ราชพัสตราบรมราชาภิเษก ใน ‘สมัยรัตนโกสินทร์’

ตัวอย่างการเขียนทองผ้าลาย ด้วยการเขียนยางไม้ที่มีลักษณะกาวเหนียว เช่น ยางมะเดื่อ นำมาผสมฝุ่นขาวก่อนจะปิดทองคำเปลวทับให้เกิดเป็นเส้นลายทองบนผืนผ้า (ภาพที่ 5 นิรันดร์ ไทรเล็กทิม : สาธิต และวราวุธ ศรีโสภาค : ถ่ายภาพ)

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์ และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ร่วมกับสถาบันไทยคดีศึกษา และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมเสวนา “ราชพัสตราบรมราชาภิเษก ในสมัยรัตนโกสินทร์” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความรู้ ท่ามกลางประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้ารับฟังการเสวนากว่า 200 คน ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ศ.เกียรติคุณ ดร.ม.ร.ว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ผู้ช่วยอธิการด้านวัฒนธรรมและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสยามและผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี บรรยายในหัวข้อ “ขอบเขตและความหมายของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระราชพิธีสำคัญที่สุดอีกพิธีหนึ่งของทุกประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงขึ้นทรงราชย์แล้วก็ต้องมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเพื่อแสดงให้เห็นว่าได้ทรงมีความสมบูรณ์ในการเป็นพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในแต่ละประเทศก็มีขั้นตอนที่แตกต่างกัน โดยของไทยเราขั้นตอนสำคัญที่สุดคือตอนที่พระมหากษัตริย์ทรงรับน้ำอภิเษก ซึ่งมีความหมายว่าถวายน้ำอภิเษกแด่พระเจ้าแผ่นดินผู้ยิ่งใหญ่

“ส่วนระยะเวลาของการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นไม่มีกำหนดแน่นอนหรือตายตัว ส่วนมากเมื่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงขึ้นทรงราชย์สืบต่อจากพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนที่สวรรคตไป ซึ่งจะอยู่ในช่วงเกิดความเศร้าโศกจึงมีการไว้ทุกข์

Advertisement

ฉะนั้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์พระองค์ใหม่จึงไม่ได้รีบทำในทันใด ต้องรั้งรอเวลาตามบริบทความเหมาะสมต่างๆ ซึ่งในแต่ละรัชกาลก็จะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลละ 1 ครั้ง หรือ 2 ครั้งตามเหตุการณ์และความเหมาะสม” ศ.เกียรติคุณ ดร.ม.ร.ว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ กล่าวนำถึงความสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องตามสีพิชัยสงคราม สถิตเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้พระบรมเศวตฉัตร ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2468 (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ไม่ทราบปีที่ทรงฉาย) ทรงเครื่องต้นตามโบราณราชประเพณี (ภาพจากจดหมายเหตุแห่งชาติ)

จากนั้น อ.เผ่าทอง ทองเจือ นักประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าไทย และ อ.วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ครูศิลป์ของแผ่นดินผ้าทอไหมยกทอง ถ่ายทอดเรื่องราวของ “เครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ พัสตราภรณ์ และผ้าที่เกี่ยวเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก”

อ.วีรธรรมกล่าวว่า ฉลองพระองค์ที่อยู่ในเครื่องต้น หรือเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ในยุคโบราณ ประกอบด้วย ฉลองพระองค์พระกรน้อย (ด้านใน) และฉลองพระองค์ทรงประพาส (ด้านนอก) ซึ่งมีเอกลักษณ์อยู่ที่ในโบราณจะใช้คู่กับพระมาลาทรงประพาส สังเกตเห็นว่าตรงชายเสื้อที่เป็นกลีบๆ เมื่อเปิดเข้าไปจะเป็นกระเป๋าเพื่อให้ใส่ของจำเป็น หรือกระสุน ตัดด้วยผ้าตาดระกำไหม ซึ่งเป็นผ้าชั้นสูงที่สุดในการตัดฉลองพระองค์

