รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ พระมหากษัตริย์นักพัฒนา จากนภาสู่มหานที

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

  “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

พระปฐมบรมราชโองการใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ทรงปฏิบัติให้เห็นตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ

พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจมากมายหลายด้าน ก่อให้เกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตลอดรัชสมัยทั้งสิ้น 4,685 โครงการ โดยเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำมากที่สุดถึง 3,204 โครงการ และกระจายไปแทบทุกจังหวัดทั่วประเทศ

พระองค์ทรงเป็น “พระมหากษัตริย์นักพัฒนา” ที่ทรงทุ่มเทพระวรกายศึกษาพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อให้พสกนิกรได้มีน้ำอุปโภคบริโภคและมีน้ำเพื่อการเพาะปลูกอย่างเพียงพอตามความต้องการในทุกฤดูกาล ไม่เพียงเท่านั้น ยังสนพระราชหฤทัยในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพของน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุดในการดำรงชีวิตของผู้คนในประเทศไทย

Advertisement

ดังพระราชดำรัสในการเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ “The Third Princess Chulabhorn Science Congress” ณ โรงแรมแชงกรีลา วันที่ 11 ธันวาคม 2538 ความว่า

  “…การพัฒนาแหล่งน้ำนั้น ในหลักใหญ่ ก็คือการควบคุมน้ำให้ได้ดังประสงค์ทั้งปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือ เมื่อมีปริมาณน้ำมากเกินไป ก็ต้องหาทางระบายน้ำออกให้ทันการณ์ ไม่ปล่อยให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายได้ และในขณะที่เกิดภาวะขาดแคลน ก็จะต้องมีน้ำกักเก็บไว้ใช้อย่างเพียงพอ ทั้งมีคุณภาพเหมาะสมแก่การเกษตร การอุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภค ปัญหาอยู่ที่ว่า การพัฒนาแหล่งน้ำนั้นอาจมีผลกระทบกระเทือนต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่ถ้าไม่มีการควบคุมน้ำที่ดีพอแล้ว เมื่อเกิดภัยธรรมชาติขึ้น ก็จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนสูญเสีย ทั้งในด้านเศรษฐกิจและในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งส่งผลกระทบเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง…”

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

แม้วันนี้ พระองค์จะไม่ทรงมีพระชนม์ชีพอยู่แล้ว แต่โครงการพระราชดำริต่างๆ ก็ยังดำเนินต่อไป เพื่อยังประโยชน์สุขให้กับคนไทยทั้งประเทศ

Advertisement

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่คนไทยกำลังประสบกับมหาวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และประสบกับอุทกภัยในหลายพื้นที่ จนหลายคนหวั่นวิตกว่า จะเกิดมหาอุทกภัย น้ำท่วมใหญ่ เฉกเช่นเดียวกับปี 2554

ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ย้อนเล่าถึงความทรงจำที่ครั้งหนึ่งในชีวิตได้เคยถวายงานใกล้ชิดรัชกาลที่ 9 ที่แม้เวลาจะผ่านมาแล้ว แต่ทุกเรื่องราวยังคงฝังแน่นในความทรงจำ

“สำหรับในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชกรณียกิจของพระองค์มีกว่า 4,000 โครงการ โดยเป็นโครงการเรื่องน้ำ 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ และจากที่ผมได้ถวายงาน สิ่งที่อยู่บนโต๊ะทรงงานของพระองค์ก็จะมีแต่เรื่องน้ำกับแผนที่ ทรงให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำมาก”

ดร.รอยล เริ่มถวายงานรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่พระองค์ไม่ได้เสด็จแปรพระราชฐาน ด้วยพระพลานามัยที่ไม่ค่อยแข็งแรง แม้จะมิได้เสด็จทรงเยี่ยมราษฎร หากก็ยังทรงงาน ที่แม้จะทรงมีพระชนมพรรษา 65 พรรษา ก็ยังทรงเรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์

“พระองค์ทรงเริ่มใช้คอมพิวเตอร์ ตอนพระชนมพรรษา 65 พรรษา และทรงบันทึกทุกอย่างลงในคอมพิวเตอร์เกือบทั้งหมด บนโต๊ะทรงงานไม้สักเก่าราคา 4 พันบาทที่รื้อทำใหม่ จะมีแผนที่ และคอมพิวเตอร์พีซี 2 เครื่อง และคอมพิวเตอร์แมคอีก 2 เครื่อง เป็น 4 เครื่อง พระองค์จะทรงติดตามสถานการณ์น้ำผ่านการใช้เว็บไซต์ทรงงานส่วนพระองค์ weather901 เป็นประจำทุกวัน เวลา 7 โมงเช้าจะทรงเปิดทอดพระเนตร รวมทั้งตอนกลางคืน ดังนั้นจะทรงเห็นหมดเลยว่า น้ำของประเทศไทยเป็นอย่างไร”

