พระองค์สิริภา ทรงร่วมกวนข้าวมธุปายาส ในงานสมโภชองค์พระกฐิน เชียงใหม่

พระองค์สิริภา ทรงร่วมกวนข้าวมธุปายาส ในงานสมโภชองค์พระกฐิน เชียงใหม่

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม เพจกองทุนพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ได้โพสต์ข้อความว่า เมื่อเวลา 22.00 น. วันที่ 15 ตุลาคม พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เสด็จไปทรงประกอบพิธีแต่งดาและสมโภชองค์พระกฐิน การนี้ทรงร่วมกวนข้าวทิพย์ (ข้าวมธุปายาส) ร่วมกับประชาชนที่มาร่วมงาน

ทั้งนี้ในเวลา 16.00 น. ของวันนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ จะเสด็จไปทรงถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

สำหรับ การกวนข้าวมธุปายาส หรือข้าวทิพย์ เป็นกิจกรรมสำคัญตามพุทธประวัติ เป็นข้าวทิพย์ที่ นางสุชาดา บุตรีกฎุมพี มหาเศรษฐี แห่งบ้านเสนานิคม ณ ตำบลอุรุเวลา ประเทศอินเดีย ในสมัยพุทธกาล ซึ่งจัดปรุงขึ้นแล้วนำไปถวายพระมหาบุรุษ ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากพระองค์เสวยข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาแล้ว ก็ได้ทรงบรรลุอภิสัมโพธิญาณในย่ำรุ่งของคืนนั้นเอง ชาวบ้านจึงเชื่อว่าข้าวมธุปายาสเป็นอาหารทิพย์ เป็นโอสถขนานเอกบันดาลความสำเร็จให้แก่ผู้บริโภคด้วย

Advertisement

ขณะที่ในปัจจุบันการกวนข้าวมธุปายาส นิยมทำกันในวันขึ้น 13 และ 14 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ข้าวในนากำลังออกรวงเป็นน้ำนมข้าว เพราะน้ำนมข้าวเป็นเครื่องปรุงสำคัญ ผสมกับเครื่องปรุงนานาชนิดที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ผลไม้ชนิดต่างๆ น้ำผึ้ง น้ำตาลทราย กะทิ พืชสมุนไพร เผือก มัน เป็นต้น มาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นนำไปใส่ในกระทะใบบัวที่วางอยู่บนเตาไฟ ซึ่งใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง แล้วช่วยกันผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกวนซึ่งใช้เวลา 6-8 ชั่วโมง จนเหนียว เทใส่ภาชนะสำหรับรับประทานเพื่อความเป็นสิริมงคล

อนึ่ง ตามพุทธประเพณีโบราณ การกวนข้าวทิพย์ล้วนมีองค์ประกอบและขั้นตอนที่หลากหลาย โดยเฉพาะการกำหนดให้คนกวน ต้องเป็นสาวพรหมจรรย์ 3 คน ที่เป็นลูกคนหัวปี คนกลาง และคนสุดท้อง ขณะที่ภายในมณฑลพิธี ยังมีข้อห้ามอีกหลายประการ อาทิ ห้ามดื่มสุรา ห้ามรับประทานอาหาร ห้ามสวมรองเท้า ห้ามผู้มีโรคสังคมรังเกียจ ห้ามผู้หญิงมีประจำเดือนหรือมีครรภ์เข้าไปอย่างเด็ดขาดและตลอดช่วงเวลาของการทำพิธี จะต้องมีการบวงสรวงลงเลขยันต์ทุกขั้นตอน ส่วนพิธีกวนข้าวทิพย์ ต้องมีการเตรียมข้าวของต่างๆ จำนวนมาก อาทิ นม เนย ข้าวตอก น้ำนม น้ำอ้อย น้ำผึ้ง มะพร้าว งา และถั่ว ด้วยกรรมวิธีต่างๆ เหล่านี้ ทำให้พิธีกวนข้าวทิพย์เต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ เชื่อกันว่า หากได้นำข้าวทิพย์ไปรับประทานหรือบูชา ย่อมเกิดมงคลต่อชีวิตเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์แต่ขั้นตอนและกระบวนการสรรหาคนมากวนที่ยุ่งยาก ทำให้ประเพณีกวนข้าวทิพย์ค่อยๆ หายไปในปัจจุบัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image