โครงการพระราชทาน สระบ่อดินขาว แก้ท่วม-แล้งยั่งยืน

โครงการพระราชทาน สระบ่อดินขาว แก้ท่วม-แล้งยั่งยืน

จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของชาวหมู่บ้านบ่อดินขาว ตำบลพรหมนิมิต อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ว่าครั้งหนึ่งได้เฝ้าฯ รับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โอกาสครั้งสำคัญในชีวิตได้ชื่นชมพระบารมีอย่างใกล้ชิด

ทั้งได้อิ่มเอิบในน้ำพระราชหฤทัย จากการพระราชทานช่วยเหลือด้านต่างๆ ภายใต้ “โครงการพัฒนาแหล่งน้ำพื้นที่สระบ่อดินขาว” ดำเนินงานโดย สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าป่า ณ วัดช่องแค (หลวงพ่อพรหม) อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ และเสด็จฯ ทอดพระเนตรการดำเนินงานสระบ่อดินขาว ตำบลพรหมนิมิต เมื่อช่วงค่ำวันที่ 24 พฤศจิกายน

การนี้ ภายหลังทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าป่า ณ วัดช่องแค (หลวงพ่อพรหม) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จฯ ไปยังสระบ่อดินขาว ทรงฟังคำกราบบังคมทูลถวายรายงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำพื้นที่สระบ่อดินขาว แล้วทรงพระดำเนินทอดพระเนตรทัศนียภาพบริเวณสระบ่อดินขาว

จากนั้นทรงปลูกต้นรวงผึ้ง ทรงปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืด จำนวน 69 ตัว อาทิ ปลาตะเพียนขาว ปลาตะเพียนทอง ปลาสร้อยขาว ปลากระโห้ ลงในสระบ่อดินขาว แล้วทอดพระเนตรแปลงเกษตรกรรมของราษฎรผู้ใช้น้ำ ที่ได้รับประโยชน์จากบ่อดินขาว โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ก่อนทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าฯ
รับเสด็จ

Advertisement
นายสมเกียรติ คงทิม นายก อบต.พรหมนิมิต

นายสมเกียรติ คงทิม นายก อบต.พรหมนิมิต ซึ่งรับผิดชอบหมู่บ้านบ่อดินขาว เล่าว่า สระบ่อดินขาวมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 5 ที่มีการจัดตั้ง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จากนั้นได้มาดำเนินการขุดดินขาว ที่ตำบลพรหมนิมิต เพื่อนำไปผลิตปูนซีเมนต์ โดยลำเลียงดินขาวจากบ้านบ่อดินขาวไปทางรถไฟ ส่งไปที่โรงผลิตปูนซีเมนต์บางซื่อ ต่อมาไม่ได้ขุดต่อ จึงเกิดเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ มีพื้นที่บ่อรวมประมาณ 23 ไร่เศษ ปัจจุบันพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ที่ให้ประชาชนเช่าที่ดินเพื่อทำการเกษตร และที่อยู่อาศัย

“แม้จะเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ แต่ที่ผ่านมาก็ประสบปัญหาภัยแล้ง ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ไม่มีน้ำไว้อุปโภคบริโภค และใช้ทำการเกษตร เหตุนี้ชาวบ้านจึงพร้อมใจระดมทุนทรัพย์กันเอง เพื่อสูบน้ำเข้ามาในสระ ทำให้ต้นทุนทางการเกษตรเพิ่มขึ้น กำไรลดลง แต่ก็พึ่งพาตนเองมาตลอด ความทราบไปถึงสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์จังหวัดนครสวรรค์ จึงนำความกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบ พระองค์ได้พระราชทานความช่วยเหลือ เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำพื้นที่สระบ่อดินขาว”

นายก อบต.เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอยากให้สระบ่อดินขาวเป็นพื้นที่ต้นแบบ ของการพัฒนาพื้นที่ในสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ทั่วประเทศ

Advertisement

“ผมและชาวตำบลพรหมนิมิตสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเข้าใจในความเดือดร้อนของประชาชน ทรงเห็นถึงความร่วมไม้ร่วมมือของคนพื้นที่ ความสามัคคี และต้นทุนในพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว คือสระน้ำ เพียงแค่ขาดความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และขาดความร่วมมือ จึงพระราชทานโครงการนี้มา ทางผมและชาวพื้นที่ก็อยากสานต่อพระราชปณิธานของพระองค์ให้สำเร็จ เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบ เป็นศูนย์เรียนรู้ตัวอย่างต่อไป”
นายสมเกียรติกล่าว

