47 ปี โครงการหลวง พระเมตตา ชุบชีวิตชาวเขา

ย้อนกลับไปเมื่อ 40-50 ปีก่อน หลายพื้นที่ในประเทศไทย ประชาชนยังประสบกับความยากลำบาก ทั้งในเรื่องความเป็นอยู่และการทำมาหาเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะใน “พื้นที่บนดอยสูง” อันห่างไกลความเจริญ

พื้นที่ยิ่งสูง ยิ่งทรมานเพราะความเหน็บหนาว แต่ด้วยน้ำพระราชหฤทัยแห่ง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เปรียบเสมือน “แสงอาทิตย์” ที่ส่องแสงความอบอุ่นมาสู่ “กลุ่มชาติพันธุ์” หรือ “ชาวเขา” เผ่าต่างๆ ให้เต็มไปด้วยความสุขและรอยยิ้ม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการหลวง และทรงเยี่ยมเยียนชาวเขาบนพื้นที่สูง โดยมี ม.จ.ภีศเดชตามเสด็จฯ ด้วย

เบื้องหลังสายธารแห่งน้ำพระราชหฤทัยอันชุ่มฉ่ำ ท่านภี-หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่รับสนองพระราชดำรินำพาพระเมตตาไปพระราชทานแก่ชาวเขาผ่านการดำเนินงานของ “มูลนิธิโครงการหลวง” ที่วันนี้โครงการหลวงเปรียบดั่ง “ต้นไม้ใหญ่” แผ่กิ่งก้านสาขาไปตามยอดดอยต่างๆ ให้ร่มเงาแก่พี่น้องชาวเขาได้พึ่งพิง

Advertisement

“โครงการหลวงปัจจุบันดำเนินโครงการมาถึง 47 ปีแล้ว”

หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง เปิด “วังประมวญ” ประทานสัมภาษณ์ถึงการดำเนินงานของโครงการหลวงและพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย

“โครงการหลวงเกิดขึ้นจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปทอดพระเนตรชีวิตของชาวเขา ไม่มีความเจริญแม้แต่นิดเดียว ไม่มีราชการ ไม่มีอะไรต่อมิอะไรบนนั้น ไปไหนก็ต้องเดิน อาหารก็ต้องหากินในนั้น ชาวบ้านทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่น แต่ว่าจน

Advertisement

“อันนี้ไม่เหมือนคนอื่นคิด อย่างฝรั่งบอกว่า Golden Triangle หรือสามเหลี่ยมทองคำ สามประเทศที่ปลูกฝิ่นร่ำรวยมาก แต่ไม่ใช่ความจริงเลย เป็นสามเหลี่ยมทองคำที่ยากจน คนรวยคือคนซื้อฝิ่น เพราะไปขายต่อๆ กันไป ยิ่งตอนท้ายๆ ยิ่งรวยใหญ่”

เมื่อทรงทราบว่า “ชาวเขาปลูกฝิ่นแต่ยากจน” จึงทรงมีพระราชดำริให้ตั้งโครงการหลวงขึ้นเมื่อปี 2512 เป็น “โครงการส่วนพระองค์” โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 2 แสนบาท สำหรับซื้อที่บริเวณดอยปุยหลังพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ใช้เป็นที่เริ่มต้นทำสถานีวิจัยผลไม้เมืองหนาว เป็นงบประมาณดำเนินงานต่างๆ และจัดซื้อที่ดิน ต่อมาเรียกว่า “สวนสองแสน” อยู่ใกล้กับหมู่บ้านแม้ว มีหัวหน้าชาวเขา 18 หมู่บ้าน มารับเครื่องมือการเกษตร มีอาจารย์อาสาสมัครจาก ม.เชียงใหม่ ม.เกษตรศาสตร์ และ ม.แม่โจ้ มาร่วมประชุมอบรมชาวเขาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี 2512 ถือเป็นปีต้นกำเนิดโครงการหลวง

“พระองค์รับสั่งกับผมว่า ให้นำผลไม้เมืองหนาวไปปลูกบนดอยและเอาลงมาขายข้างล่าง เมืองร้อน จะได้ราคาที่ดีมาก”

