ศาสตร์พระราชา ผลสำเร็จเชิงประจักษ์ ช่วยไทย-แก้วิกฤตโลกร้อน

ศาสตร์พระราชา ผลสำเร็จเชิงประจักษ์ ช่วยไทย-แก้วิกฤตโลกร้อน

ศาสตร์พระราชา – “ประเทศไทยทุกวันนี้ประสบปัญหาแล้งสลับท่วม ท่วมสลับแล้ง ที่เป็นอย่างนี้เพราะป่าต้นน้ำของเรา เปลี่ยนภูเขา เปลี่ยนป่าไม้ ให้เป็นไร่ข้าวโพด เพราะฉะนั้นวิธีแก้มีทางเดียวคือทำตามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระองค์ทรงทำให้ดูไว้ตั้ง 4,000 กว่าแห่ง”

ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล (ที่2 จากซ้าย) ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (ที่4 จากซ้าย) อาทิตย์ กริชพิพรรธ (ที่5 จากซ้าย)

เสียงของ อ.ยักษ์ หรือ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวถึงปัญหาวิกฤต “ท่วม-แล้ง-แล้ง-ท่วม” ที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ขณะนี้ ในระหว่างลงพื้นที่ดูความสำเร็จของเกษตรกรที่เดินตามรอย “ศาสตร์พระราชา” ที่แม่ฮ่าง อ.งาว จ.ลำปาง หนึ่งในพื้นที่วิจัยภายใต้โครงการ “การออกแบบเชิงภูมิสังคม การติดตามและประเมินผลเพื่อบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างมีส่วนร่วม” ซึ่งดำเนินงานวิจัยโดย ศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ด้วยการสนับสนุนจาก บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

 

‘เขาหัวโล้น’ ต้นเหตุ ‘ไทย’ ท่วม-แล้ง

Advertisement

“ป่าต้นน้ำประเทศไทยขณะนี้ประกอบอาชีพปลูกพืชที่ใช้เลี้ยงอาหารสัตว์ ซึ่งมันมาทำลายภาวะความเป็นป่าต้นน้ำ” อ.ยักษ์อธิบาย แล้วขยายความว่า

“ป่าต้นน้ำคือป่าที่ฝนตกลงมาแล้วระบบรากของป่า ของต้นไม้ จะซับน้ำไปเป็นน้ำใต้ดิน โดยดิน 1 ไร่ จะมีน้ำไม่น้อยกว่า 2,500-3,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ถูกซับลงมาต่อไร่”

“ดังนั้นพื้นที่เป็น 10 ล้านไร่ ที่ถูกทำลายกลายเป็นป่าข้าวโพดแทน ความสามารถในการอุ้มน้ำของภูเขาก็หายไปเลย พอฝนตกปั๊บมันก็จะชะเอาหน้าดิน ซึ่งเป็นดินที่มีปุ๋ยที่ดีที่สุดที่เรียกว่า ฮิวมัส หรือปุ๋ยธรรมชาติ ชะเอาหน้าดินไปด้วย”

Advertisement

“น้ำที่ไหลลงไปจากภูเขาหัวโล้นมันจึงขุ่นคลั่กลงไป ปริมาณน้ำฝนไร่หนึ่ง แทนที่จะเป็น 3,000 ลบ.ม. แล้วซับลงใต้ดิน มันก็ชะเอาขี้โคลน ผิวดินที่เป็นดินสมบูรณ์ที่เกิดจากใบไม้ทับถมกันเป็นฮิวมัส ละลายน้ำ แทนที่จะเป็น 3,000 ก็เป็น 4,000 คือน้ำ 3,000 ตะกอนดินที่เป็นปุ๋ยอีก 1,000 ก็กลายเป็น 4,000 พัดพาลงไปเก็บไว้ให้หนอง ในคลอง ในบึง แม้ในทะเลสาบ ในเขื่อน

“ตะกอนเหล่านี้เมื่อเป็นน้ำนิ่งก็จะตกตะกอน เขื่อนก็จะตื้นเขิน หนองน้ำธรรมชาติ บึงธรรมชาติ แม่น้ำธรรมชาติ ก็จะตื้นเขินไปหมด ก็ไม่สามารถจะอุ้มน้ำไว้ได้

