ล่องนที ฟังบทกวีขับขาน ‘พนักงานเห่เรือ’ คนที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นาวาเอก ณัฐวัฏ อร่ามเกลื้อ

ล่องนที ฟังบทกวีขับขาน ‘พนักงานเห่เรือ’ คนที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นาวาเอก ณัฐวัฏ อร่ามเกลื้อ

เพราะความงดงามยิ่งใหญ่ของขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มิได้มีเพียงแต่ความวิจิตรของขบวนและตัวเรือพระราชพิธี ความพร้อมเพรียงของการลงพายของฝีพาย ความอลังการเครื่องแบบโบราณของเจ้าหน้าที่ประจำเรือ

หากแต่ยังมีความไพเราะของกาพย์เห่เรือ ที่ประพันธ์ขึ้นใหม่ ซึ่งผู้ประพันธ์ได้บอกเล่าถึงความสวยงามของบ้านเมือง พระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้คนทั่วไปได้รับรู้และเข้าใจผ่านฉันทลักษณ์กาพย์กลอน

สำคัญไม่แพ้กันคือ การนำเสนอกาพย์เห่เรือ ซึ่งเป็นหน้าที่ “พนักงานเห่เรือ” ที่จะขับเห่เพื่อเพิ่มมนต์เสน่ห์ให้ผู้ชมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ได้เข้าใจ รู้สึกซาบซึ้ง กระทั่งปรากฏภาพชัดเจนในหัวใจ

นาวาเอก ณัฐวัฏ อร่ามเกลื้อ

นาวาเอก ณัฐวัฏ อร่ามเกลื้อ รองผู้อำนวยการกองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ รับหน้าที่พนักงานเห่เรือครั้งนี้ อีกทั้งยังเป็นครูฝึกฝีพาย ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคหนนี้เช่นกัน นาวาเอกณัฐวัฏ นับเป็นศิลปิน 2 แผ่นดิน เพราะเคยเป็นพนักงานเห่เรือขบวนพยุหยาตราทางชลมารคมาแล้วถึง 3 ครั้ง ได้แก่

Advertisement

1.ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ปี พ.ศ.2549

2.ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน วัดอรุณราชวราราม ปี พ.ศ.2550

และ 3.ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน วัดอรุณราชวราราม ปี พ.ศ.2555 และในวาระมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 (เบื้องปลาย) ช่วงเย็นของวันที่ 12 ธันวาคม

Advertisement

พนักงานเห่เรือ คนที่ 7 กรุงรัตนโกสินทร์

ในวัย 58 ปี สิ่งที่ทำให้มาถึงจุดนี้ได้ นาวาเอกณัฐวัฏยอมรับว่า “เกิดจากการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด” ภายหลังเข้ารับราชการยศจ่าตรีเมื่อปี พ.ศ.2524 ในกองเรือเล็ก ต่อมาสมัครคัดเลือกได้เป็นฝีพายเรือสุพรรณหงส์ ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในปี พ.ศ.2525 จากนั้นก็ยังคัดเลือกได้เป็นฝีพายเรือสุพรรณหงส์เรื่อยมา ก่อนขยับขึ้นเป็นนายท้ายเรือ ครูฝึก พนักงานเห่สำรอง พนักงานขานยาว กระทั่งพนักงานเห่เรือตัวจริงในที่สุด

นาวาเอกณัฐวัฏเล่าด้วยรอมยิ้มว่า ผมคิดว่าเราต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด หากไม่พัฒนาตัวเอง ชีวิตก็จะอยู่อย่างนั้นแหละ อย่างผมที่อยู่กองเรือเล็ก ชีวิตจะอยู่กับเรือพระราชพิธี และได้ฟังการเห่เรือมาตลอด ก็อาศัยเรียนรู้และฝึกฝนตัวเอง จนเขาเห็นแววว่าสามารถทำได้ ก็เลือกให้ทำหน้าที่นี้

