สมพระเกียรติยศ ‘เสด็จฯเลียบพระนครทางชลมารค’ ‘ความตั้งใจ’ ฝีพาย-นายท้ายเรือพระที่นั่ง (คลิป)

สมพระเกียรติยศ ‘เสด็จฯเลียบพระนครทางชลมารค’ ‘ความตั้งใจ’ ฝีพาย-นายท้ายเรือพระที่นั่ง

นับแต่โบราณกาลมา นอกจากการเสด็จพระราชดำเนินทางบกที่เรียกว่า “พยุหยาตราทางสถลมารค” แล้ว การเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ “พยุหยาตราทางชลมารค” ก็เป็นเส้นทางการคมนาคมที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคราวที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปในการต่างๆ ทั้งส่วนพระองค์และที่เป็นพระราชพิธี ตลอดจนโอกาสสำคัญ

ดังเช่น ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังมีพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่และวิจิตรงดงาม คือ พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เบื้องปลาย ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้

นับเป็น “ครั้งแรก” ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวง รัชกาลที่ 10

การนี้ พระองค์จะทรงประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เสด็จพระราชดำเนินจากท่าวาสุกรี ไปยังวัดอรุณราชวราราม ระยะทาง 4.2 กิโลเมตร โดยมีเรือพระราชพิธีทั้งสิ้น 52 ลำ และกำลังพลประจำเรือพระราชพิธี จำนวน 2,200 คน

Advertisement

ซึ่ง ฝีพาย นายเรือ และนายท้ายเรือ ประจำเรือพระที่นั่ง ทั้ง 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์, เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9, เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ได้ผ่านการฝึกซ้อมอย่างหนัก ตลอดระยะเวลาร่วมปี ทั้งฝึกพละกำลัง ท่าพาย ให้เกิดความพร้อมเพรียงสอดรับกับเสียงกาพย์เห่เรือ รวมไปถึงการจดจำจังหวะการร้อง-รับเห่เรือด้วย

บัดนี้กำลังจะได้ถวายงานครั้งใหญ่ ยังความปลาบปลื้มปีติอย่างหาที่สุดมิได้

คลิป

ดังเช่น จ่าเอกวุฒิภัทร ราชริวงศ์ อายุ 25 ปี สังกัดแผนกเรือพระราชพิธี กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ กองทัพเรือ ตำแหน่งฝีพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เล่าว่า ผมเป็น 1 ใน 50 ฝีพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ พวกเราต่างรู้สึกภาคภูมิใจอย่างมาก ทั้งกับตัวเองและวงศ์ตระกูลที่ได้รับหน้าที่ตรงนี้ ที่ผ่านมาได้ฝึกซ้อมอย่างหนักมาตลอด ฝึกทุกวัน วันละ 2-3 ชั่วโมง ตั้งแต่การฝึกซ้อมบนเขียงหรือพายลม เพื่อฝึกซ้อมท่าทางการพายต่างๆ จากนั้นเป็นการฝึกซ้อมบนเรือดั้งอยู่กับที่ในบ่อพักเรือของหน่วย ก่อนมาฝึกซ้อมบนเรือเริ่มพายออกแม่น้ำ และเตรียมฝึกซ้อมบนเรือพายออกแม่น้ำที่เน้นจัดการรูปขบวนเรือ

“หัวใจสำคัญของฝีพายคือ การพายให้เรือเคลื่อนไปข้างหน้า การพายต้องอาศัยจังหวะ ต้องเน้นความพร้อมเพรียง และยังต้องอาศัยความอดทนและแข็งแรงของฝีพาย ที่ผ่านมาเราจึงมุ่งมั่นฝึกซ้อมอย่างหนัก เพราะพระราชพิธีนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จฯโดยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ให้ประชาชนจำนวนมากได้ชื่นชมพระบารมี พวกเราจึงพร้อมใจถวายงานให้ดีที่สุด” จ่าเอกวุฒิภัทรเล่าด้วยสีหน้ามุ่งมั่น

จ่าเอกวุฒิภัทร ราชริวงศ์

ขณะที่ พันจ่าเอกพชร ดวงสูงเนิน อายุ 40 ปี สังกัดแผนกเรือพระราชพิธี กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ กองทัพเรือ ตำแหน่งนายท้ายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ซึ่งเป็น 1 ใน 2 นายท้ายเรือฯ เล่าว่า มีโอกาสได้ถวายงานการเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราชลมารค ในรัชกาลที่ 9 รวม 5 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 จนมาครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2555 ครั้งนั้นผมเป็นฝีพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ได้สั่งสมประสบการณ์ต่างๆ พัฒนาจนเป็นนายท้ายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ครั้งแรกในการเสด็จฯครั้งนี้