“แม้จะสร้างฝาย สร้างเขื่อนเอาไว้ ถ้าตะกอนไปเต็มหมด มันก็ไม่สามารถที่จะเก็บน้ำไว้ได้

“เมื่อเก็บน้ำไม่ได้ มันก็จะหลากลงไปท่วมข้างล่าง”

“สังเกตที่ท่วมกันอยู่ทุกวันนี้มันเกิดจากภูเขาต้นน้ำเก็บน้ำไม่ได้ มันก็หลากลงไปทันที ฝนตกภายในไม่กี่ชั่วโมงมันก็จะหลากท่วมเต็มไปหมดเลย

“แต่ถ้ามีป่าอุดมสมบูรณ์ ถ้าฝนตกหนักป่าจะซับน้ำไว้ กว่าจะไหลไปเป็นเดือน แล้วค่อยๆ ไหลไป มันก็จะค่อยๆ ท่วม ท่วมขึ้นวันละเซน 2 เซน 5 เซน ไม่เกิดความเสียหายเลย การค่อยๆ ท่วมขึ้นมันทำให้ต้นข้าวหนีน้ำได้ ข้าวไม่เคยเสียหายจากการท่วม”

“แต่พอไม่มีป่าเก็บ น้ำทะลักลงไปที ท่วมวันนึงเป็นเมตร ต้นไม้ทุกชนิดก็หนีน้ำไม่ทัน แม้แต่ต้นข้าวก็ตายหมด แล้วเกิดความเสียหายมากมาย และพอฝนหยุดปั๊บก็ไม่มีน้ำเหลือ เพราะหลากเอาตะกอนไปเก็บไว้ตามหนองน้ำ แล้วน้ำก็ท่วมบ้านเรือนเสร็จ ก็หลากลงทะเลไปหมด พอฝนหยุดก็กลายเป็นหน้าแล้ง ตกลงเมืองไทยก็แล้งสลับท่วม จนกลายเป็นเรื่องปกติ”

รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัส ‘เตือน’

จากวิกฤตดังกล่าว อ.ยักษ์บอกอย่างเป็นห่วงว่า ทุกวันนี้สภาพแวดล้อมเราเสื่อมโทรมจนน่ากลัว ทำยังไงฝนตกน้ำจะไม่ท่วมผิดปกติแบบนี้ และพอฝนหยุดแล้วต้องไม่แล้ง คนยังทำมาหากินได้ปกติ”

ซึ่ง อ.ยักษ์ได้น้อมนำพระราชดำรัส “ทรงเตือน” จากในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเปิดเผยอีกครั้งว่า วิกฤตที่เราเจอกันอยู่ทุกวันนี้ พระองค์ทรงส่งสัญญาณตั้งแต่ปี 2547 ด้วย “ส.ค.ส.พระราชทาน” ซึ่งเป็นรูปประเทศไทย แล้วมีระเบิด 4 ลูกไปทั่วทุกทิศเกือบทั่วโลก แล้วทรงบอกว่า “สามัคคีเป็นพลัง ค้ำจุนแผ่นดินไทย”

อ.ยักษ์ได้ถอดรหัส ส.ค.ส.พระราชทานฉบับนี้ว่า “ระเบิด 4 ลูก คือเศรษฐกิจก็จะทรุดทั่วโลก การเมืองจะเกิดความขัดแย้งกัน การเงิน สภาพแวดล้อม และสภาพสังคม ก็จะประสบกับปัญหาวิกฤต พูดง่ายๆ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมจะพังทั่วโลกจะวิกฤต พระองค์ทรงเตือนมาและรับสั่งว่าต้องสามัคคี”

จากพระราชดำรัสที่ทรงเตือนผ่าน ส.ค.ส.พระราชทาน อ.ยักษ์ได้น้อมนำศาสตร์พระราชามาปฏิบัติและเผยแพร่องค์ความรู้เพื่อพลิกฟื้นชีวิตประชาชน

