มหัศจรรย์พรรณภาพ เรื่องเล่าผ่านภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ในกรมสมเด็จพระเทพฯ

มหัศจรรย์พรรณภาพ

มหัศจรรย์พรรณภาพ เรื่องเล่าผ่านภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ในกรมสมเด็จพระเทพฯ

มหัศจรรย์พรรณภาพ – ทุกครั้งที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ตลอดจนทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ ทรงมี “กล้องถ่ายรูป” เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ทรงงานที่กลายเป็นภาพพระราชจริยวัตรอันคุ้นเคยและประจักษ์ชัดในสายตาของคนไทยมาเนิ่นนาน

และเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสร่วมตามรอยเสด็จฯ และชื่นชมพระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นับตั้งแต่พุทธศักราช 2550 เป็นต้นมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เพื่อนำมาจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์อย่างต่อเนื่องทุกปี

ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 13 ภายใต้ชื่อนิทรรศการ “มหัศจรรย์พรรณภาพ” (Photo Wonderland) ณ ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร การนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯไปทรงเปิดงานและทรงบรรยายเรื่องราวผ่านภาพถ่ายที่จัดแสดงภายในนิทรรศการด้วยพระองค์เอง จากนั้นทอดพระเนตรนิทรรศการด้วยความสนพระราชหฤทัย ทรงมีสีพระพักตร์แจ่มใส และแย้มพระสรวลเป็นระยะ

Advertisement

ทั้งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่ทรงบันทึกไว้ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ในช่วงปีพุทธศักราช 2561-2562 เพื่อจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ ประกอบด้วย ภาพแขวนผนัง จำนวน 173 ภาพ ภาพอาหาร (ภาพเล็ก) จำนวน 216 ภาพ และอาร์ตวอลล์ จำนวน 12 ภาพ โดยแต่ละภาพที่นำมาจัดแสดง นอกจากเป็นภาพที่สวยงามทรงคุณค่าทางศิลปะการถ่ายภาพแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองจากสายพระเนตรที่ทรงประสบพบเห็นสิ่งต่างๆ ที่ทรงสนพระราชหฤทัย และแฝงไปด้วยพระอารมณ์ขันของพระองค์

โอกาสนี้ ทรงบรรยายเรื่องภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ว่า “มหัศจรรย์พรรณภาพ” หมายถึงภาพต่างๆ ที่น่าพิศวง ความเป็นมาของชื่อ มาจาก 2 เดือนหลังของปี 2562 ข้าพเจ้ามีปัญหาเรื่องสุขภาพ ทั้งลำไส้ และหัวใจ ยังมีโรคอะไรเดิมๆ อีก นอกจากการรักษาด้วยยาและวิธีการอื่นของหมอแล้ว หมอยังแนะนำการปรับพฤติกรรม เช่น พฤติกรรมการนอน ต้องนอนมากขึ้น พฤติกรรมการรับประทาน ต้องหลีกเลี่ยงของแสลง พอมาถึงการออกกำลังกาย หมอบอกว่า “สำคัญมาก” ชอบออกกำลังกายแบบไหน ข้าพเจ้าตอบว่า ชอบเดินรอบบ้าน ถ้าฝนตกหรือแดดร้อน ก็เดินบนห้องสมุด หมอ

บอกว่า อยากเล่นกีฬาก็ได้ ข้าพเจ้าว่าเดินไปมาดีแล้ว เป็นจังหวะสม่ำเสมอตามอัตภาพ ไม่เหมือนกีฬาอื่นที่กระตุกหัวใจ กระแทกแขนขา หมอว่าชอบแบบนั้นก็แล้วไป ที่จริงแล้วมีคำอธิบายมากกว่านั้นคือ ช่วงเวลาเดิน จิตใจ ร่างกาย และโลกรอบตัวเรา มาเรียงกันเป็นเส้นตรง ว่าตามดนตรีก็เหมือนโน้ตเพลงสามโน้ต เปล่งเสียงพร้อมกันเป็นคอร์ตที่กลมกลืน ไพเราะ ระหว่างเดินเราได้เห็นทิวทัศน์ หรือภูมิประเทศอย่างหนึ่ง และเราสามารถถ่ายทอดความรู้สึกความคิดผู้อื่น แม้แต่ตัวเองได้ แต่ภูมิประเทศเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดได้ เก็บไว้ได้โดยผ่านรูปเขียน ภาพถ่าย ที่อาศัยปากกา ดินสอสี กล้องถ่ายภาพ หรือกล้องถ่ายภาพยนตร์ ดังนั้นภาพที่แสดงครั้งนี้ และครั้งก่อนๆ เป็นสิ่งมหัศจรรย์ น่าทึ่ง มีเรื่องเล่ามากมาย

