สานต่อพระบรมราโชบาย ‘โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์’ น้ำทิพย์รักษาช้างให้แข็งแกร่งยืนยงดุจเพชร

ทอดพระเนตรนิทรรศการปัญหาช้างป่าในพื้นที่รอยต่อภาคตะวันออก

สานต่อพระบรมราโชบาย สืบสาน รักษา ต่อยอด ‘โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์’ น้ำทิพย์รักษาช้างให้แข็งแกร่งยืนยงดุจเพชร

“ช้างป่า ควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างเพียงพอ การปฏิบัติคือให้ไปสร้างอาหารช้างในป่า เป็นแปลงเล็กๆ และกระจาย กรณีช้างป่าออกมาที่ชายป่า ต้องให้ความปลอดภัยกับช้างป่า”

นับตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีแนวพระราชดำริพระราชทานเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2542 ต่อการจัดการความขัดแย้งคนกับช้างป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการช่วยเหลือช้างป่า สัตว์คู่บ้านคู่เมืองไทย ซึ่งเป็นต้นแบบแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง อันเป็นโครงการที่มีจุดประสงค์เพื่อให้ช้างสามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ในป่าธรรมชาติ ซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยดั้งเดิมของสัตว์ป่า และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ การอนุรักษ์ช้างไทย และการปล่อยช้างคืนสู่ธรรมชาติ ดังพระราชเสาวนีย์ที่ว่า

“ให้มีการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและรักษาสภาพแวดล้อมตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร โดยเฉพาะชุมชนที่อพยพออกมาจากป่าและชุมชนที่อาศัยติดแนวเขตอนุรักษ์…”

ลุล่วงมาถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา ต่อยอด” 2 ล้นเกล้าฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการอนุรักษ์ช้างป่ารอยต่อ 5 จังหวัดในภาคตะวันออกไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพระราชทานชื่อโครงการว่า “โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” ซึ่งแปลว่า “น้ำทิพย์รักษาช้างให้แข็งแกร่งยืนยงดุจเพชร” เพื่อเป็นการอนุรักษ์ป่าและช้าง รวมทั้งแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ การบุกรุกของช้างป่าอันสืบเนื่องมาจากขาดแคลนแหล่งอาหารที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอ ตลอดจนการขาดความรู้และความเข้าใจของราษฎร ในการขับไล่ช้างอย่างผิดวิธีจนทำให้เกิดอันตรายทั้งต่อตัวราษฎรและช้างในที่สุด

Advertisement

โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นประธานที่ปรึกษา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นประธานกรรมการ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ทรงเปิดการประชุมโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 62
ทอดพระเนตรนิทรรศการการจัดทำแหล่งอาหารของช้าง

โครงการอนุรักษ์ช้างป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ภาคตะวันออก มีอาณาเขตติดต่อกัน 5 จังหวัด คือ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และสระแก้ว มีพื้นที่รวม 1,360,000 ไร่ มีช้างป่าอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มากกว่า 460 ตัว และจากการสำรวจมีช้างป่าออกนอกเส้นทาง ทำให้เกิดผลกระทบระหว่างคนกับช้างในเรื่องของที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชน ราษฎรที่ได้รับผลกระทบระหว่างคนกับช้างป่าในเรื่องของที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชน ประชาชนจึงได้ถวายฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และทรงดำรงตำแหน่งอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี จังหวัดระยอง

นายธรรมนูญ เต็มไชย นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ เล่าถึงสภาพปัญหาของคนกับช้างป่าในเขตพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดว่า พื้นที่ป่าภาคตะวันออกจากที่เคยมีสภาพความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้มากกว่า 5 ล้านไร่ แต่เนื่องด้วยสภาพป่าได้รับการแผ้วถางทำให้เกิดพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเป็นจำนวนมากจนทำให้ทุกวันนี้เหลือป่าสภาพสมบูรณ์เพียงแค่ 1,360,000 ไร่ ทำให้ป่าขาดความอุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่า โดยเฉพาะช้างขาดแหล่งอาหาร จึงพากันเดินออกนอกเส้นทางป่ามาหากินและทำลายพืชผลทางเกษตรของชาวบ้านเสียหายเป็นจำนวนมาก ประกอบกับชาวบ้านไม่รู้วิธีการขับไล่ช้างอย่างถูกวิธี เมื่อเจอช้างก็จุดประทัดขับไล่ ส่งเสียงดัง ใช้ปืนยิง ทำให้ช้างเกิดอาการตกใจวิ่งหนีเตลิดไปอีกฝั่ง และทำร้ายประชาชนที่เดินผ่านมาทำให้เกิดการบาดเจ็บสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินตามมาอันเป็นภาพน่าสลดใจอย่างยิ่ง

