สมดุล มั่นคง ยั่งยืน “เศรษฐกิจพอเพียง” “ศาสตร์พระราชา” โลกยกย่อง

2725

นับเป็นเวลา 70 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติของ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

คนไทยทุกคนต่างรู้ดีอยู่ใน “หัวใจ” ว่าทรงทุ่มเทพระวรกายปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมายเพื่อความอยู่ดีกินดีของปวงชนชาวไทย ไม่ว่าพระราชกรณียกิจนั้นจะทำให้ทรงเหน็ดเหนื่อยสักปานใด

ภาพที่เห็นจนชินตาคือ พระองค์ทรงทำงานทุกวันและยังทรงคิดค้นแนวพระราชดำริต่างๆ มาแก้ไขสารพัดปัญหาเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎร ตลอดการครองราชย์อันยาวนาน พระราชกรณียกิจนับร้อยนับพันโครงการ “ประสบความสำเร็จ” เป็นอย่างมาก จึงเป็นที่น่าสนใจยิ่งว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้กุญแจความสำเร็จอะไรในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ

Advertisement

มูลนิธิมั่นพัฒนา จึงก่อกำเนิดขึ้นเพื่อ “ถอดบทเรียน” ความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์งานพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อรวบรวมและเผยแพร่ “องค์ความรู้” เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” (Philosophy of Sufficiency Economy) มาประยุกต์ใช้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยมี “สถาบันมั่นพัฒนา” เป็นกลไกขับเคลื่อนงานของมูลนิธิให้บรรลุผล

482159_415885998502804_1567085305_n

รศ.ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร รองคณบดีฝ่ายวิจัย วิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล และกรรมการสถาบันมั่นพัฒนา กล่าวว่า ย้อนกลับไปตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์พระองค์ทรงงานมาตลอด และหลายๆ งานก็ประสบความสำเร็จ เช่น งานชาวเขาตัดไม้ทำลายป่า ปลูกฝิ่น มีงานที่ประสบความสำเร็จจำนวนมาก

“แต่งานของพระองค์กลับไม่มีใครถอดแบบเพื่อขยายผลต่อถึงแม้ว่าจะมีคนสนใจ แต่ก็ไม่มีใครทราบว่าจะเริ่มอย่างไร มีปัจจัย มีกุญแจความสำเร็จอย่างไรบ้าง กับการที่จะเข้าไปแก้ปัญหาตรงนี้ มูลนิธิมั่นพัฒนาจึงก่อตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะถอดแบบ สร้างองค์ความรู้ต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำให้เห็นให้เป็นตัวอย่างเพื่อที่จะขยายผลต่อ”

“ซึ่งผลสำเร็จตรงนี้ เป็นโมเดลที่เหมาะสมกับประเทศไทย” รศ.ดร.สุขสรรค์ย้ำ และว่า

ถ้าถามว่าในประเทศนี้ มีใครรู้จักประเทศไทยดีที่สุด “คำตอบคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

“พระองค์ทรงงานไปทุกจังหวัดของประเทศ ทรงรู้ดีทั้งหมดว่าประเทศไทยเป็นอย่างไร เงื่อนไขเป็นยังไง เช่น พัฒนาทางใต้กับทางเหนือไม่เหมือนกัน ซึ่งนี่เป็นหลักภูมิสังคม ใครรู้บ้าง ไม่ค่อยมีใครรู้เท่าไหร่ อย่างนี้เป็นต้น”

522717_411647328926671_1724323644_n

นอกจากศึกษาและรวบรวมองค์ความรู้แล้ว มูลนิธิมั่นพัฒนาจับมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามความร่วมมือการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา” หรือ “Mahidol Center for Sustainable Development” ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการผลิตบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการและนักวิจัยด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมเปิดหลักสูตรปริญญาเอกดุษฎีบัณฑิตด้านการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา (Ph.D. in Sustainable Leadership) เป็นแห่งแรกในประเทศไทยโดยคาดหวังว่าผู้ที่จบหลักสูตรนี้จะสามารถนำความรู้ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในสาขาที่ตนถนัดไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและกระจายต่อแนวคิดดังกล่าวสู่สังคมในลำดับต่อไป

“ความยั่งยืน คือ การบริหารจัดการทรัพยากรของมนุษย์ทรัพยากรที่มีอยู่บนโลกใบนี้ ให้มีเหลือสำหรับฟิวเจอร์ เจเนอเรชั่น หรือประชากรรุ่นต่อไป ซึ่งประเทศไทยยังขาดนักพัฒนาอย่างยั่งยืนอยู่เยอะมาก แม้จะมีบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเน้นเป็นบางเรื่อง เช่นเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ดูเฉพาะสิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ก็ดูเฉพาะเศรษฐศาสตร์ แต่ยังไม่ค่อยมีนักพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ดูรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักพัฒนาอย่างยั่งยืน ทรงพัฒนาอย่างรอบด้าน และบูรณาการ”

