พระมหากรุณาธิคุณ บรรเทาทุกข์ ‘ประชาราษฎร์’ วิกฤตการณ์ โควิด-19

พระมหากรุณาธิคุณ บรรเทาทุกข์ ‘ประชาราษฎร์’ วิกฤตการณ์ โควิด-19

นับเป็นทุกข์หนักอันแสนใหญ่หลวงอีกครั้งของคนไทย และมวลมนุษยชาติ เมื่อต้องมาเผชิญกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของ เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 โรคระบาดที่ติดต่อกันได้ง่าย และยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรค

พิษของไวรัสโควิด-19 สร้างความเดือดร้อนให้กับคนไทยทุกหย่อมหญ้า มีผู้ติดเชื้อนับหลายล้านคนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย มียอดผู้ติดเชื้อ ณ วันที่ 4 พฤษภาคม จำนวน 18 คน มีผู้ติดเชื้อสะสม 2,987 คน และมีผู้เสียชีวิตรวม 54 คน ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลก มีมากถึง 3,566,330 คน และเสียชีวิต 248,286 คน

ท่ามกลางห้วงเวลาแห่งความยากลำบาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงยื่นพระหัตถ์เข้ามาช่วยเหลือพสกนิกรชาวไทย ทรงรับเป็นพระราชภารกิจสำคัญที่จะดูแลประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และบรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนให้ได้มากที่สุด ได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณและความช่วยเหลือในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ถุงยังชีพ หน้ากากอนามัย และสิ่งของอื่นๆ ที่โปรดเกล้าฯ ให้จัดหาและพระราชทานไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ และชุมชนแออัด ซึ่งประชาชนทุกหมู่เหล่าต่างรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

Advertisement

พระบรมราโชบายแก้ไขวิกฤต “โควิด-19”

เมื่อวันที่ 6 เมษายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 และมาตรการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล

ในการนี้ พระราชทานพระบรมราโชบายเพื่อเป็นแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ความว่า

“มีอะไรที่จะมีส่วนช่วยเหลือ ที่จะแก้ปัญหาก็ยินดี เพราะว่าก็เป็นปัญหาของชาติ ซึ่งเรื่องโรคระบาดนี่ก็ไม่ใช่ความผิดของใคร แล้วสิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือเรามีหน้าที่ที่จะดูแลแก้ไขให้ดีที่สุด อย่างที่เคยพูดไว้ว่า ถ้าเกิดมีความเข้าใจในปัญหา มีความเข้าใจ ไม่ใช่หมายความว่ายอมรับตามบุญตามกรรม แต่มีความเข้าใจในสถานการณ์ มีความเข้าใจในปัญหา และก็มีความรู้เกี่ยวกับโรค ก็คือเข้าใจในปัญหานั่นเอง อันแรกก็เป็นอย่างนี้”

Advertisement

“อันที่ 2 ก็คือจากข้อที่ 1 ก็คือการมีการบริหารจัดการ มีแผนเผชิญเหตุ มีระบบในการปฏิบัติ แก้ไขให้ถูกจุด รู้ปัญหา แก้ไขให้ถูกจุดโดยมีการบริหารจัดการ แล้วก็ในเวลาเดียวกันก็ต้องให้ประชาชนได้เข้าใจถึงวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง และเหตุผลที่จะต้องปฏิบัติ เพราะว่าการมีระบบ หรือแผนในการปฏิบัติตามแผนที่ได้วางไว้ตามความเป็นจริง ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แก้ถูกจุด ก็จะลดปัญหาลงไป จะแก้ได้ในที่สุด ก็เชื่อแน่ว่าจะต้องแก้ไขและก็เอาชนะอันนี้ได้ เพราะว่าประเทศของเรานี่ก็นับว่าทำได้ดี”

