‘เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา’ พระเมตตาผู้ต้องขัง ราชทัณฑ์ปันสุข 4 เรือนจำภาคใต้

‘เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา’ พระเมตตาผู้ต้องขัง ราชทัณฑ์ปันสุข 4 เรือนจำภาคใต้

ด้วยพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงมีพระวิสัยทัศน์ก้าวไกล ทรงเห็นว่าการบริการทางการแพทย์ พยาบาล และการได้รับความรู้ด้านสุขภาพ เป็นสิทธิของผู้ต้องขัง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ริเริ่ม โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เพื่อเติมเต็มสิทธิของผู้ต้องขังให้ได้รับการบริการทางสุขภาพเฉกเช่นประชาชนทั่วไป

การนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในฐานะที่ทรงเป็นประธานกรรมการโครงการราชทัณฑปันสุขฯ เสด็จแทนพระองค์ไปพระราชทานเครื่องมือแพทย์แก่เรือนจำเป้าหมายในภาคใต้จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช เรือนจำกลางสุราษฎร์ธานี เรือนจำกลางสงขลา และทัณฑสถานหญิงสงขลา พร้อมพระราชทานรถเอกซเรย์เคลื่อนที่ ให้กับโรงพยาบาลสงขลา และโรงพยาบาลมหาราช จ.นครศรีธรรมราช และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งให้กับเรือนจำกลางปัตตานี เพื่อเป็นเงินตั้งต้นในการสร้างสถานพยาบาลในเรือนจำกลางปัตตานี ณ เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช

โอกาสนี้ ทรงเปิด “มุมสุขภาพ ราชทัณฑ์ ปันสุข” ภายในแดนพยาบาล พร้อมทอดพระเนตรการสาธิตของอาสาสมัครสาธารณสุขในเรือนจำ (อสรจ.) ในการช่วยเหลือผู้ป่วย จากนั้นเสด็จไปยังห้องแม่และเด็ก พระราชทานถุงพระราชทานแก่ผู้ต้องขังหญิงตั้งครรภ์ จำนวน 3 ราย และเด็กติดผู้ต้องขัง จำนวน 4 ราย

Advertisement

พร้อมเดียวกันนี้ ทรงมีพระปฏิสันถารกับผู้ต้องขังหญิงที่มาเฝ้ารับเสด็จ ความว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงฝากความห่วงใยมายังทุกท่าน ขอให้ทุกท่านรักษาสุขภาพให้ดีทั้งผู้ต้องขังหญิงและชาย”

ยังความปลื้มปีติแก่ผู้ต้องขังอย่างหาที่สุดมิได้

ทั้งนี้ เครื่องมือและครุภัณฑ์ทางการแพทย์พระราชทาน จะประกอบด้วย เครื่องมือทางการแพทย์ที่สำคัญต่อการวินิจฉัยและรักษาโรคที่เป็นปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่ของผู้ต้องขัง เช่น เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เครื่องไตเทียม ยูนิตทันตกรรม ซึ่งเป็นประโยชน์แก่เรือนจำและทัณฑสถานอย่างมาก ในการรักษาพยาบาลผู้ต้องขังป่วยด้วยตัวเอง โดยร่วมกับแพทย์ในโรงพยาบาลท้องถิ่น แบ่งเบาภาระการดูแลผู้ต้องขังป่วยในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งมีแห่งเดียวในประเทศได้

Advertisement

นอกจากนี้ยังมี อาสาสมัครสาธารณสุขในเรือนจำ (อสรจ.) ที่มีส่วนช่วยในการช่วยเหลือผู้ต้องขังในเบื้องต้นได้อย่างมากเนื่องจากเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ต้องขังด้วยกัน สามารถเห็นอาการได้ก่อนรวมไปถึงเข้าช่วยเหลือได้ทันที ซึ่ง อสรจ. ต้องเข้ารับการอบรมจากวิทยากร โดยเป็นผู้ต้องขังความประพฤติดี มีหัวใจจิตอาสา และมีโทษจำคุกคงเหลือมากกว่า 1 ปี และ อสรจ. 1 คน จะรับผิดชอบดูแลผู้ต้องขัง 50 ราย

ขณะที่ รถเอกซเรย์เคลื่อนที่ มีความทันสมัย อ่านผลการตรวจด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ สามารถรู้ผลได้ภายใน 2 นาที ใช้ในการตรวจคัดกรองวัณโรค ในกลุ่มผู้ต้องขังใหม่ ด้วยเป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังป่วยมีข้อกำจัด เพราะฉะนั้นรถเอกซเรย์ เคลื่อนที่ จึงมีส่วนช่วยให้ผู้ต้องขังเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น ซึ่งทั่วประเทศจะมีทั้งหมด 13 คัน มอบหมายตามเขตพื้นที่สุขภาพของแต่ละภูมิภาค

สำหรับเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช นับเป็นเรือนจำกลางขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในภาคใต้ เมื่อมีผู้ต้องขังป่วยจากเรือนจำใกล้เคียงจะถูกส่งต่อมายังสถานพยาบาลในเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ด้วยก่อนหน้านี้แต่ละพื้นที่มีความขาดแคลนเครื่องมือทางการแพทย์ กระทั่งเกิดโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ เครื่องมือการแพทย์พระราชทานได้เข้ามาช่วยให้ผู้ต้องขังคุณภาพสุขภาพที่ดีขึ้น โดยเรือนจำแต่ละแห่งจะได้เครื่องมือทางการแพทย์แตกต่างกันไปตามความต้องการของเรือนจำ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช มีผู้ต้องขังทั้งสิ้น 7,444 คน มีผู้ต้องขังเจ็บป่วย รวมจำนวน 120 คน, เรือนจำกลางสุราษฎร์ธานี มีผู้ต้องขังทั้งสิ้น 4,169 คน มีผู้ต้องขังป่วย รวมจำนวน 268 คน, เรือนจำกลางสงขลา มีผู้ต้องขังทั้งสิ้น 3,950 คน ผู้ต้องขังป่วย รวมจำนวน 136 คน และทัณฑสถานหญิงสงขลา มีผู้ต้องขังทั้งสิ้น 1,529 คน ผู้ต้องขังป่วยในเรือนจำ รวมจำนวน 128 คน และในส่วนของฝ่ายสาธารณสุขของจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดสงขลา ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาผู้ต้องขังป่วย มีโรงพยาบาลแม่ข่ายและมีจิตอาสา เราทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มีส่วนร่วมด้านการช่วยเหลือด้านการแพทย์ การพยาบาล และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ แพทย์ประจำโรงพยาบาลที่จะมาตรวจผู้ต้องขังตามคลินิกเบาหวาน-ความดัน และให้คำปรึกษา สัปดาห์ละ 2ครั้ง ขณะที่คลินิกทันตกรรมจะมีเดือนละ 2 ครั้ง นอกจากนี้ยังมี แพทย์จิตอาสา แพทย์ที่มีอายุระหว่าง 60-65 ปี ที่เกษียณแล้วแต่ยังมีจิตใจอาสาร่วมให้บริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลเรือนจำอีกด้วย

การดำเนินงานโครงการดังกล่าวนอกจากจะเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อสิทธิประโยชน์ของผู้ต้องขังแล้ว ยังช่วยให้ผู้ต้องขังเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขมากขึ้น ทำให้ผู้ต้องขังดีใจ คลายกังวลในเรื่องการเจ็บป่วย และยังเป็นต้นแบบให้กับเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศที่ไม่ได้อยู่ในเรือนจำเป้าหมายได้นำแนวทางไปปฏิบัติต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image