Advertisement

เมื่อภาพความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่าในพื้นที่ผืนป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออกทราบยังฝ่าละอองธุลีพระบาท เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นประธาน

เปิดการประชุมคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์ช้างป่ารอยต่อภาคตะวันออก ทรงมีพระราชดำริในการจัดการความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่าความว่า

“ควรจะมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาการร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนและช้างป่า เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่ารวมทั้งการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก”

และได้พระราชทานแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ช้างกลับคืนสู่ป่า ด้วยวิธีการฟื้นฟูป่า จัดหาแหล่งน้ำและแหล่งอาหาร นำร่องเรื่องการพัฒนาชุมชนโดยสร้างความเข้าใจในพฤติกรรมของช้าง ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การประกอบอาชีพ การออมของชุมชน ตลอดจนการสร้างระบบเตือนภัยชุมชนผ่านระบบกล้องถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติที่ติดตามความเคลื่อนไหวของช้างป่า อันเป็นการช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดต่อชุมชน อันเป็นการช่วยทั้งคนช่วยทั้งช้าง

นายธรรมนูญ เต็มไชย

โมเดลต้นแบบพัฒนาความสมดุล
แหล่งอาหารเตรียมพาช้างคืนสู่ป่า

หนึ่งในภารกิจสำคัญของ “โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” อันเป็นโครงการป่ารอยต่อ 5 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และสระแก้ว คือการฟื้นฟูแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ ให้เพียงพอในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อนำช้างกลับเข้าสู่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด อาทิ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ และอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง โดยใช้ความร่วมแรงร่วมใจกันของทุกฝ่ายในการนำช้างกลับเข้าสู่ป่า ไม่ว่าจะเป็นชุมชน จิตอาสา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้ามาช่วยกันฟื้นฟูพัฒนาแหล่งอาหารของช้างให้มีความอุดมสมบูรณ์

ดำเนินการจัดหาพัฒนาแหล่งอาหารแหล่งน้ำของช้างป่า

ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาของการก่อตั้งโครงการ “พัชรสุธาคชานุรักษ์” ทุกภาคส่วนต่างร่วมแรงร่วมใจในการพัฒนาแหล่งอาหารของช้างให้อุดมสมบูรณ์เพื่อเป็นจุดพักให้ช้างได้อาศัยไม่เข้าไปสร้างความเสียหายยังพื้นที่การเกษตรและที่พักอาศัยของชาวบ้าน

