ผบ.ทร.บวงสรวงพระภูมิเจ้าที่-เซ่นไหว้แม่ย่านาง เรือพระที่นั่งขบวนพยุหยาตราชลมารค

ผบ.ทร.บวงสรวงพระภูมิเจ้าที่-เซ่นไหว้แม่ย่านาง เรือพระที่นั่งขบวนพยุหยาตราชลมารค

เรือพระที่นั่งขบวนพยุหยาตราชลมารค – เมื่อเวลา 07.10 น. วันที่ 11 กรกฎาคม พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เป็นประธาน บวงสรวงพระภูมิเจ้าที่และเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือ ร่วมในพิธี 8 ลำ ประกอบด้วยเรือพระที่นั่ง 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ และเรือพิธีอีก 4 ลำ ได้แก่ เรือเอกชัยเหินหาว เรือครุฑเหินเห็จ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร และเรืออสุรวายุภักษ์ ที่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี ถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ เนื่องในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 จากท่าวาสุกรี ถึง วัดอรุณราชวราราม รวมระยะทาง 4.2 กิโลเมตร

เมื่อเดินทางถึง ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีบวงสรวงพระภูมิเจ้าที่ จากนั้น พนักงานอ่านโองการ ผู้บัญชาการทหารเรือ ประกอบพิธีสงฆ์ จุดเทียนธูป บูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์ให้ศีล เจริญพระพุทธมนต์เสร็จแล้ว ผู้บัญชาการทหารเรือ ถวายปิ่นโต และเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์สวดอนุโมทนา ผู้บัญชาการทหารเรือ ประกอบพิธีบวงสรวงแม่ย่านางเรือ จากนั้นพนักงานอ่านโองการ ผู้บัญชาการทหารเรือ เจิมเรือ ปิดทอง ผูกผ้าสี คล้องพวงมาลัย โปรยข้าวตอกดอกไม้ บริเวณโต๊ะเครื่องบวงสรวง ก่อนเสร็จพิธี

จากนั้นเวลา 10.00 น. พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เป็นประธานในพิธีบวงสรวงพระภูมิเจ้าที่ พิธีสงฆ์ และเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือพระราชพิธี ประกอบด้วยเรือเอกชัยหลาวทอง เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือครุฑเตร็จไตรจักร เรือพาลีรั้งทวีป เรือสุครีพครองเมือง และเรืออสุรปักษี ณ ท่าวาสุกรี

Advertisement

พล.ร.ท.จงกล มีสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดเตรียมความพร้อมขบวนพระราชพิธีกล่าวว่า ความคืบหน้าการเตรียมเรือพระราชพิธี สำหรับการซักซ้อมกำลังพลในขบวนเรือพระราชพิธีเข้าสู่การซ้อมจัดรูปขบวนเรือ ในแม่น้ำเจ้าพระยาโดยฝึกซ้อมที่วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร ท่าวาสุกรี แบ่งการฝึกซ้อมเป็นช่วงเช้าและช่วงบ่าย โดยได้เริ่มซ้อมตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม เป็นต้นมา และจะฝึกซ้อมต่อเนื่องจนถึงกลางเดือนสิงหาคม

จากนั้นจะเป็นการซ้อมย่อย ครั้งที่ 1 วันที่ 22 สิงหาคม โดยมีการใช้บทเห่เรือจริง ในการซ้อมย่อยจะมีการใช้เรือทั้งหมด 52 ลำ จากท่าวาสุกรีไปยังวัดอรุณราชวราราม แต่ยังไม่ใช้เรือพระที่นั่ง ทางกองทัพเรือมีเรือสำหรับฝึกซ้อมแทนเรือพระที่นั่งอยู่แล้ว และจะซ้อมย่อยต่อไปตามลำดับ รวมทั้งสิ้น 10 ครั้ง และจะซ้อมใหญ่เสมือนจริง 2 ครั้ง ครั้งสุดท้ายวันที่ 21 ตุลาคม ในวันซ้อมใหญ่กำลังพลจะแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายจริง ประจำเรือแต่ละลำ เพื่อให้คุ้นเคยกับเครื่องแบบ และจะใช้เรือพระที่นั่งจริง

พล.ร.ท.จงกล กล่าวด้วยว่า สำหรับกำลังพลมาจากหน่วยต่างๆของกองทัพเรือจำนวน 2,200 นาย ทั้งนี้ เรือพระที่นั่งและเรือรูปสัตว์ จะอัญเชิญลงน้ำในวันที่ 12 กรกฎาคมเป็นต้นไป ไปไว้ยังกรมอู่ทหารเรือธนบุรี โดยมีลำดับการเชิญลงน้ำ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องดูปริมาณน้ำ และลำดับการเข้าเก็บอีกครั้ง เรือพระที่นั่งจะเข้าอู่ด้านในก่อน แล้วตามด้วยเรือรูปสัตว์ โดยจะมีการปล่อยน้ำเพื่อเป็นการเก็บรักษาเรือ สำหรับเรือพิธีอื่นๆ จะทยอยลงน้ำในวันที่ 12 กรกฎาคม