“ในสมัยอยุธยาพระมหากษัตริย์จะทรงฉลองพระองค์สองชั้น ในเวลาแต่งเต็มยศ ขณะที่ในสมัยรัตนโกสินทร์จะประยุกต์เป็นชิ้นเดียวกันหมด นอกจากนี้ ฉลองพระองค์ชั้นในส่วนใหญ่จะทำมาจากผ้าเข้มขาบ ส่วนฉลองพระองค์ชั้นนอกจะทำมาจากผ้าเยียรบับ เนื่องด้วยศักดิ์ของลายผ้าเข้มขาบน้อยกว่าผ้าเยียรบับและฉลองพระองค์ทรงประพาสจะศักดิ์สูงกว่าฉลองพระองค์พระกรน้อย” อ.วีรธรรมกล่าว

ผ้านุ่งยกทองหรือผ้าเยียรบับ ผลิตในอินเดียเพื่อราชสำนักสยาม, ทรัพย์สินราชกุลรังสิต (ภาพที่ 2)

ทั้งนี้ ในเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์มาตรฐาน พระมหากษัตริย์จะทรงพระสนับเพลาและทับด้วยพระภูษาด้วย

อ.วีรธรรมให้ข้อมูลเกี่ยวกับฉลองพระองค์พระเครื่องต้นแต่ละชิ้นว่า เริ่มที่ “พระสนับเพลา” ที่ปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ในกฎมณเฑียรบาล กฎหมายตราสามดวง ระบุไว้ว่า “ขนองกั้นเกงสนับเพลา” เมื่อแยกศัพท์ออกมา “ขนอง” มีความหมายว่าแผ่นหลัง “กั้นเกง” สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นคำเดียวกับคำว่า กางเกง ในปัจจุบัน “สนับ” มีความหมายว่า สิ่งที่ใช้รอง “เพลา” หมายถึงต้นขา หรือหน้าตัก เพราะฉะนั้นเมื่อเอามารวมกันจึงมีความหมายว่า ปลอก ผ้าหรือวัสดุอะไรก็ตามที่ใช้หุ้มตั้งแต่ต้นขาตลอดไปจนทั้งขา และไม่ใช่กางเกงที่ตัดสำเร็จรูป

โดย พระสนับเพลา ทำมาจากผ้าขาว และนำมา กรุตรงบริเวณขาด้วยผ้าที่มีค่า เช่น ผ้าเข้มขาบ และผ้าเยียรบับ

ซึ่งในภายหลังมีการแก้ไขและคัดลอกต่อๆ กันมาในแต่ละยุคสมัย จึงถูกกร่อนออกไปจนเหลือเพียงคำว่า “สนับเพลา” ซึ่งหมายถึงกางเกง

ขณะที่แต่เดิม สนับเพลาตามความหมายเดิมจึงถูกเรียกใหม่ว่า “เชิงพระสนับเพลา” แทน

สำหรับ “เชิงพระสนับเพลา” ในตำราพระเครื่องต้นสมัยอยุธยา ระบุว่ามี 2 รูปแบบ คือพระสนับเพลาทรงเลื้อย (ทรงตรง) และพระสนับเพลาทรงงอน (ปลายงอน) ซึ่งสร้างด้วยวัสดุและเทคนิคที่แตกต่างกัน ส่วนมากนิยมใช้ผ้าตาดทอง คือผ้าที่ขึงเส้นยืนด้วยไหม

