ในหลวง โปรดเกล้าฯ เชิญ พระคันธารราษฎร์ ปางขอฝน ในรัชกาลที่ 10 เป็นพระประธานในพิธีมหามงคล 22 ก.ค.

แฟ้มภาพ

ในหลวง โปรดเกล้าฯ เชิญ พระคันธารราษฎร์ ปางขอฝน ในรัชกาลที่ 10 เป็นพระประธานในพิธีมหามงคล 22 ก.ค.

พระคันธารราษฎร์ – ตามที่สำนักพระราชวัง ได้เชิญประชาชนร่วมสวดมนต์ในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้รัฐบาลจัดพิธีมหามงคลบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระราชกุศล และถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2562 ณ พระลานพระราชวังดุสิต ในวันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม เวลา 18.00 น. โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และพระสงฆ์ จำนวน 191 รูป ร่วมเจริญพระพุทธมนต์ในพิธีมหามงคลนี้

การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระคันธารราษฎร์ ที่ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ในรัชกาลปัจจุบัน มาประดิษฐานเป็นพระประธานในพิธีมหามงคลนี้ เพื่อให้พสกนิกรทั้งหลายได้กราบสักการะเป็นสวัสดิมงคลแก่ชีวิต และเพื่อความอุดมสมบูรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย ในช่วงเข้าสู่ฤดูฝนปีนี้ เป็นครั้งแรก

โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์หนังสือบทเจริญพระพุทธมนต์ และหนังสือ “พระสุนทรีวาณี” พระราชทานแก่ประชาชนที่มาร่วมพิธีด้วย

Advertisement

สำหรับ “พระคันธารราษฏร์” ที่ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ในรัชกาลปัจจุบันองค์นี้ สูงจากฐานจรดพระรัศมี 87.50 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 49 เซนติเมตร มีพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับแบบวีราสนะ (ขัดสมาธิแบบขัดบัลลังก์ วางพระเพลาขวาทับพระเพลาซ้าย) แสดงปางขอฝน พระหัตถ์ขวากวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายหงายรองรับน้ำฝน พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เรียว พระกรรณยาวเกือบจรดพระอังสา พระเศียรมีขมวดพระเกศาเรียงตามแนวตั้ง พระรัศมีดอกบัวตูม ครองอุตราสงค์ (จีวร) เปิดพระอังสาขวา ชายอุตราสงค์คลุมพระอังสาซ้าย ประทับบนปัทมาสน์ (ฐานบัว) ประกอบด้วยบัวคว่ำบัวหงายเหนือฐานแข้งสิงห์

พระคันธารราษฎร์ มีประวัติเป็นสองนัย นัยแรกซึ่งเป็นที่มาของพุทธลักษณะ กล่าวว่า สมัยหนึ่งนครสาวัตถี แคว้นโกศล เกิดความแห้งแล้ง พืชผลได้รับความเสียหาย พระพุทธเจ้ามีพระประสงค์จะทรงอนุเคราะห์มหาชน จึงเสด็จไปประทับ ณ บันไดสระโบกขรณี ทรงยกพระหัตถ์ขวาขึ้นกวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายรองรับน้ำฝน ทันใดนั้นบังเกิดมหาเมฆตั้งเค้าขึ้นพร้อมกันในทุกทิศานุทิศ ฝนได้ตกลงมาเป็นอัศจรรย์ ส่วนอีกนัยหนึ่งซึ่งเป็นต้นเค้าของชื่อปาง กล่าวว่า

ในแคว้นคันธาระทางตอนเหนือของอินเดีย มีพระยานาคชื่อเอราปัถ เป็นผู้ให้น้ำ แต่เดิมพระยานาคตนนี้ก่อให้เกิดอุทกภัย ครั้นหันมานับถือพระพุทธศาสนา จึงเป็นสัมมาทิฐิ บันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ จึงเรียกพระพุทธรูปปางขอฝนตามชื่อแคว้นของพระยานาคผู้นับถือพระพุทธศาสนาว่า “พระคันธารราษฎร์”

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระคันธารราษฎร์ เมื่อพุทธศักราช 2326 เพื่อประดิษฐานเป็นประธานในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ ครั้นในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระคันธารราษฎร์ ขึ้นอีกองค์หนึ่ง เพื่อพระราชทานความสวัสดีแก่ประชาชน ให้ได้รับผลอันพึงประสงค์จากเกษตรกรรมและเพื่อความอุดมสมบูรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเททองหล่อพระคันธารราษฎร์ รัชกาลปัจจุบัน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2562 จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญออกประดิษฐานเป็นประธานในพระราชพิธีพืชมงคล ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญออกประดิษฐานเป็นประธานในพิธีมหามงคลนี้ เพื่อพสกนิกรทั้งหลายได้กราบสักการะเป็นสวัสดิมงคลแก่ชีวิตและเพื่อความอุดมสมบูรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย ในช่วงเข้าสู่ฤดูฝนปีนี้ เป็นครั้งแรก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image