ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เปิดนิทรรศการวังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา รูปแบบดิจิทัล

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เปิดนิทรรศการวังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา ในรูปแบบดิจิทัล

เมื่อเวลา 14.05 น. วันที่ 17 กันยายน กูเกิล อาร์ต แอล คัลเจอร์ และ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดงานเปิดตัวนิทรรศการ “วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา” ในรูปแบบดิจิทัล ให้คนทั่วโลกเรียนรู้ประวัติศาสตร์ “วังหน้า” ในหลากหลายมิติ ภายใต้การสนับสนุนจากท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน พระธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ผู้อำนวยการโครงการการศึกษาสันนิษฐานรูปแบบพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และสื่อความหมายด้วยเทคโนโลยี กรมศิลปากร กล่าวว่า เริ่มทำนิทรรศการนี้ เพราะอยากเข้าใจในประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของตนเองให้มากขึ้น ว่าพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นอะไร มีร่องรอยตรงไหน และยังได้ค้นข้อมูลภาษาอังกฤษ ทั้งในหอจดหมายเหตุ และร้านหนังสือ แต่ก็พบว่าไม่เพียงพอ จึงคิดว่าหากได้นำข้อมูลนี้ไปสู่โลกออนไลน์คงจะดีขึ้น ก็ได้ Google Arts&Culture เข้ามาช่วยในการดึงข้อมูลไปสู่โลกออนไลน์ เพื่อให้คนที่สนใจได้ศึกษาประวัติศาสตร์ได้ง่ายขึ้น เป็นสื่อแบบอินเตอร์แอคทีฟ โดยพยายามที่จะนำข้อมูลทั้งหมดเข้าไปสู่แพลตฟอร์มนี้ เน้นให้คนเข้าใจง่าย จับต้องได้ และสร้างประสบการณ์ที่ดี เพื่อให้ผู้เข้าชมสนใจความรู้ด้านนี้ต่อไป โดยในอีก 2 เดือนจากนี้ ก็จะมีนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนารูปแบบนิทรรศการให้ทันสมัยมากขึ้น

ขณะที่ นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมศิลปากร พยายามนำระบบดิจิทัล เข้ามาช่วยในการเผยแพร่งานของกรมศิลป์ ไม่ว่าคิวอาร์โค้ด , อีบุ๊ก ระบบสืบค้นเอกสารโบราณ หรือ ดี-ไลบราลี่ สมาร์ทมิวเซียม แม้ว่าจะเป็นงานเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม แต่ก็มีคนเข้ามาชมเดือนละล้านกว่าคน ถือเป็นความภาคภูมิใจ ซึ่งการนำนิทรรศการ วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา ไปสู่ระบบออนไลน์จะช่วยกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางศิลปวัฒนธรรม

Advertisement

นายจิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว หัวหน้าฝ่ายนโยบายและความสัมพันธ์ภาครัฐ บริษัท กูเกิ้ล (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวว่า Google Arts&Culture ตั้งขึ้นมาได้ 8 ปีแล้ว ถือเป็นเครื่องมือให้ภัณฑารักษ์ ได้นำเอาชิ้นงานและเรื่องราว เข้าไปสู่บนโลกออนไลน์ได้ มีพันธมิตรทั่วโลก โดยมีผู้เข้าใช้ปีละมากกว่า 1 ล้านคน ทั้งนี้ ในประเทศไทย เราได้เริ่มความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นำ นิทรรศการความสัมพันธ์ 200 ปี ไทย-สหรัฐอเมริกา “Great and Good Friends Exhibition” ขึ้นสู่แพลตฟอร์ม ปัจจุบันมีพันธมิตรมากกว่า 10 แห่ง เล่าเรื่องราวกว่า 30 เรื่อง โดยจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจในเรื่องราวของศิลปะ และวัฒนธรรม ทั่วโลก ได้เข้ามาศึกษาหาข้อมูลได้

สำหรับนิทรรศการครั้งนี้ มีทั้งรูปแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ตอน รวบรวมผลงานสร้างสรรค์ 138 รายการ พร้อมด้วยภาพสตรีท วิว สำรวจวังหน้า แบ่งเนื้อหาเป็น 4 ตอนได้แก่ ตอนที่ 1 รู้จักวังหน้า เป็นการกกล่าวถึงประวัติความเป็นมาและประวัติศาสตร์วังหน้า ความคิดดั้งเดิมที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดีย , ตอนที่ 2 กว่าจะเป็นนัยระนาบนอก อินซิทู ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เป็นการรวบรวมผลงานของศิลปินแต่ละท่านที่ได้รังสรรค์ไว้ในช่วงนิทรรศการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา , ตอนที่ 3 ชุบชีวิตทางมรดกทางประวัติศาสตร์ที่จับต้องได้ กล่าวถึงสิ่งปลูกสร้างที่เป็นร่องรอยของวังหน้าไม่ว่าจะเป็นพระที่นั่งคชกรรมประเวศ พลับพลาสูง และสิ่งอื่นๆ ที่ได้จัดแสดงไปแล้วเช่นกัน และ ตอนที่ 4 ผัสสะ ของสิ่งที่จับต้องไม่ได้ มีผลงานเพลงที่ดัดแปลงเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สอดร้อยกับเครื่องดนตรีดั้งเดิมอย่าง ระนาด สามารถเข้าชมได้ผ่านทางแอพพลิเคชั่น Google Arts&Culture หรือบนเว็บไซต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image