สมเด็จพระพันปีหลวง ทรงงาน ‘ผ้าไทย’ 60 ปี สร้างอาชีพพสกนิกร รักษาสมบัติชาติยั่งยืน

สมเด็จพระพันปีหลวง ทรงงาน “ผ้าไทย” 60 ปี สร้างอาชีพพสกนิกร รักษาสมบัติชาติยั่งยืน

“สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระราชดำริว่า ถ้าไม่ใช่เรื่องด่วนแล้ว การช่วยเหลือผู้ประสบภัยหรือผู้ยากไร้ที่ถูกต้อง ไม่ใช่เป็นการเอาเงินหรือสิ่งของไปมอบให้ แต่เป็นการช่วยเหลือให้ผู้ยากไร้พัฒนาตนเองขึ้นมา

“ผ้า หรือเครื่องนุ่งห่มเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต ประดิษฐ์จากเส้นใยที่มาจากพืช สัตว์ แร่ธาตุ หรือเส้นใยสังเคราะห์ เส้นใยเหล่านี้ เมื่อถักทอเป็นผ้าแล้ว ยังปรากฎว่ามีสีสันและลวดลายที่งดงามเป็นศิลปะชั้นสูงที่เป็นสมบัติของชาติ หรือของเผ่าพันธุ์ที่สืบทอดกันมาชั่วลูกชั่วหลาน ถ้าลูกหลานไม่ทอดทิ้งเสียก็จะอยู่ไปนานแสนนาน ดังนั้น จึงทรงส่งเสริมให้ผู้ที่มีความรู้ด้านนี้ ทอผ้าด้วยเทคนิคต่างๆ และสอนเยาวชนรุ่นหลังด้วย เมื่อผลิตได้แล้ว ทรงเผยแพร่เรื่องผ้าให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และยังจัดเรื่องการขาย ให้ประชาชนมีรายได้เพิ่ม พอเลี้ยงครอบครัวให้อยู่สุขสบายได้

“ในการเก็บผ้า แต่ก่อนเก็บแบบธรรมดา ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ทำพิพิธภัณฑ์ผ้าที่หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง มีห้องเก็บ และห้องแสดงถูกต้องตามหลักสากลของการจัดพิพิธภัณฑ์สิ่งทอ เป็นแหล่งเรียนรู้ของบรรดาช่าง หรือผู้สนใจอื่นๆ นอกจากความรู้เรื่องผ้าแล้ว นักศึกษาด้านการพิพิธภัณฑ์มาดูงานได้ เพราะมีงานทุกด้าน

“การที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดำริที่ครบวงจรเช่นนี้ เป็นประโยชน์ต่อราษฎรโดยตรง ทำให้ประชาชนมีความรู้ ประกอบสัมมาชีพ และรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติให้ยั่งยืน เป็นประโยชน์แก่ประเทศอย่างแท้จริง”

Advertisement

จากพระราชดำรัสตอนหนึ่งใน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในหนังสือราชศิลป์พัสตราภรณ์ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สะท้อนให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในพระมหากรุณาธิคุณของ “สมเด็จพระพันปีหลวง” ที่ทรงพระวิริยะอุตสาหะปฏิบัติพระราชกรณียกิจยาวนานกว่า 6 ทศวรรษ ในการพัฒนาส่งเสริมเรื่อง “ผ้าไทย” จากสิ่งทอของชาวบ้านที่เกือบสูญหายให้กลับมาเป็นอาภรณ์ที่คนไทยและคนทั่วโลกให้การยอมรับถึงคุณค่าและความงดงามอันประเมินค่ามิได้

ผลสัมฤทธิ์ของพระราชกรณียกิจในด้านนี้ มีให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดยิ่งในปัจจุบัน “ผ้าไทย” ชุบชีวิตคนไทยจำนวนมากให้มีงาน มีอาชีพ มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และยั่งยืน