“ความสำคัญของนายท้ายเรือคือการต้องบังคับทิศทางเรือให้เคลื่อนไปอย่างสวยงามตามรูปขบวน เช่นเดียวกับนายท้ายเรือพระราชพิธีทุกคน ถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญยิ่ง ต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญ”

พันจ่าเอกพชรได้มีโอกาสถวายงานต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เสด็จฯในฐานะกษัตริย์เป็นครั้งแรก เขารู้สึกภาคภูมิใจอย่างมากแก่ตัวเองและครอบครัว เขายังคงจำภาพความประทับใจสมัยเป็นฝีพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ที่เห็นประชาชนมากมายมาเฝ้าฯรับเสด็จเต็ม 2 ฝั่งริมน้ำ

“ผมเชื่อว่าวันนั้นจะเป็นภาพความยิ่งใหญ่มากๆ จะเป็นอีกบันทึกหนึ่งในประวัติศาสตร์ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ภาคภูมิใจ ว่าประเทศไทยมีโบราณราชประเพณีที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก เป็นประเทศเดียวที่มี” พันจ่าเอกพชรกล่าวทั้งรอยยิ้ม

พันจ่าเอกพชร-ดวงสูงเนิน

ฟาก นายจิรายุส พูลสวัสดิ์ หรือเตอร์ นักเรียนจ่าชั้นปี 2 อายุ 19 ปี สังกัดกรมการขนส่งทหารเรือ รับหน้าที่ฝีพายประจำเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งทรงสำรอง และเป็นเรือที่มีน้ำหนักมากที่สุดในบรรดาเรือพระที่นั่งทั้ง 4 ลำ

จิรายุสเข้าร่วมการคัดเลือกฝีพายตั้งแต่ต้นปี เขาเล่าว่า ทุกคนต้องผ่านการคัดเลือกจากความพร้อมเพรียงเป็นหลัก ซึ่งตำแหน่งของฝีพายนั้นแบ่งเป็น “ภาคหัว” คัดเลือกจากผู้ที่มีความสามารถในการจับจังหวะเสียงกาพย์เห่เรือให้สอดคล้องกับจังหวะการยกไม้พายได้ ท่าพายสวย ขณะที่ “ภาคท้าย” หรือส่วนของหางเรือ จะคัดเลือกฝีพายที่มีพละกำลังโดดเด่น โดยทุกคนต้องโชว์ท่าพายเรือทีละคนต่อหน้าครูฝึกระหว่างการคัดเลือก

ทั้งนี้ปัจจุบันเขาอยู่ในตำแหน่ง “ฝีพายคนแรก กาบขวา” ซึ่งในตอนแรกนั้นเขาไม่ได้ถูกวางตัวให้อยู่ภาคหัว แต่จากการฝึกซ้อม ด้วยผลงานที่ทำได้ดี ทำให้เขาได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้นำเพื่อนๆ

“ฝีพายมีหน้าที่เป็นพละกำลังที่ทำให้เรือแล่นไปข้างหน้า มีความพร้อมเพรียง ส่วนท้ายเรือจะมีนายท้ายเป็นผู้ขับให้เรือตรง ด้านหน้าจะมีพลสัญญาณ ต้องดูพลสัญญาณ แล้วก็ฟังกาพย์เห่เรือ ให้พายตามจังหวะ เพื่อนๆ ก็จะดูผมเป็นหลัก แรกๆ ก็มีหลุดบ้าง แต่พอฝึกมาเรื่อยๆ ก็เริ่มจับทางได้ และดีขึ้น คนหน้าสุดต้องมีสติตลอดเวลา และในการพายท่านกบิน เมื่อมองจากด้านข้างต้องมีความพร้อมเพรียง มองเป็นพายเล่มเดียวกัน” จิรายุสกล่าว และเล่าต่อว่า พวกเขาฝึกซ้อมทุกวัน ไม่มีวันหยุด โดยกิจวัตรประจำวันเบื้องต้นคือ วิ่งออกกำลังกายเป็นระยะทาง 3 กิโลเมตรทุกเช้า หลังจากนั้นจึงออกกำลังกายแขนด้วยท่าดันพื้น และดึงข้อ ซึ่งช่วยในการจับและบังคับไม้พายได้ดี