หลังจากรับสนองพระราชดำริมาแล้ว หม่อมเจ้าภีศเดชกล่าวว่า ได้เดินหน้าลุยงานทันที ภายใต้เป้าหมายการดำเนินงานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานว่าให้ช่วยชาวเขาเพื่อมนุษยธรรม ช่วยชาวไทยโดยลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ คือ ป่าไม้และต้นน้ำลำธาร กำจัดการปลูกฝิ่น รักษาดินและใช้พื้นที่ให้ถูกต้อง คือ ให้ป่าอยู่ส่วนที่เป็นป่า และทำไร่ ทำสวนในส่วนที่ควรเพาะปลูก อย่าให้สองส่วนนี้รุกล้ำซึ่งกันและกัน

โครงการหลวงแห่งแรกจึงกำเนิดขึ้นที่ “ดอยอ่างขาง” ต.ม่อนปิน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกฝิ่นที่มีคุณภาพดีที่สุดของไทยในเวลานั้น

หม่อมเจ้าภีศเดชเล่าว่า เมื่อก่อนอ่างขางมีหมู่บ้านชาวเขา 5-6 หมู่บ้าน มีชาวเขาทุกเผ่าอาศัยอยู่ร่วมกันเต็มไปหมด ทุกคนปลูกฝิ่น แต่ต่อมามีการสู้รบยิงกันบนนั้นของพม่ากับจีนฮ่อ พวกชาวบ้านก็หนีลงมาเกือบหมด

“ผมขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปดูพบว่ายังเหลือชาวเขาอีก 2 หมู่บ้าน ยังคงปลูกฝิ่นกันอยู่แต่ยังมีที่ว่างเยอะมาก จึงให้อาจารย์จาก ม.เกษตรศาสตร์ เป็นอาสาสมัครที่มาทำงานถวายด้วยกันมาดูว่าสามารถใช้พื้นที่ตรงนี้ทดลองปลูกผลไม้เมืองหนาวได้ไหม อาจารย์ก็บอกว่าใช้ได้”

แต่การจะเปลี่ยนให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่นและหันมาปลูก “พืชเมืองหนาว” ไม่ใช่เรื่องง่าย

หม่อมเจ้าภีศเดชเผยว่า ต้องใช้วิธีโน้มน้าวใจด้วยการเข้าไปเป็นเพื่อนกับชาวเขา โดยเดินเท้าขึ้นดอยไปเพียงคนเดียว ไม่พกอาวุธป้องกันตัวติดกาย ไม่มีผู้ติดตามเพื่อรักษาความปลอดภัย ดำรงตนอย่างธรรมดาที่สุด มีของเพียงไม่กี่อย่างที่มีราคาค่างวด เป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในการเดินทางไกลๆ ยากลำบาก และเต็มไปด้วยความหนาวเหน็บ ประกอบด้วย “กระเป๋าเป้” จากฝรั่งเศส “ถุงนอน” จากไต้หวัน และ “รองเท้าบู๊ตทหาร” เป็นของทหารอเมริกันที่ซื้อมาในสภาพมือสองที่สนามหลวง

“ผมเคยเป็นทหารอังกฤษสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเคยเป็นกรรมกรอยู่ที่อังกฤษ ชีวิตผมมันขึ้นลง จากเป็นคนชั้นสูง มาเป็นชั้นกลาง และมาเป็นชั้นต่ำ เป็นกุลีขุดดิน เคยเป็นมาหมด ตอนเป็นทหารผม

ต้องเดินไกล จึงมีความเชี่ยวชาญในการเดิน”

เพราะอย่างนี้จึงไม่รู้สึกกลัวหรือกังวลอะไรกับงานนี้ ตรงกันข้าม กลับเป็นเรื่อง “สนุก”

“ผมไม่ได้คิดอะไรเลย การเดินไปตามดอยที่ไม่มีใครอื่นไปเลย ผมสนุกนะ มันตื่นเต้นดี ไม่มีอะไรน่ากลัว อาวุธไม่มี มีแต่มีดพกที่ใช้ตัดนู่นตัดนี่เท่านั้น สะพายเป้ 20 กิโลกรัม เดินเข้าหมู่บ้านอีก 3 ชั่วโมง เป็นเรื่องเล็ก ผมเดินได้ทั้งวัน” ท่านภีเล่าอย่างอารมณ์ดี

