40 ปี พระมิ่งขวัญ ‘ชาว ตชด.’ หยาดพระเสโทชุบชีวิต เด็กยากไร้

40 ปี พระมิ่งขวัญ ‘ชาว ตชด.’ หยาดพระเสโทชุบชีวิต เด็กยากไร้

“เด็กๆ ทุกคนภูมิใจที่เป็นนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ทั้งที่เขาเป็นเด็กป่าเด็กดอย แต่ก็ยังได้รับพระเมตตาจากพระองค์ แม้เราจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล พระองค์ก็ยังเสด็จฯ มา พระพักตร์ของพระองค์เต็มไปด้วยหยาดเหงื่อ แต่ก็ยังคงทรงงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย”

คำบอกเล่าของ ส.ต.ท.หญิง สิริลักษณ์ เมฆหมอก หรือ ครูตังค์ ครู ตชด. โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแพรกตะคร้อ ต.บึงนคร อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของนักเรียนและครูที่มีต่อ “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาเยาวชนในท้องถิ่นทุรกันดารมาตลอด 40 ปี ได้เป็นอย่างดี

พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้มีโอกาสด้านการศึกษาและความเป็นอยู่ที่ดี แม้เด็กจบการศึกษาไปแล้ว ไม่ได้เรียนต่อในระดับการศึกษาที่สูง เด็กก็ยังสามารถอยู่ในชุมชน พึ่งพาตนเองได้ มีอาชีพเป็นเกษตรกร และถ้ามีการพัฒนาด้านอื่นๆ เด็กก็สามารถพัฒนาต่อได้อีกเช่นกัน

ทรงมีพระวิสัยทัศน์กว้างไกล ครอบคลุม และละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง

Advertisement

ดั่งพระราชดำรัสในโอกาสเสด็จฯ ไปในการประชุมโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ณ กองบังคับการกองร้อยที่ 5 ตำรวจตระเวนชายแดนอำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ.2524 ความว่า

“…ต้องการช่วยให้นักเรียนในโรงเรียนมีสุขภาพอนามัยบริบูรณ์แข็งแรง รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะและถูกตามส่วนประกอบที่จะบำรุงร่างกาย…อยากให้เป็นพืชผักหรืออุปกรณ์ แล้วให้นักเรียนมาทำการเกษตร ซึ่งเป็นวิธีที่อ้อมและยากขึ้นมาอีกทางหนึ่ง อาหารที่จะให้รับประทานนั้น เป็นอาหารที่ได้มาจากผลิตผลของนักเรียนผู้รับประทานเอง ซึ่งอาจจะได้ผลช้า แต่ก็เป็นวิธีหนึ่งซึ่งจะได้รับอาหาร และคิดว่าจะได้รับประโยชน์เป็นผลพลอยได้ที่สำคัญ คือ ความรู้ทางด้านการเกษตรและด้านโภชนาการ ซึ่งจะเป็นวิชาติดตัวไปจนนักเรียนเหล่านั้นเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ และได้ประกอบอาชีพ ทางด้านการเกษตรกรรม วิชาการใหม่ๆ เหล่านั้น อาจจะนำมาช่วยในการครองชีพได้มากทีเดียว…”

Advertisement

ปัจจุบัน โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนตามพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ดำเนินการมาเป็นเวลา 40 ปี ตั้งแต่ปี 2523 มีภารกิจในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ตามแนวชายแดนทุรกันดาร

โรงเรียนตัวอย่างแห่งการพัฒนา

“โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแพรกตะคร้อ” เป็น “ตัวอย่าง” ของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ แม้จะอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอหัวหิน แต่ก็ตั้งอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลการคมนาคม ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวกะหร่าง มีสัญชาติไทยเป็นส่วนน้อย เมื่อปี 2541 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้ก่อตั้งโรงเรียน ภายหลังที่ราษฎรยื่นถวายฎีกาขอรับพระราชทานความช่วยเหลือด้านการเรียนการสอน และด้านสุขภาพอนามัยแก่เด็กและราษฎร โดยได้อนุมัติการจัดตั้งโรงเรียน เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2542