Advertisement
  • ชุดไทยพระราชนิยม

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า พระราชกรณียกิจในเรื่องผ้าไทยนั้นเป็นที่ประจักษ์โดยไม่ต้องพิสูจน์ นับย้อนไปเมื่อปี 2503 พระองค์ทรงมีพระราชดำริ ริเริ่มชุดไทยพระราชนิยม ซึ่งมีทั้งหมด 8 แบบ อันได้แก่ ชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยจักรี ชุดไทยดุสิต ชุดไทยศิวาลัย และชุดไทยจักรพรรดิ ซึ่งปัจจุบัน สตรีไทยนิยมสวมชุดไทยพระราชนิยมในพิธีสำคัญๆ ต่างๆ จึงเป็นที่มาของการนำผ้าไทยมาออกแบบตัดเย็บเป็นชุดไทยประจำชาติ

  • ครั้งแรกทรงรื้อฟื้นอาชีพทอผ้า

ดร.วันดี เล่าอีกว่า ต่อมาในช่วงปี 2506-2508 ระหว่างเสด็จฯ ไปประทับที่วังไกลกังวล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทรงงานเยี่ยมประชาชนที่อยู่ในพื้นที่แถวนั้น ซึ่งมีอาชีพประมง ส่วนผู้หญิงมีอาชีพเกษตรกรรม สมเด็จพระพันปีหลวง ทรงมีพระราชดำริให้นำครูผ้าจากจ.ราชบุรี มาสอนคนที่เขาเต่าครั้งแรก ซึ่งครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการเริ่มรื้อฟื้นอาชีพทอผ้า ที่หัวหิน

“พระองค์ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะและพระปรีชาญาณในการชักจูงผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีให้มาประกอบอาชีพเสริม มาร่วมเรียนทอผ้า โดยทรงพระราชทานรางวัลเป็นเหรียญทองคำ ซึ่งที่เหรียญจะสลักคำว่า โปรดเกล้าฯ พระราชทาน คนขยัน”

  • ขาดทุนของพระองค์คือกำไรของประชาชน

ในปี 2513 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้โดยเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไปทรงเยี่ยมประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม อ.นาหว้า จ.นครพนม พระองค์ทอดพระเนตรเห็นประชาชนใส่ผ้ามัดหมี่มารับเสด็จ ซึ่งผ้ามีความงดงามมาก จึงทรงส่งเสริมให้ประชาชนกลับมาทอผ้าเป็นอาชีพ เพราะเดิมทีว่างเว้นจากการทำนา ก็จะว่างกัน และการทอผ้าสมัยก่อน จะเน้นการทอเพื่อใส่เอง

“เมื่อพระองค์รับสั่งชักชวนให้ชาวบ้านมาทอผ้า ชาวบ้านกราบทูลว่า ผ้าที่ใส่ไม่ได้สวยอะไร เป็นผ้าชาวบ้าน พระองค์ก็ทรงให้กำลังใจ ถ้าทอมาจะใส่ จะตัดเป็นฉลองพระองค์ จะใส่ให้ประชาชนได้เห็น อีกทั้งยังทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ แล้วทรงรับซื้อผ้าทอชาวบ้านมาจำหน่ายในราคาที่ไม่ได้เน้นเรื่องของกำไร ด้วยพระราชปณิธานที่จะทรงสร้างงานสร้างอาชีพให้ประชาชน ดังพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 9 ว่า การขาดทุนของพระองค์คือกำไรของประชาชน” ดร.วันดีเล่า

“จะเห็นว่า ผ้าไทยแต่ละผืนที่ทอ ใช้เวลาแรมวัน แรมอาทิตย์ แรมเดือน และกว่าจะทอได้ ต้องผ่านลมหายใจของผู้หญิงนับวัน นับเดือน รายได้ที่เกิดขึ้นจากการจำหน่ายผ้า ก็ไปทำให้คุณภาพชีวิตของสตรีและครอบครัวทั่วประเทศดีขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งปัจจุบัน หลายหมู่บ้าน หลายชุมชนมีอาชีพทอผ้าเป็นอาชีพหลัก นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระพันปีหลวงที่มีต่อปวงชนชาวไทยอย่างมากมาย”

  • สืบสานพระราชปณิธาน

ในฐานะประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ที่ดำรงตำแหน่งถึง 2 สมัย ได้เข้ามาทำงานขับเคลื่อนรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทย เพื่อสืบสานพระราชปณิธานใน “สมเด็จพระพันปีหลวง” ให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทย

ดร.วันดี กล่าวว่า สมัยแรก ช่วงปี 2558 สภาสตรีฯ ได้จัดทำโครงการตามรอยผ้าไทย ลมหายใจแม่ของแผ่นดิน ในตอนนั้น มีความรู้เรื่องผ้าน้อยมาก แต่เมื่อมีโอกาสได้เดินทางไปบนเส้นทางของผ้า เส้นทางของลมหายใจแม่ของแผ่นดิน ก็รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างประมาณมิได้ว่ารู้สึกตื้นตันขนาดไหน จากตรงนี้เป็นแรงบันดาลใจให้อยากช่วยผลักดัน รณรงค์การใส่เสื้อผ้าไทยเพื่อสืบสานพระราชปณิธาน

“เมื่อได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาสตรีฯ สมัยที่ 2 จึงได้ทำโครงการสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน โดยจับมือภาคีกับกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) นำโดย อธิบดีสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ณรงค์ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด ให้รณรงค์การสวมใส่ผ้าไทยในจังหวัดของตนเอง”

“เราลงนามในบันทึกความร่วมมือ จัดกิจกรรมการส่งเสริม การประกวดต่างๆ และเป็นที่มาของวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์”

ซึ่งทุกจังหวัดให้ความร่วมมือสวมใส่ผ้าไทย 2 วันต่อสัปดาห์ และอีกหลายจังหวัดใส่มากกว่า 2 วัน เป็น 5 วันหรือ 7 วัน

“หลายจังหวัดมีการออกแบบตัดเย็บให้เป็นรูปแบบของตัวเอง เช่น อยุธยา อุดรธานี อย่างข้าราชการทุกคนในกรมการพัฒนาชุมชน 99.99 เปอร์เซ็นต์ ใส่ผ้าไทยทุกวัน”

  • เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงสืบสานงาน “พระพันปีหลวง”

“สิ่งที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระองค์ทรงมีพระปณิธานที่จะมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด งานของสมเด็จพระพันปีหลวง ในเรื่องของผ้า ได้พระราชทานลายผ้า ‘ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ’ ซึ่งเป็นลายผ้าที่มีความทันสมัยสามารถถักทอได้กับผ้าทุกชนิด ทั้งผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้ามัดหมี่ ผ้าขิด ผ้าย้อมคราม ผ้าปาเต๊ะ ผ้าบาติก เรียกว่า เป็นน้ำฝนตกลงกลางทะเลทรายในช่วงโควิด ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ขายดี จากกี่ที่เงียบเหงา ก็กลับมามีเสียงกระทบกันทั่วประเทศ การประสานเสียงของกี่ก็คือเงินทุกบาททุกสตางค์ที่กลับคืนสู่ชุมชน” ดร.วันดีกล่าว และว่า

“ไม่เพียงพระราชทานลายผ้า พระองค์ยังทรงทุ่มเท ทรงพยายามผลักดันการทอ การให้สี รวมทั้งพระราชทานรูปแบบการตลาด คือ ผ้าไทยใส่ให้สนุก ทำให้เป็นที่ถูกใจของทุกวัย และพระราชทานทีมงาน เป็นทีมดีไซเนอร์ชื่อดัง เช่น เธียร์เตอร์ หมู อาซาว่า มาช่วยทำให้ตลาดผ้าไทยรื้อฟื้นขึ้นมา”

“ทีมงานเหล่านี้จะเข้าไปให้ความรู้ชาวบ้าน ในเรื่องของการออกแบบลาย ทำอย่างไรให้การทอผ้าอาชีพ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกลับคืน การใช้สี โทนสีตามเทรนด์บุ๊ก เป็นสีแบบเอิร์ธโทน ไม่แดงแจ๊ด แต่เป็นแดงแบบกลมกลืน สีชมพูแบบงดงาม แบบที่เรียกว่าจับแล้วน่าใส่”