“เราลงไปแก้ปัญหาที่ฐานรากให้เกิดการปฏิบัติและให้เขาเห็นว่าศาสตร์พระราชาไม่ใช่วาทกรรม ศาสตร์พระราชาทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนจริงๆ เมื่อเขาศึกษาดีๆ แล้วนำไปปฏิบัติตาม มันจะพลิกชีวิตของเขาได้จริงหรือเปล่า ถ้าเขาตอบคำถามได้ ปัญหาทุกอย่างมันจะค่อยๆ ทุเลาขึ้นมาเอง ซึ่งทุกอาชีพสามารถน้อมนำไปปฏิบัติได้ โดยไม่มีข้อยกเว้น”

ทรงห่วง ‘ลุ่มน้ำป่าสัก’ บริหารจัดการยาก

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงห่วงใยพสกนิกรไม่เสื่อมคลาย ดั่งพระราชดำรัสทรงห่วงใยต่อปัญหาภัยแล้งและปัญหาอุทกภัยบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2556 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช

“…แม่น้ำป่าสักจะบริหารจัดการได้ยากที่สุด เพราะปริมาณน้ำไหลลงสู่อ่างสูงมากหลายเท่าของความจุอ่าง ทำให้การบริหารจัดการทำได้ยาก…”

จากพระราชดำรัสดังกล่าวก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน จัดทำโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้ประชาชนตระหนักและเห็นความสำคัญในการฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก ด้วยแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเป้าหมาย “หยุดท่วม-หยุดแล้งในลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน” ทั้งมุ่งหวังให้ลุ่มน้ำป่าสักเป็น “ต้นแบบ” ในการจัดการดิน น้ำ ป่า คน ให้เกิดการขยายผลไปยังลุ่มน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 ถึงปัจจุบัน พ.ศ.2562 นับเป็นปีที่ 7 แล้ว โครงการประสบผลสำเร็จในการขยายจำนวน “คน” และ “เครือข่าย” ที่น้อมนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสู่การปฏิบัติจริง ทั้งในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำป่าสัก และขยายไปสู่พื้นที่นอกลุ่มน้ำป่าสักถึง 24 ลุ่มน้ำ โดยมีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนไปสู่ลุ่มน้ำที่ 25 คือลุ่มน้ำปัตตานี

ประวีณ ศิราไพบูลย์พร หรือติ่ง

2 พี่น้องชาวปกากะญอ ผู้เดินตามรอยศาสตร์พระราชา

7 ปีของความมุ่งมั่นจากทุกภาคส่วน เริ่มส่งผลสัมฤทธิ์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ทั้งในแง่ของการพลิกฟื้นธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า และคืนคุณภาพชีวิตแก่เกษตรกร อย่างพื้นที่ในแม่ฮ่าง อ.งาว จ.ลำปาง หนึ่งในพื้นที่วิจัยภายใต้โครงการ “การออกแบบเชิงภูมิสังคมไทย การติดตามและประเมินผลเพื่อบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างมีส่วนร่วม” บ่งชี้ว่า การทำเกษตรตามแนวทางศาสตร์พระราชาในรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” ทำให้กักเก็บน้ำได้อย่างเพียงพอ ดินมีความอุดมสมบูรณ์ พืชพรรณมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งจากไม้ท้องถิ่นฟื้นขึ้นเองตามธรรมชาติและที่ปลูกเพิ่ม คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งเกิดเครือข่ายผู้รู้ที่พร้อมส่งต่อความรู้และพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

กรองกาญจน์ ศิราไพบูลย์พร หรือ ต๋อย

นายประวีณ ศิราไพบูลย์พร หรือ ติ่ง แห่งไร่ติ่งตะวัน นางสาวกรองกาญน์ ศิราไพบูลย์พร หรือ ต๋อย แห่งไร่ไฮ่เฮา เดินตามรอยศาสตร์พระราชาด้วยการสร้างโคก หนอง นา บนภูเขาที่บ้านแม่ฮ่าง อ.งาว จ.ลำปาง เปลี่ยนพื้นที่ที่เคยเป็นไร่ข้าวโพดให้เป็นป่าใช้สอยจนพึ่งพาตนเองได้ โดยเริ่มจากสร้างหลุมขนมครกให้เก็บน้ำในดิน จากร่องห้วยที่เก็บน้ำไม่ได้ ก็มีน้ำ โดยขุดคลองไส้ไก่ ทำฝาย ขุดนาขั้นบันได ปลูกไม้ผล ฝรั่ง อะโวคาโด เงาะ และพืชผสมผสาน ที่เหลือปล่อยเป็นป่า ปัจจุบันทำได้ราว 2 ไร่ และมีเป้าหมายที่จะทำไปเรื่อยๆ จนเต็มพื้นที่ทั้ง 21 ไร่