“จริงๆ ฝีพายก็เห่เรือเป็นกันทุกคน อยู่ที่ว่าใครจะฝึกฝนต่อหรือไม่ และมีระดับความไพเราะขนาดไหน อย่างผมนอกจากบทบาทฝีพาย ก็พยายามฝึกเห่เรือมาตลอด เห็นครู (ร.ท.สุจินต์ สุวรรณ ครูสอนเห่เรือ) ร้อง ผมก็ร้องตามไปด้วย จากนั้นก็มาขอครูหัดร้อง ช่วงแรกก็ร้องไม่เป็นจังหวะ ครูก็พยายามสอนให้ จนสามารถทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ”

นาวาเอกณัฐวัฏนับเป็นพนักงานเห่เรือลำดับที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีลำดับ ดังนี้

1.นาวาเอกหลวงประจญปัจนึก

2.พันจ่าโท หลวง กล่อมโกศลศัพท์ (จอน สุนทรเกศ)

3.รองอำมาตย์ตรี โป๊ะ เหมรำไพ

4.เรือเอก ผัด ชุดชลามาศ

5.พันจ่าเอก เขียว ศุขภูมิ

และ 6.พลเรือตรี มงคล แสงสว่าง

จุดเริ่มต้นที่เหมือนๆ กันของพนักงานเห่เรือ คือการเริ่มต้นจากฝีพายขึ้นมา เพราะพนักงานเห่เรือจะต้องรู้ เข้าใจ เพื่อให้จังหวะของฝีพายได้ถูกต้องและแม่นยำ

ครูเล่าว่า เพราะการเห่เรือมีวัตถุประสงค์เพื่อให้จังหวะฝีพายพายเรือพร้อมกัน ฉะนั้น บทบาทพนักงานเห่เรือ นอกจากจะต้องมีพื้นฐานกาพย์กลอน เช่น โคลงสี่สุภาพ กาพย์ยานี 11 ว่าอะไรคือสัมผัสนอก สัมผัสใน ในการร้องเห่เรือออกไปด้วยน้ำเสียงที่ไพเราะแล้ว ก็จำเป็นต้องรู้จังหวะฝีพายเป็นอย่างดี รู้ว่าจังหวะไหนควรเน้นน้ำหนักเสียงลงไป จังหวะไหนควรผ่อนเสียง เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศและเนื้อหาของการพายเรือ เกิดความพร้อมเพรียง สวยงาม และสง่างาม

“บางครั้งพนักงานเห่เรือ ก็ต้องขอให้มีการปรับบางคำในกาพย์เห่เรือใหม่ เพราะเป็นคำที่ร้องยาก โดยเสนอไปว่าคำนี้น่าจะร้องได้ไพเราะกว่า และเป็นคำที่มีความหมาย จึงจำเป็นที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องกาพย์กลอน”

ในพระราชพิธีหนนี้ นาวาเอกณัฐวัฏไม่ได้ขอให้มีการปรับแก้คำในกาพย์แห่เรือแต่อย่างใด เพราะกาพย์เห่เรือที่ประพันธ์โดย นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ข้าราชการบำนาญ กองทัพเรือ ทำมาได้ลึกซึ้งในความหมาย และเป็นคำที่ให้เสียงร้องที่ไพเราะอีกด้วย โดยได้ประพันธ์ไว้ 3 บท ได้แก่ 1.สรรเสริฐพระบารมี 2.ชมเรือ และ 3.ชมเมือง

“แต่ละครั้งที่มีพระราชพิธี เสด็จฯโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค จะมีการประพันธ์กาพย์เห่เรือใหม่ ประมาณ 3 บท ซึ่งคาดว่าจะพอดีกับระยะทางและระยะเวลา ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงจุดหมายปลายทาง ซึ่งในทางปฏิบัติหน้างานแล้ว บางครั้งอาจเห่ไม่จบบทก็ได้ หรือจบบทแล้ววนเห่อีกรอบก็ได้ ขึ้นอยู่ว่าเรือพระที่นั่งถึงจุดหมายปลายทางหรือยัง”

