แพทย์รางวัลเจ้าฟ้ามหิดลเยือนศิริราช แนะไทยดูแลสุขภาพปชช.ตั้งแต่ในครรภ์

ศ.นพ.มอร์ตัน เอ็ม มาวเวอร์ (ที่ 3 จากซ้าย) เซอร์ไมเคิล กิเดียน มาร์มอต (ที่ 5 จากซ้าย)
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา (ซ้าย) ให้การต้อนรับแพทย์ผู้ได้รับรางวัล

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ ศ.นพ.มอร์ตัน เอ็ม มาวเวอร์ (Professor Morton M. Mower) และ เซอร์ไมเคิล กิเดียน มาร์มอต (Sir Michael Gideon Marmot) ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2558 ในโอกาสมาเยือนคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหน่วยงานที่ริเริ่มรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับผลงานที่ได้รับรางวัล ณ ห้องประชุมราชปนัดดาสิรินธร อาคารศรีสวรินทิรา ชั้น 1

โอกาสนี้ ผู้ได้รับรางวัลร่วมถวายบังคมพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จากนั้นเยี่ยมชมห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 ซึ่งภายในรวบรวมเรื่องราวพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ รวมทั้งสิ่งของส่วนพระองค์ที่หาชมได้ยาก

เซอร์ไมเคิล กิเดียน มาร์มอต แสดงปาฐกถาว่า จากการศึกษาพบว่า ปัจจัยทางสังคม ทั้งเชื้อชาติ วิถีการดำเนินชีวิต เศรษฐานะ ความไม่เท่าเทียม ล้วนมีผลต่อคุณภาพชีวิต หากลดความเหลื่อมล้ำในกลุ่มต่างๆ ให้มีความเท่าเทียมกัน ย่อมทำให้คุณภาพชีวิตของคนทุกคนดีขึ้น ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าคนไทยร้อยละ 40 ไม่มีนายจ้าง ทำให้การดูแลสภาพการทำงานให้ถูกสุขลักษณะไม่ดีพอ จึงต้องดูแลคนกลุ่มนี้ให้เท่าเทียมกับกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งในผู้สูงอายุจะต้องมีระบบดูแลหลังวัยเกษียณ ดังนั้น หากดูแลสุขภาพของประชากรทุกกลุ่มดีตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ติดตามพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีและมีสุขภาวะที่ดีในอนาคต

_VIW2397

Advertisement

“ในระดับโลกการรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ลดเหล้า ลดบุหรี่ ผ่านรูปแบบการจัดงานรณรงค์ต่างๆ ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น แต่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะกรณีนี้ต้องให้ผู้ที่เข้าใจมานั่งฟังและพร้อมนำไปปฏิบัติ การจะลดการดื่มเหล้า ลดสูบบุหรี่ ต้องหาสาเหตุก่อนทำการรณรงค์ ยิ่งหากใช้มาตรการเพิ่มภาษีเหล้าและบุหรี่ยิ่งเห็นผลชัดเจน” เซอร์ไมเคิล กิเดียน มาร์มอต กล่าว

ด้าน ศ.นพ.มอร์ตัน เอ็ม มาวเวอร์ กล่าวถึงการคิดค้นเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติชนิดฝังในร่างกาย หรือเอไอซีดี (AICD) และเครื่องรักษาหัวใจด้วยวิธีให้จังหวะ หรือซีอาร์ที (CRT) ว่า เครื่องเหล่านี้สามารถช่วยชีวิตได้ เพราะฝังไว้ในร่างกายผู้ป่วยที่การเต้นของหัวใจผิดปกติ แต่จะต้องปรับให้เต้นเป็นปกติที่สุด 60-80 ครั้งต่อนาที ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ใช้อุปกรณ์นี้แล้ว 2-3 ล้านคน

_VIW2418

Advertisement

ทั้งนี้ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม 2535 ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์

ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล และด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล, ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2558 ในวันที่ 28 มกราคม เวลา 17.30 น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image