Advertisement

“ขณะนี้กำลังพลประจำเรือพระราชพิธี กำลังพลมีความพร้อมเกือบ 100% ได้มีความฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่บนเขียง ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมท่าต่างๆ จากนั้นนำเรือลงฝึกซ้อมในอ่างน้ำ ซ้อมการพายที่มีน้ำหนักมากขึ้น” พล.ร.ท.จงกล กล่าว

พล.ร.ท.จงกล กล่าวว่า สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 2 ฟากฝั่งที่ริ้วขบวนผ่าน ได้ประสานทางกทม.ให้ขอความร่วมมือจัดแต่ง ประดับบ้านเรือนให้สวยงาม และในการเฝ้าชมพระบารมีขอให้ประชาชนแต่งกายสุภาพเรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่จะมารับชมการฝึกซ้อมนั้น เจ้าหน้าที่จะประกาศสถานที่ให้ประชาชนได้ชมอีกครั้ง ประกอบด้วยสถานที่ทางราชการ โรงแรมที่พักริมเจ้าพระยา จะเชิญชวนให้จัดอัฒจันทร์ริมน้ำให้ได้ชื่นชมพระบารมี และจะมีการปิดการจราจรทางน้ำในบางช่วงเวลา จะมีการแจ้งให้ประชาชนทราบเป็นระยะ เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านกรมศิลปากรได้รับหน้าที่ร่วมบูรณะซ่อมแซมเรือที่ใช้ในพระราชพิธีทั้ง 52 ลำ โดยแบ่งหน้าที่กับกองทัพเรือ ในส่วนความมั่นคงแข็งแรง และโครงสร้างเรือกองทัพเรือเป็นผู้ดูแลซ่อมแซม จากนั้นมอบให้กรมศิลปากรรับหน้าที่ต่อดูแลเรื่องการซ่อมแซมลวดลายต่างๆ โดยยึดใช้ลายดั้งเดิม แต่มีการลงรักปิดทอง ประดับกระจกใหม่ ให้มีความสวยงาม สมพระเกียรติ ซึ่งขณะนี้แล้วเสร็จร้อยเปอร์เซ็น ทั้งเรือ บุษบก บัลลังก์กัญญา แต่ก็ได้จัดทีมช่างสิบหมู่ คอยดูแลตรวจสอบซ่อมแซมตลอดการซ้อมไปจนถึงวันพระราชพิธี โดยเฉพาะเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ได้มีการบูรณะใหม่หมดทั้งลำ แล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน เพื่ออัญเชิญไปเป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ณ ท่าราชวรดิฐ

ตามที่มีประกาศสำนักพระราชวัง โปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งมีการเสด็จฯ เลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในช่วงการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ถือเป็นพระราชพิธีเบื้องปลาย และนับเป็นการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทั้งนี้ ในแผ่นดินรัตนโกสินทร์ ได้มีขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 4 ครั้ง ได้แก่ รัชกาลที่ 1 ปี พ.ศ.2328, รัชกาลที่ 4 , รัชกาลที่ 6 พ.ศ.2454 และรัชกาลที่ 7 พ.ศ.2468 สำหรับในสมัยรัชกาลที่ 9 ไม่มีพระราชพิธีในส่วนนี้ แต่ทรงรื้อฟื้นขึ้นในปี พ.ศ.2525 ในโอกาสสมโภช 200 ปี รัตนโกสินทร์ สำหรับพระราชพิธีนี้ นับว่าไม่ได้จัดมาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว นับแต่ปี พ.ศ.2555

นายอนันต์ ชูโชติ

ทั้งนี้ เรือทุกลำที่ทำจากไม้ มีอายุในการสร้างมายาวนาน โดยเฉพาะเรือพระที่นั่งทั้ง 3 ลำ คือ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ อายุ 108 ปี เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ อายุ 102 ปี และเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช อายุ 95 ปี สำหรับเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 มีอายุ 23 ปี

นอกจากนี้เรืออื่นๆ ในขบวน เช่น เรือรูปสัตว์ ก็มีอายุนับร้อยปี การบวงสรวงพระภูมิเจ้าที่ถือเป็นประเพณีโบราณที่สืบทอดกันมา พิธีกรรมเป็นการสวดอาราธนาบารมีพระพุทธานุภาพ พระธรรมานุภาพ พระสังฆานุภาพ และเทพพรหมเทวา รวมถึงท้าวจตุมหาราชผู้เป็นใหญ่ทั่วทั้ง 4 ลงมาประทับ ณ สถานประกอบพิธีนั้นๆ พิธีเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือ เป็นพิธีชาวเรือที่มีความเชื่อมาแต่โบราณว่าเรือทุกลำมีแม่ย่านางเรือสิงสถิต คอยปกปักรักษา จึงมักทำพิธีเซ่นไหว้

ชมคลิป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image