ปัจจุบันมีการจัดการเรียนการสอนระดับอนุบาล 2 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2562 มีนักเรียนทั้งหมด 265 คน โดยเป็นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่สีชมพู เนื่องจากอยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า และยังคงมีการระบาดของโรคไข้ป่า

ร.ต.ท.ประดิษฐ์ อะละมาลา ครูใหญ่ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแพรกตะคร้อ มาเป็นครูประจำที่โรงเรียนแห่งนี้ 14 ปี ได้รับคัดเลือกให้เป็นครูดีเด่น ปี 2538 และ 2542 เล่าถึงการดำเนินงานตามโครงการตามพระราชดำริว่ามีทั้งหมด 8 โครงการ

“พระองค์ทรงดูแลเด็กที่อยู่ห่างไกลตามแนวชายแดน ทั้งด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ ทรงดูแลตั้งแต่ในครรภ์มารดา จนกระทั่งเติบใหญ่ พระองค์พระราชทานทุนการศึกษาให้เด็กในพระราชานุเคราะห์ และทรงส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนในระดับต่างๆ สูงที่สุดถึงปริญญาเอก”

 

ทั้งนี้ โครงการตามพระราชดำริ 8 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เป็นกิจกรรมเพื่อผลิตอาหารเลี้ยงเป็นอาหารกลางวันให้กับนักเรียน ทั้งปลูกพืชผักสวนครัว เห็ดนางฟ้าเลี้ยงสุกร เลี้ยงปลาดุก เลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ผลไม้ ทั้งกล้วย แก้วมังกร มะละกอ โดยนำผลผลิตมาประกอบอาหารรับประทานครบทั้ง 3 มื้อ และอาหารเสริมพิเศษสำหรับเด็กที่บกพร่องทางโภชนาการ

“โครงการเกษตรเราจะเน้นให้นักเรียนปฏิบัติ เป็นโครงการที่กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงให้ความสำคัญมาก รับสั่งว่าเป็นงานที่หนัก แต่ให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้ ให้ลงมือเอง ปฏิบัติเอง ให้เกิดนิสัยขยัน มีความรับผิดชอบ” ครูใหญ่อธิบาย

ทั้งนี้ ตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียนจนถึงปี 2562 มีจำนวนเด็กที่ขาดสารอาหารลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งทุกปีทางโรงเรียนจะทำการตรวจวัดส่วนสูงและน้ำหนักของนักเรียน 4 ครั้ง และส่งผลการตรวจวัดให้กับสำนักพระราชวัง ตามแบบฟอร์มการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.)

“ตามหลักโภชนาการของกรมสมเด็จพระเทพฯ ถ้าเด็กผอมมากให้เสริมอาหารประเภทโปรตีน จากปกติ เด็กกินไข่ 3 วัน ก็ให้เพิ่มเข้าไปอีก 2 วัน ส่วนเด็กที่มีส่วนเกิน หรืออ้วน ก็ให้ออกกำลังกาย นอกจากนี้ พระองค์ยังรับสั่งให้มีอาหารเสริมประเภทถั่ว โดยให้ทุกโรงเรียน ตชด.ทั่วประเทศทั้งหมด 216 แห่ง ดำเนินการปลูกถั่วอะไรก็ได้ให้เด็กรับประทาน” ครูใหญ่กล่าว

2.โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน โดยในปี 2562 นักเรียนชั้น ป.1-6 ไม่พบภาวะการเป็นโรคคอพอก 3.โครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดาร 4.โครงการนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ ปัจจุบันโรงเรียนมีนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ 7 คน 5.โครงการฝึกอาชีพ การทอผ้าพื้นเมืองกี่เอว และการตัดผมชาย-หญิง 6.โครงการส่งเสริมสหกรณ์ 7.โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

8.โครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา โดยนับตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียน ในระยะแรก เน้นให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้ ระยะที่ 2 อ่านออกเขียนได้ และศึกษาต่อ ระยะที่ 3 ให้มีการศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น

ปัจจุบันโรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอน มีการสอบโอเน็ตเทียบเท่ากับโรงเรียนทั่วประเทศ โดยเมื่อวันที่ 8 มกราคม ด.ญ.ปรารถนา ปึกทรัพย์ ชั้น ป.6 ได้รับคัดเลือกให้เป็นนักเรียนเยาวชนดีเด่นประจำปี 2563 ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล และเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ด.ช.เตชิต จันทร์อุปถัมภ์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ การแข่งขันทักษะภาษาไทยของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ระดับชั้น ป.1-3 ประเภทการคัดลายมือ

ด.ช.เตชิต จันทร์อุปถัมภ์
ด.ญ.ปรารถนา ปึกทรัพย์

ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2562 นักเรียนที่จบจาก ร.ร.ตชด.บ้านแพรกตะคร้อ 26 คน เข้าศึกษาต่อในระดับมัธยม 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนนักเรียนที่ได้รับการศึกษาสูงสุดหลังจากจบ ป.6 ก็เข้าศึกษาต่อระดับมัธยมจนจบ ม.6 สอบเป็น “ครูคุรุทายาท 2 คน” รวมถึงนักเรียนหญิงที่ได้รับการประดับยศเป็น ร.ต.อ.หญิง ด้วย

พระมิ่งขวัญชาว ตชด.

ครูใหญ่ประดิษฐ์ กล่าวด้วยรอยยิ้มว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงติดตามการดำเนินงานโครงการพระราชดำริ ร.ร.ตชด.บ้านแพรกตะคร้อ จำนวน 4 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2548 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2551 ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 และครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2561 โดยเมื่อครั้งเสด็จฯ ไปทรงติดตามการดำเนินงานที่โรงเรียนครั้งแรก และทรงทราบว่าพื้นที่ตรงนี้ยังไม่มีสถานพยาบาลด้านสาธารณสุขให้บริการประชาชน ทรงมีรับสั่งให้สำนักงานโครงการส่วนพระองค์ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จัดสร้าง “สุขศาลาพระราชทาน” เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2550 เพื่อบริการด้านสาธารณสุขให้กับนักเรียนและชุมชนโดยรอบ

“ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จฯมา จะทรงติดตามการดำเนินงาน และทรงให้กำลังใจครูและนักเรียน อย่างสุขศาลาพระราชทาน เป็นที่พึ่งพาการเจ็บป่วยของนักเรียนและประชาชน ทั้งในยามปกติและในยามฉุกเฉิน มีการจ่ายยาเบื้องต้น การดูแล เฝ้าระวัง และบริการด้านฉุกเฉิน

“ส่วนครั้งล่าสุด ทรงห่วงเรื่องสัญชาติของนักเรียนที่ยังไม่ได้รับสัญชาติ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการบริการของรัฐด้านสาธารณสุข ทรงมีรับสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งหลังจากนั้นทางอำเภอได้ทำการแก้ไข จากที่มีเด็กไม่ได้สัญชาติ 43 คน ปัจจุบันเหลืออีก 22 คนที่ยังไม่ได้สัญชาติ”

“โรงเรียน ตชด.เป็นที่พึ่งของชาวบ้านในทุกด้าน พระองค์ทรงเป็นพระมิ่งขวัญของพวกเราชาว ตชด.ทุกคน” ร.ต.ท.ประดิษฐ์กล่าวด้วยน้ำเสียงปีติ

ร.ต.ท.ประดิษฐ์ อะละมาลา ครูใหญ่ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแพรกตะคร้อ

โรงเรียนศูนย์กลางความเจริญ

ความสำเร็จของโครงการพระราชดำริมิได้เกิดขึ้นกับเด็กเท่านั้น หากยังส่งผลถึงผู้ปกครองและชุมชน ด้วยชุมชนแห่งนี้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นชาวกระหร่าง ทำให้ราษฎรส่วนใหญ่อ่านภาษาไทยไม่ออก และเขียนไม่ได้

นายมนตรี วชิระ ผู้ใหญ่บ้านแพรกตะคร้อคนปัจจุบัน และ นายสวัสดิ์ ชูยิ้ม อดีตผู้ใหญ่บ้านแพรกตะคร้อ กล่าวร่วมกันว่า โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน มีอะไรก็มาร่วมกันพัฒนาที่โรงเรียน