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ รับสั่งอีกว่า ตั้งแต่สมัยเด็กๆ ได้ยินคำว่า “เดินจงกรม” จากพระ ฟังอยู่ก็เหมือนว่าคล้ายๆ การทำสมาธิ เรื่องของการทำจงกรมเป็นอะไรที่ซับซ้อน ฟังไม่เข้าใจ จึงไปถามพระเพราะสมัยนั้นรู้สึกว่าทำไมต้องเดิน เสียเวลา เราควรจะวิ่งจงกรม ได้ระยะทางดีกว่า ทำไมเราถึงไม่วิ่งจงกรม ท่านก็อธิบายเยอะแต่จำไม่ได้ ที่จำได้คือท่านบอกว่า วิ่งจงกรมมันเร็วเกินไป ปัจจุบันก็เห็นด้วยกับที่ท่านว่าเพราะวิ่งอาจจะเร็วเกินไป การเดินทำให้ได้ดูนั่นดูนี่และได้มีเวลาถ่ายภาพมาให้พวกท่านได้เห็น

จากนั้นทรงบรรยายภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ อาทิ ภาพ “จุดเทียนและร้องเพลงถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ” รับสั่งว่า งานนี้คืองานวันที่ 5 ธันวาคมของปีที่แล้ว (พ.ศ.2561) เราก็มีการจุดเทียน ที่เถียงกันเล็กน้อยว่าจุดเทียนจะจุดกันกี่เล่ม ปีที่แล้วจำไม่ได้ว่ากี่เล่มแต่ปีนี้ตกลงกันว่า 92 เล่ม น้อยกว่าปีที่แล้ว แต่ในปีที่แล้วนอกจากจะจุดเทียนแล้ว ยังมีคาราโอเกะ ร้องเพลงถวาย มีคนเขาบอกว่าเห็นท่านมาฟังเพลงด้วย ปีหน้าก็จะจุดถวายอีกและจะเพิ่มจำนวนเทียนอีกจนกว่าจะจุดไม่ไหว

จุดเทียนและร้องเพลงถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ

ขณะที่ภาพ “สุสานปากกา สวนปทุม ปทุมธานี” รับสั่งว่า เป็นปากกาที่เขียนหมดแล้ว แต่ใส่ตู้เอาไว้ มีส่วนหนึ่งใส่กรอบและศิลปินแห่งชาติทำแบ๊กกราวน์ให้ ซึ่งศิลปินแห่งชาติท่านนั้นได้ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีที่เก็บไว้อีกสองหรือสามเท่ากว่าที่เห็น เคยกลุ้มใจเสียดายบางด้ามเขียน 3-5 วันก็หมดแล้ว และนำมาใช้ใหม่ไม่ได้ ทดลองนำเข็มฉีดยาสูบน้ำหมึกพยายามทิ่มเข้าไปในหลอดที่หมดแต่ไม่สำเร็จก็อุตส่าห์ไปดูงานทำปากกาลูกลื่น ได้เห็นว่าใช้เทคโนโลยีต่างๆ เยอะแยะที่เราทำไม่ได้แน่ จริงๆ แล้วการทำปากกาลูกลื่นมีเทคโนโลยีที่ซับซ้อนกว่าที่เราคิดมาก ส่วนรูปที่ศิลปินแห่งชาติทำให้ถือเป็นงานศิลปะตั้งชื่อว่า “ความขยัน” คือขยันเขียนเสียจนหมึกหมด ในส่วนที่เป็นความขยันนี้ก็มีด้ามหนึ่งเป็นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 แต่ด้ามไหนจำไม่ได้แล้ว

สุสานปากกา สวนปทุม ปทุมธานี

ต่อมาเป็นภาพ “พระเอกแห่งงานแสดงภาพถ่าย” ซึ่งเป็นภาพของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา รับสั่งว่า มาถึงเรื่องพระเอกของเรา ก็เป็นรูปปู่เมธ มองภาพนี้แล้วอาจจะถามได้ว่าในรูปนี้มีปู่เมธกี่คน ก็เป็นคำถามแต่ไม่มีรางวัล กระนั้นมีผู้ตั้งข้อสังเกตเล็กน้อยว่าปีที่แล้วปู่เมธไม่ค่อยยิ้มเลย เราเลยบอกว่าปีนี้เราต้องพยายามให้ปู่เมธยิ้มมากกว่านี้ อันนี้ก็เป็นภารกิจที่เราต้องทำ แต่สิ่งที่ปู่เมธสัญญาไว้ก็คือจะพยายามมางานนี้ทุกครั้ง

