‘ในหลวง’ ทรงห่วงใยสุขอนามัยผู้ต้องขัง กรมหลวงราชสาริณีฯ รับสั่งถึงที่มา ‘โครงการราชทัณฑ์ปันสุข’

เมื่อเวลา 10.21 น. วันที่ 6 กันยายน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จทรงเปิดงานสัมมนาเรื่อง การลงโทษทางอาญากับหลักสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 2 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และภาคเครือข่าย ซึ่งมี พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (ทีไอเจ) เฝ้ารับเสด็จ ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชัน เซ็นเจอร์ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ

การนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา พระราชทานพระดำรัสเปิดงานสัมมนา ความตอนหนึ่งว่า คำว่าสิทธิมนุษยชนนั้น เป็นคำที่มีความหมายสำคัญแสดงถึง สิทธิที่บุคคลพึงมี เพื่อทรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และพึงได้รับ ความคุ้มครอง ซึ่งอีกนัยยะหนึ่ง การมีซึ่งสิทธิก็สะท้อนถึงหน้าที่ของทุกคนที่พึงมีในการที่จะไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นเช่นกัน และรัฐก็มีหน้าที่ที่จะดำรงรักษาไว้ซึ่งสิทธิของบุคคลในรัฐนั้น สิทธิมนุษยชน อีกบริบทหนึ่งที่จะกล่าวถึงในที่นี้คือ สิทธิของผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำ ซึ่งถึงแม้การคุมขังในเรือนจำนั้น เป็นการจำกัดสิทธิบางประการ เนื่องจากการกระทำความผิดทางอาญา และตามผลแห่งคำพิพากษาของศาล แต่การคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ของผู้ต้องขังก็เป็นสิ่งสำคัญ

ต้นเหตุของการกระทำความผิดทางอาญานั้น หลายครั้งเกิดจากการขาดโอกาส ขาดความรู้ และทางเลือกที่ถูกต้องในชีวิต จึงนำสู่การกระทำความผิดทางอาญา และทำให้ต้องโทษคุมขังในเรือนจำ ซึ่งนอกเหนือจากการลงโทษด้วยการจำกัดเสรีภาพแล้ว การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมทั้งการให้สิทธิในการแก้ไขตนเอง และการเรียนรู้ ทักษะด้านต่างๆ จึงมีความสำคัญต่อการแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมผู้ต้องขังมากเช่นกัน จึงนำไปสู่โครงการกำลังใจ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ในแรกเริ่มมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือ ผู้ต้องขังหญิง เริ่มจากกลุ่มผู้ต้องขังหญิงตั้งครรภ์ และเด็กติดผู้ต้องขังหญิง ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดของมารดา ด้วยการเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี การให้ความรู้แก่มารดา ในการดูแลตนเองขณะตั้งครรภ์ รวมไปถึงพี่เลี้ยงผู้ดูแลเด็กในเรือนจำ ซึ่งเป็นการลดความเครียดและสร้างกำลังใจ ซึ่งการริเริ่มโครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากองค์กรภาครัฐและเอกชนตลอดมา และได้มีการขยายผลไปถึงการให้ความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ เช่น การให้ความรู้ด้านทักษะการฝึกอาชีพ และให้ความรู้ทางด้านการลงทุนอีกด้วย

Advertisement

ในการดำเนินการดังกล่าวในโครงการกำลังใจทำให้เห็นได้ชัดว่า ในหลายบริบทผู้ต้องขังหญิงมีความต้องการที่แตกต่างจากผู้ต้องขังชาย โดยเฉพาะด้านสุขภาพของสตรีในหลายแง่มุม รวมไปถึงการตั้งครรภ์ และการเป็นมารดาจนกระทั่งเมื่อปี 2551 ประเทศไทยได้นำ “โครงการกำลังใจ” เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการสหประชาชาติ ว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา เพื่อเสนอแนะให้มีการผลักดันมาตรฐานสากลที่คุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องขังหญิงเป็นการเฉพาะ แนวคิดดังกล่าวทำให้ประเทศไทย ได้รับการตอบรับและสนับสนุนจากนานาประเทศอย่างล้นหลาม นับเป็นก้าวย่างสำคัญในการริเริ่ม “โครงการ Enhancing Lives of Female Inmates หรือโครงการ ELFI” ขึ้น เพื่อแสวงหา พันธมิตรทางความคิด ด้วยวิธีการเจรจาทางการทูตเชิงรุก และด้วยบทบาทนำของประเทศไทยในครั้งนั้นเองทำให้ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” ได้รับการรับรองจากสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2553