นับตั้งแต่มูลนิธิมั่นพัฒนารวบรวมองค์ความรู้ของ “ศาสตร์พระราชา” รศ.ดร.สุขสรรค์เผยว่า สามารถรวบรวมได้มากมาย มีทั้งศาสตร์เกษตรกรรมธุรกิจ ทัณฑสถาน พัฒนาชุมชน การจัดการทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม สุขภาพและการศึกษา

“ศาสตร์ หมายถึง การมีระบบในการจัดเรียบเรียงข้อมูลทั้งหมด รู้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร มีการตรวจสอบที่ชัดเจนและคาดผลได้ว่าจะออกมาชัดเจน ซึ่งถ้าเราไม่ลงมือทำศาสตร์เหล่านี้จะไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาทำอย่างชัดเจนในเชิงวิชาการซึ่งเอาไปใช้ยากมาก เผยแพร่ยาก ถ้าเราไม่ทำให้เป็นระบบระเบียบเอาไปบอกใครก็ลำบาก แม้จะประสบความสำเร็จมามากมาย แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจน เขาจะถามว่า คุณบอกว่า ใช้ศาสตร์พระราชาแล้วคนมีความเป็นอยู่ดีขึ้นบ้างยังไง รายได้เขาเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์หรือที่คุณบอกว่า เขามีความสุขมากขึ้น คุณวัดยังไง มีตัวเลขไหมว่าก่อนใช้ศาสตร์พระราชา เขามีความสุขแค่นี้ วันนี้เขามีความสุขเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์”

“นี่คือหลักฐานทางวิชาการที่มีความจำเป็นมากที่เราจำเป็นต้องใช้ในการขยายผล การที่คนอื่นจะเอาไปใช้ได้เขาต้องเชื่อก่อน และการให้เขาเชื่อได้ เขาต้องมีหลักฐาน”

ในฐานะผู้อำนวยการโครงการวิจัยมาตรฐานธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียงสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) รวมทั้งคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์ให้กับรัฐบาลไทยเพื่อส่งเสริมแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในแวดวงธุรกิจและอุตสาหกรรม รศ.ดร.สุขสรรค์ทำการศึกษาและรวบรวมองค์ความรู้ “ศาสตร์พระราชา” ทางด้าน “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในภาคธุรกิจ” มาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงวันนี้มีกรณีศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจมากมายที่จะ “ตอบโจทย์” สังคมได้

“กว่า 10 ปี ที่ผมทำการศึกษาวิจัย ผมพบว่าการดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักการเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้คนจนเป็นคนรวยและทำกำไรในระยะยาวได้ดีกว่า ธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียง”

โดยองค์กรที่น้อมนำหลักการเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติใช้ อาทิ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท บาธรูม ดีไซน์ จำกัด บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด โรงพยาบาลเทพธารินทร์ แปลนทอยส์ เป็นต้น

“จุดเด่นของธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียงมีหลายอย่าง เช่นการเอาสังคมเป็นตัวตั้ง มองการณ์ไกล ไม่หวังกำไรสูงสุดในระยะสั้นตลอดเวลาเพียงเท่านี้วิธีการบริหารจัดการของเขาที่เหลือก็ไม่เหมือนธุรกิจทั่วไปแล้ว เช่น ทำกำไรก็ไม่ทำกำไรเกินไป ทำแบบพอประมาณ มีเหตุมีผล ธุรกิจที่ไม่มีเหตุมีผลทุกวันนี้ คือพยายามขยายธุรกิจเพิ่มยอดขายทุกวินาที อันนี้ไม่มีเหตุมีผลเพราะประชากรก็มีอยู่อย่างจำกัด คนซื้อก็มีกำลังซื้อจำกัดและพยายามเร่งให้เขาซื้อสินค้าตัวเอง ในที่สุดก็สร้างดีมานด์หรือความต้องการเกินความจำเป็น”

“ขณะที่ธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียง ทำกำไรเหมือนกันแต่ไม่ใช่กำไรที่เพิ่มทุกวินาที กำไรเพิ่มขึ้นตามดีมานด์ แอนด์ ซัพพลาย เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่พยายามเร่งจนเกินความจริงของตลาด”

img902

อีกลักษณะเด่นคือ “การลงทุนในพนักงาน”

“บริษัทส่วนใหญ่ เวลาจะตัดงบอะไรก็งบพนักงาน แต่ธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียงคือ เขาลงทุนในตัวพนักงาน รวมทั้งชุมชนรอบข้าง สิ่งแวดล้อมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของธุรกิจ เขาเทกแคร์อย่างดี แม้กำไรลดไปบ้าง กำไรไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควรจะเป็นบ้าง เขาก็ยอมที่จะเสียสละ”

