รู้จัก ‘พระราชพิธีสังเวยพระป้าย’ ราชประเพณี สืบแต่สมัยรัชกาลที่ 5

รู้จัก ‘พระราชพิธีสังเวยพระป้าย’ ราชประเพณี แสดงความกตัญญู สืบแต่สมัยรัชกาลที่ 5

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงประกอบพิธีสังเวยพระป้ายในเทศกาลตรุษจีน พุทธศักราช 2564 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยมี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี โดยเสด็จ (อ่าน ในหลวง-พระราชินี ทรงประกอบพิธีสังเวยพระป้ายในเทศกาลตรุษจีน พุทธศักราช 2564)

การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ม.จ.มงคลเฉลิม ยุคล เสด็จแทนพระองค์ไปยังพระที่นั่งเวหาศจำรูญ พระราชวังบางปะอิน อำเภอบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ในการสังเวยพระป้าย เนื่องในเทศกาลตรุษจีน

นับได้ว่า เป็นพระราชพิธี ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมานาน ในช่วงเทศกาลตรุษจีน

Advertisement

พระป้าย ประเพณีแสดงความกตัญญู

สำหรับ พระป้าย นั้น ชาวจีนเรียกว่า เกสิน หมายถึง ป้ายชื่อของบรรพบุรุษ บุพการีที่ตั้งไว้สำหรับบูชาประจำบ้าน เป็นประเพณี ธรรมเนียมจีน ที่เคารพนับถือ กตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ การบวงสรวง บูชาแสดงว่าเป็นคนกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ส่งผลให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองแก่ผู้ปฏิบัติ

พระป้าย ดังกล่าวนั้น มีอยู่ 2 ป้าย ป้ายแรก คือพระป้ายที่เป็นพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ หัว กับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ จารึกไว้เป็นภาษาจีน บนแผ่นไม้จันทน์ปิดทอง ขอบไม้จันทน์จำหลักลายจีน พระป้ายทั้ง 2 คู่ ประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้วแบบเก๋งจีน ทำด้วยไม้จันทน์จำหลักลาย ลงรักปิดทอง ตั้งอยู่ ณ ท้องพระโรงกลางพระที่นั่ง เวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน

ส่วนอีกแห่งนั้น เป็นพระป้ายที่พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต มีลักษณะเป็นเทวรูปหล่อทรงเครื่องกษัตริยาธิราช พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายจีบเสมอพระอุระ เหมือนกับองค์พระสยามเทวาธิราช แต่พระพักตร์ลักษณะเหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้วแบบเก๋งจีน ทำด้วยไม้จันทน์จำหลักลงรักปิดทองมีฉัตรทอง 5 ชั้น ตั้งอยู่ 2 ข้าง จารึกพระปรมาภิไธย ด้านหลังซุ้มเรือนแก้วเป็นภาษาจีน

Advertisement
ภาพจาก นิทรรศการพลังแผ่นดิน อัศจรรย์งานศิลป์แผ่นดินสยาม

ทั้งนี้ ใน ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ณ วันที่ 17 มีนาคม รัตนโกสินทรศก 125 ได้เผยแพร่เรื่อง การเชิญพระบรมรูปและพระป้าย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยว่า

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงพระอนุสรคำนึงถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะในเวลาที่เสด็จมาประทับอยู่ วังสวนดุสิต ยังไม่มีสิ่งที่จะเป็นที่ทรงนมัสการ รลึกถึงพระเดชพระคุณ จึงทรงพระดำริห์ว่า พระป้ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งมหิศรปราสาท ในพระบรมมหาราชวังนั้น ควรจะเชิญมาประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน เพื่อจะได้ทรงนมัสการ สักการะบูชาสืบไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงวังจัดการเชิญพระป้าย มีพระบรมรูปทรงเครื่องทองคำ”

ภาพจาก ข่าวในพระราชสำนัก

พระราชพิธีสังเวยพระป้าย เริ่มเมื่อใด

อนึ่ง พระราชพิธีสังเวยพระป้ายนั้น เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 กำหนดการแต่เดิมจะสังเวยที่พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญก่อน 1 วัน ซึ่งตรงกับวันไหว้ของจีน ส่วนที่พระที่นั่งอัมพรสถาน จะสังเวยในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ของจีน ซึ่งเป็นวันตรุษจีน

เครื่องสังเวยจะเป็นเครื่องคู่ ประกอบด้วย หัวหมู เป็ด ไก่ ขนมเข่ง ขนมเปี๊ยะ ซาลาเปา ผลไม้ กระดาษเงิน กระดาษทอง วิมานเทวดาทำด้วยกระดาษผ้าสีชมพู ประทัด ดอกไม้ ธูป เทียนเงิน เทียนทอง