ดร.รอยลเล่าพลาง หยิบแท็บเล็ตมาเปิดเว็บไซต์  weather901 และอธิบายว่า หน้าเว็บไซต์นี้เป็นแบบ “หน้าเดียว ”

“พระองค์โปรดให้มีหน้าเว็บหน้าเดียวจบ เรียบง่าย ไม่โปรดอะไรซับซ้อน โดยเว็บจะเรียงข้อมูลตั้งแต่ฟ้าถึงทะเล ที่สำคัญ คือประวัติพายุ เส้นทางพายุที่เคยมีอยู่เดิม เราสามารถดูได้หมดเลยว่า ปีนี้มีพายุอะไรเข้ามาได้บ้าง เพราะถ้าพายุเกิดที่เดิม เราก็สามารถทราบสถานการณ์พายุของปีนั้นๆ ได้”

“ในเว็บนี้ สิ่งที่ทรงโปรด คือ การติดตามสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา” ว่าพลางก็คลิกเปิดหน้าเว็บอัพเดทระบบการไหลของแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมบอกว่า “คนทั่วไปสามารถเปิดเข้าไปดูได้ใน weather901 ได้ ตอนนี้ไม่ใช่ความลับแล้ว”

ซึ่งหน้าเว็บดังกล่าวรายงานการไหลของแม่น้ำเจ้าพระยาไล่ตั้งแต่แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ลงมารวมกันที่แม่น้ำเจ้าพระยา ไหลไปจนถึงอ่าวไทย ซึ่งปัจจุบันมีระบบโทรมาตรวัดออนไลน์แบบเรียลไทม์ ซึ่งหลายต่อหลายครั้ง พระองค์ทอดพระเนตรเห็น “จุดวิกฤต” ที่จะส่งผลกระทบกับคนไทย

“ในปี 2545 เดือนกันยายน พระองค์ทอดพระเนตรเห็นว่า น้ำกำลังหลากลงมาจากเขื่อนป่าสักฯ จึงทรงให้เจ้าหน้าที่บินไปถ่ายภาพสถานการณ์น้ำเหนือเขื่อน เพื่อนำมาพระราชทานให้นายกรัฐมนตรีทราบว่าน้ำกำลังจะท่วม”

“หรือในปี 2549 ทรงให้เจ้าหน้าที่บินไปถ่ายพื้นที่นครสวรรค์เพราะน้ำกำลังท่วมใหญ่ ก็พระราชทานภาพถ่ายให้อธิบดีกรมชลประทาน และนายกรัฐมนตรี เพื่อนำไปบริหารจัดการน้ำ”

  “ทุกคนน่าจะจำไม่ได้ มีน้ำท่วมปี 2549 เพราะไม่กระทบเลย ทั้งๆ ที่น้ำเยอะเกือบเท่าปี 2554 แต่ระบายออกทั้ง 2 ข้างหมด” ดร.รอยลกล่าว

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9
ดร.รอยล จิตรดอน เปิดเว็บไซต์ทรงงานส่วนพระองค์ weather901

มิใช่เพียงเรื่องของน้ำท่วม เรื่อง “น้ำแล้ง” ก็ทรงเข้ามาแก้ไขได้อย่างทันท่วงที

ดร.รอยล เล่าว่า “ปี 2548 เกิดภัยแล้ง พระองค์โปรดให้พัฒนาเว็บไซต์เกี่ยวกับฝนหลวง เพื่อจะใช้รายงานการปฏิบัติงานฝนหลวง และพระองค์จะได้ทรงติดตามการดำเนินงานได้ ปีนั้นแล้งหนัก คาดว่าประเทศไทยจะเสียหาย 4 แสนกว่าล้าน แต่ปรากฎว่าเสียหายน้อยมาก เพราะใช้ฝนหลวง และแก้กันทัน”

  “ทรงช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นวิกฤตภัยธรรมชาติมานับไม่ถ้วน ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง”

จากการพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อบริหารจัดการน้ำ เกิดเป็น “โครงการระบบเครือข่ายเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาและนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย

