ชมภาพความงดงาม ซ้อมใหญ่เสมือนจริงครั้งแรก ‘พยุหยาตราทางชลมารค’ สุดตระการตา

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 17 ตุลาคม กองทัพเรือ โดยคณะกรรมการจัดเตรียมความพร้อมขบวนเรือพระราชพิธี ได้จัดการฝึกซ้อมขบวนเรือพระราชพิธีในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เบื้องปลาย โดยเป็นการฝึกซ้อมใหญ่เสมือนจริงครั้งที่ 1 มีกำลังพลฝีพายเรือ 2,200 นายเข้าร่วมฝึกซ้อม ในเครื่องแต่งกายฝีพายเรือพระราชพิธีโบราณประดับเข็มที่ระลึกตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เข็มที่ระลึกในโอกาสต่างๆ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่ง และป้ายชื่อ เหมือนวันจริงเป็นครั้งแรก รวมถึง ฝึกซ้อมบนเรือพระราชพิธี 52 ลำ ที่ประดับตกแต่งเหมือนวันจริง โดยเฉพาะเรือพระที่นั่ง 4 ลำ ที่เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังได้ติดตั้งเครื่องสูง ประกอบด้วยฉัตร พระวิสูตร และบุษบกตามโบราณราชประเพณีเหมือนวันจริง เส้นทางท่าวาสุกรี ผ่านสะพานพระราม 8 สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า มุ่งหน้ายังท่าราชวรดิษฐ ระยะทาง 3.4 กิโลเมตร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณใต้สะพานพระราม 8 เป็นจุดรวมพลเจ้าหน้าที่ประจำเรือพระราชพิธี ซึ่งนัดรวมพลตั้งแต่ช่วงสาย ก่อนแยกย้ายลงเรือพระราชพิธีตั้งแต่ช่วงเที่ยง ภายในยังมีเจ้าหน้าที่จากภาคส่วนต่างๆมาร่วมฝึกซ้อมด้วย ตั้งแต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่กระจายกำลังดูแลรักษาความปลอดภัย กรุงเทพมหานคร ที่ส่งเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดมาดูแลพื้นที่โดยรอบ และส่งเจ้าหน้าที่มาติดตั้งไฟส่องสว่างเพิ่มเติม การประปานครหลวง จัดบริการน้ำดื่มฟรี รวมถึงกรมแพทย์ทหารเรือ โรงพยาบาล และอาสามูลนิธิกู้ภัยต่างๆ ที่ส่ง แพทย์ พยาบาล และอาสากู้ภัย มาประจำจุด อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าหน่วยงานและบ้านเรือนริม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้ประดับธงชาติ และธงตราสัญลักษณ์พระปรมาภิไธยย่อ ว.ป.ร. ปลิวไสวสวยงาม เพื่อเฉลิมพระเกียรติ

Advertisement

ทั้งนี้ สำหรับการซ้อมใหญ่ครั้งที่ 1 เป็นการซักซ้อมใหญ่ตามหมายราชกิจที่ได้วางเอาไว้ โดยจะเป็นการถวายการรับเสด็จฯ พร้อมในเวลา 15.30 น. และส่งเสด็จฯ ที่ท่าราชวรดิฐ ขณะที่สภาพกระแสน้ำวันนี้เป็นกระแสลง จึงคาดว่าจะไม่เกินเวลา 40 นาที ทั้งนี้ สำหรับข้อบกพร่องจากการซ้อมใหญ่ครั้งที่ 1 ทาง ทร.จะนำไปประชุมวันที่ 18 ตุลาคม ผลสรุปจากการประชุมจะนำมาเป็นข้อกำหนดในวันซ้อมใหญ่ครั้งที่ 2 เพื่อให้มีความพร้อมมากที่สุด

การฝึกซ้อมใหญ่ครั้งที่ 1 ยังได้ปรับแก้การอัญเชิญบุษบกแทนบัลลังก์กัญญา บนเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแนวทางในการจัดขบวนเรือพระราชพิธี โดยรื้อฟื้นโบราณราชประเพณีและมีการชำระประวัติศาสตร์ โดย กองทัพเรือรับสนองพระบรมราชโองการดำเนินการร่วมกับกรมศิลปากรและกองงานในพระองค์ โดยยึดถือปฏิบัติตามโบราณราชประเพณี และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เดิมเป็นเรือพระที่นั่งรับรองพระราชวงศ์ ครั้งนี้ปรับเป็นเรือพลับพลาเปลื้องเครื่อง เพื่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปลี่ยนฉลองพระองค์