“ประเทศของเรานี่น่าภูมิใจว่าทำได้ดี และก็ทุกคนก็ร่วมใจกัน ก็ดีกว่าที่อื่นอีกหลายที่ แต่บางทีก็ต้องเน้นเรื่องการทำงานมีระบบด้วยความเข้าใจ และการมีระเบียบวินัยในการแก้ไขปัญหา โดยมีเป้าหมายว่าเราจะต้องต่อสู้ให้โรคนี้สงบลงไปได้ในที่สุด เพราะว่าโรคมาได้ โรคก็ไปได้ โรคจะไม่ไปถ้าเราไม่แก้ไขปัญหา เราไม่แก้ไขให้ถูกจุด หรือเราไม่มีความขันติอดทนที่จะแก้ไข บางทีก็ต้องสละในความสุขส่วนตัวบ้าง หรือเสียสละในการกล้าที่จะสร้างนิสัยหรือสร้างวินัยในตัวเอง ที่จะแก้ไขเพื่อตัวเอง เพื่อส่วนรวม อันนี้เราก็ขอเป็นกำลังใจให้”

โอกาสนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีรับสั่งทรงห่วงใยแพทย์ พยาบาล ว่า “หมออาจจะเหนื่อยหน่อยช่วงนี้ ฝากเป็นกำลังใจให้หมอกับพยาบาลด้วยค่ะ”

“ถุงพระราชทาน” ขวัญกำลังใจปวงราษฎร์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นถึงความทุกข์ยากของประชาชนที่เดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จิตอาสาพระราชทานเป็นผู้เชิญถุงพระราชทานไปมอบให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนแออัดในกรุงเทพ

มหานคร 642 ชุมชน กว่า 130,000 ครัวเรือน ประชาชนในพื้นที่ชุมชนอำเภอต่างๆ ของ จ.สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และปทุมธานี ประชาชนในชุมชนรอบเขตพระราชฐาน อาทิ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาส

โดยเจ้าหน้าที่จะมาเคาะประตูบ้าน เพื่อมอบถุงพระราชทานใบใหญ่ให้ถึงหน้าบ้าน ถึงมือผู้รับ ภายในถุงพระราชทานบรรจุข้าวสารอาหารแห้ง เครื่องใช้อุปโภคบริโภคนานาชนิดเพื่อที่จะพอใช้สำหรับดำรงชีวิตในหนึ่งครอบครัว

ถุงพระราชทาน จึงมิได้พระราชทานเพียงความอิ่มท้อง แต่ยังพระราชทานความสุขใจ ที่สร้างขวัญกำลังใจ ความอบอุ่นใจ แก่ปวงพสกนิกรเป็นล้นพ้น

 

เครื่องช่วยหายใจ 132 เครื่อง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคนี้อย่างใกล้ชิด ทรงทราบว่าหากสถานการณ์รุนแรงขึ้น โรงพยาบาลในประเทศไทยจะมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่เพียงพอ จึงได้ทรงจัดหาและพระราชทานให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้พร้อมรับมือกับโรคโควิด-19 อันจะเป็นประโยชน์ในการให้บริการทางการแพทย์ แก่ประชาชนต่อไป โดยในเบื้องต้นนี้ ได้พระราชทานเครื่องช่วยหายใจ จำนวน 132 เครื่อง และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว จำนวน 50 เครื่อง ซึ่งบางส่วนได้ดำเนินการติดตั้งในโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ยังพระราชทานหน้ากากอนามัย จำนวน 2 ล้านชิ้น หมวกเฟซชีลด์ (Face Shield) จำนวน 30,000 ใบ และชุดป้องกันการติดเชื้อโรค (PPE) จำนวน 4,000 ชุด แก่บุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลต่างๆ อาทิ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลเหล่าทัพ และโรงพยาบาลตำรวจ

ห้องตรวจหาเชื้อขวัญกำลังใจแพทย์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ห้องตรวจหาเชื้อ” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน เพื่อรับสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยได้พระราชทานพระราชทรัพย์ให้เอสซีจีดำเนินการก่อสร้างให้โรงพยาบาลต่างๆ 20 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ 1.โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ 2.โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา 3.สถาบันบำราศนราดูร 4.โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว 5.สถาบันโรคทรวงอก 6.โรงพยาบาลตำรวจ 7.โรงพยาบาลกลาง 8.โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ 9.โรงพยาบาลนครปฐม 10.โรงพยาบาลราชบุรี 11.โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก 12.โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา 13.โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ 14.โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ 15.โรงพยาบาลนครพิงค์ 16.โรงพยาบาลอุดรธานี 17.โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ 18.โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี 19.โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และ 20.โรงพยาบาลหาดใหญ่

เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 ให้บุคลากรทางการแพทย์ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ด้วยการแยกพื้นที่ระหว่างทีมแพทย์และคนไข้ห่างออกจากกัน และใช้ระบบควบคุมแรงดันและคุณภาพอากาศที่เหมาะสม พร้อมกับมีระบบฆ่าเชื้อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค สามารถติดตั้งในพื้นที่จำกัดได้อย่างรวดเร็วภายใน 3 วัน เพื่อให้พร้อมบริการแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนได้ทันที

พล.อ.ต.ทวีพงษ์ ปาจรีย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กล่าวว่า โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่ได้รับพระราชทานห้องตรวจหาเชื้อ พวกเรารู้สึกปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ อันเป็นการเพิ่มขวัญและกำลังใจต่อบุคลากรทางการแพทย์ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปที่มาใช้บริการ การตรวจหาเชื้อจากผู้ป่วยเป็นจุดที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้น ถ้ามีห้องตรวจหาเชื้อจะช่วยลดอัตราเสี่ยงจากการติดเชื้อและให้ความปลอดภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงผู้ปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี ทำให้การรักษาพยาบาลประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

“ของขวัญจากฟ้า” ชุดตรวจโควิด-19

บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด บริษัทผู้ผลิตยาชีววัตถุแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย ที่สามารถผลิตยาได้ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ.2552 โดยพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพของคนไทย โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสืบสานและต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมชนกนาถ ในด้านการสาธารณสุขของไทยมาจนปัจจุบัน

ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย ที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ได้ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนาและผลิตชุดตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบ RT-PCR ซึ่งได้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก เป็นแห่งแรกของประเทศไทย

โดยบริษัทตัดสินใจปรับพื้นที่บางส่วนของโรงงานเพื่อใช้ผลิตชุดตรวจ RT-PCR อย่างเร่งด่วน ด้วยสำนึกว่าบริษัทแห่งนี้ถือกำเนิดมาด้วยวัตถุประสงค์อันยิ่งใหญ่และงดงาม “ดั่งของขวัญจากฟ้า” เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของคนไทย

ถึงวันนี้ บริษัทได้ส่งมอบชุดตรวจให้แก่รัฐบาล เพื่อส่งต่อไปยังห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ทั่วประเทศไปแล้วกว่า 20,000 ตัวอย่าง จากความตั้งใจ 100,000 ตัวอย่าง เพื่อใช้ตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้ได้รับผลตรวจอย่างรวดเร็ว สามารถให้การดูแลรักษาอย่างทันท่วงที รวมทั้งเพื่อที่จะได้ดำเนินการแยกตัวผู้ติดเชื้อให้อยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม ลดการแพร่เชื้อให้แก่คนอื่นๆ ต่อไป และเพื่อช่วยเหลือคนไทยและประเทศไทยให้ก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันโดยเร็วที่สุด

ดั่งน้ำทิพย์ชโลมใจ

ดั่งน้ำทิพย์ชโลมใจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรักประชาชนและไม่ทอดทิ้งประชาชน ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อช่วยบรรเทาทุกข์บำรุงสุขพสกนิกรของพระองค์

ดั่งภาพพระราชกรณียกิจที่เว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์ www.royaloffice.th ได้เผยแพร่พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ขณะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นการส่วนพระองค์ ทอดพระเนตร “โครงการพระราชทานความช่วยเหลือประชาชน” ในความรับผิดชอบของกองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ณ กรมทหารรักษาวังมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทอดพระเนตรการเย็บถุงพระราชทาน โดยกำลังพลกองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์และครอบครัว การสาธิตทำเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ โดยวิทยากรกระบวนการ หลักสูตร Cloning โรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน

การนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทอดพระเนตรการทำ Silk Screen ลงบนผ้าเพื่อนำมาเย็บเป็นถุงผ้าพระราชทาน และพระราชทานคำแนะนำ จากนั้น ทรงเย็บหน้ากากผ้า สำหรับเป็นตัวอย่างให้กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์นำไปผลิตเพื่อพระราชทานแก่ข้าราชบริพารและราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน พร้อมทั้ง ทรงแนะนำผู้รับผิดชอบโครงการเย็บหน้ากากผ้าเพื่อวางแผนงานการผลิต สำหรับพระราชทานแก่ข้าราชบริพารและราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน

ทรงเป็นขวัญกำลังใจอันยิ่งใหญ่ให้คนไทยก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image