‘วังหน้านฤมิต’ ดิจิทัล ความตั้งใจ ‘ท่านผู้หญิงใหม่’ ส่งต่อความรู้คนไทย

‘วังหน้านฤมิต’ ดิจิทัล ความตั้งใจ ‘ท่านผู้หญิงใหม่’ ส่งต่อความรู้คนไทย

จากความตั้งใจของ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน พระธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในฐานะผู้อำนวยการ โครงการการศึกษาสันนิษฐานรูปแบบพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) กรมศิลปากร ที่อยากให้คนเข้าถึงประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะกับประวัติศาสตร์ในพื้นที่ที่เลือนหาย “พระราชวังบวรสถานมงคล” หรือวังหน้า ซึ่งมีความสำคัญยิ่ง จึงเกิดเป็นนิทรรศการพิเศษเรื่อง “วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา” จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ไปเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

และถือเป็นเรื่องดีที่นิทรรศการ “วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา” จะขึ้นสู่รูปแบบดิจิทัลด้วยความร่วมมือของ Google Arts& Culture และกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของพระราชวังบวรสถานมงคล โดยเปิดตัว ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา กล่าวว่า ตอนที่ได้เริ่มทำโครงการวังหน้า ก็เพราะอยากเข้าใจประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของตนเอง ว่าพื้นที่วังหน้าเคยเป็นอะไรมาก่อน ในแต่ละยุค โชคดีที่ทำงานกรมศิลป์ จึงได้คุยกับผู้รู้ นอกจากนี้ก็ยังหาข้อมูลในหอจดหมายเหตุ อ่านเอกสารวิชาการ บางทีก็เป็นภาษาโบราณ ข้อมูลภาษาอังกฤษก็ไม่เพียงพอ หากคนไม่กล้าจะถามเจ้าหน้าที่กรมศิลป์จะทำอย่างไร ก็คิดว่าคงดีหากข้อมูลได้ขึ้นไปอยู่บนออนไลน์ อยากรวบรวมทุกอย่างไว้ในที่หนึ่ง ไม่ว่าอยู่ที่ใดก็สามารถเข้าถึงได้ ใช้เรื่องราวบอกเล่าไป จึงได้ชวนกูเกิลมาทำนิทรรศการนี้ เป็นสื่อแบบอินเทอร์แอ๊กทีฟในแพลตฟอร์มที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น

Advertisement

ในครั้งนี้ ท่านผู้หญิงสิริกิติยาเป็นผู้จัดทำและเลือกเนื้อหาเข้าสู่แพลตฟอร์มด้วยตัวเอง โดยได้ยกทุกอย่างที่จัดแสดงในนิทรรศการขึ้นไปไว้ในออนไลน์ ไม่ว่างานของศิลปิน หรืองาน 3D ของพระที่นั่งคชกรรมประเวศ พระนามในพระสุพรรณบัฏ และเพลง แม้ว่าจะมีความยาก และใช้เวลานับ 4-5 เดือน กว่าจะออกมาเป็นรูปร่าง

“ไม่ได้มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีมากนัก เคยชินกับการทำงานที่จับต้องได้ พอมาเป็นดิจิทัลมันไม่เหมือนกัน พอทำไปเดือนหนึ่งก็ต้องเริ่มใหม่ ปรับความเข้าใจใหม่ ให้คนมีส่วนร่วมกับมันได้ โดยต้องหยิบยกเรื่องราวเลยว่าจะให้ใครเป็นพระเอก แล้วเป็นคนเล่าเรื่องที่ย่อยมาให้ง่ายที่สุด ความยากคือจะทำให้ประสบการณ์ในการเข้าชมเหมือนกับนิทรรศการจริงได้อย่างไร เพราะพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน และประสบการณ์นี้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เขาไปค้นคว้าต่อได้ ก็ต้องปรับวิธีคิด มุมมอง”

“ถือเป็นเรื่องดีที่นิทรรศการนี้จะทำให้คนจำงานไว้ ให้คนไม่มีโอกาสได้ชมก็เข้ามาดูได้” ท่านผู้หญิงสิริกิติยาเผย