ดร.รอยล เล่าว่า สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่ง “วิชาใหม่” ของโลก ที่ได้มีการรวบรวมข้อมูลน้ำเข้าด้วยกันเป็นระบบตั้งแต่ฟ้าถึงทะเล เรียกว่า Hydroinformatics ซึ่งสามารถดูทะเลแล้วคาดการณ์ฝนของปีนั้นได้ๆ

“ซึ่งเราก็เริ่มเห็นว่า ถ้าดูอุณหภูมิมหาสมุทร ที่สมัยนี้เรียกว่า เอลนีโญ และลานีญา โดยมหาสมุทรอินเดีย เรียก DMI มหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ เรียก PDO พอเราเห็นมหาสมุทร ก็มาเทียบว่า เหมือนปีไหน ถ้าเหมือนปีนั้น ฝนก็จะคล้ายปีนั้น”

“อย่างก่อนเกิดวิกฤตปี 2554 ผมเข้าเฝ้าฯ พระองค์เดือนมิถุนายน 1 หน และปลายเดือนกรกฎาคม 1 หน ก็รับสั่งกับผมอย่างเดียวว่า รอยลนะ เมฆไม่เหมือนเดิมเลยนะ มันลอยคนละอย่างจากเดิมเลยนะ ต้องระวังนะ”

  สำหรับ ปี 2564 ดร.รอยล ระบุว่า สภาพฝนเหมือนปี 2551 ที่ฝนมาเร็วตั้งแต่เดือนเมษายน ทิ้งช่วงเดือนพฤษภาคม และทิ้งช่วงอีกทีเดือนกรกฎาคม กับสิงหาคม และจะมาโหมอีกครั้งเดือนกันยายน ตุลาคม

ดร.รอยล ระบุอีกว่า สิ่งที่รัชกาลที่ 9 ทรงวางรากฐานไว้ และกลายเป็นจุดที่ในอนาคตน่าจะเริ่มเปลี่ยนประเทศไทย คือ “ผังน้ำ”

“อย่างที่ อ.หนองใหญ่ จ.ชุมพร แต่เดิมเคยน้ำท่วม พระองค์ก็ส่งทีมไปแก้ปัญหา ต่อมาก็ออกมาเป็น “พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ คือ กำหนดทางน้ำท่วม น้ำหลาก เขตน้ำท่วม ทางน้ำต้องรักษา รวมถึงพระราชบัญญัติการผังเมือง ว่าต้องมีทางพักน้ำ”

“ที่ปึกเตียน จ.เพชรบุรี หลังจากมีน้ำท่วมใหญ่ ปี 2546 รัชกาลที่ 9 ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ประมาณ 10 ล้านบาท ทรงเปลี่ยนถนนเส้นปึกเตียนไปชะอำยาวประมาณ 1 ก.ม. ทำเป็นถนนคอนกรีตให้ลดต่ำลง เพื่อให้น้ำหลากผ่านไปได้ ไม่ท่วมบ้านเรือนประชาชน ขณะเดียวกัน ก็ทรงวัดน้ำทะเลหนุนไม่ให้รุกล้ำเข้าไป เวลาน้ำด้านบนหลากลงมา”

แนวพระราชดำริแก้ไขปัญหาน้ำท่วม อีกหนึ่งเรื่องที่ ดร.รอยล น้อมนำไปแก้ไขให้กับชาวบ้าน คือ “ถนนน้ำเดิน”

“ผมนำแนวพระราชดำริไปแก้ที่บ้านลิ่มทอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ จากเดิมหมู่บ้านนี้น้ำท่วมปีละ 11 ครั้ง ฝนตกเมื่อไหร่ก็หลากเข้าไปท่วม ผมก็ไปเปลี่ยนถนนเส้นที่ผ่านกลางหมู่บ้าน ให้ลดต่ำกว่าบ้าน แล้วทำเป็นร่องตัววี เพื่อที่เวลาน้ำไหล มันจะได้ทำความสะอาดตะกอนที่ตกอยู่ตรงกลางด้วย แล้วตรงสี่แยก ผมก็ลดลงไป 15 ซม. เพื่อให้น้ำผ่านสี่แยกไปได้เลย และพอเลยสี่แยกไปก็เป็นทุ่งนา แล้วผมก็เอาน้ำที่วิ่งบนถนนให้มันหลากลงไปเก็บที่สระ 2 ข้าง ปรากฎว่าหมู่บ้านนี้เลิกท่วมเลย”

ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชดำริแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรม และชุมชนต่างๆ ด้วยการก่อสร้าง “เขื่อนกักเก็บน้ำ” หลายพื้นที่ เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี เขื่อนคลองท่าด่าน จังหวัดนครนายก ซึ่งสามารถป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ตอนล่างรวมถึง กรุงเทพฯ

“เขื่อนป่าสักฯ ชัดเจน ถ้าไม่มีเขื่อนป่าสักฯ กรุงเทพฯ ไม่มีทางรอด” ดร.รอยล เผย

แต่อย่างไรก็ตาม เขื่อนป่าสักฯ เป็นเขื่อนเล็ก พระองค์ทรงให้ทำเป็นระบบพวง คือ ต้องมีอ่างเล็กอยู่ด้านบนรับน้ำ และข้างล่างต้องมีแก้มลิงต่อเนื่อง”

มิใช่แค่เขื่อนป่าสักฯ ที่ช่วยคนไทยเรื่องน้ำ เขื่อนทุกเขื่อนก็เช่นกัน

  ด้วยความเอาพระราชหฤทัยใส่เรื่องการบริหารจัดการน้ำ ดร.รอยล เล่าว่า “เมื่อปี 2552 วันหนึ่ง พระองค์รับสั่งถามว่า ฝนเปลี่ยนแล้ว จะบริหารจัดการเขื่อนอย่างไร”

ท่ามกลางวิกฤตต่างๆ ที่ถาโถมอยู่ในขณะนี้ ดร.รอยล บอกว่า สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่าสิ่งที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ช่วยคนไทยได้มากมาย

“ยิ่งโควิด ผมยิ่งเห็น คือ ชุมชนที่เดินตามรอยพระองค์ น้อมนำเกษตรทฤษฎีใหม่ไปใช้จนสามารถพัฒนาชนบทได้สำเร็จ เพราะฉะนั้นเมื่อโควิดมา เขาไม่ต้องเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่ไหน และที่สำคัญเขาไม่มีค่าใช้จ่ายในยุคนี้ ในขณะที่คนอื่นไม่มีรายได้ เขามีรายได้หมด อย่าง ชุมชนเกษตรของเรา ที่บริหารน้ำเป็น ผลิตเป็น อยู่เดี่ยวๆ ได้ ไม่ต้องพึ่งส่วนราชการ รายได้เพิ่มขึ้น 40% ในยุคโควิด ในขณะที่คนอื่นผลิตไม่ได้ เขาผลิตได้ และส่งขาย”

ดร.รอยล อธิบายว่า ชุมชนเหล่านี้เป็นชุมชนที่เราลงไปทำงานไปให้ความรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ เขาอยู่รอดหมดเลย มีเกือบ 1,800 หมู่บ้านทั่วประเทศไทย

“เราให้เขาลองคิดแบบที่รัชกาลที่ 9 พระราชทานลงมาให้ทำ อันแรกสุด ถ้าจะเริ่มทำงานเรื่องน้ำ ให้ทำแผนที่ ผมก็ให้ชุมชนทำแผนที่ ซึ่งพอทำด้วยตัวเอง เขาก็ต้องเชื่อสิ่งที่ทำ พอเสร็จ ก็นำข้อมูลน้ำไปวาง เขาก็รู้แล้วว่า ทำไมน้ำถึงท่วม ทำไมน้ำถึงไม่พอ ก็ต้องเปลี่ยนวิธีใช้น้ำ แล้วเขาก็ไม่เถียงกัน เพราะข้อมูลทำด้วยตัวเอง มันก็เกิดความสามัคคี พอแก้ปัญหาน้ำเสร็จแล้ว เขารู้ว่า ปลูกอย่างนี้ไม่รอด ก็ปรับ ปรับเสร็จ จากการที่จัดการน้ำด้วยตัวเองได้ ก็ไปจัดการเพาะปลูก จัดการการขาย พอขายสำเร็จ ก็เริ่มจัดการเรื่องเงิน”

“4 อย่างครบแล้ว เมื่อมีแผนที่ แผนที่ก็ชี้ว่า น้ำมาจากไหน เก็บไว้ตรงไหน ตรงไหนใช้น้ำ ไม่มานั่งกลัวน้ำจะท่วม เพราะทราบต้นเหตุ ผิดกับคนเมืองทราบปัญหา แต่ไม่ทราบเหตุ แคะปัญหา แต่ไม่แคะเหตุ แล้วแก้ที่ปัญหา”