พระเอกแห่งงานแสดงภาพถ่าย

และภาพ “คนเฝ้าไฟ” วังสระปทุม ทรงเล่าว่า ด้านบนที่มองไม่เห็นเป็นโคมไฟข้างเตียง มีคุณพิงค์แพนเตอร์มาผูกเอาไว้ เมื่อไม่กี่วันนี้เกิดเหตุปากกาด้ามนี้หายไป ในเวลากลางคืนดึกมากแล้วนึกอะไรออกก็เขียนไป เขียนเสร็จแล้วเอาไว้ไหนก็จำไม่ได้ เช้ามาหาปากกาไม่เจอมีคนมาช่วยหาประมาณ 5 คน ก็ไม่เจอ ในที่สุดก็มาเจอเสียบอยู่บนคุณพิงค์แพนเตอร์ จึงจำได้ว่าฝากคุณพิงค์แพนเตอร์ถือไว้ คนที่ช่วยหาถอนใจแล้วบอกว่า เดินผ่านไปผ่านมาตรงนั้นก็ไม่รู้จักบอกเราสักคำ ตอนหลังถ้าให้หาของทุกคนก็จะวิ่งไปดูพิงค์แพนเตอร์ก่อน

พลันนั้นเสียงหัวเราะก็ดังขึ้นทั่วห้องบรรยาย

“คนเฝ้าไฟ” วังสระปทุม

นอกจากนี้ยังทรงบรรยายถึงภาพ “นิทรรศการวังหน้านฤมิต พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” ว่าเป็นเงาของผู้บรรยายนิทรรศการวังหน้านฤมิต เป็นนิทรรศการที่รวมสื่อต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะรูปถ่ายหรือรูปเขียนแต่รวมด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ หรือแม้กระทั่งการร้องเพลง อาหาร จัดที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งในที่นี้ผู้บรรยายคือ คุณใหม่ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน พระธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในฐานะผู้อำนวยการโครงการการศึกษาสันนิษฐานรูปแบบพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

นิทรรศการวังหน้านฤมิต พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

ขณะที่ภาพ “อู๊ดดี้ แอ๊ดดี้ หมูแคระ” ซึ่งเป็นพระเอกนางเอกเดียวกับที่เคยทรงบรรยายเมื่อนิทรรศการปีที่ผ่านมา ในปีนี้ทรงเล่าว่า แอ๊ดดี้กับอู๊ดดี้ ท่านก็เคยเห็นในหนังสือเล่มที่แล้วมาแล้ว คู่นี้มาจากจังหวัดนครปฐม คนที่ให้เขาก็บอกว่าเป็นหมูแคระ โตที่สุดน้ำหนักจะไม่เกิน 30 กิโลกรัม ที่จริงเลี้ยงสุนัขและแมวที่มาโดยบังเอิญเป็นร้อยตัว นก หนู หอยทาก เต็มไปหมดแล้ว ให้เลี้ยงหมูอีกก็ได้ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ได้ชั่งน้ำหนักประมาณ 93 กิโลกรัม และเมื่อคืนเพิ่งชั่งอีกตัวหนึ่ง 95.18 กิโลกรัม อีกตัว 94.92 กิโลกรัม รู้สึกว่ากว่าจะถึงปีใหม่คงเกินร้อย อีกอย่างที่เขาบอกคือหมูชนิดนี้เป็นหมูที่มีไอคิวสูง เขาว่าไอคิวสูงเท่าหมา ไม่เคยรู้เลยว่าหมาไอคิวเท่าไหร่ แม้แต่คนก็ไม่เคยรู้ว่าคนไอคิวเท่าไหร่ เขามีวิธีวัด ไม่เคยได้วัดเหมือนกัน แต่มีในนิตยสารฝรั่งมีวิธีวัดไอคิว เคยทำเล่นตอนสมัยเด็กๆ ที่เห็นก็มี 3 ส่วน ส่วนหนึ่งพวกศัพท์ คำพูด อันนี้ง่ายทำได้ อีกอันเป็นเรื่องของตัวเลข เขาจะมีเป็นแถวตัวเลข แล้วเว้นให้เติมที่ควรว่าจะเป็นเลขอะไร อันนี้ก็ง่าย เพราะที่จริงแล้วมีสูตรคิด มีอันหนึ่งที่ทำได้ไม่ค่อยดีคือเรื่องของภาพ มีลักษณะคล้ายๆ พวกเอ็นจิเนียริ่ง ดรออิ้ง คือมองภาพไม่ออกว่าภาพต่างๆ มีความสัมพันธ์กันยังไง ในส่วนนี้จะได้คะแนนน้อยหน่อย แล้วถ้าเชื่อตามในนิตยสารที่เอาใจคนอ่าน ทำแล้วได้ผลคะแนนไอคิวดี แต่ไม่รู้ว่าหมูหรือสุนัขจะไปวัดเขายังไง ยังไม่เคยลอง แต่เขาชอบทานแค่ผักผลไม้ ไม่รู้น้ำหนักขึ้นพรวดๆ ได้ยังไง