เมื่อได้เชิงพระสนับเพลาตาดแล้ว ยังมีเทคนิคการประดับตกแต่งให้เป็นลวดลายอยู่หลายวิธี เช่น สลักดุนทองคำแล้วลงยาประดับอัญมณี แล้วนำทองคำชิ้นเล็กๆ เป็นลวดเป็นลายมาตรึงเข้ากับเชิงพระสนับเพลาที่เป็นตาดทอง นอกจากนั้นยังมีการปักด้วยวัสดุต่างๆ เช่น ดิ้นท่อ ดิ้นด้าน ดิ้นมัน ดิ้นเลื่อม และประดับอัญมณีเข้าไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ในยุคหลัง ช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 พระสนับเพลาก็ได้รับการประยุกต์เป็นกางเกงทรงฝรั่งแบบสำเร็จรูป มีกระดุม มีซิป แต่ต่อเชิงพระสนับเพลายังคงเป็นทรงโบราณ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเครื่องบรมขัติยราชภูษิตาภรณ์ ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ บนพระราชบัลลังค์ เสด็จออกมหาสมาคม ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 5 พฤษภาคม 2493 (ภาพที่ 1)
ผ้าทรงลายอย่าง สยามสั่งนำเข้าจากอินเดีย แล้วนำมาตกแต่งเพิ่มเติมด้วยการเขียนทอง โดยช่างในราชสำนักสยาม, ทรัพย์สินราชสกุลรังสิต (ภาพที่ 3)

พระเครื่องต้นชิ้นถัดไป “พระภูษาลายอย่าง” พระภูษา คือผ้านุ่งที่ใช้นุ่งทับพระสนับเพลาอีกชั้นหนึ่ง โดยพระภูษาสำคัญที่ใช้ในทุกรัชกาลตั้งแต่อยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ คือ “พระภูษาลายอย่างเขียนทอง” เป็นผ้าฝ้ายที่เขียนด้วยมือ และมีวิธีการเขียนที่ใช้สารให้ติดสี การกั้นสีไม่ให้สีติด และมีกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อน

โดยผ้าลายอย่าง คือผ้าที่ราชสำนักสั่งทำพิเศษตามพระอิสริยยศของเจ้านาย เมื่อได้ผ้าลายอย่างมาแล้วก็จะนำมาตกแต่งเพิ่มเติมให้มีความงดงามมากขึ้น ด้วยการนำยางมะเดื่อมาเขียนแล้วปิดทองทับเพื่อให้เกิดเป็นสีทองอร่าม เรียกว่า “ผ้าเขียนทอง”

“เวลาทำผ้าลายอย่างจะสั่งฝ้ายเส้นเล็กจากอินเดียมาทอเอง เพราะเราไม่สามารถหาฝ้ายเส้นเล็กปั่นมือที่เล็กละเอียดในบ้านเราได้ ในโลกตอนนี้ฝ้ายปั่นมือมีของอียิปต์และอินเดีย ผมเลือกใช้ของอินเดียเพราะสั่งง่ายกว่า ตลอดจนได้เนื้อผ้าเหมือนผ้าลายอย่างโบราณที่สุด หลังจากนั้นจึงนำมาทอซึ่งเส้นฝ้ายพวกนี้จะเล็กเท่าเส้นไหม และทอยากกว่าเพราะมีความฝืด คนทอต้องใช้แรงในการเหยียบ จึงใช้เวลาในการทอนาน

หลังจากที่ได้ผืนผ้ามาแล้ว ต้องนำมานวดกับน้ำมันละหุ่งให้นุ่ม จากนั้นใช้น้ำขี้เถ้าหรือโซดาแอชผสมลงไป แล้วจึงนำไปหมักกับมูลวัวสด หมัก 1 คืน แล้วนำมาล้าง และทำกระบวนการนี้วนซ้ำทั้งหมด 3 ครั้ง เพราะว่าไขมันจากน้ำมันละหุ่งกับโซดาแอช ทำปฏิกิริยากันจะฟอกผ้าให้ขาวสะอาด จากนั้นจึงนำผ้าลายอย่างไปตกแต่ง” อ.วีรธรรมกล่าว และว่า

“เมื่อได้ผ้าลายอย่างมาแล้ว ก็นำไปล้าง จากนั้นนำผ้ามาขัดด้วยหอยเบี้ยเพื่อให้ผ้าขึ้นเงาและบาง และช่วยให้เขียนลายด้วยยางมะเดื่อสะดวกมากขึ้น ในการประดับผ้าลายอย่างแบบเขียนทอง อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบด้วย ยางมะเดื่อ สีฝุ่นขาวที่ทำมาจากเปลือกหอย ทองคำเปลว และแปรงสำหรับปัด