เปิดขั้นตอน-ทำนองการเห่เรือ

สำหรับขั้นตอนและทำนองการเห่เรือ หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่มที่ 30 เรื่องที่ 1 ศิลปะการเห่เรือ ได้อธิบายไว้ว่า พนักงานเห่เรือ จะเริ่มเกริ่นเห่เรือ เกริ่นโคลงได้ เมื่อเรือพระที่นั่งทรงออกจากท่า แล้วกำลังจะเข้ากระบวน เมื่อเกริ่นโคลงจบ เรือพระที่นั่งก็พร้อมที่จะเคลื่อนตามเรือทั้งขบวนพอดี

ส่วนทำนองที่ใช้ในการเห่เรือ ปัจจุบันมี 3 ทำนอง คือ ช้าละวะเห่ มูลเห่ และสวะเห่

1.ช้าละวะเห่ หรือเรียกว่า เห่ช้า เป็นทำนองที่ใช้เริ่มต้นการเห่ มีจังหวะช้าๆ ท่วงทำนองไพเราะ ถือเป็นการให้สัญญาณเริ่มต้นเคลื่อนเรือในกระบวนทุกลำไปพร้อมๆ กันอย่างช้าๆ บทนี้ขึ้นต้นว่า

“พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย กิ่งแก้วแพร้วพรรณราย พายอ่อนหยับจับงามงอน”

การเห่ทำนองช้าละวะเห่นี้ ฝีพายจะอยู่ในท่าเตรียมพร้อม จนกระทั่งลูกคู่รับท้ายต้นเสียง จึงเริ่มจังหวะเดินพายจังหวะที่ 1

2.มูลเห่ หรือเรียกว่า เห่เร็ว เป็นการเห่ในจังหวะกระชั้นกระชับ พนักงานนำเห่ แล้วลูกคู่จะรับว่า “ชะ…ชะ…ฮ้าไฮ้” และต่อท้ายบทว่า “เฮ้ เฮ เฮ เฮ…เห่ เฮ” ฝีพายจะเร่งพายให้เร็วกว่าเดิมตามจังหวะกระทุ้งเส้า ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในตำนานเห่เรือว่า มูลเห่ คงหมายความว่า เห่เป็นพื้น ใช้ขณะพายเรือทวนน้ำ ต้องพายหนักแรง จึงพายจังหวะเร็วขึ้น และใช้เห่ทำนองเร็ว มีพลพายรับ “ฮะไฮ้”

การเห่ทำนองมูลเห่นี้เป็นทำนองที่ใช้ ขณะเดินทางไปเรื่อยๆ เป็นทำนองยืนพื้น พนักงานเห่จะร้องตามบทเห่เป็นทำนอง แล้วฝีพายจะรับตลอด มูลเห่จึงเป็นทำนองที่สนุกสนาน ใช้ประกอบการพายพาขบวนเรือไปจนเกือบถึงที่หมาย

และ 3.สวะเห่ เป็นการเห่เมื่อใกล้จะถึงที่หมาย พนักงานนำเห่และพลพาย จะต้องจำทำนองและเนื้อความทำนองสวะเห่ให้แม่น เพราะต้องใช้ปฏิภาณคาดคะเนระยะทาง และใช้เสียงสั้นยาวให้เหมาะแก่สถานการณ์ นับว่าเป็นการเห่ที่ยากที่สุด แต่แสดงถึงความสง่างามของกระบวนเรือได้ดี

การเห่ทำนองสวะเห่ เป็นทำนองเห่ตอนนำเรือเข้าเทียบท่าหรือฉนวน คือเมื่อขึ้นทำนองเห่นี้ ก็เป็นสัญญาณว่าฝีพายจะต้องเก็บพายโดยไม่ต้องสั่งพายลง บทเห่ทำนองนี้ ขึ้นต้นว่า “ช้าแลเรือ” ลูกคู่รับ “เฮ เฮ เฮ เฮโฮ้ เฮโฮ้” วรรคสุดท้ายจบว่า “ศรีชัยแก้ว พ่อเอ๋ย” ลูกคู่รับ “ชัยแก้วพ่ออา” เรือพระที่นั่งก็จะเข้าเทียบท่าพอดี และจบบทเห่