ผ่านมา 2 ฤดูแล้งแล้วที่น้ำไม่แห้งไม่ขาดน้ำ ทั้งต๋อยและติ่งเชื่อว่าการนำศาสตร์พระราชามาใช้ในพื้นที่จะลดการทำลายป่า และทำให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง

ปนัดดา ปิ่นเงิน

ตามรอยพ่อ ชีวิตมีความสุขแก้ปัญหาหนี้สิน

นางปนัดดา ปิ่นเงิน หรือ แดง แห่งไร่ตะวันแดง ก็เป็นอีกหนึ่งในกลุ่มสมาชิก 14 คน ที่ปรับมาทำโคก หนอง นา แทนไร่ข้าวโพดอย่างจริงจัง จนเกิดผลสำเร็จที่เห็นได้ชัดเจนในพื้นที่ที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้นานาชนิด จากหนี้สินกองทุนหมู่บ้าน 30,000 บาท โครงการวิจัยช่วยปลดหนี้ให้ด้วยการทำธนาคารต้นไม้ โดยโครงการวิจัยให้ค่าตอบแทนการปลูกต้นไม้ต้นละ 10 บาท เพื่อนำไปชำระหนี้ ซึ่งแดงปลูกต้นไม้ไปกว่า 4,000 ต้น ในพื้นที่ของเธอส่วนมากเป็นไม้ผล โดยปลูกกล้วยก่อนเพื่อให้ร่มเงาและความชื้น ทั้งยังเป็นการควบคุมไม่ให้หญ้าขึ้น หน้าแล้งไม้อื่นก็ไม่ตาย

ไร่ตะวันแดงก่อน-หลังเดินตามรอยศาสตร์พระราชา

ในวันนี้แดงแทบไม่มีค่าใช้จ่ายเพราะทำเองทุกอย่าง ทำน้ำหมักเอง ข้าวก็ปลูกกินเอง หากต้องการเงินเพื่อซื้อเกลือ ปลาร้า กะปิ ก็เพียงแต่ขายกล้วย เธอมีรายรับอย่างสม่ำเสมอจากการขายผลผลิตจากไร่ ทั้งกล้วย พริก มะเขือ โดยขายในชุมชนเพราะยังมีคนที่ปลูกข้าวโพดอย่างเดียวและต้องซื้อทุกอย่างกินอยู่

ทฤษฎีของในหลวง ร.9 ที่กลุ่มชาวบ้านตัวอย่าง ยึดเป็นแบบในการดำรงชีพ

‘ความสำเร็จ’เชิงประจักษ์

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า จากการรณรงค์ตามรอยศาสตร์พระราชาตั้งแต่ปี 2556 มีผู้ให้ความสนใจมากขึ้นทุกปีและได้เห็นผลสำเร็จเชิงประจักษ์ในพื้นที่ของผู้ที่ลงมือปฏิบัติ ทว่ายังขาดการจัดเก็บข้อมูลและประเมินผลอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน ไม่สามารถนำข้อมูลมาประมวลผลในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม เชฟรอนจึงร่วมกับศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สจล.จัดทำโครงการวิจัยดังกล่าวขึ้น โดยจะนำผลสรุปจากการเก็บข้อมูลตลอด 2 ปี ที่ผ่านมาออกมาถอดบทเรียนเป็นชุดความรู้และคู่มือ เพื่อให้ชุมชนอื่นๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนสามารถนำไปใช้ได้ในอนาคต
“เชื่อมั่นว่าผลวิจัยนี้จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการขยายผลไปได้อีกมาก อย่างน้อยคนที่ยังรีรออยู่จะได้มั่นใจ เพราะมีบทพิสูจน์ให้เห็นเชิงวิชาการ ที่สำคัญคือ นี่เป็นเครื่องพิสูจน์ให้ทั่วโลกได้ประจักษ์อีกครั้ง ถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่าศาสตร์พระราชาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระองค์ แก้ปัญหาเรื่องดิน น้ำ ป่า คน อย่างยั่งยืนได้จริง” นายอาทิตย์กล่าว