โดยใช้ฝุ่นขาวผสมลงไปในยางมะเดื่อ เพราะยางมะเดื่อเวลาเขียนบนผ้าจะมองไม่เห็นว่าเขียนถึงตรงไหน จึงต้องผสมฝุ่นขาวลงไปเพื่อให้เห็นว่าเขียนถึงตรงไหนแล้ว หลังจากเขียนยางมะเดื่อและปิดทองแล้ว จะใช้แปรงปัดทองออก จะเห็นได้ว่าตรงไหนที่เขียนยางมะเดื่อไว้ทองก็จะติด ตรงไหนที่ไม่ได้เขียนทองก็จะหลุดออกไป เหลือไว้ซึ่งลายเส้นทอง”

ตัวอย่างการเขียนทองผ้าลาย ด้วยการเขียนยางไม้ที่มีลักษณะกาวเหนียว เช่น ยางมะเดื่อ นำมาผสมฝุ่นขาวก่อนจะปิดทองคำเปลวทับให้เกิดเป็นเส้นลายทองบนผืนผ้า (ภาพที่ 5 นิรันดร์ ไทรเล็กทิม : สาธิต และวราวุธ ศรีโสภาค : ถ่ายภาพ)
ตัวอย่างการเขียนทองผ้าลาย แสดงให้เห็นเพื่อเปรียบเทียบส่วนที่เขียนทองเสร็จเรียบร้อยและส่วนที่ยังไม่ได้เขียนทอง (ภาพที่ 4 วราวุธ ศรีโสภาค : ถ่ายภาพ)

เครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์
พระดุมนพรัตน์

นอกจากกรรมวิธีในการสร้างเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ในแต่ละชิ้นแล้ว ยังมีเกร็ดความรู้น่าสนใจ ที่ อ.เผ่าทอง ได้ให้ความรู้ไว้ว่า ในการทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ในส่วนของฉลองพระองค์จะมีการขัดพระดุมนพรัตน์ ดุมหน้า 7 เม็ด ดุมหลัง 2 เม็ด เรียกว่า ฉลองพระองค์อย่างเทพ ด้วยเป็นฉลองพระองค์ที่มีดุมข้างหลัง 2 เม็ดเพื่อเกาะสายรัดพระองค์ (เข็มขัด) ไม่ให้ฉลองพระองค์ตกลงไป ทั้งนี้ จำนวนพระดุมยังครบนพรัตน์ (9) พอดี เป็นพระดุมที่ประกอบครบด้วยอัญมณีทั้ง 9 ประการ

ทั้งนี้ มีฉลองพระองค์ที่มีพระดุม 7 เม็ด คือฉลองพระองค์ในวันเฉลิมราชมณเฑียร ที่จะมีพระดุมหน้า 5 เม็ด และพระดุมหลัง 2 เม็ด โดยทุกพระดุมจะเป็นเพชรทั้งหมด


ฉลองพระบาท (เข็ม)

สำหรับฉลองพระบาท (เข็ม) มีหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าหมายถึง ฉลองพระบาทส้นเข็ม แต่ในความเป็นจริงแล้ว อ.เผ่าทองอธิบายว่า หมายถึงเข็มกลัดรูปไข่ที่ทาบหลังฉลองพระบาท ทำหน้าที่คล้ายกับหัวเข็มขัด ไว้ทัดสายฉลองพระบาท โดยจะมีผ้าสีต่างๆ มาสอดตามวันตรงโบว์เข็มกลัด ซึ่งเป็นสีตามกำลังวันที่พระมหากษัตริย์จะทรงเครื่องในวันนั้นๆ

หมายเหตุ – ภาพที่ 1 – 5 จากหนังสือ ผ้าเขียนทอง : พระภูษาทรงบรมราชาภิเษก พระมหากษัตริย์สยาม

อ.วีรธรรม – ศ.เกียรติคุณ ดร. ม.ร.ว.สุริยวุฒิ – อ.เผ่าทอง (จากซ้าย)

อีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image