Advertisement

อย่างไรก็ตาม กองทัพเรือยังคงดำเนินการฝึกในทุกด้านทุกรูปแบบ และทุกสถานการณ์ตามแผนงานที่วางไว้ โดย ทร.จะถวายงานให้สำเร็จลุล่วงและสมพระเกียรติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กรมอู่ทหารเรือธนบุรี ช่วงเช้า เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง ได้มาติดตั้งเครื่องสูงประกอบเรือพระที่นั่งทั้ง 4 ลำ เป็นการถวายพระราชอิสริยยศเครื่องราชูปโภคตามโบราณราชประเพณี ประกอบด้วยฉัตร และธงสามชาย เพื่อเตรียมการฝึกซ้อมเสมือนจริง การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

สำหรับการประดับตกแต่งเรือพระราชพิธีทั้ง 52 ลำ โดยเฉพาะเรือพระที่นั่งทั้ง 4 ลำ เจ้าหน้าที่สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ได้เข้ามาดำเนินการจนแล้วเสร็จเมื่อวานที่ผ่านมา ประกอบด้วยการติดตั้งอุบะ และพวงมาลัยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ คล้องลำคอ พู่ห้อยที่หัวที่ทำจากขนจามรีสีขาว ปลายพู่เป็นแก้วผลึก กลางลำติดตั้งบุษบกเช่นเดียวกับการเสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารค เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชติดตั้งบุษบกสำหรับอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ และอาภรณ์ภัณฑ์ ส่วนเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณติดตั้งบัลลังก์กัญญาและอาภรณ์ภัณฑ์อย่างสง่างามสมพระเกียรติ นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งคฤห์ และอาวุธประจำเรือรูปสัตว์ และอาภรณ์ภัณฑ์ของเรือพระราชพิธีทั้งหมดตามแบบโบราณราชประเพณี ขณะที่กำลังฝีพายประจำเรือแต่งกายชุดพระราชพิธีเป็นครั้งแรก

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ตลอดระยะเวลาการฝึกซ้อม ได้รับความสนใจจากประชาชน และนักท่องเที่ยวที่อยู่บริเวณโดยรอบจำนวนมาก โดยเฉพาะกับเหล่าช่างภาพมืออาชีพและมือสมัครเล่น ต่างจับจองพื้นที่ 2 ฟากริมแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ท่าช้าง ท่าน้ำวังหลัง ศิริราช ท่าพระอาทิตย์ และท่าราชวรดิฐ รวมถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เฝ้าชมขบวนเรือ ซึ่งต่างนำกล้องและโทรศัพท์มือถือ มาร่วมบันทึกภาพความงดงามของขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งตลอดเส้นทางมีเจ้าหน้าที่รักษาความเรียบร้อย ร่วมทั้งจิตอาสาคอยอำนวยความสะดวก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณสะพานพระราม 8 มีประชาชนพร้อมใจใส่เสื้อสีเหลืองมาจับจองพื้นที่เพื่อชมการซ้อมเรือพระราชพิธีเป็นจำนวนมาก โดยเดินผ่านจุดคัดกรองที่ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าพื้นที่ใต้สะพานพระราม 8 ก่อนเดินเท้าเข้ามาเลือกที่นั่ง ซึ่งนั่งได้ทั้งบริเวณริมตลิ่ง และอัฒจันทร์ 3 ชั้นของกทม.ที่จัดบริการไว้ โดยมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลรักษาความปลอดภัยเข้มงวด และคอยแจ้งประชาชนนั่งแถวหน้านั่งพับเพียบรับเสด็จ ขณะที่บนสะพานพระราม 8 มีการปิดการจราจรช่วงขบวนเรือผ่านเท่านั้น พอหลังจากพ้นผ่านก็เปิดการจราจรตามปกติ

ครั้นถึงเวลา 15.38 น. เจ้าหน้าที่ได้เริ่มนำเรือพระราชพิธีที่พักคอยริมแม่น้ำ พายเข้าประจำจุด ก่อนที่เวลา 15.53 น. นาวาโทณัฐวัฏ อร่ามเกลื้อ พนักงานเห่เรือ ได้เริ่มเห่เรือบทสรรเสริญพระบารมี (บทใหม่) บทชมเมือง และบทชมวัง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยบทเห่เรือไว้ ประพันธ์ขึ้นใหม่ทั้งหมดโดย นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย ทั้งนี้ พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ร่วมการฝึกซ้อมครั้งนี้ด้วย โดยประจำอยู่เรือแตงโม