“ส่วนการเข้าไปหาชาวบ้าน ผมเห็นว่าถ้าเราจะไปทำงานกับเขา ต้องเป็นเพื่อนกับเขา ไม่ใช่เป็นข้าราชการ สั่งให้ทำนู่นทำนี่ เพราะการเป็นเพื่อน เขาจะฟังเรา ถกเถียงกันได้ แต่ถ้าเป็นนายสั่งเขาเถียงอะไรไม่ได้ อีกทั้งความเป็นเพื่อนจะทำให้เขารู้สึกว่า เราไม่เอาเปรียบเขา ถ้าบอกว่าจะช่วย เราก็จะช่วยจริงๆ”

เมื่อเข้าไปอย่างเพื่อน ไปกินไปนอนร่วมกับชาวเขา จึงทำให้ได้รับความเชื่อใจอย่างรวดเร็ว

“พอคุ้นเคยกันแล้ว ผมก็เอาถั่วแดงหลวงไปให้เขาดู บอกว่าพระเจ้าอยู่หัวอยากให้ทดลองปลูกแทนฝิ่น และถ้าผลผลิตออกมาจะช่วยเรื่องขายให้ เขาก็บอกกลับมาว่า ปู่เขาปลูกฝิ่น พ่อก็ปลูกฝิ่น ตัวเขาเองก็ปลูกฝิ่น แต่ดูสิ เขายากจน ลูกเขาไม่มีอาหารกินอย่างเพียงพอ ดังนั้นเขาจะรับถั่วพระเจ้าอยู่หัวไปปลูก”

เหนือสิ่งอื่นใดของความไว้วางใจ ท่านภีบอกว่า เพราะชาวเขาทุกคนรู้ว่า “ผมเป็นลูกน้องพระเจ้าอยู่หัว

“ผมเป็นข้าราชบริพาร ตอนเสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรผมก็เดินอยู่กับพระองค์ท่าน ทรงเห็นเขาปลูกฝิ่น ก็ไม่ได้ทรงว่าอะไรเลย รับสั่งว่ามันผิดกฎหมาย แต่ถ้าจับเข้าคุกก็ไม่มีคุกใหญ่พอ เพราะฉะนั้นเราต้องหาพืชอื่นมาให้เขาปลูกแทน เขาเห็นว่าผมทำงานถวาย พอพูดอะไรกับเขา โดยมากเขาจะเชื่อ

“อย่างสตรอเบอรี่ บอกว่าพระเจ้าอยู่หัวอยากให้ลองปลูก ก็มีชาวเขา 3-4 คนอาสาปลูก เราจะส่งนักวิชาการไปให้คำแนะนำและสาธิตการปลูก พอสุกก็เอาไปขายให้ ช่วยเขาทุกขั้นตอน ได้เงินมาก็เอาไปให้ทั้งหมด พอคนที่เหลือรู้ว่าได้เงินเท่าไหร่ ปีต่อมาทุกคนขอปลูกสตรอเบอรี่หมดเลย”

โครงการหลวงเริ่มพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกระทรวงเกษตร สหรัฐอเมริกา ในการวิจัยการเกษตรบนที่สูงปีละประมาณ 20 ล้านบาท รวมทั้งไต้หวันและมิตรประเทศต่างๆ ทูลเกล้าฯถวายพันธุ์พืชเมืองหนาว ทำให้มีองค์ความรู้ด้านการเกษตรเพิ่มากขึ้น โดยเฉพาะการศึกษาวิจัยเพื่อหาชนิดและพันธุ์พืชที่เหมาะสมต่อการปลูกบนพื้นที่สูง การศึกษาวิธีการปลูก และการปฏิบัติรักษา รวมทั้งงานวิจัยด้านอื่นๆ เช่น สตรอเบอรี่ กาแฟอาราบิก้า พีช สาลี่ พลับ พลัม บ๊วย อโวคาโด กีวี เสาวรส และอีกมากมาย

