กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงบรรยายพิเศษ เรื่อง ‘ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง’ เป็นวันที่ 2

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงบรรยายพิเศษ เรื่อง ‘ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง’ เป็นวันที่ 2

เมื่อเวลา 13.02 น. วันที่ 19 มกราคม  ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เสด็จออก ณ ท้องพระโรง ตำหนักทิพย์พิมาน ทรงบรรยายพิเศษผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์)  เรื่อง  “ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง – Immuno-oncology” พระราชทานแก่ คณาจารย์ และนิสิต สังกัดคณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2564 จำนวน 50 คน

โดยในวันนี้ เป็นการบรรยายต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “การรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง (Cancer Immunotherapy: Immune Checkpoint Inhibitors)”  ซึ่งร่างกายสามารถกำจัดเซลล์มะเร็งในระยะเริ่มต้นได้ด้วยตนเอง

นอกจากนี้ ยังทรงอธิบายอย่างต่อเนื่องถึงกระบวนการปรับภูมิคุ้มกัน (Immunoediting) ซึ่งเริ่มจากการที่เซลล์มะเร็งถูกตรวจพบและทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกัน แต่ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมของเซลล์มะเร็งที่ยังไม่ถูกทำลาย ทำให้สามารถคงอยู่ต่อไปและพยายามปรับตัวอยู่ร่วมกับเซลล์ปกติ และต่อมามีการปรับตัวเพื่อหลบหนีจากระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เซลล์มะเร็งสามารถเจริญและแพร่กระจายออกไป เนื่องจากไม่มีการควบคุม หรือการกำจัดโดยระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งกลไกสำคัญที่ทำให้เซลล์มะเร็งสามารถหลบหนีจากการกำจัดของระบบภูมิคุ้มกัน ได้แก่ การกดระบบภูมิคุ้มกันโดยเซลล์มะเร็งเอง

Advertisement

โดยเกิดที่โมเลกุลของจุดตรวจภูมิคุ้มกัน (immune checkpoint molecules) บนผิวของเซลล์มะเร็ง  ไปทำปฏิกิริยากับตัวรับบนเม็ดเลือดขาวชนิด ที-เซลล์ (T cells) ที่มีบทบาทในการควบคุมการทำงานของระบบเม็ดเลือดขาวนี้ ทำให้สามารถยับยั้งเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที-เซลล์ที่จุดตรวจภูมิคุ้มกัน (immune checkpoints) และหลบหลีก (evade) จากการทำลายของระบบภูมิคุ้มกันได้

Advertisement

ดังนั้น  การยับยั้งการกด (suppression) ระบบภูมิคุ้มกันโดยเซลล์มะเร็ง โดยการใช้ยาซึ่งเป็นโมโนโคลนอล แอนตี้บอดี้ (monoclonal antibody) ไปยับยั้งการทำปฏิกิริยาที่จุดตรวจภูมิคุ้มกันนี้  จะทำให้เพิ่มการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่มีต่อเซลล์มะเร็งมากขึ้น ถือเป็นแนวทางใหม่ของการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง (cancer immunotherapy) ดังนั้น การพัฒนายา ตลอดจนกลไกในการทำงานของยากลุ่มนี้ จึงเป็นความหวังแนวทางการรักษาของผู้ป่วยโรคมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยการใช้แนวทางการรักษาโดยใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน และทรงยกตัวอย่างการใช้ยาในกลุ่มยับยั้งจุดตรวจภูมิคุ้มกัน 2 ชนิดร่วมกัน ซึ่งให้ผลการรักษามะเร็งที่ดีขึ้น แต่ในบางรายอาจจะมีอาการข้างเคียง(side effects) และ ความเป็นพิษ (toxicities) ในร่างกายขึ้นได้ ซึ่งในขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลผลการรักษาในระยะยาวด้วยการใช้ยากลุ่มนี้ ร่วมกับการรักษาแบบเคมีบำบัด (chemotherapy) ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน  ซึ่งอาจจะเพิ่มการตอบสนองในการต้านมะเร็งมากขึ้น อย่างไรก็ตามมีข้อควรระวังในการวางแผนการรักษา ซึ่งขึ้นอยู่ระยะ (phase) ของการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่เป็นเป้าหมาย  ตลอดจนขนาด (dose) ของยาที่ใช้ และระยะเวลา (schedule) ของการใช้ยาเป็นองค์ประกอบด้วย

พระกรุณาธิคุณของ “ทูลกระหม่อมอาจารย์” ที่ทรงบรรยายมาอย่างต่อเนื่องทั้ง 2 ครั้งนี้ ทรงมุ่งมั่นและตั้งพระทัยที่จะถ่ายทอดพระประสบการณ์และองค์ความรู้ต่าง ๆ อย่างเต็มพระกำลังความสามารถ เพื่อปูพื้นฐานภาพรวมของระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านมะเร็ง ตลอดจนการนำมาประยุกต์ใช้เพื่อแสวงหาแนวทางในการรักษาบำบัดโรคมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ และด้านสัตวแพทย์ในอนาคตกับการรักษามะเร็งทั้งในคนและสัตว์ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อันเป็นการสร้างคุณูปการต่อวงการสาธารณสุขไทยต่อไป

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image