อย่างตอน “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ปี 2540 เห็นความแตกต่างได้ชัดเจนระหว่าง “ธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียง” กับ “ธุรกิจทั่วไป”

“วิกฤตต้มยำกุ้ง เห็นชัดมาก ในตลาดหลักทรัพย์ธุรกิจที่ไม่ได้ทำตามเศรษฐกิจพอเพียงล่วงดิ่งและอยู่เตี้ยไปอีกตั้งนานกว่าจะขึ้นได้ ขณะที่ธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียงล่วงเหมือนกัน แต่แป๊บเดียวก็ขึ้นได้แล้ว และขึ้นสูงด้วย เหตุผลเพราะว่าเขาไม่ปลดพนักงาน”

เมื่อไม่ปลดพนักงาน แล้วแก้ปัญหาอย่างไร รศ.ดร.สุขสรรค์อธิบายว่า องค์กรเหล่านี้จะใช้วิธีการพูดคุยกับพนักงานให้ชัดเจนว่ากำลังเผชิญสถานการณ์อะไรและให้ช่วยกันระดมสมองและสรรพกำลังที่จะร่วมแรงร่วมใจกันแก้ปัญหาเพื่อให้องค์กรอยู่รอด

“ระบบเศรษฐกิจมีทั้งขึ้นทั้งลง พอลงเดี๋ยวก็ต้องขึ้น ธุรกิจที่ปลดพนักงานแล้ว พอเศรษฐกิจขาขึ้น ก็ต้องรับคนใหม่กว่าจะเทรนรู้เรื่อง แถมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในตัวของพนักงานหายไปหมดแล้วแต่ธุุรกิจที่เก็บพนักงานไว้ พอเศรษฐกิจขาขึ้นปุ๊บ เขาขึ้นได้ทันทีเพราะเขาไม่มีปัญหาอะไรเลย พนักงานก็มีองค์ความรู้เฉพาะเกี่ยวกับลูกค้า เกี่ยวกับคู่ค้า วัตถุดิบ ซึ่งถ้าเราปลดพนักงาน มันไม่เหลือเลย”

“นี่คือ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มี 3 ข้อ คือ พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน บวก 2 เงื่อนไข คือ ความรู้คู่คุณธรรม”

“คุณธรรม คือ รักษาพนักงานไว้ ไม่ปลดพนักงานในยามวิกฤต ส่วนความรู้ คือความรู้ที่สะสมในตัวพนักงาน ซึ่งต่อไปจะกลายเป็นนวัตกรรม (innovation) ซึ่งเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ต้องการ ธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นธุรกิจที่มีนวัตกรรมสูงมาก”

เรียกได้ว่า ถ้ามี 3+2 นี้ก็จะนำไปสู่ธุรกิจที่ “สมดุล มั่นคง และยั่งยืน”

ไม่เพียงเป็นที่ยอมรับในบรรดานักธุรกิจไทย แม้แต่ “โปรเฟสเซอร์ระดับโลก” ก็ยอมรับในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเช่นกัน

image003
นายโคฟี อันนัน ทูลเกล้าฯถวายรางวัล

“ศ.ดร.แดลย์ เอเวอรี ผู้บุกเบิกในแวดวงวิชาการด้านภาวะผู้นำแบบพอเพียงเป็นที่ยอมรับทั้งในเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลียเขามีโมเดลธุรกิจคล้ายหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน แต่สิ่งที่เขาไม่มีคือ ความดีงาม ที่เป็นส่วนหนึ่งของคุณธรรมเป็นอะไรที่ไทยๆ มากเลย แต่ไม่มีโมเดลทางธุรกิจของฝรั่งอันไหนที่พูดถึงความดีงาม ศ.ดร.เอเวอรีก็ไปสร้างโมเดลใหม่ขึ้นมา ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจพอเพียงและเริ่มต้นด้วยค่านิยมดีงาม”

“และเมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้อ่านรายงานเกี่ยวกับการพัฒนาคนของเมื่อปี 2014 โดยได้เชิญกูรูระดับโลก เรื่องการพัฒนาคน 5 คนมาเขียนถึงวิธีการพัฒนาคนที่ดีที่สุดในโลก ปรากฏว่า กูรูทั้งหมดเขียนถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

นี่คือสิ่งที่นานาชาติให้การยอมรับ รวมทั้ง “องค์การสหประชาชาติ” หรือยูเอ็น โดยนายโคฟี อันนัน ในฐานะเลขาธิการสหประชาชาติ ในขณะนั้น ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 และได้กล่าวในโอกาสทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลว่า

