สมเด็จกรมพระศรี ทรงสร้างความมั่นคงทางยา พัฒนายา ‘มะเร็งเต้านม’ ครั้งแรกของประเทศไทย

สมเด็จกรมพระศรี ทรงสร้างความมั่นคงทางยา พัฒนายา ‘มะเร็งเต้านม’ ครั้งแรกของประเทศไทย

ด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ต่อปัญหาสุขอนามัยของประชาชนชาวไทย ซึ่งขณะนี้มีอัตราในการตายจากโรคมะเร็งเป็นอันดับหนึ่ง ทรงเล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการทำให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองด้านยาชีววัตถุ ซึ่งเป็นยาที่ทันสมัยและรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพแบบมุ่งเป้าแต่มีราคาสูงมากจนยากที่ประชาชนจะเข้าถึง

ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยสร้างความมั่นคงทางยาและลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่ง จึงทรงริเริ่มโครงการพัฒนายาชีววัตถุขึ้นเพื่อประเทศไทย โดยวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากร สร้างนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญขั้นสูง เพื่อเป็นรากฐานสาคัญและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทยในเวทีสากล

ภายใต้การนำของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เป็นหน่วยงานแรกและแห่งเดียวของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนายาชีววัตถุ ยาตัวแรกคือ “ทราสทูซูแมบ” (Trastuzumab) เป็นยาชีววัตถุคล้ายคลึงที่มีบทบาทสาคัญในการบาบัดรักษาโรคมะเร็งเต้านม เป็นนวัตกรรมชิ้นแรกที่ดำเนินการโดยนักวิจัยไทยในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยไม่ต้องอาศัยการซื้อหรือการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งจะสามารถนำไปศึกษาทางคลินิกเพื่อความปลอดภัยในคนได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้

Advertisement

อย่างไรก็ตาม การศึกษาทางคลินิกดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทั้งงบประมาณจากรัฐบาลอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง รวมทั้งในเชิงนโยบายในการให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ควบคุมมาตรฐานและความปลอดภัยของยา ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับสถาบัน เพื่อนำวิทยาการและเทคโนโลยีแบบใหม่ในด้าน Regulatory science มาพัฒนาการประเมินความปลอดภัยในคนอย่างถูกต้องแม่นยำกว่าการใช้หลักการทางสถิติและการแสดงออกในคนไข้เป็นหลัก ซึ่งจะทำให้สามารถนำยาออกสู่การใช้ประโยชน์ได้ในระยะเวลาที่เหมาะสมและปลอดภัย

สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่มุ่งเน้นและสนับสนุนการพัฒนาประเทศ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนชาวไทย โดยจัดพิธีลงพระนามและลงนามความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีววัตถุเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ ระหว่างสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และองค์การเภสัชกรรม

ในการนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จในพิธี ณ ตำหนักจักรีบงกช จ.ปทุมธานี โดยมีนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และนายวิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ร่วมลงนามความร่วมมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมเป็นสักขีพยาน

Advertisement

โอกาสนี้ ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์มีพระดำรัสว่า

“การพัฒนายาเป็นเรื่องที่ใช้เวลานาน ต้องใช้ความระมัดระวัง แต่เพื่อประชาชน เราก็ต้องทำ”

ายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในเรื่องของการผลิตยา พบว่าประชาชนคนไทยยังเข้าถึงยายาก ยาส่วนใหญ่จะนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะยามะเร็ง ซึ่งมีราคาสูง และประชาชนระดับกลางถึงล่างยังเข้าไม่ถึงยา ปตท.จึงร่วมมือกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ที่สามารถวิจัยต้นน้ำของยามะเร็งได้ และร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรมเพื่อสร้างโรงงานผลิตยามะเร็ง เพื่อจำหน่ายในประเทศ และถ้าทำได้ดีก็สามารถจำหน่ายต่างประเทศได้ ช่วยลดการนำเข้าได้เป็นอย่างดี โดยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการร่วมมือกันผลิตยามะเร็ง

ขณะที่ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นักวิจัยสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้พัฒนายาชีววัตถุโดยไม่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เป็นฝีมือคนไทย เมื่อมีข่าวดีนี้องค์การเภสัชกรรมร่วมกับ ปตท. จะสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ในอนาคตหากเกิดยาตัวนี้ขึ้นมา จะทำให้คนไทยผลิตยารักษาโรคมะเร็งได้ด้วยตัวเอง 100% ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ นอกจากนี้ คนไทยจะสามารถต่อยอดเทคโนโลยีนี้เพื่อพัฒนาผลิตยาตัวอื่นๆ ตามมา ซึ่งเป็นตำรับยาของไทย และเราเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยเป็นการผลิตระดับอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีกับคนไทยเท่านั้น แต่เกิดประโยชน์กับมวลมนุษยชาติ ยาที่ผลิตได้นี้จะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงยาของคนไทยและราคาไม่แพง

“ปัจจุบันประเทศไทยนำเข้ายาจากต่างประเทศปีละกว่าหมื่นล้านบาท หากผลิตยาได้จะลดค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 50 และคุณภาพยาจะไม่ลดลง สำหรับยาชีววัตถุนี้เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น ไม่ใช่ยาเคมี แต่เป็นยาชีววัตถุ ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูง พัฒนาจากเซลล์ ซึ่งนักวิจัยไทยทำได้ ยาชีววัตถุ สร้างจากสิ่งมีชีวิต เช่น ยาชีววัตถุคล้ายคลึง ชนิดโมโนโคลนอลแอนติบอดี ที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม ชื่อทราสทูซูแมบ จะออกฤทธิ์มุ่งเป้า เฉพาะจุดที่มีการเสื่อมสภาพ การรักษาด้วยยาตัวนี้จะแม่นยำมากขึ้น การพัฒนานี้จะทำให้ประเทศไทยทัดเทียมสากล” นพ.วิฑูรย์กล่าว

นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า สำหรับการผลิตยาปกติใช้เวลา 10 ปี แต่จากความร่วมมือครั้งนี้ตั้งเป้าจะสร้างโรงงานให้แล้วเสร็จปี 2567 หลังจากนั้น 1-2 ปี จะทดสอบยานี้กับมนุษย์ ก่อนจะขึ้นทะเบียนตำรับยาและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ เป็นขั้นตอนมาตรฐานการผลิตยา ความร่วมมือครั้งนี้เป็นก้าวแรกนำไปสู่การพัฒนาระบบสาธารณสุขไทย ซึ่งมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดติดหนึ่งในห้าของประเทศไทย

“นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งที่พระองค์ทรงผลิตต้นน้ำมาให้ เป็นนักวิจัยที่ทรงสร้างขึ้นมา เพราะสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์มีนักวิจัยที่มีศักยภาพทัดเทียมนานาประเทศ ซึ่งองค์การเภสัชกรรมได้มาสืบสาน ต่อยอด ในเชิงอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดคุณค่าที่แท้จริงต่อสังคมไทย ขณะนี้ทีมนักวิจัยจาก 3 หน่วยงาน เข้าทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ก้าวสำคัญนี้ นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม” นพ.วิฑูรย์กล่าว

นพ.วิฑูรย์ (ซ้าย) – ชาญศิลป์ (ขวา)

การลงพระนามและลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีววัตถุเพื่อการนาไปใช้ประโยชน์ เป็นการเปิดมิติใหม่ของความมั่นคงทางยาของประเทศไทย นอกจากนั้นยังแสดงถึงการนำองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองได้ และก้าวไปสู่การแข่งขันในระดับเวทีโลกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image