนักสอนว่าให้ปลูกอย่างเดียวกันมากๆ จะได้ผลเป็นกอบเป็นกำ อย่างเคยไปดูงานที่เยอรมัน เขาพาไปดูการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เขาแนะนำว่าเป็นตัวอย่างที่ทำแล้วไม่ควรทำ ให้เป็นบทเรียน เพราะการปลูกพืชชนิดเดียวหากมีศัตรูพืชลงจะกินหมดไร่เลย ปุ๋ยที่ใช้พืชจะเลือกกินเช่นกันทำให้ดินจืด และยังไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มีราคาขึ้นลงถ้าปลูกอย่างเดียวปีนั้นราคาพืชนั้นตกก็แย่ไปเลย ไม่มีอะไรมาประกันความเสี่ยง” กรมสมเด็จพระเทพฯ รับสั่ง

พระองค์ทรงห่วงราษฎรภาคเหนือที่หลายส่วนยังคงปลูกพืชเชิงเดี่ยว ได้แก่ ไร่ข้าวโพด ซึ่งเผาถางป่าก่อนการเพาะปลูก ในการปลูกยังใช้ปุ๋ยเคมีและใช้เคมีกำจัดวัชพืชและแมลงรบกวน ทำให้แร่ธาตุสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อการเติบโตของพืชในดินค่อยๆ หายไปผู้บริโภคก็เสี่ยง เกษตรกรก็เสี่ยง โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ หนึ่งในนั้นคือ “บ้านห้วยลอย” อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ที่อยู่ในสภาพภูเขาหัวโล้น จากการเผาถางเพื่อเตรียมปลูกข้าวโพด ซึ่งพระองค์ทรงห่วงใยและมีรับสั่งให้เข้าไปพัฒนา โดยภาคส่วนต่างๆ ได้น้อมนำทฤษฎีเกษตรผสมผสาน ทฤษฎีการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างของในหลวง รัชกาลที่ 9 เข้าไปปรับใช้

ดร.จันทรารักษ์ โตวรานนท์ หัวหน้าโครงการสวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา กล่าวว่า มฟล.มีภารกิจเข้ามาสร้างและส่งเสริมอาชีพแก่ชาวบ้านห้วยลอยตั้งแต่ปลายปี 2560 จากการรวมตัวของชาวบ้านที่รวมพื้นที่ทำกิน จำนวน 1,750 ไร่ มอบให้ราชการเพื่อปลูกป่า ตอนเข้าไปครั้งแรกเราก็ไปดูว่าชาวบ้านเขาปลูกอะไรก่อนแล้ว ก็พบว่ามีไร่ข้าวโพดไว้ขาย และสมุนไพรไว้บริโภคในครัวเรือน ได้แก่ ขมิ้นชัน ไพล จากนั้นเราก็เอาดินที่หมู่บ้านแห่งนี้ไปศึกษาวิจัยในห้องแล็บ พบว่าแร่ธาตุสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชในดินแทบไม่มีเลย จึงตั้งเป้าจะส่งเสริมการปลูกพืชที่ชาวบ้านปลูกอยู่แล้วภายใต้องค์ความรู้ที่ถูกต้อง สามารถนำผลผลิตไปขายได้ และเป็นการปลูกแบบแบบเกษตรอินทรีย์

“ในการทำงานค่อนข้างท้าทาย เราต้องทำให้ชาวบ้านเชื่อใจว่าทำแล้ว จะขายได้จริงๆ มีรายได้จริงๆ ตอนแรกก็มีชาวบ้านตอบรับเข้าร่วมโครงการ 105 ครัวเรือน ก็ทำมาเรื่อยๆ ระหว่างทางมีชาวบ้านที่เลิกไปบ้าง จนปัจจุบันมีเหลืออยู่ในโครงการ 53 ครัวเรือน แต่เพราะทำแล้วเห็นผล คือทำแล้วขายได้จริง ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น ตอนนี้กลายเป็นว่าชาวบ้านเริ่มกลับมาให้ความสนใจอีกครั้ง” ดร.จันทรารักษ์กล่าว

Advertisement

ดร.จันทรารักษ์ โตวรานนท์
สมุนไพรแปรรูปอัดเม็ด
ผลโกโก้
สมุนไพรแปรรูปเป็นผง
สมุนไพรแปรรูปอบแห้ง

มฟล.ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงแก่ราษฎรในทุกขั้นตอน ตั้งแต่มอบกล้าพันธุ์ไม้ สอนวิธีการปลูกการดูแล วิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิต หาลู่ทางตลาด และล่าสุดยังหาช่องทางแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพรสดเป็นสมุนไพรอบแห้ง และเป็นสินค้าต่างๆ อาทิ สบู่ ครีม ลูกประคบ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากกิโลกรัมไม่กี่สิบบาท ขึ้นเป็นหลายร้อยบาท ซึ่งคาดว่าจะขอรับรองจาก อย.และสถาบันที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขายอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ ควบคู่ไปกับการนำร่องส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมอย่างมากคือ โกโก้ ซึ่งให้ผลผลิตและขายได้ตลอดทั้งปี

นายค้าย ดวงใจ อายุ 57 ปี เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอย่างไม่ถอดใจ ตั้งใจปลูกสมุนไพรจนให้ผลผลิตดี สามารถขายและมีรายได้กลับมา เล่าด้วยสีหน้าภูมิใจว่า ที่ผ่านมาปลูกข้าวโพดอย่างเดียว ทำอย่างนี้มาตลอด แต่รายได้

ก็ไม่เท่าไหร่ เพราะต้องลงทุนมาก โดยเฉพาะสารเคมี ยิ่งปีไหนราคาตก แห้งแล้ง ก็แทบไม่ได้อะไรเลย แต่พอโครงการเข้ามาและได้ทดลองปลูกสมุนไพรแทรกตามป่าธรรมชาติอย่างที่ได้รับคำแนะนำ ปรากฏว่าได้ผลผลิตดีมาก สามารถเพิ่มรายได้อีกช่องทางหนึ่ง จึงพยายามขยายพื้นที่ปลูกให้มากขึ้นในพื้นที่รอบๆ บ้าน แต่ข้าวโพดก็ยังคงปลูกเป็นหลักเหมือนเดิม ขอขอบคุณศูนย์ภูฟ้าพัฒนาและภาคส่วนต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเพิ่มช่องทางรายได้ ทั้งทำให้ผมรู้จักเกษตรผสมผสานและวรรณะเกษตร ที่สามารถทำควบคู่กับป่าได้

“ผมและชาวบ้านรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ ที่พระองค์ได้พระราชทานความช่วยเหลือนี้ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ชาวบ้านอยู่และมีรายได้ คู่กับป่าที่จะกลับมาอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนต่อไป” นายค้ายกล่าว

นายค้าย ดวงใจ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image