ชมภาพหายาก ย้อนมองอาภรณ์เจ้านายในราชสำนัก-สตรีสยาม สมัย ร.6

การแต่งกายสตรีไทยในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยที่รับเอาแฟชั่นตะวันตกเข้ามา นับเป็นอีกหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของไทยที่แสดงออกผ่านเครื่องแต่งกายอันงดงามและเทียบเคียงกับสากลได้อย่างสง่าโดยไม่ทิ้งความเป็นตัวตน

เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับมูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา โดยความร่วมมือของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร จัดนิทรรศการ “ฉัฐรัช พัสตราภรณ์” ย้อนมองอาภรณ์สตรีสยาม แลตามแฟชั่นโลก โดยอัดขยายภาพจากฟิล์มกระจกจำนวน 45 ภาพ ที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน โดยได้ ท่านหญิงศรีสว่างวงศ์ บุญจิตราดุลย์ เป็นประธานเปิดนิทรรศการ ที่หอวชิราวุธานุสรณ์ พร้อมกันนี้ยังมีแขกผู้มีเกียรติมาร่วมงานคับคั่ง อาทิ ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ, ท่านผู้หญิงนราวดี ชัยเฉนียน, ม.ร.ว.ทิพพาวดี ดุละลัมพะ, ศ.พิเศษธงทอง จันทรางศุ, ผศ.ดร.ชัชพล ไชยพร, สุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม, อนันต์ ชูโชติ, ม.ร.ว.พร้อมฉัตร สวัสดิวัตน์

ลุพธ์ อุตมะ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์แฟชั่นและพัสตราภรณ์ คนไทยคนแรกที่ได้รับทุนการศึกษาจากพิพิธภัณฑ์ The Victoria and Albert Museum ณ กรุงลอนดอน สาขา Fashion History กล่าวว่า ความโดดเด่นของนิทรรศการคือการจัดแสดงภาพการแต่งกายของเจ้านายในราชสำนักและบุคคลในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยเรื่องราวแฟชั่นในยุคนี้แบ่งออกเป็น 3 ช่วง

01

Advertisement

“ช่วงแรกต้นรัชกาล เห็นได้จากฟิล์มภาพถ่ายกระจกพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงฉลองพระองค์ผ้าลูกไม้ตามแบบแฟชั่นสตรียุคเอ็ดวอร์เดียน ต่อมาในช่วงกลางรัชกาล จะเห็นว่าเจ้านายรุ่นเยาว์เริ่มไว้พระเกศายาวและเกล้าเป็นมวย โจงกระเบนยังเป็นที่นิยม และเริ่มสวมเสื้อที่มีคอเสื้อแบบกลม แหลม รวมทั้งมีปกทั้งแบบคอกลมและเหลี่ยม แขนเสื้อเริ่มสูงขึ้นถึงศอก เอวของเสื้อเริ่มต่ำลง และชายกระโปรงเริ่มสูงขึ้นไม่กรอมเท้าอีกต่อไป”

สำหรับช่วงปลายรัชกาล ลุพธ์อธิบายว่า เสื้อผ้าสตรีสยามในยุคนี้จะเป็นทรงตรงดิ่งและแบบตัดเย็บไม่รัดรูป เอวจะเลื่อนลงมา เลยสะโพกเกือบถึงต้นขาแขนเสื้อเริ่มสูงเลยข้อศอก หรือแขนสั้นถึงหัวไหล่ ชายกระโปรงหรือผ้าซิ่นสูงขึ้นถึงระดับน่องและใต้หัวเข่า การแต่งตัวของสตรีสยามช่วงนี้ได้ถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งมีการใช้กระโปรงแบบตะวันตกหรือแม้แต่ชุดแบบตะวันตก แทนชุดแบบผสมผสานระหว่างเสื้อแบบตะวันตกกับผ้าซิ่น มีการสวมหมวกอย่างแพร่หลาย สตรีเริ่มไว้ผมสั้นลอนประหู หรือผมบ๊อบ แทนที่ผมยาวเกล้าแบบโป่ง

“เสื้อผ้าสตรีของเจ้านายในราชสำนักคือภาพสะท้อนทางวัฒนธรรม สมัยรัชกาลที่ 6 ลักษณะเด่นของแฟชั่นในสมัยนั้นคือ การนุ่งผ้าซิ่น ไว้ผมยาว และฟันขาว เป็นสมัยแห่งการเพิ่มบทบาทสตรี ยกสถานภาพ และเปิดโอกาสให้สตรีได้คิด เรียนรู้ แลกเปลี่ยน ประยุกต์ และพัฒนาในด้านสุนทรียภาพและวัฒนธรรมได้อย่างกว้างขวางสอดคล้องกับกาลสมัย”

Advertisement

“ซึ่งสมัยนี้สังเกตได้ว่าสตรียังไม่รับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาเต็มๆ เนื่องจากช่วงนั้นเป็นช่วงล่าอาณานิคม การแต่งกายแบบตะวันตก 100 เปอร์เซ็นต์ อาจจะไม่ถูกต้องกับบริบทในสังคมช่วงนั้น สตรีจึงประยุกต์ด้วยการผสมผสานการแต่งกายแบบไทยและตะวันตกแบบครึ่งๆ เพื่อยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของสตรีสยาม” ลุพธ์กล่าว

นิทรรศการเปิดให้เข้าชมฟรี ณ หอวชิราวุธานุสรณ์ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ตั้งแต่วันนี้ถึง 10 ตุลาคม

ลุพธ์ อุตมะ นำ ท่านหญิงศรีสว่างวงศ์ บุญจิตราดุลย์ ชมนิทรรศการ
ลุพธ์ อุตมะ นำ ท่านหญิงศรีสว่างวงศ์ บุญจิตราดุลย์ ชมนิทรรศการ

18 19 26 32 34 38 11 16

03
15 21 28 33 35 36 37 39 40 44 45

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image