อู๊ดดี้ แอ๊ดดี้ หมูแคระ ได้ทราบว่าโตที่สุดควรจะประมาณ 30 กก. ขณะนี้ 90กว่าแล้ว ปีหน้าคงเลย 100 กิโลกรัมต่อมาทรงเล่าถึงภาพถ่ายที่ทรงบันทึกไว้ขณะเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ อาทิ ภาพ “ซากอาคาร ณ มาชูปิกชู” ซึ่งเป็นภาพอาร์ตวอลล์ขนาดใหญ่ภายในนิทรรศการ รับสั่งว่า ตอนนี้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคเก่าผุพังไปหลายปีและไม่มีใครเห็นแล้ว มีการให้คนมาโหวตทางอินเตอร์เน็ต ข้าพเจ้าได้ไปโหวตกับเขาด้วย สิ่งมหัศจรรย์ที่สร้างนี้ไม่ได้มีแต่คนธรรมดา มีของกษัตริย์ นักวิทยาศาตร์สาขาต่างๆ และนักบวช เขาคำนวณน้ำอย่างดี ไม่ใช่แค่น้ำดื่มน้ำใช้ น้ำที่ทำการเกษตรยังนำขึ้นบนที่สูงได้ มีวิธีการทำทางน้ำอย่างดี ใช้เทคโนโลยีจากชาวอินคาโบราณ นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบเกสรโบราณ จึงทำให้รู้ว่าสิ่งที่ปลูกคือข้าวโพด เป็นต้น

โบราณสถานมาชูปิกชู ประเทศเปรู

ขณะที่ภาพ “วัดเดียวกัน มีคนเอาของมาถวาย” ทรงเล่าว่า เที่ยวนั้นอยากไปดูวัฒนธรรมอินเดียในประเทศสิงคโปร์ วัดศรีวีรมากาลีอัมมัน เป็นวัดฮินดู ซึ่งแปลว่าเจ้าแม่กาลีผู้ดีงามและกล้าหาญ จะเป็นรูปปั้นเจ้าแม่กาลีเหยียบใครอยู่เสมอ บ้างก็ว่า บางรูปเหยียบยักษ์ บางรูปเหยียบสามีท่านเอง ครั้งแรกที่ไป ไปเอง ครั้งที่สองพานักเรียนนายร้อยไป บริเวณนี้มีลิตเติลอินเดีย ซึ่งรวบรวมวัฒนธรรมอินเดียรวมถึงมีพิพิธภัณฑ์ด้วย จะเห็นได้ว่าคนพื้นเมืองก็รับวัฒนธรรมอินเดีย ปัจจุบันการคมนาคมสะดวก รวมถึงมีสื่อดิจิทัล ทำให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอย่างรวดเร็ว คนบรรยายบอก “วัดนี้เหมือนวันแขกในเมืองไทย”

วัดเดียวกัน มีคนเอาของมาถวาย

นอกจากนี้ยังทรงบรรยายภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ภาพอื่นๆ อาทิ น้องอมยิ้มเจ้าเก่าแห่งสวนปทุมกินหวานเย็น, พระจันทร์ค้างฟ้า ทาสเมเนีย, คอนเสิร์ตแบบเบิร์ดๆ และสุสานสุนัข วังสระปทุม

ภายหลังเสร็จสิ้นการบรรยาย ดังเช่นทุกครั้ง กรมสมเด็จพระเทพฯ รับสั่งทิ้งท้ายว่า “เชิญถ่ายภาพตามสบาย” เรียกรอยยิ้มและเสียงปรบมือดังกึกก้องด้วยความประทับใจจากผู้ร่วมงาน ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่านอกจากเป็นภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่สวยงามและทรงคุณค่าแล้ว ยังแฝงไปด้วยข้อคิดเตือนใจในแง่มุมต่างๆ ให้คนไทยทุกคนได้ชมภาพที่เปรียบเสมือนการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายของพระองค์ในทุกแห่งหน

สำหรับนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2562 หัวข้อ “มหัศจรรย์พรรณภาพ” (Photo Wonderland) จัดแสดง ณ ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันนี้ – 16 กุมภาพันธ์ 2563 (หยุดทุกวันจันทร์) เวลา 10.00-21.00 น. ประชาชนสามารถเข้าชมได้ฟรี โดยจัดจำหน่ายหนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “มหัศจรรย์พรรณภาพ” (Photo Wonderland) ในราคาเล่มละ 900 บาท ณ ห้องสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยฯ และศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ รายได้ทั้งหมดนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image