ดร.สุเมธ รำลึกคำสอน ในหลวง ร.9 ทรงเตือนถึง 3 ครั้งยามประเทศประสบวิกฤต

ในหลวง รัชกาลที่ 9

ดร.สุเมธ รำลึกคำสอน ในหลวง ร.9 ทรงเตือนถึง 3 ครั้งยามประเทศประสบวิกฤต

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ที่โรงพยาบาลศิริราช ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงการจัดงานศิระกรานพระภูบาลนวมินทร์ ปีที่ 5 “ในหลวงในความทรงจำ” ว่า การจัดงานปีนี้คล้ายกับปีก่อนๆ คือทุกวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เรามีพันธะสัญญาน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณในหลวง ร.9 ทั้งนี้ นอกจากนึกถึงพระองค์แล้ว ผมอยากชวนคนไทยทุกคนอัญเชิญพระบรมราโชวาทองค์ใดองค์หนึ่งที่ตรงใจ นำมาใช้เป็นแนวทางดำเนินชีวิตและการทำงาน และ 13 ตุลาคมของปีถัดไป ให้ทบทวนดูว่าเราได้น้อมนำพระบรมราโชวาทมาปฏิบัติจริงหรือไม่ หากทำได้ให้ก็ให้น้อมนำพระบรมราโชวาทองค์อื่นๆ มาปฏิบัติใช้อีก หากทำอย่างนี้ได้ทุกปี พระองค์จะทรงอยู่กับเราตลอดไป

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ในงานปีนี้ที่มีปาฐกถาเทิดพระเกียรติ ก็เป็นสิ่งที่เราอยากรู้กันว่าปีนี้น้ำจะท่วมหรือไม่ท่วม ซึ่ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นผู้มีความรู้เรื่องนี้และถ่ายทอดได้ดีมาก เมื่อฟังแล้วอยากให้ช่วยกันขบคิด ช่วยกันคนละเล็กละน้อย เพื่อทำให้ประเทศไทยมีน้ำใช้อย่างไม่ขาด ไม่มีน้ำเกิน ทั้งนี้ ปีหน้าเชื่อว่าโควิด-19 จะไม่มีแล้ว ศิริราชจะจัดงานศิระกรานพระภูบาลนวมินทร์อีกครั้งเช่นกัน

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

จากข่าว

– ศิริราชจัดงานศิระกรานพระภูบาลนวมินทร์ น้อมรำลึกในหลวง ร.9 ปชช.พร้อมใจร่วมงาน

Advertisement

ขณะที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวในการปาฐกถาเทิดพระเกียรติ “การแก้ไขสถานการณ์น้ำตามแนวทางพระราชดำริ” ความตอนหนึ่งว่า หลากหลายวิกฤตที่เกิดขึ้น ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่าพระองค์ทรงเตือนเรารึเปล่า จนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ค้นพบว่าที่แท้พระองค์ทรงเตือนมาตลอด แต่เราไม่เข้าใจเข้าถึงเอง อย่างครั้งตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา ปีพ.ศ. 2531 ทรงตั้งชื่อชัยพัฒนา ทั้งที่ตอนนั้นยังไม่มีเรื่องราวอะไร เศรษฐกิจยังดีอยู่ ยังไม่มีฟองสบู่ ตอนนี้พอย้อนกลับไป ที่ทรงรับสั่งตั้งมูลนิชัยพัฒนาและรับสั่งว่า ชีวิตของมนุษยนั้นนับวันจะลำบากลำบนขึ้นไปทุกที สิ่งแวดล้อมถูกทำลายไปมากขึ้นๆ จำนวนคนเพิ่มคนๆ ปัญหาความยากจน มลพิษ ความพินาศทางเศรษฐกิจ และที่พระองค์ไม่รับสั่งแต่ผมเติมไปคือ ปัญหาการเมือง ต้องยอมรับว่าการเมืองเรามีปัญหา ขอพูดตรงๆ หากไม่พูดกันก็ขาดสติไปอีก และเราต้องเข้าไปแก้ปัญหาให้มันสิ้นสุดลง มันเหมือนทำสงคราม ผมจำประโยคได้อย่างแม่นยำว่า “ต่อไปนี้เราต้องทำสงคราม แต่สงครามครั้งนี้เราไม่ใช่อาวุธ แต่ใช้วัคซีนคือ การพัฒนา แก้ปัญหาทุกอย่างให้ลุล่วงไป เพราะฉะนั้นมูลนิธินี้คือ ชัยชนะแห่งการพัฒนา”