Advertisement

นอกเหนือจากนิทรรศการที่เผยแพร่ขณะนี้แล้ว ท่านผู้หญิงสิริกิติยา กล่าวว่า ในอีก 2 เดือนจากนี้ จะพัฒนางานให้ละเอียดมากขึ้น มีนิทรรศการพฤกษศาสตร์ผ่านจิตรกรรมฝาผนัง โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างกล้อง ที่จะถ่ายจิตรกรรมบนหลังคาโบสถ์ ที่หากยืนมองกันคนอาจเข้าไม่ถึง แต่อุปกรณ์นี้จะทำให้เห็นได้ทุกอย่าง ในอนาคตก็อยากจะนำความรู้ที่มีในพิพิธภัณฑ์มานำเสนอ อาจไม่ได้เป็นพิพิธภัณฑ์เดียว แต่เป็นเรื่องราวเสียมากกว่า

นิทรรศการ “วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา” แบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ตอน รวบรวมผลงานสร้างสรรค์ 138 รายการ พร้อมด้วยภาพสตรีท วิว สำรวจวังหน้า แบ่งเนื้อหาเป็น 4 ตอน ตั้งแต่การปูพื้นให้คนได้เข้าใจง่าย ได้แก่ ตอนที่ 1 รู้จักวังหน้า เป็นการกล่าวถึงประวัติความเป็นมาและประวัติศาสตร์วังหน้า, ตอนที่ 2 กว่าจะเป็นนัยระนาบนอก อินซิทู ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เป็นการรวบรวมผลงานของศิลปินที่ได้รังสรรค์ไว้ในช่วงนิทรรศการที่ผ่านมา, ตอนที่ 3 ชุบชีวิตทางมรดกทางประวัติศาสตร์ที่จับต้องได้ กล่าวถึงสิ่งปลูกสร้างที่เป็นร่องรอยของวังหน้า และ ตอนที่ 4 ผัสสะ ของสิ่งที่จับต้องไม่ได้ นับเป็นไฮไลต์ของนิทรรศการ อย่างผลงานเพลง Ghost of Wang na โดย ตุล ไวฑูรเกียรติ และ Marmosets ที่ดัดแปลงเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สอดร้อยกับเครื่องดนตรีดั้งเดิมอย่างระนาด

ขณะที่ จิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว หัวหน้าฝ่ายนโยบายและความสัมพันธ์ภาครัฐ บริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า กูเกิล อาร์ต แอนด์ คัลเจอร์ ตั้งขึ้นมาเป็นปีที่ 8 เป็นพื้นที่ข้อมูลด้านวัฒนธรรม ให้คนทั่วโลกได้เข้าถึง ปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์ 2,000 แห่งทั่วโลก มาร่วมมือให้คนท่องนิทรรศการผ่านปลายนิ้ว อาทิ ทัชมาฮาล พิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะ พิพิธภัณฑ์ สมิทโซเนียน มีทั้งแบบแอพพลิเคชั่น และเว็บไซต์ สำหรับไทยมีพิพิธภัณฑ์เข้าร่วม 10 แห่ง มีเรื่องราวกว่า 30 เรื่อง หรือ 960 ชิ้น อาทิ พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย หอภาพยนตร์ ที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจอย่างมาก

“กูเกิล อาร์ต แอนด์ คัลเจอร์ เปิดรับพันธมิตรทุกองค์กร เพียงไม่ใช่เนื้อหาด้านการค้า ปีหนึ่งมีคนเข้าไปชมมากกว่าล้านคนจากทั่วโลก แต่ละคนใช้เวลาอยู่เป็นนาที เพราะเป็นเรื่องที่เขาสนใจจริงๆ มีการอัพเดตหน้าฟีดทุกๆ วัน โดยเจ้าของคอนเทนต์ก็จะรู้ได้ด้วยว่าคนที่เข้ามาชมเป็นช่วงวัยไหน เพศใด ทีมภัณฑารักษ์ก็จะสามารถนำไปวิเคราะห์ถึงผู้รับสารของเขาได้ต่อไปด้วย” จิระวัฒน์เผย

จิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว
อนันต์ ชูโชติ
ภายในแอพพลิเคชั่น
ภายในแอพพลิเคชั่น
ภายในแอพพลิเคชั่น

ความรู้เพียงปลายนิ้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image