พระบรมราโชวาท “คำสอนของพ่อ”

ตลอดเวลาที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระบรมราโชวาทอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะในเหตุการณ์สำคัญหรือวิกฤตการณ์ใดๆ ที่คนไทยเผชิญ หากรู้จักน้อมนำพระราชดำรัสหรือพระบรมราโชวาทของพระองค์มาใช้ โอกาสรอดพ้นภัยก็มีสูง

เพราะพระองค์มีพระราชดำรัสที่เข้ากับสถานการณ์ทุกยุคทุกสมัย

หากติดตามฟังพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทมาตลอดจะพบว่า ทุกพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทล้วนเป็น “คำสอนของพ่อ” ที่มีคุณค่ายิ่ง

นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวไว้ในรายงานพิเศษ “คำสอนพ่อ” ของหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2554 ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีกระแสพระราชดำรัสหรือพระบรมราโชวาทในโอกาสสำคัญ 3 โอกาส

โอกาสแรก พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ที่พระราชทานพระบรมราโชวาทให้แก่บัณฑิต ซึ่งมักเป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองและเหตุการณ์สำคัญในโลก

Advertisement

โอกาสที่ 2 กระแสพระราชดำรัสในวันที่ 4 ธันวาคม และช่วงวันขึ้นปีใหม่ เป็นกระแสพระราชดำรัสที่ถ่ายทอดไปสู่ประชาชน เช่น เมื่อ พ.ศ.2541-2542 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตการเงิน จะมีพระราชดำรัส เรื่องความพอเพียง ความสุขจากการไม่เป็นหนี้ใคร

โอกาสที่ 3 กระแสพระราชดำรัสหรือพระบรมราโชวาทที่พระราชทานให้กับกลุ่มบุคคลเฉพาะในวาระ ตรงนี้จะมีความเฉพาะและมีคุณค่ามากๆ

นพ.เกษมยกตัวอย่างเรื่องการน้อมนำหลักทรงงาน 3 คำสั้นๆ มาใช้ นั่นคือ หลักคิด หลักวิชา และหลักปฏิบัติ ว่า ก่อนจะริเริ่มโครงการใดๆ ต้องยึดหลักคิด ทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม หากกระทบกับคนส่วนน้อยต้องชี้แจงให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการที่ได้ประโยชน์นั้นทำให้คนส่วนน้อยเสียประโยชน์ จะต้องชดเชยให้อย่างไร ต่อไปคือหลักวิชา ต้องศึกษาอย่างถ่องแท้

Advertisement

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นตัวอย่าง เพราะพระองค์ทรงอ่านหนังสือเยอะมาก ก่อนที่พระองค์จะพระราชทานคำแนะนำให้กับรัฐบาลหรือประชาชน ทรงศึกษาจนกระจ่างก่อน”

สุดท้าย คือ หลักปฏิบัติ โดยมีหลักทรงงานอยู่ประโยคหนึ่ง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) พิมพ์เผยแพร่ คือ ประหยัด เรียบง่าย ประโยชน์สูงสุด

จริงดังที่ นพ.เกษมเล่า หากคนไทยน้อมนำ “คำสอนพ่อ” มาใช้ในชีวิต ย่อมทำให้ชีวิตมีความสุข

ดังพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท และพระราชกระแสส่วนหนึ่งดังต่อไปนี้

ในหลวง

“…การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งดงามบริบูรณ์ไม่ได้” พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2506

“…การทำความดีนั้น โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจและความต้องการของมนุษย์ จึงทำได้ยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่ว ซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว…” พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตร โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2529

“…ความเข้มแข็งในจิตใจนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องฝึกฝนแต่เล็กเพราะว่าต่อไป ถ้ามีชีวิตที่ลำบาก ไปประสบอุปสรรคใดๆ ถ้าไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีความรู้ ไม่มีทางที่จะผ่านอุปสรรคนั้นได้ เพราะว่าถ้าไม่เจออุปสรรคอะไร ก็ไม่มีอะไรที่จะมาช่วยเราได้ แต่ถ้ามีความรู้ มีอัธยาศัยที่ดี และมีความเข้มแข็ง ในกาย ในใจ ก็สามารถที่จะผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ นั้นได้…” พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะครูและนักเรียนโรงเรียนราชวินิต วันที่ 31 ตุลาคม 2518

“…คุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติมีอยู่สี่ประการ ประการแรก คือการรักษาความซื่อสัตย์ ความจริงใจต่อตัวเองที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกฝนตนเองให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจความดีนั้น ประการที่สาม คือ การอดทน อดกลั้น และอดออมที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริตไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด

ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตนเอง เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง”

คุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงามขึ้นทั่วกันแล้ว จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไปได้ดังประสงค์” พระราชดำรัสในพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เนื่องในการพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ.2525

ในหลวง

“…ความพอเพียงนี้ ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันมากเกินไป แต่ในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้แต่ในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก…มีเงินเดือนเท่าไหร่ จะต้องใช้ภายในเงินเดือน ส่วนการกู้เงินนั้น เงินจะต้องให้เกิดประโยชน์มิใช่กู้สำหรับไปเล่น ไปทำอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์…” พระราชดำรัสในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540