“สิ่งเหล่านี้เป็นมูลค่าเพิ่ม ทรงเพิ่มสตอรี่เทลลิ่ง การทำผ้า 1 ผืน สามารถสื่อสารได้ว่ามีเอกลักษณ์อย่างไร ลวดลายที่มาเป็นอย่างไร การเก็บรายละเอียด การทอผ้าอาจจะไม่ใช่แค่สวยงดงาม ทอผ้าคือแฮนเมค แต่ต้องมีความละเอียด เพื่อเพิ่มมูลค่าของผ้า ทุกวัยต้องใส่ได้ ทั้งสีสัน ทั้งความสนุก ไม่ใช่แค่รูปแบบผ้าซิ่น แต่สามารถประยุกต์ตัดเย็บให้เข้ากับวัยของตัวเอง รสนิยมความต้องการ การออกแบบต่างๆ”

“พระมหากรุณาธิคุณของทั้ง 2 พระองค์ ทรงมีเป้าหมายเดียวกัน คือให้ประชาชนหลุดพ้นความยากจน มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รักษาเอกลักษณ์ภูมิปัญญาของท้องถิ่นผ่านผ้าไทย และผ้าไทยกลายเป็นวัฒนธรรมของคนไทย”

  • “ผ้าไทย” ช่วย “เศรษฐกิจฐานราก” มั่นคง

ดร.วันดี กล่าวอีกว่า ในวันนี้ เรื่องอาชีพทอผ้ากับคุณภาพชีวิต เป็นที่ประจักษ์โดยไม่ต้องพิสูจน์เลย เดินไปหมู่บ้านไหน เราจะเห็นกี่ใต้ถุนบ้าน ผู้หญิว่างเว้นจากการทำนา ก็จะมาทอผ้า หลายครัวเรือน หลายหมู่บ้าน ทอผ้าเป็นหลัก เสียงกี่กระทบกันทั้งชุมชน

“เพราะการทอผ้า 1 ผืน ไม่ว่าราคาเท่าไหร่ที่จำหน่ายได้ กำไรกลับคืนสู่ครอบครัว ถ้าเงินอยู่ในมือผู้หญิง คือ เงินอยู่ในมือของทุกคนในครอบครัว มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลูกได้รับการดูแลเรื่องการเรียนหนังสือให้ได้ความรู้ ถ้าทออย่างต่อเนื่อง หลายครอบครัว ลูกเป็นหมอ วิศวกร พยาบาล มีอาชีพที่มั่นคง มีการเจ็บป่วยก็สามารถนำพาตัวเองไปรักษาได้ คุณภาพชีวิต รายได้ที่เกิดจากการทอผ้า รายได้ที่เกิดจากการขายผ้าก็กลับคืนสู่ชีวิตสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน”

ดังเช่น งานโอทอป ที่กรมการพัฒนาชุมชน จัดขึ้นก่อนที่การระบาดโควิด-19 รุนแรง

ดร.วันดี เผยว่า “รายได้จากการจัดงานโอทอป 10 วัน ผ้ามาเป็นอันดับ 1 เรียกว่า ผ้าไทยทุกผืนคือลมหายใจของสตรีทั่วประเทศ นำรายได้กลับไปช่วยชีวิต ช่วยครอบครัว ช่วยชุมชนนั้นๆ ให้ดีขึ้น”

“อย่างคนทอผ้าที่ จ.อุดรธานี ชื่อแม่ประดิษฐ์ และมีอีกหลายแม่ๆ เริ่มชีวิตทอผ้าตั้งแต่สมัยเด็กเล็กๆ ช่วยพ่อแม่ทอผ้า จนกระทั่งวันนี้ทอผ้าเป็นอาชีพหลัก ได้เงินจากการขายผ้าส่งลูกเรียนหนังสือ เรียนจบปริญญาตรีทุกคน ทั้ง 3 คน ขณะที่แม่ไม่มีโอกาสเรียนเท่าลูก แต่แม่ก็มีวิชาชีพที่ติดตัวตลอดชีวิต คือ ในเรื่องของการทอผ้า”

“และยังมีอีกหลายครอบครัว คุณแม่สุณา เป็นชาวนาชาวไร่ สมเด็จพระพันปีหลวง ทรงมีพระมหากรุณาให้เป็นครูหลวง ไปสอนสตรีทั่วประเทศทอผ้าขิด ลูกทุกคนเป็นพยาบาล เป็นครู ในทุกวันนี้ ท่านยังยึดอาชีพทอผ้า และยังสอนให้กับลูกหลาน และคนในหมู่บ้านที่สนใจทอผ้าได้มีอาชีพทอผ้าด้วย”

