เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ทรงห่วงใยราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จ.อุบลราชธานี

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ทรงห่วงใยราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จ.อุบลราชธานี

เมื่อเวลา 10.20 น. วันที่ 15 กันยายน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงห่วงใยราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดอุทกภัยในพื้นที่อำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดอุบลราชธานี ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดให้ นางนิลุบล ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เชิญถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภค พร้อมด้วยสิ่งของพระราชทาน ได้แก่ เต้นท์ที่พัก อุปกรณ์ทำน้ำดื่ม และอาหารสุนัขพระราชทาน ไปมอบแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัย ณ จุดอพยพบ้านทัพไทย ตำบลแจระแม อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ต่อจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดให้ นางนิลุบล ลิ่มพงศ์พันธุ์ เชิญถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภค จำนวน 700 ถุง พร้อมด้วยสิ่งของพระราชทาน ได้แก่ เต้นท์ที่พัก อุปกรณ์ทำน้ำดื่ม และอาหารสุนัขพระราชทาน ไปมอบแก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอวารินชำราบ ณ หอประชุมโรงเรียนกุดระงุม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น

ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดให้จัดตั้งโรงครัวพระราชทาน เพื่อประกอบอาหารพระราชทานเลี้ยงแก่ราษฎรที่เดินทางมารับมอบถุงพระราชทานในพื้นที่ด้วย นอกจากนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาโปรดให้เชิญสิ่งของพระราชทานประกอบด้วยเต้นท์ที่พัก จำนวน 1,000 หลัง อุปกรณ์ทำน้ำดื่ม จำนวน 500 ชุด และอาหารสุนัขพระราชทาน ไปมอบแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อีก 23 อำเภอของจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น อีกด้วย
ในโอกาสนี้ นางนิลุบล ลิ่มพงศ์พันธุ์ ได้เชิญพระกระแสทรงห่วงใยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ไปกล่าวกับราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดอุทกภัยในครั้งนี้ให้รับทราบ ต่างปลื้มปีติและสำนึกในพระกรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “โพดุล” และพายุโซนร้อน “คาจิกิ”ที่พัดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากติดต่อกันในพื้นที่จังหวัดตอนบน และในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2562 ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก และน้ำจากลำน้ำต่าง ๆ ไหลลงสู่แม่น้ำชีและแม่น้ำมูลโดยจะไหลมารวมกันที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นเส้นทางน้ำที่จะระบายลงสู่แม่น้ำโขงต่อไป จึงทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง ท่วมบ้านเรือนราษฎร สิ่งสาธารณประโยชน์ พื้นที่ทางการเกษตร ในพื้นที่ลุ่มสองฝั่งแม่น้ำมูล ได้รับความเสียหายใน 23 อำเภอ 170 ตำบล 1,289 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 36,307 ครัวเรือน

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image