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำพื้นที่สระบ่อดินขาว ได้พัฒนาพื้นที่ส่วนหนึ่งของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์จังหวัดนครสวรรค์ ที่มี 766 ไร่ ผ่านการจัดทำระบบบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่การขุดบ่อที่เริ่มตื้นเขิน ให้ลึกลงไปถึง 10 เมตร จุน้ำได้ 160,000 ลบ.ม. มีการวางท่อน้ำเชื่อมแหล่งน้ำใกล้เคียงเข้ามาเติมได้ ได้แก่ เขาวง (ลักษณะเขาหินปูน มีน้ำ แต่ไม่สามารถกักเก็บน้ำเองได้) คลองชัยนาทป่าสัก และเจาะน้ำบาดาลมาเสริม เพื่อทำให้ในสระมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี เช่นเดียวกับฤดูน้ำหลาก ที่สามารถสูบน้ำออกไปทางคลองชัยนาทป่าสัก ทำให้สระแห่งนี้ไม่ท่วมไม่แล้งตลอดทั้งปี

“หัวใจ” สำคัญที่ช่วยเติมเต็มความอุดมสมบูรณ์ของสระแห่งนี้คือ เครื่องสูบน้ำพลังงานไฟฟ้า ที่รับพลังงานจาก “แผงโซลาร์เซลล์” กลางสระ ก่อนสูบน้ำในสระขึ้นมาพักไว้ที่ถังเก็บกักน้ำหรือแทงก์ และแจกจ่ายให้ชาวหมู่บ้านบ่อดินขาวและชุมชนใกล้เคียง 3 ตำบล ซึ่งมีประมาณ 400 กว่าครัวเรือน ได้นำไปใช้ประโยชน์ ควบคู่กับการส่งเสริมทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน แนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สู่เป้าหมายการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ ดิน น้ำ เกษตร พลังงานทดแทน ป่า และสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามภูมิสังคม ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้

นางสมคิด ฉายงาม

นางสมคิด ฉายงาม อายุ 61 ปี ชาวหมู่บ้านบ่อดินขาว มีพื้นที่ 4 ไร่ ใช้อยู่อาศัยและทำการเกษตร ได้รับประโยชน์จากโครงการอย่างเต็มที่ เพราะอยู่ทางด้านทิศเหนือของสระ และเป็นพื้นที่เกษตรกรรมตัวอย่างที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทอดพระเนตร เล่าด้วยน้ำเสียงมีความหวังว่า ระยะหลังเริ่มหันมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรผสมผสาน เช่น ปลูกต้นพริก มะเขือ หอมใหญ่ มันแกว ข้าวโพด มะกรูด มะนาว ฝรั่ง ฯลฯ แต่ต้องเผชิญปัญหาน้ำแล้ง ทำให้เพาะปลูกไม่ได้ ด้วยมีอาชีพเกษตรกร จึงต้องหาทางรอดด้วยการพูดคุยกับชาวชุมชนที่เป็นเกษตรกรเหมือนกัน ระดมเงินสูบน้ำเข้ามาเติมสระ เป็นน้ำจากคลองชัยนาทป่าสัก ซึ่งเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาอีกที

“ดิฉันและครอบครัวรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานโครงการนี้มา ถือว่าได้ช่วยให้ชาวชุมชนแห่งนี้ และชุมชนใกล้เคียงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ต้นทุนการเกษตรที่ลดลง เพิ่มเติมความอุดมสมบูรณ์ของน้ำที่มีไว้ใช้ตลอดทั้งปีไม่แล้ง ไม่ท่วม การได้เรียนรู้และทำเกษตรทฤษฎีใหม่ จากหน่วยงานที่เข้ามาอบรมให้ความรู้ ทั้งหมดนี้ทำให้ดิฉันมีความหวังในชีวิต และขอตั้งตนเป็นผู้ส่งต่อความรู้และเปิดพื้นที่แปลงเกษตรของตัวเองเป็นศูนย์ศึกษาดูงานเกษตรทฤษฎีใหม่” นางสมคิดกล่าว

นางนิด บัวสอน

เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านใกล้กัน นางนิด บัวสอน อายุ 59 ปี มีพื้นที่ 5 ไร่ เล่าด้วยรอยยิ้มว่า น้ำคือหัวใจสำคัญของการเพาะปลูก ก็อยากขอบคุณในหลวงและพระราชินี ที่พระราชทานหัวใจสำคัญนี้มา และยังเสด็จฯ มาทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง ดิฉันขอเป็นตัวแทนชาวหมู่บ้านบ่อดินขาว และพื้นที่ใกล้เคียงขอบคุณพระองค์อย่างมาก และขอให้พระองค์ทรงพระเจริญ

สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ยังมีเป้าหมายพัฒนาสระบ่อดินขาวให้มีน้ำอย่างยั่งยืน ด้วยการฟื้นฟูป่าต้นน้ำเขาวง พัฒนาแปลงเกษตรในพื้นที่ ฟื้นฟูทางเชื่อมน้ำกับคลองต่างๆ และพัฒนาพื้นที่รอบสระบ่อดินขาวอย่างเป็นระบบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image