กำหนดการพระราชพิธี นั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถึง จะทรงจุดธูปเทียน เครื่องราชสักการะ และธูปหางปักที่เครื่องสังเวย พนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ จะทรงเผากระดาษเงิน กระดาษทอง เมื่อธูปที่เครื่องสังเวยหมดดอก เจ้าหน้าที่จึงถอนเครื่องสังเวยและนำวิมานเทวดาไปปักในแจกันที่ใต้เครื่อง บูชาพร้อมทั้งผูกผ้าสีชมพู เป็นเสร็จพิธี

ภาพจาก พระราชวังบางปะอิน
พระที่นั่งเวหาสน์จำรูญพระราชวังบางปะอิน ภาพจาก matichonacademy
พระป้าย ภาพจาก ข่าวในพระราชสำนัก

ประเพณีจีน ในราชสำนักสยาม

จากข้อมูลของ แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย ที่เขียนไว้ใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม กุมภาพันธ์ 2545 เผยว่า ในอดีตนั้น พระราชพิธี ประเพณีในราชสำนักต่างๆ จะมีความเกี่ยวเนื่องกับลัทธิความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ สืบเนื่องถึงกรุงรัตนโกสินทร์ กระทั่ง เข้าสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี มีการอิงคติข้างจีนเป็นหลักแทรกเข้ามา

มูลเหตุคือ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระโอรสในรัชกาลที่ 2 อันประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเรียม) ทรงแต่งสำเภาหลวงออกไปค้าขายกับประเทศจีนจนทรงร่ำรวยถึงขั้นเจ้าสัว และทำให้ทรงมีพระสหายชาวจีนที่เป็นพ่อค้าคหบดีมากมาย ทรงคบค้าพ่อค้าเหล่านี้ตลอดมา จนทรงขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 3 (ต่อมารัฐบาลได้ถวายพระราชสมัญญานาม พระมหาเจษฎาราชเจ้า เมื่อ พ.ศ. 2541)

รัชกาลที่ 4 ในฉลองพระองค์ฮ่องเต้แมนจู ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม

ในช่วงตรุษจีน พระสหายก็จะจัดของสด เช่น สุกร เป็ด ไก่ มาถวายคนละมากๆ เป็นของสดที่เก็บไว้ไม่ได้ จึงนำของสดเหล่านี้ มาทำเครื่องจังหัน โปรดนิมนต์พระสงฆ์ ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเมื่อครองราชย์แล้วก็มักจะทรงพอพระราชหฤทัยชำระสะสางเรื่องต่างๆ ให้ถูกต้องชัดเจนอยู่เสมอ ทรงปรารภว่า “การที่ทำบุญตรุษจีนเลี้ยงขนมจีนนั้นไม่ใช่ของจีน เป็นแต่ลักชื่อว่าเป็นจีน” (เล่มเดิม หน้า 117) จึงโปรดให้ “ทำเกาเหลาที่โรงเรือ ยกเข้ามาเลี้ยงพระสงฆ์แทนขนมจีน” (เล่มเดิม, หน้า 117)

นอกจากนี้ ก็โปรดให้เชิญเทวรูปและเจว็ดมุกในหอแก้วลงไปตั้งเซ่นสังเวย ณ ศาลหลังคาเก๋งจีนที่โปรดให้สร้างขึ้นที่หน้าพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยขึ้นเป็นการเฉพาะ เครื่องสังเวยที่ตั้งทั้ง 3 วัน มีอาทิ แตงอุลิด (แตงโม) ขนมเข่ง กระเทียมดอง สิงโตน้ำตาลทราย ส้ม เป็นต้น โปรดให้อาลักษณ์อ่านประกาศเป็นคำกลอนลิลิตตามเนื้อความของคาถายานี และตอนท้ายมีการขอพรเป็นการเทวพลี (พลีเทวดา) เพื่อให้เข้าเค้าอย่างคติจีน (พลีเทพเจ้าจีนและวิญญาณบรรพชน)

นอกจากพระราชพิธีสังเวยพระป้ายแล้ว ยังมี พระราชพิธีกงเต๊กหลวง ที่เข้ามามีบทบาทในราชสำนักไทยด้วย

ข้อมูลจาก กรมการศาสนา, ศิลปวัฒนธรรม , ฝ่ายประชาสัมพันธ์ พระราชวังบางปะอิน

ภาพบางส่วนจาก นิทรรศการพลังแผ่นดิน อัศจรรย์งานศิลป์แผ่นดินสยาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image