การรับรองข้อกำหนดกรุงเทพครั้งนั้น ถือเป็นก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชน เพราะทำให้นานาประเทศหันมาสนใจเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องขังอีกครั้งหนึ่ง ส่งผลให้เกิดการทบทวนมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่ใช้มาตั้งแต่ ค.ศ.1955 ให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และนำไปสู่การรับรอง “ข้อกำหนดแมนเดลล่า” ในเวลาต่อมา นับตั้งแต่การรับรองข้อกำหนดกรุงเทพ เป็นที่น่ายินดีที่ประเทศไทยได้ปรับเปลี่ยนนโยบายที่สำคัญและเกี่ยวข้องหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลมากขึ้น การแก้ไขกฎระเบียบเพื่อให้อดีตผู้ต้องโทษได้รับโอกาสในการทำงานเพิ่มขึ้น การมีเรือนจำต้นแบบที่นำมาตรฐานตามข้อกำหนดกรุงเทพมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน และการสร้างกลไกการติดตามการปฏิบัติตามข้อกำหนดข้างต้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อประเมินและรักษามาตรฐานการทำงานของเรือนจำทั่วประเทศ

Advertisement

ข้าพเจ้าจึงขอชมเชยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ที่ทำให้การดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องขังมีพัฒนาการอย่างเป็นรูปธรรม การดำเนินการตามข้อกำหนดกรุงเทพ เป็นเพียงมิติหนึ่งของการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องขัง ในทางปฏิบัติแล้วหากเราเชื่อมั่นว่าผู้ที่ก้าวพลาดส่วนใหญ่สามารถแก้ไขตนเองได้ เราก็ควรให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสทั้งภายในเรือนจำและในชุมชน การสร้างโอกาสในที่นี้ หมายถึงการส่งเสริมให้พวกเขาได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ในการประกอบอาชีพสุจริต การมีสุขอนามัยขั้นพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชน การเข้าถึงการรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย การมีชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง และการไม่ถูกกีดกันจากสังคมหลังพ้นโทษ เรื่องต่างๆ เหล่านี้ จะประสบความสำเร็จได้ เมื่อทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องการดูแลสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำ และการเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณะสุขต่างๆ ที่นับเป็นประเด็นสำคัญในการให้สิทธิของผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในประเด็นด้าน สุขอนามัยของผู้ต้องขังในเรือนจำนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเล็งเห็นว่าการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ การพยาบาล รวมไปถึง การได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพของผู้ต้องขัง เป็นสิทธิที่ผู้ต้องขังควรได้รับให้เท่าเทียมกับบุคคลภายนอก จึงทรงมีพระราชดำริให้มีการจัดตั้ง “โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี ด้วยใจ” ขึ้น เพื่อมุ่งเน้นในการส่งเสริมด้านเครื่องมือแพทย์ ด้านบริการทางการแพทย์ พยาบาล ตลอดจนให้องค์ความรู้ต่างๆ ด้านสุขภาพอนามัยที่จำเป็นต่อผู้ต้องขัง และให้องค์ความรู้ด้านสุขภาพแก่อาสาสมัครด้านสุขภาพในเรือนจำ ให้มีความสอดคล้องกับกฎหมายภายในประเทศ ข้อกำหนดแมนเดล่า และข้อกำหนดกรุงเทพ ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณนี้จะนำสู่ความก้าวหน้าในกิจการราชทัณฑ์ไทย และสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขัง อันจะเป็นไปเพื่อมอบกำลังกาย กำลังใจที่ดีในการมุ่งมั่นพัฒนาตนเองของผู้ต้องขังต่อไป