เปิดเปเปอร์‘สรุปผลงานวิจัย’

ทั้งนี้ โครงการวิจัยครอบคลุม 3 พื้นที่ ได้แก่ ภาคเหนือที่แม่ฮ่าง จ.ลำปาง ภาคอีสานที่บ้านนาเรียง จ.อุดรธานี และภาคตะวันตกที่บ้านห้วยกระทิง จ.ตาก พื้นที่ละ 100 ไร่ รวม 300 ไร่ และได้ขยายพื้นที่วิจัยเป็น 400 ไร่ เนื่องจากมีผู้สนใจเป็นอย่างมาก

ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล รักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สจล.กล่าวว่า ประเด็นหลักในการวิจัย ได้แก่ การประมวลความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ของการจัดการดิน น้ำ ป่า บริบทด้านสภาพแวดล้อม ผลผลิต เศรษฐกิจ และสังคม โดยมีสมมุติฐานว่า ผู้ที่นำแนวคิดโคก หนอง นา โมเดลไปปฏิบัติ ตามแนวทางที่ได้มีการออกแบบไว้ จะส่งผลให้มีน้ำเพียงพอต่อความต้องการ สามารถในการรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศ อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนในที่สุด ซึ่งจากผลวิจัยพบว่ากลุ่มวิจัยมีความรู้ความเข้าใจด้านการจัดการดิน น้ำ ป่า และสามารถกักเก็บน้ำได้เพียงพอ ดินอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายของพืชพรรณต่างๆ มากขึ้น ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นแนวโน้มที่ดีในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เมื่อลงลึกในรายละเอียดพบว่า “ด้านดิน” เดิมพื้นที่มีสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น ดินแข็งเสื่อมสภาพจากการใช้สารเคมีมานานก็กลับมาอุดมสมบูรณ์ อุ้มน้ำได้ดี

“ด้านน้ำ” พบว่า เดิมกักเก็บน้ำได้ไม่เกิน 10% ของปริมาณน้ำฝนที่ตกลงในพื้นที่ ในปัจจุบันสามารถเก็บน้ำใต้ดินได้โดยเฉลี่ยถึง 45% ของปริมาณน้ำฝน ส่วนที่เหลือจะเก็บในหนอง นา และคลองไส้ไก่ หรือที่เรียกว่าน้ำบนดิน ซึ่งสามารถเก็บได้เกิน 100% ทุกแปลง จากน้ำที่ไหลมาจากพื้นที่อื่นๆ

“ด้านพรรณพืช” มีความหลากหลายมากขึ้น จากการปลูกเพิ่มและการฟื้นคืนของไม้พื้นถิ่น โดยเฉลี่ยมีมากกว่า 50 ชนิดต่อพื้นที่ โดยโครงการวิจัยได้ชำระหนี้แทนชาวบ้านด้วยการทำ “ธนาคารต้นไม้” ด้วยการให้ค่าตอบแทนการปลูกต้นไม้ต้นละ 10 บาท เน้นการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง โดยผสานความหลากหลายของไม้ทั้ง 5 ระดับ รวม 3 พื้นที่วิจัย มีการปลูกต้นไม้เพิ่มไปแล้วกว่า 172,327 ต้น

“ด้านคุณภาพชีวิต” จากการให้ชาวบ้านทำบัญชีครัวเรือนเองพบว่า ลดค่าใช้จ่ายสารเคมี โดยทำน้ำหมักไว้ใช้เอง เกิดรายรับบ่อยขึ้นจากการนำผลผลิตมาแปรรูปและจัดจำหน่าย และจากการเป็นวิทยากรให้หน่วยงานต่างๆ ซึ่งเดิมมีรายรับที่ไม่แน่นอน จากข้าวโพดอย่างเดียวประมาณปีละ 30,000 บาท