“ทรงมีรับสั่งว่าฉันจะนำทัพเอง แล้วพระองค์ก็สู้มาตลอด อย่างโควิดก็เหมือนเราทำสงคราม ใหม่ๆ เรายังไม่มีหน้ากากอนามัยเลย ต้องไปแย่งซื้อกับต่างประเทศ จนตอนนี้เราผลิตเองได้ ส่วนวัคซีนก็ไม่คิดฝัน ทรงให้สร้างไว้ก่อน ก่อนหน้าโควิดก็ไม่รู้จะตั้งมาทำอะไร”

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

ดร.สุเมธ กล่าวอีกว่า พระองค์ทรงเตือนถึง 3 ครั้งกับวิกฤตต่างๆ ที่เข้ามาผ่านคำสอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เพียงแต่ตอนนั้นเราไม่เข้าใจเอง ย้อนไปปี 2540 เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง จากนั้นในปี 2541 ทรงมีคำสอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตน ไม่ใช่เรื่องการเพาะปลูกอะไร โดยทรงเตือนครั้งที่ 1 ว่าในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้เท่าทันยุคโลกาภิวัฒน์ เพราะเหมือนว่าฟากโลกหนึ่งทำอย่างไร เราก็ทำตามอย่างนั้น ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะเราต้องรู้เท่าทัน อันไหนควรก็ร่วม อันไหนไม่ควรเราก็หนี เพราะโลกาภิวัฒน์มันก็ภิวัฒน์ไปเรื่อยๆ ส่วนทรงเตือนครั้งที่ 2 ความพอเพียงหมายถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล

และทรงเตือนครั้งที่ 3 ต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก ทรงย้ำถึงการเปลี่ยนแปลง ซึ่งวันนี้เราอยู่ในโลกยุคดิจิทัลและดิสรัปชั่น หากตามไม่ทันก็ตกรุ่นตกรางไปเลย ทั้งนี้ ทรงกลัวว่าเราจะไม่เข้าใจ เพราะเราชอบเห็นแต่เปลือกไม่รู้ถึงแก่น เหมือนต้นไม้ที่ดูแค่ผิว จึงทรงเตือนทิ้งท้าย ให้ดำเนินชีวิตด้วยสติปัญญาและความสมดุล เพื่อให้รองรับต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี เหล่าผมนี้ย้อนอ่านอีกทีหลังสวรรคตไป 5 ปี ฉะนั้นอยากให้ทุกคนย้อนกลับไปดูครับ คำสอนของพระองค์ แล้วจะลึกซึ้งเลย

ดร.สุเมธ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนเรื่องน้ำ พระองค์ทรงมองแบบบูรณาการ ไม่ใช่น้ำท่วมแล้วสูบน้ำลงทะเล สูบน้ำช่วยเป็นจุดๆ แต่ทรงสอนบูรณาการ ตั้งแต่ต้นน้ำ น้ำท่วมเพราะต้นไม้หาย ป่าไม่มี มันถึงได้ท่วม ฉะนั้นจัดการเรื่องน้ำอย่างเดียว แต่ไม่จัดการต้นไม้ ป่า ปัญหาก็ไม่หมด

จากนั้น ดร.สุเมธได้เปิดสไลด์ภาพๆ หนึ่งที่อธิบาย 4,700 โครงการของในหลวง รัชกาลที่ 9 พร้อมอธิบายว่า ภาพนี้เกิดจากคำท้าทายว่าผมสามารถบอกเล่า 4,700 โครงการของพระองค์ให้อยู่ในกระดาษแผ่นเดียวได้หรือไม่ ซึ่งผมคิดชื่อภาพนี้ว่า จากนภาผ่านภูผา สู่มหานที เพราะงานของพระองค์เริ่มตั้งแต่ท้องฟ้าผ่านภูเขาบ้านเมืองและลงสู่ทะเล โดยมีน้ำเป็นชีวิต