“โรงเรียนสร้างความเจริญให้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาที่เด็กถ่ายทอดความรู้ให้กับพ่อแม่ที่ไม่รู้หนังสือ ให้สามารถอ่านออกเขียนได้ รวมถึงการพัฒนาอาชีพที่เชื่อมโยงกับโครงการอาหารกลางวัน ทำให้สร้างรายได้ให้กับครัวเรือน โรงเรียนช่วยชุมชนได้เยอะจริงๆ” 2 ผู้ใหญ่บ้านกล่าว

ทั้งนี้ โครงการตามพระราชดำริที่ ร.ร.ตชด.ได้ขยายไปสู่ชุมชน โดยปี 2560-2562 มีกิจกรรมตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง 4 กิจกรรม ได้แก่ 1.การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ 17 ครัวเรือน 2.เลี้ยงกบ 3 ครัวเรือน 3.ปลูกผัก 18 ครัวเรือน 4.เพาะเห็ดนางฟ้า 8 ครัวเรือน นับเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้คนรักถิ่นฐานบ้านเกิดและมีโอกาสใช้ความรู้พัฒนาท้องถิ่น และลดการอพยพแรงงานหนุ่มสาวเข้าเมือง

นายมนตรี วชิระ ผู้ใหญ่บ้านแพรกตะคร้อคนปัจจุบัน

ทรงเป็นแบบอย่าง ‘ครู-เด็ก’

ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน “ครู” เป็นหัวใจสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ มีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการ “คุรุทายาท” คือครูที่เคยเป็นนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน แต่มีใจรักที่จะถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียนรุ่นน้อง และพร้อมทำงานเพื่อให้คนรุ่นต่อไปได้มีโอกาสที่ดีเหมือนกัน โดยครู ตชด.นอกจากต้องเรียนวิชาตำรวจ ฝึกตำรวจเหมือนตำรวจทั่วๆ ไปแล้ว ยังต้องฝึกวิชาการสอน และเรียนต่อในระบบทางไกล หรือการลาเพื่อศึกษาต่อจนจบปริญญาตรี หรือปริญญาโท

หนึ่งในครูคุรุทายาท ส.ต.ท.กรวิชย์ เข็มกลัด หรือ ครูบอล ครูผู้ดูแลโครงการเกษตรฯ ป.2/1 ครู ตชด.คุรุทายาท รุ่น 14 ศิษย์เก่า ร.ร.ตชด.บ้านแพรกตะคร้อ ที่นอกจากจะสอนทุกวิชายกเว้นภาษาอังกฤษ ยังรับผิดชอบโครงการพระราชดำริด้านปศุสัตว์ด้วย

“ก่อนที่ผมจะเป็นครูคุรุทายาท ผมได้เป็นนักเรียนทุนในพระราชานุเคราะห์มาก่อน ทำให้ผมได้รับรู้ถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ทรงทำทุกอย่างเพื่อเด็กๆ ในท้องถิ่นทุรกันดาร พระองค์รับสั่งเสมอว่าให้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด จากพระราชกระแสจึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเดินทางในสายอาชีพครู บวกกับความต้องการของผมที่อยากมาทำงานใกล้บ้านอยู่กับครอบครัว และความชอบที่จะถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กๆ ด้วย” ครูบอลกล่าว

เช่นเดียวกับ ส.ต.ท.หญิง สิริลักษณ์ เมฆหมอก หรือ ครูตังค์ ครูผู้ดูแลโครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา ป.5 ครู ตชด.คุรุทายาท รุ่น 13 กล่าวว่า ภูมิใจที่ได้เป็นครู ตชด. แม้จะต้องทำงานไกลบ้านก็ตาม