นายวิรัช ธนะภูมิ อายุ 46 ปี ชาวจ.นนทบุรี ตั้งใจหยุดงาน พาคุณแม่ ลูกชาย และหลานชายมาชม กล่าวด้วยสีหน้าตื่นเต้นว่า การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่ เป็นโบราณราชประเพณีที่สืบสานมาหลายร้อยปี และมีที่เดียวในโลก ฉะนั้นหากมีโอกาสจะต้องมาดูแน่นอน ซึ่งลูกกับหลานช่วงนี้ปิดเทอมพอดี เขาชอบเรื่องสิ่งของโบราณด้วย เคยพาไปดูเรือพระที่นั่งในอู่เก็บเรือแล้วสนใจมาก จึงต่อยอดพาพวกเขามาดูเพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจและเรียนรู้ถึงประเพณีสำคัญของคนไทย โดยวันนี้ได้เตรียมกล้องส่องทางไกล และมือถือมาคอยถ่ายภาพ

“ผมมองว่าเรามีบุญที่ได้เห็น ถ้าอยู่ใกล้ๆหรือมีโอกาสควรมาดู” นายวิรัชกล่าว

ขณะที่ นางศิราภรณ์ ธนะภูมิ อายุ 70 ปี มารดาของนายวิรัช เล่าด้วยสีหน้ามีความสุขว่า ถือเป็นโชคดีที่จะได้เห็นขบวนเรือพระราชพิธีอีกครั้ง หลังจากว่างเว้นมาหลายปี ยิ่งเป็นในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วย ก็ต้องถือว่าพระองค์ทรงปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีโดยสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม อยากให้คนไทยที่ได้เห็นเรือพระราชพิธีแล้วเกิดความสนใจอยากรู้ ได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ริมคลองบางกอกน้อย ค่าเข้า 100 บาท แล้วจะพบว่าเรือพระราชพิธีนั้นงดงามและยิ่งใหญ่อย่างไร โดยเฉพาะเรือโบราณ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สวนสันติชัยปราการ พื้นที่เฝ้าฯ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีประชาชนแต่งกายในเสื้อสีเหลือง พร้อมบุตรหลาน ครอบครัว และนักท่องเที่ยว ทยอยเดินทางมาปักหลักและจับจองที่นั่งเพื่อชมริ้วขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เวลา 12.00 น. ท่ามกลางบรรยากาศร้อนอบอ้าว ซึ่งกทม. ได้จัดเตรียมอัฒจันทร์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนไว้ด้วย

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังได้ลงพื้นที่ฝึกซ้อมและเตรียมความพร้อม อาทิ เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจตราดูแลความเรียบร้อย พนักงานกรุงเทพมหานครดูแลเรื่องความสะอาด จัดเก็บขยะและวัชพืชในแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมประดับตกแต่งสถานที่ด้วยดอกกล้วยไม้สีม่วงและสีขาว ติดตั้งป้ายข้อความ “ทรงพระเจริญ” และมีหน่วยบริการพยาบาลอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาร่วมงาน ในด้านบรรยากาศ ที่สวนสันติชัยปราการสามารถมองเห็นริ้วขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคตั้งแต่ผ่านใต้สะพานพระราม 8 จรดสะพานพระปิ่นเกล้าอย่างชัดเจน ขณะที่ริ้วขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ทั้ง 52 ลำเคลื่อนผ่านประชาชนต่างให้ความสนใจยกสมาร์ทโฟนบันทึกภาพความวิจิตรงดงามนี้เอาไว้ นอกจากนี้ อาคารบ้านเรือนสองฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาต่างตกแต่ง และประดับธงชาติ ธงสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 และธงตราสัญลักษณ์พระปรมาภิไธยย่อ ว.ป.ร. เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสมหามงคลนี้