อธิบาย 4,700 โครงการของในหลวง รัชกาลที่ 9 ในกระดาษ 1 แผ่น

“น้ำจากฟ้าลงมาส่วนที่สูงที่สุดคือ ภูเขา ภารกิจแรกคือ ทรงให้ปลูกป่าอนุรักษ์ ทรงกำชับอย่าเอาไม้ต่างถิ่นเข้าไป เพื่อไม่ให้กินไม้พื้นเมือง ทรงให้สร้างฝายเพื่อเก็บกักความชื้น เมื่อเกิดความชื้นป่าก็ขึ้นเองโดยไม่ต้องปลูก น้ำไหลลงมาส่วนกลางของภูเขา เลี้ยงปลาได้อีก จากนั้นน้ำไหลลงมาปลูกป่าเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะจะสวนลำไย สวนลิ้นจี่ น้ำก็ไหลมาตีนเขา ก็เลี้ยงปลาได้อีก จนน้ำไหลเข้าสู่เมือง เป็นน้ำเสีย ก็ทรงนำพืชและแสงแดดมาบำบัดเป็นน้ำคุณภาพ ผ่านป่าชายเลนปล่อยลงทะเล น้ำนี้มีจุรินทรีย์ ให้สัตว์น้ำได้กิน เราก็น้ำสัตว์น้ำนั้นกลับมากินได้อีก” ดร.สุเมธกล่าวและว่า

ทรงมีความพิถีพิถันใส่ใจงานทุกอย่าง ผมรับรองได้ว่าจิตใจของพระองค์อยู่กับสิ่งนี้ คิดอยู่ตลอดเวลา ทุกนาที ทุกชั่วโมง ทรงรับสั่งตลอด ทรงคิดถึงคนอื่นอยู่เสมอ เรื่องพระองค์มีให้เล่าตลอด เล่ามา 5 ครั้งยังมีเรื่องเล่าอยู่เลย ก็จะเล่าต่อไปจนกว่าสังขารจะไม่ไหว ทั้งนี้ สิ่งที่ทรงสอนไม่เคยกลับไปที่พระองค์ว่าต้องทำให้ฉัน แต่เป็นความอยู่รอดของตัวเราเอง คือการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือ มีความสุขตามอัตภาพ ส่งต่อแผ่นดินให้ลูกหลานเราอยู่

ดร.สุเมธกล่าวอีกว่า แปลกใจไหมทำไมยิ่งเจริญ ยิ่งพัฒนายิ่งทุกข์ เพราะเรามุ่งหวังแต่ผลประโยชน์ มุ่งหวังแต่เงิน วันนี้เราได้ยินเรื่องโลกสีเขียว เรื่อง SDGs (เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน) 17 ข้อ ของสหประชาชาติ นี่ไม่ใช่สิ่งที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงสอนไว้ก่อนแล้วเหรอ เช่นเดียวกับเรื่องธรรมภิบาล ที่เราเพิ่งมาอบรมกันใหญ่ พระองค์ทรงบอกว่านานแล้วว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม ทรงแปลให้เสร็จว่าธรรมะนี่แหละ เรามัวแต่ไปฟังเขา แต่ไม่ฟังเรา เราทิ้งสมบัติที่ดีของเรา

“ที่ประทับใจและทึ้งที่สุดคือ ทรงมีความสากลแต่มีฐานความเป็นไทย ก็ฝากเด็กๆ ต้นไม้นี่มีรากเป็นไทย จะต่อกิ่งเป็นประเทศเป็นอะไร แต่มีรากเป็นไทย พระองค์ทรงสอนแล้วสอนเล่า แต่เรากลับไปบูชาปราชญคนอื่น ฉะนั้นวันนี้เป็นอีกวันที่เรามารื้อฟื้นกัน เรายังคิดถึงพระองค์ และอยากให้น้อมนำคำสอนของพระองค์มาปฏิบัติให้ได้ เราต้องตอบให้ได้จะเดินตามรอยพระองค์อย่างไร ทำอย่างไร หากทำได้ชีวิตเราและลูกหลานจะยั่งยืน ไม่ต้องไปอาศัยแผ่นดินเขาอยู่ ไม่ต้องถูกมองด้วยหางตาว่าเป็นคนอพยพ อยู่บ้านนี้ต้องลงมือทำ ลงมือปกป้อง ลงมือฟื้นฟู” ดร.สุเมธกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image