“ดังนั้น หากคนไทยสักครึ่งหนึ่งของประเทศ 35 ล้านคน มาช่วยรณรงค์ รักชาติ รักแผ่นดิน ด้วยการสวมใส่ผ้าไทย ซื้อเพิ่มกันคนละ 10 เมตร คือ 350 ล้านเมตร เมตรละไม่แพง เมตรละ 300 บาท เงินแสนล้านบาทก็จะกลับคืนสู่ชุมชน เป็นการส่งเสริมที่เราเรียกว่า ไมโคร อีโคโนมี เรียกว่าเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างดียิ่ง และในวันนี้ เราต้องช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท่ามกลางวิกฤตโควิด ให้กลับคืนสู่ชุมชน เพราะฉะนั้นถ้าทุกคนมาช่วยกันใส่ผ้าไทย ก็คือ การช่วยชาติที่ดียิ่ง” ดร.วันดีกล่าว

  • ทรงรื้อฟื้นไม่ให้ “ผ้าไทย” สูญหาย

ดร.วันดี กล่าวว่า “เป็นเวลากว่า 60 ปี ที่สมเด็จพระพันปีหลวง ทรงรื้อฟื้นผ้าไทย ถ้าไม่มีพระองค์ในวันนั้นที่ทรงมุ่งมั่นรื้อฟื้นการทอผ้ากลับคืนสู่สังคมไทย วันนี้ เราจะไม่มีผ้าไทยใส่แน่นอน ผ้าไทยจะสูญหาย ไม่มีผ้าไทยหลงเหลือในสังคมไทยในปัจจุบันแน่นอน”

“เพราะผู้เฒ่าผู้แก่สมัยเมื่อ 60 ปีที่แล้ว ท่านมีความต้องการแค่ทอผ้าใช้เอง และลูกหลานคงไม่ได้มาเรียนรู้การทอผ้าได้ทุกคน เพราะต้องออกมาทำงานต่างเมือง ต้องเปลี่ยนอาชีพ เสียงกี่ก็คงไม่มีการกระทบ คงไม่มีกี่ทอผ้าใต้ถุนบ้านไปทั่วประเทศอย่างทุกวันนี้”

“ในโลกนี้ หลายประเทศไม่ได้มีผ้าเป็นของตัวเอง แต่ประเทศไทยมีความชัดเจนมาก และไม่ได้มีแค่แบบเดียว ศิลปะบนผืนผ้าป็นภูมิปัญญาของแต่ละพื้นถิ่นจริงๆ อย่างสมัยก่อนผ้าไหมแพรวากว้างคืบยาวศอก สมัยนี้กว้างเป็นเมตร ยาว 4 เมตร ด้วยพระปรีชาญาณที่พระองค์ทรงพัฒนา เราถึงมีผ้าแพรวาสวยงามใส่กันในสังคมวันนี้”

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ 60 ปีแห่งการทรงงาน ทุกวันนี้ ผลสำเร็จ สำเร็จเป็นที่ประจักษ์โดยไม่ต้องพิสูจน์แล้ว

“เชื่อมั่นว่า ผ้าไทยจะเป็นศิลปะอันล้ำค่าแห่งแผ่นดินไทย เพราะวันนี้มีคนไทยจำนวนมากที่สืบสาน แม้ไม่มีอาชีพทอผ้า แต่มีคนสวมใส่ผ้าไทยมากมาย ไม่ว่าเราไปไหน เราภูมิใจที่จะใส่ผ้าไทย ผ้าไทยก็จะอยู่อย่างยั่งยืน และผ้าทอทุกผืน เป็นเป็นศิลปวัฒนธรรมที่สวยสดงดงามมาก เรียกว่า เป็นศิลปะของคนไทยโดยแท้”

ดร.วันดี กล่าวว่า เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม ในฐานะพสกนิกรของพระองค์ และเป็นผู้แทนของกลุ่มสตรีในฐานะประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ขอตั้งสัตย์ปฏิญาณว่า จะถวายความจงรักภักดีอย่างหาที่สุดมิได้ตลอดชีวิต และจะสืบสานงานของพระองค์ เป็นงานทางด้านของผ้า การสร้างงาน การสร้างอาชีพ และจะทำความดีถวายจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image