สิ่งหนึ่งที่พวกเราได้เรียนรู้จากความพยายามที่ผ่านมาคือ การรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายอย่างจริงจัง ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าสังคมไทยเปี่ยมไปด้วยบุคคลที่มีจิตสาธารณะพร้อมที่จะทำความดี เพื่อส่วนรวมและประเทศชาติ ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความร่วมมือร่วมใจในการสร้างโอกาสแก่ผู้ก้าวพลาด และการหยิบยื่นกำลังใจให้แก่กันนี้เองจะเป็นพลังสำคัญในการธำรงไว้ซึ่งสังคมไทยที่โอบอ้อมอารีและไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ขณะที่ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (ทีไอเจ) กล่าวบรรยายเรื่องยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ว่า มีคำกล่าวว่าหากจะวัดสิทธิมนุษยชนในสังคมนั้นๆ ให้ดูการปฏิบัติต่อนักโทษในเรือนจำ ขณะที่เรือนจำของไทยมีปัญหามาก เรามีผู้ต้องขังต่อสัดส่วนประชากรสูงเป็นลำดับที่ 6 ของโลก และเป็นที่ 1 ของอาเซียน ปัจจุบันมีผู้ต้องขังประมาณ 360,000 กว่าคน สูงกว่าปริมาณที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับพื้นที่รองรับได้ 3 เท่า หรือรับได้จำนวน 120,000 คน เราจึงตกอยู่ในสภาพปัญหาคนล้นคุก รวมถึงคนออกจากคุกที่กลับไปกระทำผิดซ้ำ เพราะในเรือนจำไม่สามารถเยียวยาฟื้นฟูผู้ต้องขังให้กลับเป็นคนดีคืนสังคมได้ ทำได้เพียงจัดการดูแลไม่ให้เกิดปัญหาเท่านั้น

ดร.กิตติพงษ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์นี้ไม่ได้สะท้อนสภาพบ้านเมืองเรากำลังอันตราย ขณะเดียวกันไม่ได้สะท้อนถึงประสิทธิภาพระบบยุติธรรม ที่สามารถนำคนไปอยู่ในเรือนจำได้มาก แต่มองว่าเป็นระเบิดเวลาที่มาต้องจัดการระบบยุติธรรมทั้งระบบ ตั้งแต่การปรับความคิด เปลี่ยนการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทนให้หลาบจำในปัจจุบันเป็นการแก้ไขฟื้นฟูให้โอกาส ซึ่งตรงนี้จะทำให้ผู้กระทำความเสียหายได้รับการฟื้นฟูทางจิตใจ เกิดความสำนึกที่จะไม่กระทำผิดซ้ำ เกิดการให้อภัยกัน เป็นแนวคิดที่ดึงคุณค่าของมนุษย์ที่เชื่อว่ามนุษย์ใฝ่ดีได้ถ้ามีโอกาส รวมถึงการตระหนักเรื่องยาเสพติด ต้องแยกผู้เสพที่ต้องการพึ่งพายามาเป็นผู้ค้ารายย่อยย่อยออกจากผู้ค้ารายใหญ่ให้ได้ ต้องมั่นใจกระบวนการยุติธรรมในชั้นตำรวจและอัยการมีกระบวนการที่เหมาะสม เพื่อไกล่เกลี่ยคดีแก้ปัญหาให้ได้ โดยไม่ต้องไปดึงระบบศาลให้มากเกินสมควร โดยใช้กติกาชุมชนที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว และฝากให้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยเรื่องการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพและการตรวจสอบได้อยู่แล้วเข้ามาช่วย แต่ต้องมีระบบกำกับที่จะทำให้คนมั่นใจว่าคนกระทำผิดจะได้รับการลงโทษที่เหมาะสม ไม่เกินเลยจนยากจะกลับมาเป็นคนดีของสังคมได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image