“ด้านการพัฒนาคน” โครงการประสบความสำเร็จมาก ตัวอย่างเช่น ในพื้นที่บ้านแม่ฮ่าง สองพี่น้องชาวปกากะญอ นายประวีณ-น.ส.กรองกาญน์ ศิราไพบูลย์พร เปลี่ยนพื้นที่ที่เคยเป็นไร่ข้าวโพดให้เป็นป่าใช้สอยจนพึ่งพาตนเองได้ และนำความรู้ของตนไปเผยแพร่ต่อ โดยเป็นวิทยากรอบรมในเขตพื้นที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) อ.เชียงม่วน อ.ปง จ.พะเยา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และไปถึง จ.สุโขทัย อีกทั้งเป็นครูพาทำให้กับเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ

หลักสูตรใหม่’ศาสตร์พระราชา‘

ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล เผยว่า ปลายปีนี้ สจล.จะคิกออฟเรื่อง “สถาบันเศรษฐกิจพอเพียงภูมิพล” โดยจะเปิดเป็นหลักสูตรชื่อว่า “หลักสูตรการพัฒนาเชิงภูมิสังคมไทย สาขาวิชาการออกแบบพื้นที่ตามแนวพระราชดำริ” ที่จังหวัดสุพรรณบุรี 900 กว่าไร่ อย่างไรก็ตามสถาบันแห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนในห้องเรียน แต่ที่ไหนมีปัญหาที่นั่นเป็นห้องเรียน

“เราจะเป็นสถาบันที่รับนักศึกษาไม่จำกัดอายุ ใครมีที่ดินสามารถเรียนได้และไม่ต้องเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ อยู่ในพื้นที่เรียนที่นั่นได้เลย แล้วจะมีอาจารย์ไปสอน อาจารย์จะมีทั้งนักวิชาการ และปราชญ์ชาวบ้านที่ดำเนินตามรอยศาสตร์พระราชาจนประสบความสำเร็จ เขาจะนำประสบการณ์จริงๆ ไปสอน โดยวิธีการสอบ ปีที่ 1 ต้องเปลี่ยนที่ดินจากเขาหัวโล้นให้ต้องพอมีพอกินให้ได้ ปีที่ 2 ดำเนินตามบันได 9 ขั้นของ อ.ยักษ์ คือต้องพัฒนาพื้นที่จนสามารถพึ่งตัวเอง สร้างรายได้ สร้างเป็น SME จนกระทั่งเรียนจบ พอเรียนจบก็รับปริญญาพร้อมพื้นที่ทำกิน โดยระยะเวลา 4 ปี ต้องพัฒนาพื้นที่ดินจากไม่มีอะไรจนกระทั่งพึ่งตัวเองให้ได้ สร้างรายได้ให้ได้” ผศ.พิเชฐกล่าว

แก้วิกฤต‘โลกร้อน’

นับเป็นความสำเร็จเชิงประจักษ์ที่ตลอด 7 ปีของการดำเนินโครงการ “ศาสตร์พระราชา” มิได้เป็นเพียงวาทกรรม หากได้ลงมือปฏิบัติแล้วผลสำเร็จนั้นมากมายมหาศาล อ.ยักษ์ระบุว่าสหประชาชาติได้กล่าวไว้ว่า อีก 11 ปี โลกจะเผชิญสถานการณ์วิกฤตโลกร้อน ซึ่งถ้าเราไม่ทำอะไร หลังจากนี้ไปสถานการณ์จะถลำจนดึงกลับมาไม่ได้ แต่ถ้าเราช่วยดึงกลับก่อน แทนที่จะให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพด เราเข้าไปหยุดเขา ด้วยการนำศาสตร์พระราชาลงไปช่วยแก้ปัญหา

“ผมมีความเชื่อ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าเวลาที่เหลือถ้าเราปลุกคนให้มาทำแบบนี้ได้ ทุกกลุ่ม ทุกภาคส่วน ผมเชื่อว่าไม่ถึง 10 ปี โลกจะกระดกจากทิศทางความเสื่อมได้ แต่ถ้าปล่อยไปอย่างนี้ 10 ปี หมดหวังเลย มนุษย์จะอยู่ยากขึ้นทุกวัน นี่คือสิ่งที่สหประชาชาติเตือน แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเตือนมาก่อน ตั้งแต่ปี 2547”

“ศาสตร์พระราชาจะไม่ได้ช่วยแค่ในประเทศไทย แต่ช่วยวิกฤตได้ทั้งโลก” อ.ยักษ์ทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image