ณ วันนี้ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงมีทั้งหมด 38 แห่ง กระจัดกระจายอยู่ตามดอยในภาคเหนือตอนบน บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน และพะเยา จากผลสำเร็จนี้ เมื่อปี 2537 โครงการควบคุมยาเสพติดของสหประชาชาติ (UNDCP) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองเพื่อสดุดีพระเกียรติคุณในการแก้ปัญหายาเสพติด ส่งเสริมให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่นปลูกพืชอื่นทดแทน กล่าวได้ว่าโครงการหลวงเป็น “โครงการปลูกพืชทดแทนฝิ่นแห่งแรกของโลก”

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทุกปีพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯไปทรงติดตามการดำเนินงานไม่เคยขาด โดยเสด็จฯมาประทับที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ 3 เดือน แล้วเสด็จฯไปทรงเยี่ยมชาวบ้านตามดอยต่างๆ เสด็จฯไปทั่ว เวลาทรงเยี่ยมชาวบ้านจะทรงคุกเข่าลงพูดคุยกับเขาอย่างเป็นกันเอง”

“มีอยู่ครั้งหนึ่ง ชาวเขาทูลเชิญขึ้นไปบนบ้าน แล้วก็เอาหมอนเอาที่นอนมาวางให้ประทับ แล้วเอาเหล้าทำเองมาให้เสวย พระองค์ท่านก็เสวยกับเขาอย่างดี ทั้งที่ถ้วยนั้นไม่ค่อยสะอาด ซึ่งผมเห็นถ้วย ผมก็กระซิบให้เสวยนิดหนึ่ง แล้วส่งที่เหลือมาให้ผม แต่ไม่ทรงทำ ทรงแกล้งรับสั่งว่าเหล้านี่ฆ่าเชื้อโรคหมด ถ้าไม่สะอาดก็ไม่เป็นไร แล้วก็เสวยหมดเลย” ท่านภีเล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นที่ยังจดจำได้แม่นยำ

กระทั่งปัจจุบัน ผลผลิตต่างๆ ประกอบด้วย ผักปลอดสารพิษ สมุนไพร ถั่วและธัญพืช ผลไม้ เห็ด ดอกไม้เมืองหนาว ผลิตผลปศุสัตว์ ผลิตผลประมง ผลิตผลป่าไม้ ดอกไม้แห้ง ผลิตภัณฑ์จากแฝก ไม้กระถาง และผลิตภัณฑ์แปรรูปในชื่อการค้าโครงการหลวง สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงให้ชาวเขา ทำให้เลิกการทำไร่เลื่อนลอย และการปลูกฝิ่น หันมาประกอบอาชีพเป็น “ชาวสวน” จำนวนมาก

“เรามีพืชผักและผลไม้มากมายให้ชาวบ้านปลูก ผัก 80 ชนิด เป็นผักที่ไม่เคยมีในเมืองไทย เป็นผักที่ปลูกในเมืองหนาว และวันหนึ่งขายได้ 2 ล้านบาท หักค่าขนส่งอะไรต่างๆ หมดแล้ว เงินก็เป็นของชาวเขาทั้งหมด”

นับว่าโครงการหลวงได้เข้ามาชุบชีวิตชาวเขาจากมีชีวิตยากจนแร้นแค้นให้ลืมตาอ้าปากมีคุณภาพชีวิตที่ดี

“เมื่อเร็วๆ นี้ ผมไปหมู่บ้านที่แม่แฮ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่พระเจ้าอยู่หัวทรงเคยประทับเฮลิคอปเตอร์ผ่าน และทอดพระเนตรลงมาเห็นหมู่บ้านข้างล่าง จึงให้ผมเข้าไปดูและแนะนำให้ปลูกนั่นปลูกนี่ทุกวันนี้

ที่นี่มีถนนลาดยางอย่างดี ปลูกผักเป็นขั้นบันได และชาวบ้านที่นี่ทุกคนมีรถยนต์ใช้ทุกบ้าน