“ไม้พายของฝีพายภาคหัวกับภาคท้ายจะไม่เท่ากัน แบ่งเป็นเล่มยาวกับเล่มสั้น ซึ่งไม้พายของภาคท้ายจะหนักและยาวกว่า ด้วยท้ายเรือสูงกว่าหัวเรือ ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เรือแล่นไปข้างหน้า” นักเรียนจ่ากล่าว และว่า ตลอดระยะเวลาที่ฝึกซ้อมมา อุปสรรคหลักๆ คือ “กระแสน้ำ” ซึ่งส่งผลต่อการพายโดยตรง คือหากวันไหนน้ำขึ้นจะต้องพายเรือทวนน้ำในขณะที่เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณมีน้ำหนักมากที่สุด

กระนั้นครั้งนี้คือ “ครั้งแรก” ของจิรายุสในการเป็นฝีพาย นับเป็นความภาคภูมิใจ เป็นเกียรติของครอบครัวและตัวเขาเอง ด้วยอยากเป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีสำคัญ แม้จะเหนื่อยบ้างแต่เขาได้รับกำลังใจที่ดี ทั้งจากครูฝึก เพื่อนๆ และครอบครัวอยู่เสมอ

นายจิรายุส พูลสวัสดิ์

ขณะเดียวกัน จ่าเอกธีรวัฒน์ สุดประเสริฐ หรือเติ้ล อายุ 28 ปี สังกัดกรมสารวัตรทหารเรือ รับหน้าที่ฝีพายประจำเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ซึ่งเป็นเรือที่มีอายุยาวนานที่สุดในขบวนเรือราชพิธี ทั้งยังเป็นเรือประจำพระองค์ของรัชกาลที่ 5

จ่าเอกธีรวัฒน์ ซึ่งรั้งตำแหน่งผู้ช่วยครูฝึกด้วย เล่าว่า ผมเข้ารับการคัดเลือกจากในส่วนของข้าราชการก่อนซึ่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะเข้ารับการฝึกก่อน เรียกว่า “การฝึกนายเรือ-นายท้าย” เพื่อที่จะมาสอนกำลังพลนายเรือ ช่วยครูฝึกที่มาจากแผนกเรือพระราชพิธี ใช้เวลาฝึกทั้งหมดร่วม 2 ปี

ทั้งนี้ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ในริ้วขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จประทับบนเรือพระที่นั่ง

กับเรื่องนี้ จ่าเอกธีรวัฒน์เผยว่า พอทุกคนทราบว่าจะมีพระบรมศานุวงศ์เสด็จประทับบนเรือพระที่นั่งก็มีรู้สึกกดดันบ้าง เพราะทุกคนตื่นเต้น แต่ผมก็บอกทุกคนเสมอว่า ให้ตั้งใจทำหน้าที่ให้ดี เมื่อเราทำอย่างเต็มความสามารถแล้ว ก็ไม่มีอะไรต้องกังวล และทุกคนควรที่จะภาคภูมิใจ และมีสติอยู่ตลอดเวลา ทำทุกอย่างเหมือนที่เราซ้อมมา แล้วผลก็จะออกมาดี

ในส่วนของการฝึกซ้อมก็เรียกว่า “เข้มข้น” ทุกคนต้องฝึกซ้อมทุกวัน เป็นระยะเวลาร่วมปี ตั้งแต่การฝึกซ้อมบนเขียงเรือที่กำลังพลทุกนายต้องฝึกร้องรับกาพย์เห่เรือด้วย ในส่วนนี้ต้องใช้เวลาให้เกิดความคุ้นชินกับช่วงจังหวะและทำนอง

“แรกเริ่มคือเราจะแบ่งตามส่วนสูงก่อน เพราะหากสังเกตจะเห็นว่าลักษณะเรือด้านหัวไปด้านท้ายมีความสูงไม่เท่ากัน ช่วงท้ายเรือจะสูงกว่า ไม้พายที่ใช้จึงต้องเป็นไม่พายยาว หากเป็นคนตัวเล็กจะพายไม่สะดวก จากนั้นจึงมาคัดเลือกว่าคนไหนมีทักษะการพายเรือเป็นยังไง พายดีจะได้อยู่ภาคหัวแล้วไล่ไปตามผลงานที่ทำไว้ จากนั้นจึงเป็นการปรับแต่งช่องไฟแนวพายให้อยู่ในระนาบเดียวกัน” จ่าเอกธีรวัฒน์กล่าว และอธิบายต่อว่า