“เราเป็นเด็ก ตชด.มาก่อน เราเห็นข่าวในพระราชสำนักทุกวันว่าพระองค์ทรงงานมากมาย และเสด็จฯ ไปที่ต่างๆ เพื่อเยี่ยมเยียนประชาชน พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างให้เรารู้สึกว่าทำไมไม่ทำสิ่งนี้เพื่อตอบแทนพระองค์บ้าง กระทั่งวันที่ได้เฝ้าฯ รับเสด็จพระองค์ ได้ถวายรายงานต่อหน้าพระพักตร์ และได้เห็นเหงื่อของพระองค์ รู้สึกภูมิใจมากว่าที่ผ่านมาได้ทำเต็มที่แล้ว และทำให้วันนี้มีความสุขทุกครั้งที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ครู ตชด. ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนก็ตาม”

“พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างให้เราในทุกๆ ด้าน”

“ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา พระองค์ยังทรงศึกษาเรียนรู้หลักสูตรต่างๆ เพื่อนำมาใช้กับ ร.ร.ตชด. เช่น อยากให้เด็ก ตชด.อ่านออกเขียนได้ ก็ทรงมีแนวทางมาว่า เด็ก ตชด.ต้องมีแนวทางในการศึกษาแบบนี้นะ ใช้หลักสูตรแบบไหนในการติดต่อสื่อสารกับนักเรียนได้บ้าง ใช้คำพูด หรือแรงเสริมอย่างไรกับนักเรียนเพื่อให้เขาเข้าใจเรา”

“ด้านสาธารณสุข ทรงส่งเสริมให้กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ก่อนกินข้าวต้องล้างมือก่อนนะ ก็มีเพลงมา มีอะไรมา”

“ที่สำคัญคือเรื่องความรัก ไม่ใช่แค่ว่า เราจะให้เฉพาะแค่ลูกศิษย์ของเรา แต่เราต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไปถึงชาวบ้านด้วย เหมือนที่พระองค์ทรงรักทุกคนในประเทศไทย ไม่ว่าจะคนในประเทศไทย หรือคนต่างประเทศ พระองค์ทรงมอบความรักให้กับทุกคน เราก็เลยคิดว่า ถ้าให้ความรักกับเด็กเหมือนที่พระองค์ทรงให้ เราก็จะได้ความรักกลับมา”

“นี่คือแรงผลักดันที่ทำให้ครูทุกคนอยู่ได้ ถึงแม้ว่าจะไกลบ้านก็ตาม”

สำหรับ “เด็กๆ” พระมหากรุณาธิคุณเปี่ยมล้น ครูตังค์เล่าว่า โรงเรียน ตชด.ให้แต่สิ่งดีๆ กับเด็กในทุกๆ อย่าง ได้รับทั้งความรู้ด้านวิชาการ ได้ความรู้ด้านการดำรงชีวิต และได้ความรู้ด้านวิชาชีพ

“เด็กๆ ทุกคนภูมิใจที่เป็นนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ทั้งที่เขาเป็นเด็กป่าเด็กดอย แต่ก็ยังได้รับพระเมตตาจากพระองค์ แม้เราจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล พระองค์ก็ยังเสด็จฯ มา พระพักตร์ของพระองค์เต็มไปด้วยหยาดเหงื่อ แต่ก็ยังคงทรงงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย”

“ทุกครั้งที่เด็กได้รับทุนพระราชทานและได้เข้าเฝ้าฯ เด็กจะกลับมาเล่าให้รุ่นน้องฟังว่า ภูมิใจที่ได้เข้าเฝ้าฯ เขาจะไม่พูดว่าจะทำตัวเป็นเด็กดี แต่จะพูดว่า เราควรยึดพระองค์เป็นแบบอย่างในการทำความดี และการช่วยเหลือผู้อื่น” ส.ต.ท.หญิง สิริลักษณ์ทิ้งท้าย

พระมหากรุณาธิคุณชุบชีวิตเด็ก-ราษฎรยากไร้อย่างยั่งยืน

ส.ต.ท.หญิง สิริลักษณ์ เมฆหมอก หรือ ครูตังค์
ส.ต.ท.หญิง สิริลักษณ์ เมฆหมอก หรือ ครูตังค์
ส.ต.ท.กรวิทย์ เข็มกลัด
ส.ต.ท.กรวิชย์ เข็มกลัด หรือ ครูบอล
นายสวัสดิ์ ชูยิ้ม อดีตผู้ใหญ่บ้าน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image