ภารกิจแรกของการดำเนินการช่วยเหลือสัตว์ป่า โดยเฉพาะช้างให้กลับคืนสู่ป่าให้ได้มากที่สุดคือการสร้างแหล่งน้ำและแหล่งอาหารให้สัตว์ป่า โดยเริ่มดำเนินการในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง จัดทำแหล่งน้ำ 4 แห่ง ฝายชะลอน้ำ 7 แห่ง โป่งเทียม 73 โป่ง ปรับปรุงทุ่งหญ้า 20 ไร่ เพื่อเพาะชำกล้าไม้ที่เป็นพืชอาหารช้างจำนวนกว่า 6,000 กล้า ซึ่งได้มีการทดลองปลูกหญ้าที่ช้างชอบอย่างเช่น หญ้ารูซี่ หญ้ากินนีสีม่วง และหญ้าเนเปียร์ โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ เสด็จมาทรงหว่านหญ้าและทำโป่งเทียมในแปลงทดลองปลูกพืชช้างป่าในพื้นที่ดำเนินการจัดทำทุ่งหญ้าและแหล่งน้ำเพื่อเป็นอาหารสำหรับสัตว์ป่าและช้างป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมอีกหลายแห่งเพื่อใช้ในการฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งอาหารของช้าง อาทิ การจัดทำแปลงหญ้า 250 ไร่ ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน แต่เดิมประสบปัญหาวัชพืชหลายชนิดคลุมพื้นที่ ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการเนรมิตทุ่งหญ้ารกร้างจำนวน 250 ไร่ ให้กลายเป็นแหล่งอาหารของช้างและสัตว์ป่าได้นั้น เกิดมาจากความร่วมแรงร่วมใจกันของทุกภาคส่วนทั้งจิตอาสา ชาวบ้านในชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนกว่า 800 คน เข้าพื้นที่มาช่วยกันขุดรากถอนรากเหง้า ทั้งด้วยเครื่องจักรและสองมือของทุกคน หลังจากขุดรากถอนโคนแล้วจึงลงมือช่วยกันปลูกต้นหญ้ารูซี่ หรือหญ้าธัญญา เป็นหญ้าที่ช้างชอบกิน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนน้อยเนื่องจากความแห้งแล้งและสัตว์กีบเล็มกินไปหมดก่อนจะโตพอให้ช้าง รวมถึงการสร้างโป่งเทียมขึ้นมาใหม่ในจุดที่เหมาะสมควบคู่ไปกับการดูแลรักษาโป่งเทียมเดิมที่มีอยู่แล้ว

แปลงหญ้าที่ได้มีการทดลองปลูกที่ บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง
แหล่งน้ำที่พัฒนาสร้างขึ้นมาเพื่อให้ช้างป่าและสัตว์ป่าได้พักกิน

เมื่อมีอาหารอันสมบูรณ์แล้วจึงมีการจัดหาพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติมเพื่อให้ช้างในบริเวณอ่างฤาไน ซึ่งเป็นบริเวณใกล้เคียงกับทุ่งหญ้า 250 ไร่ ให้ช้างได้ลงมาใช้ประโยชน์ รวมถึงการสร้างฝายที่บริเวณลำห้วยเดิมเพื่อให้มีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นผ่านมาแล้ว 1 ปีบนพื้นที่แห่งน้ำพระราชหฤทัยแปลงหญ้าแหล่งน้ำและแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ที่ทุกภาคส่วนได้ผสานกำลังช่วยกันอย่างแข็งขันนั้น ได้ชูช่อสร้างความเขียวขจีเป็นแหล่งอาหารของช้างป่าและสัตว์ป่าทั่วไปได้อาศัยเป็นที่พักพิง เปรียบดังน้ำทิพย์รักษาช้างให้แข็งแกร่งยืนยงดุจเพชรที่แท้จริง

นายพรชัย วนัสรุจน์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง เล่าว่า ทุกวันนี้แปลงหญ้าเขาชะเมา-เขาวง สามารถลดอัตราประชากรช้างป่าที่จะออกไปหากินในพื้นที่ชุมชนและสวนของชาวบ้านได้จำนวนหนึ่ง เพราะในแปลงหญ้าแห่งนี้ มีช้างป่าที่ลงมาหากินจากแก่งหางแมวมาแวะพักอาศัยกินอาหารที่นี้มากถึง 16 ตัว และใช้เวลาพักอยู่ในบริเวณนี้นานถึง 1 สัปดาห์ อันเป็นการตรึงไม่ให้ช้างออกไปรบกวนชุมชนและเมื่อช้างมีอาหารที่อุดมสมบูรณ์ในป่าแล้วช้างป่าเหล่านี้ก็จะกลับคืนสู่ป่าไปในที่สุด

การพัฒนาแหล่งอาหารของช้างถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง อันนำไปสู่การปรับปรุงพื้นที่ป่าให้มีความเหมาะสมเพื่อให้สัตว์ป่าได้มีแหล่งอาหารและน้ำที่อุดมสมบูรณ์ และลดความขัดแย้งกับชุมชนทำให้คนในชุมชนและสัตว์ป่าอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล

นายพรชัย วนัสรุจน์
นายพรชัย วนัสรุจน์ ชี้ให้เห็นถึงรอยเท้าช้างที่ลงมากินโป่งเทียมที่ได้สร้างขึ้นมา
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image