นางมณีรัตน์ เลาวเลิศ อายุ 61 ปี เดินทางมาจากจ.สมุทรสาคร พร้อมกับเพื่อนสนิท น.ส.ปราณี หัสถาดล ชาวอ่อนนุช เพื่อมาจับจองที่นั่งบริเวณสวนสันติชัยปราการ กล่าวพร้อมกันว่า ก่อนหน้านี้ทั้งสองคนได้เดินสำรวจทุกจุดเฝ้าฯ รับเสด็จ เพื่อหาจุดที่ดีที่สุด จนกระทั่งตัดสินใจปักหลักที่สวนสันติชัยปราการ ด้วยมองเห็นขบวนเรือทั้ง 52 ลำได้ชัดเจนและเป็นระยะเวลานานกว่าจุดอื่น นอกจากนี้ยังมาร่วมชมการซ้อมย่อยที่ผ่านมาด้วย เป็นจำนวน 2 ครั้ง และหลังจากนี้ตั้งใจจะมาทุกครั้งที่มีการซ้อมใหญ่ รวมไปถึงวันจริงที่จะเดินทางมาจับจองที่นั่งตั้งแต่เช้าตรู่ ในด้านการเตรียมตัวเพื่อมาเฝ้าฯ รับเสด็จ เตรียมพร้อมทั้งยาประจำตัว ร่ม เสื้อกันฝนซึ่งได้รับพระราชทานตอนงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกฯ ที่สนามหลวง ตลอดจนอาหารและน้ำดื่ม ซึ่งไม่เคยหวั่นต่อสภาพอากาศร้อนหรือฝนตก เพราะเตรียมพร้อมมาอย่างดี ที่สำคัญคือมาด้วยความตั้งใจ

“ขบวนเรือทั้ง 52 ลำ สวยงามมาก ทุกครั้งที่ได้ชมรู้สึกขนลุก และตื้นตันใจ ทั้งยังภาคภูมิใจด้วยว่านี่คือประเพณีโบราณของคนไทย ที่เราควรรักษาไว้ วันนี้มีโอกาสได้ชมของจริง ต้องมาชมด้วยตาตัวเองให้ได้ เป็นบุญตามากๆ อยากชวนประชาชนคนไทยมาร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จกันเยอะๆ มาร่วมเฉลิมฉลองและชมความงามของประเพณีที่ไม่มีที่ใดมีเหมือนคนไทย” นางมณีรัตน์กล่าว

นางมะลิ แก้วนิล อายุ 53 ปี เดินทางมาจากจ.อยุธยา ตั้งแต่เวลา 05.00 น. เพื่อมาจับจองที่นั่งรับชมการซ้อมใหญ่ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคนี้ ที่สวนสันติชัยปราการ กล่าวว่า ตนติดตามข่าวเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 มาโดยตลอด และมีความตั้งใจอยากมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธี อยากมาชมความงดงาม ยิ่งใหญ่ ด้วยตาของตัวเอง แต่ติดภารกิจ จนกระทั่งวันนี้มีโอกาสได้มาชื่นชมและสัมผัสบรรยากาศจึงรู้สึกปีติมาก ประทับใจ เพราะเรือพระที่นั่งทุกลำงดงามมาก ตนภาคภูมิใจที่ได้เกิดเป็นคนไทยที่มีประเพณีงดงามแบบนี้

ทั้งนี้ สำหรับประชาชนที่สนใจมาจับจองที่นั่งชมขบวนเรือพระราชพิธี กทม. ได้จัดสร้างพื้นยกระดับ และอัฒจันทร์ ซึ่งรองรับประชาชนได้ทั้งหมด 10,700 คน ใน 6 จุด ได้แก่ ลานใต้สะพานพระราม 8, สวนสันติชัยปราการ, สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา, โรงพยาบาลศิริราช, ม.ธรรมศาสตร์ และนาคราภิรมย์ ขณะเดียวกันยังมีพื้นที่เฝ้าฯ รับเสด็จในพื้นที่สาธารณะอีก 13 แห่ง รองรับประชาชนได้ 15,600 คน อาทิ ท้ายซอยจรัญ 52,ท่าเรือวัดราชานิวาส, สวนสามพระยา, ใต้สะพานพระราม 6, ลานรับน้ำท่าเรือสมเด็จพระปิ่นเกล้า, ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าทั้ง 2 ฝั่ง, ทางเดินสวนสันติฯ, ถนนมหาราช, และวัดระฆังโฆสิตาราม รวมไปถึงสถานที่เอกชนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถรองรับประชาชนได้ประมาณ 6,000 คน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image