ไม้พายที่ฝีพายใช้นั้นมีความยาวและน้ำหนักที่ไม่เท่ากัน เบื้องต้นคือมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 1 กิโลกรัม เพราะฉะนั้นฝีพายจึงต้องออกกำลังกายโดยเฉพาะส่วนของแขนเป็นประจำ เพื่อให้เกิดความเคยชินกับน้ำหนักของไม้พาย ซึ่ง “ไม้พายทอง” ที่ใช้พายในวันพระราชพิธีนั้นจะมีน้ำหนักมากกว่าไม้พายที่ใช้ซ้อมเล็กน้อย ด้วยเป็นไม้ลงทอง จึงมีน้ำหนักเยอะกว่า

“การเป็นฝีพายต้องมีสติ และใช้หลายทักษะร่วมกัน เช่นผมเป็นฝีพายภาคหัว มีหน้าที่ต้องนำฝีพายในเรือ ตาผมต้องจับจ้องไปที่เรือพระที่นั่งข้างหน้าซึ่งคือเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ หากเขาลงจังหวะพายเร็ว ผมก็ลงลงจังหวะเร็วด้วย หากเขาช้าผมก็ต้องช้า ขณะที่หูก็ต้องคอยฟังเสียงเห่ เพื่อที่จะให้สัมพันธ์กับจังหวะการพาย ปากก็ต้องรับร้องกาพย์เห่เรือด้วย เรียกว่าทุกอย่างสัมพันธ์กันหมด” จ่าเอกธีรวัฒน์กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง ทั้งยังเผยอีกว่า รู้สึกภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิตที่ได้เป็นฝีพายในเรือพระที่นั่งภายใต้พระราชพิธีครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ เป็นความรู้สึกที่บรรยายออกมาได้ไม่หมด เพราะน้อยคนนักที่ได้จะมาปฏิบัติหน้าที่ตรงนี้ นอกจากนี้เขายังเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัว ด้วย “พ่อ” ของจ่าเอกธีรวัฒน์ก็เคยเป็นฝีพายมาก่อน แต่ยังไม่มีโอกาสได้เป็นฝีพายประจำเรือพระที่นั่ง

“พ่อคืออีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมอยากมาทำหน้าที่ฝีพาย เพราะตั้งแต่ครั้งที่พ่อได้เป็นฝีพายครั้งแรก พ่อจะพาผมมาดูตอนซ้อมตลอด พอผมได้เป็นฝีพายในครั้งนี้พ่อก็ให้คำแนะนำตลอด ตั้งแต่ตอนที่ฝึกบนเขียง มีอัดคลิปมาให้ดูด้วยว่าต้องทำยังไงบ้าง” ฝีพายรุ่นที่ 2 ของครอบครัวเล่าด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ

 

จ่าเอกธีรวัฒน์ สุดประเสริฐ

ปิดท้ายด้วย นายนพฤทธิ์ ไชยธรรม อายุ 22 ปี พลทหารสังกัดกอง รปภ.ฐท.กท. กรม รปภ.นย. รับหน้าที่ฝีพายประจำเรือพระที่นั่งอนันตราคราช คนแรกกาบขวา ซึ่งกลางลำเรือทอดบุษบกสำหรับใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญในพระราชพิธี เล่าด้วยรอยยิ้มว่า หน้าที่สำคัญที่แตกต่างไปจากฝีพายบนเรือพระที่นั่งลำอื่นคือ ฝีพายบนเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชจะเป็น “ต้นเสียง” ในการเห่รับ-ร้อง กาพย์เห่เรือ เสียงรับร้องทั้งหมดจะมีต้นเสียงมาจากเรือพระที่นั่งลำนี้

“พวกเราซ้อมกันทุกวัน ไม่มีวันหยุด ยิ่งใกล้วันจริงก็คือซ้อมหนักขึ้น สำหรับผมเป็นครั้งแรกที่ได้ทำหน้าที่อันทรงเกียรติ ทั้งยังได้ประจำเรือที่มีความสำคัญ ภูมิใจมากๆ จำได้ว่าตอนซ้อมบนเขียง (บก) ยังไม่ได้รู้สึกอะไรมาก แต่พอได้เห็นเรือจริง ได้ลงเรือจริง ตื่นเต้นและดีใจมาก เพราะปกติเห็นแต่ในทีวี วันแรกที่ได้ลงซ้อมจริงๆ ใจเต้นมาก พอตอนที่เริ่มเห่กาพย์เรือ ขนลุก เพราะบรรยากาศศักดิ์สิทธิ์มาก” นพฤทธิ์กล่าว และทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า

“เหนื่อยแต่ไม่เคยท้อ เพราะทุกครั้งที่ได้ลงเรือ ผมรู้สึกดีมากๆ แล้วผมก็มีความตั้งใจที่ตั้งมั่นไว้แล้วว่าจะต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด”

นายนพฤทธิ์ ไชยธรรม
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image