“…เศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ สองอย่าง จะทำความเจริญให้แก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน ต้องไม่พูดมาก ต้องไม่ทะเลาะกัน ถ้าทำโดยเข้าใจกัน เชื่อว่าทุกคนจะมีความพอใจได้ คำว่า พอเพียง มีความหมายว่า พอมีกิน เศรษฐกิจพอเพียง หมายความว่า ผลิตอะไร มีพอที่จะใช้ ไม่ต้องขอยืมคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง คำว่าพอ คนเราถ้าพอในความต้องการ มันก็มีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย พอเพียงอาจมีมาก อาจมีของหรูหราก็ได้ แต่ต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น…” พระราชดำรัสพระราชทานในโอกาสที่คณะบุคคลเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2541

“…เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานของความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มไปด้วยซ้ำ” พระราชดำรัสจากวารสารชัยพัฒนาประจำเดือนสิงหาคม 2542

ในหลวง

แม้ในช่วงที่ประทับโรงพยาบาลศิริราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นในพระราชพิธีออกมหาสมาคม พระราชพิธีวันเฉลิมพระชนมพรรษา และในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งพระราชทานทุกปีจนถึงปี 2559

“บ้านเมืองของเราเป็นสุขสืบมาช้านาน เพราะเรามีความปึกแผ่นในชาติ และต่างบำเพ็ญกรณียกิจตามหน้าที่ให้สอดคล้องเกื้อกูลกัน เพื่อประโยชน์ของชาติ คนไทยทุกคนจึงควรจะตระหนักในข้อนี้ให้มาก และตั้งใจประพฤติตัวปฏิบัติงานให้สมฐานะและหน้าที่ เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ส่วนรวม คือ ความมั่นคงปลอดภัยของชาติบ้านเมืองไทย” พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2556

“…ความปรารถนาของทุกๆ คน คงไม่แตกต่างกันนัก คือ ต้องการให้ตนเอง มีความสุข ความเจริญ และให้บ้านเมือง มีความสงบ ร่มเย็น ในปีใหม่นี้ จึงขอให้ท่านทั้งหลาย รักษาสุขภาพกาย สุขภาพจิต ให้สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มกำลัง ข้อสำคัญ จะคิดจะทำสิ่งใด ให้นึกถึงส่วนรวม และความเป็นไทยไว้เสมอ งานของตน และงานของชาติ จักได้ดำเนินก้าวหน้าไป โดยถูกต้อง เที่ยงตรง ไม่ติดขัด และบรรลุถึงประโยชน์ เป็นความสุข ความเจริญ และความสงบร่มเย็น ดังที่ทุกคนตั้งใจปรารถนา…” พระราชดำรัสในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2557

“…ขอให้ประชาชนชาวไทยตั้งใจให้เที่ยงตรงแน่วแน่ ไม่ว่าจะทำการสิ่งใดให้คิดให้ดีให้รอบคอบและรอบด้าน เพื่อให้การกระทำนั้นบังเกิดผลเป็นความสุขความเจริญที่แท้จริงและยั่งยืนทั้งแก่ตนเองและประเทศชาติ…” พระราชดำรัสเนื่องในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2558

สคส.

พร้อมกันนี้ พระองค์พระราชทาน ส.ค.ส. ปีใหม่ 2558 ซึ่งเป็นภาพในพระราชนิพนธ์พระมหาชนก ฉบับการ์ตูน เหตุการณ์ขณะเรือที่กำลังแล่นไปสุวรรณภูมิล่ม พระมหาชนกต้องอดทนว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทรนานถึง 7 วัน 7 คืน และนางมณีเมขลาได้มาอำนวยพรให้

กลางภาพ ส.ค.ส. มีพรพระราชทานจากพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ว่า “ขอจงมีความเพียรที่บริสุทธิ์ ปัญญาที่เฉียบแหลม กำลังกายที่สมบูรณ์”

“…ความสุขความเจริญนี้ แม้เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง แต่ในวิถีชีวิตของคนเรานั้น ย่อมต้องมีทั้งสุขและทุกข์ ทั้งความสมหวังและผิดหวังเป็นปรกติธรรมดา ทุกคนจึงต้องเตรียมตัว เตรียมใจ และเตรียมกายให้พร้อม อย่าประมาท ในปีใหม่นี้จึงขอให้ท่านทั้งหลายได้รักษาและสร้างเสริมสุขภาพของตนให้สมบูรณ์ ให้มีกำลังกายที่แข็งแรง มีกำลังใจที่เข้มแข็งหนักแน่น และมีสติรู้เท่าทันอยู่เสมอ จักได้สามารถนำพาตนให้ผ่านพ้นสถานการณ์ต่างๆ อันไม่พึงประสงค์ จนบรรลุถึงความสุขความเจริญ และความสำเร็จได้ ดั่งที่ตั้งใจปรารถนา…” พระราชดำรัสเนื่องในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2559

สคส ในหลวง2

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ยังได้พระราชทาน ส.ค.ส. ในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2559 โดยเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ครึ่งพระองค์ ฉลองพระองค์เชิ้ตด้านใน ฉลองพระองค์คลุมสีขาว ปักภาพคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง กลางภาพ ส.ค.ส. มีพรพระราชทานว่า “ให้มีกำลังกายที่แข็งแรง มีกำลังใจที่เข้มแข็ง หนักแน่น และมีสติรู้เท่าทันอยู่เสมอ”

หากคนไทยยึด “คำสอนพ่อ” เป็นหลักในการดำเนินชีวิตก็เท่ากับมหามงคลเกิดขึ้นแก่ตัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image