ภูมิใจได้ถวายงานครั้งแรกใน รัชกาลที่ 10

ด้วยการเห่เรือจากจุดเริ่มต้นจนถึงจุดหมายปลายทาง อาจต้องใช้เวลาถึง 2-3 ชั่วโมง ก่อนงานพระราชพิธีเบื้องปลายยังต้องฝึกซ้อมกับฝีพายแทบทุกวัน เพื่อให้รู้จังหวะรับส่งกัน คอยฟังเสียงตัวเองและฝีพายว่ารับส่งด้วยน้ำเสียงที่ไพเราะ และพร้อมเพรียงแล้วหรือยัง เพื่อทำการปรับปรุงแก้ไข พนักงานเห่เรือจึงต้องใช้เสียงทุกวัน วันละหลายๆ รอบ จึงจำเป็นต้องดูแลตัวเองให้ดี

นาวาเอกณัฐวัฏเล่าว่า พนักงานเห่เรือต้องดูแลตัวเอง ดูแลเส้นเสียงไม่ต่างอะไรกับนักร้อง อย่างเทคนิคของผมคือ ดื่มน้ำเยอะๆ เป็นน้ำอุณหภูมิปกติเท่านั้น นอกนั้นก็พยายามออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น วิ่ง ยกของหนักขึ้นลง เพื่อขยายปอดให้แข็งแรง ที่สำคัญต้องพักผ่อนให้เพียงพอ

“ช่วงนี้เป็นช่วงก่อนพระราชพิธี เป็นช่วงที่ผมทำงานทุกวัน จึงทำให้มีเวลาพักผ่อนน้อย เพราะไม่ได้มีหน้าที่แค่พนักงานเห่เรือ แต่ยังเป็นครูฝึก ที่ต้องดูแลการฝึกฝีพาย ดูแลเรื่องการจัดส่งชุดฝีพาย ในลักษณะคนคอยรันคิวที่ต้องรู้และคอยประสานงานทุกเรื่อง ฉะนั้น หากมีเวลาก็จะพักผ่อนเต็มที่ รวมถึงหากเริ่มมีอาการของไข้หวัด ก็จะไปฉีดวัคซีนทันที”

“ผมเต็มที่ในทุกๆ วัน ส่วนหนึ่งเพราะเป็นคนชอบทำงานอยู่แล้ว การทำงานทำให้ไม่รู้สึกเหงา หากทำงานแล้วผลออกมาดี ก็จะยิ่งมีความสุข เช่นเดียวกับการเป็นส่วนหนึ่งทำงานในพระราชพิธีนี้ ผมทำอย่างเต็มที่ในทุกขั้นตอน เพื่อทำงานถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการทำงานถวายครั้งแรกในรัชกาลที่ 10 และอาจเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตข้าราชการของผม ที่กำลังจะเกษียณอายุราชการ ขณะเดียวกันก็ทำงานเต็มที่เพื่อกองทัพเรือ ก็รู้สึกเป็นเกียรติแก่ตัวเองและครอบครัว” นาวาเอกณัฐวัฏเล่าด้วยสีหน้าภูมิใจ

วันที่ 12 ธันวาคม จึงเป็นวันสำคัญที่จะบันทึกอีกหน้าประวัติศาสตร์ ให้คนไทยและคนทั่วโลกได้รับรู้ตราตรึงถึงโบราณราชประเพณีที่ยิ่งใหญ่ แว่วเสียงกังวานไกลของนาวาโทณัฐวัฏ จะประจำที่หน้าบุษบก เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ทำหน้าที่พนักงานเห่เรือ เพียบพร้อมไปด้วยหลายภาคส่วนที่มาร่วมกัน ตั้งใจทำถวายให้งานพระราชพิธีออกมาดีที่สุด

นาวาเอกณัฐวัฏเล่าทิ้งท้ายว่า ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเป็นของคู่บ้านคู่เมือง เป็นโบราณราชประเพณีของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย นับเป็นหนึ่งเดียวในโลกที่หาดูได้ยาก ฉะนั้น เราต้องมาช่วยกันมาดูมาชม เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของเรา และแสดงถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของเรา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image