“หรืออย่างที่อ่างขาง ปีหนึ่งๆ 1 ครอบครัวปลูกสตรอเบอรี่ได้ 3-6 แสนบาทต่อ 1 ไร่ ทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาก การได้เห็นชาวเขามีชีวิตที่ดีขึ้น เราก็ดีใจ”

จะว่าไปแล้ว โครงการหลวงเป็นผู้ริเริ่มสิ่งใหม่ในเมืองไทยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการนำผักผลไม้เมืองหนาวที่ไม่เคยมีในเมืองไทยมาปลูกและจัดจำหน่าย วิธีการเพาะปลูกแบบออร์แกนิค กำลังเป็นที่นิยมสำหรับคนรักสุขภาพในเวลานี้ หรือการอนุรักษ์ป่าไม้ให้ชาวบ้านอยู่ร่วมกับป่าได้

“ตอนนี้คนไทยไม่ต้องซื้ออาหารจากเมืองนอก โดยเฉพาะผักผลไม้ นอกจากโครงการหลวงจะทำประโยชน์ให้กับชาวเขาแล้ว เรายังทำให้คนข้างล่างได้กินของอร่อยกว่าเดิมเยอะ ได้กินอาหารที่มีประโยชน์ เพราะเราปลูกผักปลอดสารพิษ ส่วนเรื่องการทำลายป่าก็ไม่มี เราทำป่าชาวบ้านให้ชาวบ้านปลูกและตัดไม้เองได้”

ไม่เพียงเท่านั้นความสำเร็จของโครงการหลวงยังเผยแพร่องค์ความรู้ไปพัฒนาประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว พม่า ภูฏาน และมีประเทศต่างๆ เช่น โคลอมเบีย เข้ามาขอดูงานเป็นระยะๆ โครงการหลวงก็ได้พัฒนาตัวเองตลอดเวลา เพื่อให้เป็นโครงการที่ยั่งยืน

“โครงการของเราเป็นแห่งเดียวในโลกที่ทำแล้วสำเร็จ ผลสัมฤทธิ์ที่ได้คือชาวบ้านรวย บ้านเมืองเจริญ มีถนน ไฟฟ้า และคนข้างล่างได้ประโยชน์ได้กินของอร่อยๆ ป่าไม้บนดอยไม่ถูกทำลาย นี่คือความสำเร็จของโครงการหลวงจากพระเมตตาของพระเจ้าอยู่หัว”

กล่าวได้ว่าทุกวันนี้ หม่อมเจ้าภีศเดชยังคงเดินทางไปทำงานที่เชียงใหม่ 3-4 วันต่อสัปดาห์ น้อยคนนักจะรู้ว่า ตลอด 47 ปี ของการทำงานในโครงการหลวง หม่อมเจ้าภีศเดชทำงานในฐานะ “อาสาสมัคร” ไม่รับเงินเดือน เช่นเดียวกับนักวิชาการและเจ้าหน้าที่อีกหลายคน

“พระองค์รับสั่งให้ทำงานโครงการหลวงแบบปิดทองหลังพระ คือตั้งใจทำงานอย่างเงียบๆ ไม่โฆษณาออกตัว เพราะเป็นโครงการส่วนพระองค์ และเป็นโครงการต้นแบบที่ทรงริเริ่มเพื่อให้รัฐบาลเอาไปสานต่อ” ท่านภีกล่าว และว่า “40 กว่าปีที่ทำมา ผมทำด้วยความศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และศรัทธาในงาน ไม่มีการน้อยใจ เพราะเราไม่ได้ทำเพื่อจะใหญ่โต เราไม่ได้เป็นราชการ เราทำถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“เมื่อเร็วๆ นี้ พระองค์ท่านรับสั่ง ‘ท่านภีทำดี’ เป็น 3 คำที่ผมดีใจมาก ไปบอกพรรคพวก พวกเขาดีใจใหญ่ เพราะนี่ไม่ใช่งานที่ท่านภีทำคนเดียว แต่เป็นงานของพวกเขาด้วย

“ไม่ใช่เฉพาะผู้ปฏิบัติงานเท่านั้นที่ดีใจ เพราะในพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสนพระราชหฤทัยในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตลอดระยะเวลาการครองราชย์ 70 ปี”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image