“หากการพัฒนาคน หมายถึงการให้ความสำคัญประชาชนเป็นลำดับแรก ไม่มีสิ่งอื่นใดแล้วที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าการพัฒนาคน ภายใต้แนวทางการพัฒนาคนขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงอุทิศพระวรกาย ทรงงาน โดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย ไม่เลือกเชื้อชาติ วรรณะ และศาสนา ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนา ด้วยพระปรีชาสามารถในการเป็นนักคิดของพระองค์ ทำให้นานาประเทศตื่นตัวภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง การเดินสายกลาง รางวัลความสำเร็จสูงสุดครั้งนี้ เป็นการจุดประกายแนวคิดการพัฒนาแบบใหม่สู่นานาประเทศ”

ในฐานะนักวิชาการที่ร่ำเรียนมาจากสถาบันระดับโลก ก่อนมาทำงานนี้ รศ.ดร.สุขสรรค์ยอมรับว่า “ตอนแรกไม่เชื่อ”

“แต่เมื่อเริ่มทำงานวิจัย เก็บองค์ความรู้มาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงทุกวันนี้ 13 ปีมันมีหลักฐานเยอะแยะไปหมดเลยทั้งในและต่างประเทศที่บอกว่าทำตามเศรษฐกิจพอเพียงแล้วดี ใช้ได้จริง”

“เพราะหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงคิดขึ้นมาแล้วเอาปากกามาเขียน แต่พระองค์สกัดมาจากประสบการณ์ที่ทรงงานพัฒนาประเทศมามากมาย หน้าที่ของเราคือ ต้องเชื่อมั่นก่อนอันดับแรก ถ้าเราไม่เชื่อมั่นในพระองค์แล้ว จะเดินต่อไม่ได้ และถ้าเกิดความคลางแคลงใจก็ให้พยายามพิสูจน์หาความรู้”

“อย่างผมพิสูจน์มา 13 ปีแล้ว ก็มั่นใจมากว่าศาสตร์พระราชาเป็นทางออกของความยั่งยืนของโลกด้วยซ้ำไป ซึ่งผมไม่ได้พูดคนเดียว หลายคนที่รู้จริงๆ ก็พูดแบบเดียวกัน แม้แต่ โคฟี อันนัน ยังทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลพระองค์ท่าน ไม่ใช่เฉพาะคนไทยแล้วตอนนี้หลายคนที่เชื่อมั่นจะคิดเหมือนกันว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทางออกเดียวของโลก”

563342_447451148659230_941485295_n

รศ.ดร.สุขสรรค์บอกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาให้คนไทย แสดงว่าทรงต้องเห็นว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีมากๆ และเหมาะสมกับสังคมไทยด้วย แต่น่าเสียดายที่คนไทยยังมองเรื่องนี้แบบผิวเผิน

“วัตถุประสงค์ของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความสมดุล มั่นคงและยั่งยืนไปอีกนานเท่านาน การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานปรัชญานี้ นั่นหมายถึงทรงมีวิสัยทัศน์ยาวไกลมาก”

“เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เวลาเราพูดถึงความพอเพียง คนก็ยังรู้สึกว่า ยังมีอีกเยอะ ป่าไม้ยังมีอีกเยอะ แร่ธาตุยังมีอีกเยอะ เงินยังมีอีกเยอะ ไม่จำเป็นต้องมานั่งพอเพียง แต่ตอนนั้น พระองค์ทรงคิดแล้ว และมีพระบรมราโชวาทครั้งแรกเมื่อปี 2517 ตอนนั้นคนก็มองว่าไม่ตรงกับเขาเท่าไหร่ เพราะบ้านเมืองอุดมสมบูรณ์”

“แต่สถานการณ์ปัจจุบัน ต้องเอามาใช้แล้ว ตอนนี้ป่าจะไม่เหลือแล้ว น้ำจะไม่เหลือแล้ว คำว่าพอเพียงถึงได้เหมาะสมมากกับสังคมยุคปัจจุบันและอนาคต และตอบโจทย์ความยั่งยืนอย่างที่ผมบอกว่าเราจะต้องมีทรัพยากรให้ประชากรในอนาคตของโลกและการทำตามปรัชญานี้ก็ไม่ได้หมายความว่า เราต่อต้านยุคโลกาภิวัตน์ หรือไม่ค้าขายกับใคร หรือเราห้ามรวย ก็ไม่ใช่”

“ดังนั้น คนไทยต้องพยายามขวนขวายหาความรู้ศึกษาให้ชัดเจนให้ถ่องแท้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงใช้อย่างไร ใช้ได้ผลอย่างไร อย่าใช้จินตนาการตัวเอง ต้องใช้เหตุใช้ผล ใช้หลักฐานทางวิชาการที่มีอยู่ ซึ่งตอนนี้มีมากมาย แล้วจะรู้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานสิ่งที่ดีที่สุดมาให้คนไทยแล้ว”

“เราจะใช้หรือเปล่า ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง”

รศ.ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร
รศ.ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image