  “ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงสอนให้แก้ที่เหตุ แล้วแก้ที่เหตุได้ ต้องทำแผนที่ ทำข้อมูล นี่ไง เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”

“จะเข้าใจได้ ต้องทำแผนที่ ต้องทำข้อมูล ก็จะรู้จักตัวเอง ก็คือ เข้าใจ แต่พอทำแผนที่ ทำข้อมูล ก็คือ จับมือกันทำงาน ก็คือ เข้าถึง”

“พอเข้าใจ เข้าถึง ก็พร้อมจะพัฒนาได้”

“ขณะที่เราคิดว่า กรุงเทพฯ ศิวิไลซ์ แต่ชุมชนเหล่านี้ บางหมู่บ้านเหมือนประเทศสวิสเซอร์แลนด์ อย่าง ดงขี้เหล็ก จ.ปราจีนบุรี บ้านแต่ละหลังราคา 2-3 ล้านบาท มีกองทุนของตัวเอง 400 กว่าล้าน ส่งของออกขายสิงคโปร์ ตะวันออกกลาง และยังมีอีกหลายที่ อย่างห้วยปลาหลด จ.ตาก ที่พระองค์ เสด็จฯ ปี 2517 ก็รวยไปเลย ลูกเรียนหมอ จบปริญญาโทแล้วก็กลับไปอยู่ที่หมู่บ้าน และถ้าไปเห็น

อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ จะตกใจ สวยจริงๆ หรือที่แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ก็สวยมากๆ ถึงวันนี้เราไม่เคยนึกว่าจะสวยขนาดนั้น อยู่ติดกับป่า รักษาน้ำ น้ำไหลตลอดปี และก็ปั๊มน้ำไปใช้บนไหล่เขา ปั๊มก็ใช้โซล่าหมด”

การแก้ปัญหาหลังโควิด ดร.รอยล แนะนำว่า พระราชดำริที่ให้นำไปปรับใช้ คือ ทฤษฎีใหม่ บริหารความเสี่ยง คือ หัวใจของความเจริญ และยั่งยืน ทฤษฎีใหม่ คือ การบริหารจัดการที่ดิน เกษตร น้ำ และเงิน

  “คนส่วนใหญ่จะคิดเรื่องกำไรสูงสุด แต่พระองค์ทรงคิดเรื่องความเสี่ยง ทรงมองการลงทุนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม จึงเกิดเป็น ทฤษฎีใหม่ คือ การที่จะมีกำไรสูงสุด ก็มาเป็นการบริหารความเสี่ยง ก็คือมี สวน มีข้าว มีสระน้ำ”

นับจากที่รัชกาลที่ 9 สวรรคต วันนี้ นับเป็นเวลา 5 ปี ที่ ดร.รอยล ดำเนินชีวิตตามรอยเบื้องพระยุคลบาทในเรื่องที่สามารถทำได้ เหนือสิ่งอื่นใด พระองค์ยังคงอยู่ในหัวใจไม่เสื่อมคลาย

“ตลอด 70 ปีที่พระองค์ครองราชย์ ทรงทำงานอย่างต่อเนื่อง นับเป็นความประทับใจที่ผมไม่เคยลืม พระองค์ทรงงานครบทุกด้าน แล้วทรงลงลึก ทรงทดลอง ทรงปฏิบัติ นับเป็นนักปฏิบัติ และทรงสรุปเรื่องทฤษฎี แม้จะทรงเรียนที่สวิส แต่ทรงศึกษาภาษาบาลีสันสกฤต ภาษาไทยของพระองค์นั้นดีมากๆ และยังทรงเอาพระทัยใส่คนรอบข้างทั้งหมด การเสด็จฯ ลงพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ทรงแสวงหาข้อเท็จจริง ทรงลงไปสัมผัสกับพื้นที่ต่างๆ ไม่ได้ทรงฟังเฉพาะหน่วยงานราชการ แต่ทรงฟังชาวบ้านด้วย ทรงรู้จักประเทศไทยเป็นอย่างดี”

ด้วยพระราชจริยวัตรและพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย

  แม้เวลาจะผ่านไปนานเท่าไร ดร.รอยล บอกด้วยน้ำเสียงที่กลั่นออกมาจากเบื้องลึกของหัวใจว่า “ไม่เคยลืม” พระมหากษัตริย์นักพัฒนา ผู้ทรงเปี่ยมไปด้วยความรักที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image