พระศรัทธา ‘หลวงตาพระมหาบัว’ พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ งดงามทรงคุณค่า ‘ฉัตรทองคำ’

พระศรัทธา ‘หลวงตาพระมหาบัว’ พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ งดงามทรงคุณค่า ‘ฉัตรทองคำ’

นับเป็นความศรัทธาอันแรงกล้าที่มีต่อพระพุทธศาสนา และ พระธรรมวิสุทธิมงคล หรือ “หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน” จึงก่อให้เกิดเป็น “สถาปัตยกรรมทรงคุณค่า” ที่จะอยู่คู่ประเทศไทยไปยาวนานนับร้อยปี

สถาปัตยกรรมสุดวิจิตรตระการตา ประกอบด้วย พระเจดีย์ พระวิหาร และพิพิธภัณฑ์ ดำเนินงานรังสรรค์ภายใต้โครงการก่อสร้าง พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) โดยความร่วมมือร่วมใจของจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับ วัดเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และคณะศิษยานุศิษย์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ทั้งบรรพชิตและฆราวาส เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน บรรจุพระอัฐิ รวบรวมประวัติ หนังสือ คำสอน เครื่องอัฐบริขาร เพื่อรำลึกถึงคุณูปการ และแสดงความกตัญญูกตเวทิตาคุณต่อหลวงตาพระมหาบัวผู้จรรโลงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ ได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงรับเป็นประธานโครงการ พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และ ทีมสยามรีโนเวท เป็นผู้ดำเนินการออกแบบก่อสร้างโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการออกแบบใดๆ ทั้งสิ้น โดยการก่อสร้างมีความคืบหน้าไปมากกว่าร้อยละ 85 จึงสมควรแก่เวลาที่ดำเนินการยกยอดฉัตรทองคำ ที่เหล่าศิษยานุศิษย์แสดงความกตัญญูกตเวทิตาบูชาองค์หลวงตาด้วยการสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ ให้สวยงามทรงคุณค่าที่สุด ด้วยวัสดุที่ดีที่สุด

พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน)

นำโดย พระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสสโก เจ้าอาวาสวัดป่านาคำน้อย และรักษาการเจ้าอาวาสวัดถ้ำกลองเพล ได้เชิญชวนศิษยานุศิษย์สร้างยอดฉัตรทองคำ โดยในครั้งแรกตั้งเป้าไว้ที่ทองคำหนัก 98 กิโลกรัม เท่ากับอายุหลวงตาขณะละสังขาร

Advertisement

แต่พลังศรัทธาจากศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชน ได้บริจาคทองคำจำนวน 225 กิโลกรัม และได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จมาทรงเททองหล่อยอดฉัตร เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2561 ได้น้ำหนักยอดฉัตร 86.2 กิโลกรัม และเสด็จเททองหล่อฉัตรชั้นที่ 1 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ได้น้ำหนักทอง 99.4 กิโลกรัม รวมทั้งสิ้น 185.6 กิโลกรัม ค่าความบริสุทธิ์ ประมาณร้อยละ 96.7

ส่วนทองที่เหลือ 39 กิโลกรัม ได้นำไปเคลือบในส่วนของฉัตรชั้นที่ 2-5 ฐานฉัตร ลูกแก้ว ปลียอดทองกลม เม็ดมะยมแปดเหลี่ยม และปลียอดแปดเหลี่ยม รวม 11 ชิ้นงาน

โอกาสนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เสด็จไปในการประกอบพิธีบวงสรวงและเป็นประธานพิธียกปลียอดพระเจดีย์ โครงการพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) ณ สถานที่ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ วัดเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) อ.เมือง จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ซึ่งในระหว่างพิธียกปลียอดนั้น ได้เกิดปรากฏการณ์ “พระอาทิตย์ทรงกลด” งดงามไปทั่วท้องฟ้าเหนือพระเจดีย์

Advertisement

(‘พระองค์สิริภาฯ’ ทรงประกอบพิธียกปลียอดทองคำ ‘พระเจดีย์’ หลวงตาพระมหาบัว อัศจรรย์! พระอาทิตย์ทรงกลด)

ต่อมาวันที่ 12 สิงหาคม สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จมาทรงยกยอดฉัตรทองคำพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ

สำหรับโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ ก่อสร้างบนพื้นที่ 181 ไร่ 3 งาน 17 ตารางวา บริเวณด้านหน้าทางเข้าวัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงออกแบบลักษณะของพระเจดีย์ พระวิหาร และพิพิธภัณฑ์ โดยทรงได้รับแรงบันดาลพระทัยจากสถาปัตยกรรมศิลปะล้านช้าง ผสมผสานกับศิลปะยุคกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงการสืบทอดพระพุทธศาสนาในถิ่นอีสานยังคงดำรงอย่างมั่นคงและเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป

พระเจดีย์แห่งนี้ นับเป็นศิลปกรรมไทยองค์สำคัญองค์สุดท้ายในสมัยรัชกาลที่ 9

 

รศ.วิเชษฎ์ สุวิสิทฐ์ ผู้ออกแบบงานสถาปัตยกรรม กล่าวว่า การออกแบบพระเจดีย์ยึดหลักเคารพท้องถิ่น การออกแบบจึงนำสถาปัตยกรรมศิลปะล้านช้าง ซึ่งเป็นศิลปะอีสาน ผสมผสานกับศิลปินยุคกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน

“พระเจดีย์เป็นสถาปัตยกรรมปลายสมัยรัชกาลที่ 9 ต้นรัชกาลที่ 10 เป็นศิลปะไทยประยุกต์ ซึ่งข้างหน้าเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ จะมีความสมัยใหม่ เป็นฟังก์ชั่น 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนพระเจดีย์ พระวิหาร เป็นเชิงสัญลักษณ์ที่มีความงดงามและทรงคุณค่า”

เป็นความงดงามและทรงคุณค่า ที่มีความตั้งใจให้คงอยู่คู่แผ่นดินอีสานและแผ่นดินไทย ยาวนานนับ 100 ปี การก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ จึงเต็มไปด้วยวิทยาการสมัยใหม่ อย่าง “หลังคาพระวิหาร” ที่ใช้วัสดุ “ทองแดง” แทนกระเบื้อง

“เราตัดปัญหาที่จะต้องมาบูรณะใหม่ในอนาคต ด้วยการใช้วัสดุอย่างดีทั้งหมด อย่างหลังคาทองแดง ซึ่งเป็นวัสดุที่ยุโรปและอินเดียใช้ในการสร้างสถาปัตยกรรมสำคัญๆ ข้อดีของทองแดงคือ คงทนเป็นร้อยปี คงทนกว่ากระเบื้องดินเผา แต่ถึงจะใช้ทองแดง ก็ได้ทำให้มีรูปร่างหน้าตาเป็นไทยๆ คือเป็นลอนเหมือนกระเบื้องดินเผา”

“ส่วนข้อเสียที่หลายคนกลัว อย่างร้อน ที่นี่ไม่ร้อน เพราะอาคารพระวิหารเป็นอาคารสูง ยิ่งเกิดความร้อนด้านบนมากเท่าไหร่ ยิ่งเกิดลมและการดูดอากาศมากเท่านั้น”

“ส่วนทองแดงเกิดสนิมง่าย เราก็ได้แก้ด้วยการใช้น้ำยาเคลือบ ซึ่งจะคงทนเป็น 10 ปี แล้วค่อยๆ เปลี่ยนสีตามสภาพอากาศ อีกข้อคือ ฟ้าผ่า เราก็ได้วางระบบป้องกันฟ้าผ่าไว้แล้ว ตรงไหนมีลวดลาย เช่น ช่อฟ้า หางหงส์ ก็ทำหน้าที่เป็นสายล่อฟ้า” รศ.วิเชษฎ์อธิบาย และว่า สำหรับการเชื่อมหลังคาทองแดงกับตัวพระวิหาร โครงการฯ ใช้ “สแตนเลส” เป็นตัวเชื่อม ซึ่งเป็นวัสดุที่เข้ากับทองแดงได้และมีความคงทน

“ทุกอย่างจบในยุคเรา จะไม่มีการบูรณะครั้งใหญ่ ลงทุนทีเดียว” รศ.วิเชษฎ์ย้ำ

นอกจากนี้ “ความงดงาม” ก็เป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด การตกแต่งจึงใช้ “หินอ่อนไวท์คารารา” จากประเทศอิตาลีเป็นหลัก

“การที่มีเครื่องตกแต่ง ถ้าเห็นวิจิตรมากเท่าไหร่ก็จะทำให้เกิดคุณค่ามากเท่านั้น ซึ่งเราต้องการโชว์ศักยภาพว่าเราเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรม มีพระพุทธศาสนาที่มั่นคง ที่สามารถสร้างของที่ยิ่งใหญ่ได้ขนาดนี้เพื่อให้ชาวโลกได้รู้ จึงใช้หินอ่อนธรรมชาติไวท์คารารา จากประเทศอิตาลี ที่เคยใช้สมัยรัชกาลที่ 5 มาตกแต่ง ไม่ว่าจะเป็นผนัง หรือพื้นรอบพระเจดีย์ที่มีคุณสมบัติระบายความร้อนได้ดี ทำให้ตอนกลางวัน แม้แสงแดดจัด พื้นก็ยังเย็น ไม่ร้อน ซึ่งโดยรอบพระเจดีย์เราตั้งใจให้เป็นสถานที่นั่งสมาธิ” รศ.วิเชษฎ์ เผย

อีกหนึ่งเทคนิคที่ยังคงความงดงามไว้ได้นับร้อยปี รศ.วิเชษฎ์อธิบายว่า หินอ่อนไวท์คาราราทั้งหมดในโครงการ ใช้เทคนิคการปูแบบแห้ง โดยใช้ตัวแบ็คเก็ตเป็นตัวเชื่อมระหว่างหินกับคอนกรีต ดังนั้น หินไม่แตะผนังเลย ซึ่งจะไม่ทำปฏิกิริยา ทำให้ไม่ว่าเวลาผ่านไปนานเท่าใด หินก็จะยังคงขาวสวยอยู่เช่นเดิม

“สิ่งที่ปรารถนามากที่สุด คือให้สถานที่นี้ เป็นสถานที่ให้ความรู้อย่างเต็มที่กับเยาวชนและประชาชน ซึ่งการก่อสร้างจะขับเคลื่อนไม่ได้เลย ถ้าไม่มีทั้ง 2 พระองค์ พระองค์หริภาทรงให้คำปรึกษามากมาย ขณะที่กรมพระศรีสวางควัฒนฯ พระราชทานกำลังใจให้กับทีมงานเสมอ และที่สำคัญแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนไทยที่สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่นี้ได้” รศ.วิเชษฎ์ ทิ้งท้าย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image