เลาะวังสระปทุม ฟังพระสุรเสียง “พระราชินี” ใน “สัปตมวรรตบรมขัตติยราชินีนาถ”

ปี2559 นับเป็นปีมหามงคลของปวงชนชาวไทย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าจัดนิทรรศการ “สัปตมวรรตบรมขัตติยราชินีนาถ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเคียงคู่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นเวลายาวนานกว่า 60 ปีlad01050159p1

กล่าวได้ว่าทรงสืบสานพระราชปณิธานและพระราชกรณียกิจสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เพื่อประเทศชาติและอาณาประชาราษฎร์

นิทรรศการครั้งนี้จัด ณ หอนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า วังสระปทุม โดยก้าวแรกที่เข้าไปในสถานที่แห่งนี้ ก็ได้พบกับบรรยากาศอันร่มรื่นของต้นไม้น้อยใหญ่

เมื่อเดินเข้าไปในหอนิทรรศการ สิ่งแรกที่ได้พบคือ “พระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ” ในฉลองพระองค์ชุดไทยที่พระสิริโฉมยิ่ง

Advertisement

สำหรับเนื้อหาของนิทรรศการ จัดแสดงเนื้อหาสาระเป็น 4 ภาค ได้แก่ ภาคแรก “ปทุมนิวาสราชปวัตติ” แสดงพระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับวังสระปทุมคือพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสเมื่อ 65 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้โปรดเกล้าฯให้จัดขึ้น ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม อันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าในปัจจุบัน และพระราชกิจในการอภิบาลอบรมพระราชโอรสและพระราชธิดา

ภาคที่สอง “สิริวัฒนรัชกรณียกิติ” แสดงพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติบำเพ็ญเคียงคู่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและทรงดำเนินรอยตามพระยุคลบาทสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทั้งด้านการแพทย์ สาธารณสุข การศึกษา การอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ การสังคมสงเคราะห์ และการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย

ภาคที่สาม “พระคุณพิสิฐสรรพสกล” จัดแสดงถึงพระเกียรติยศพระเกียรติคุณที่ทรงได้รับการแซ่ซ้องสดุดีจากนานาชาติ โดยการทูลเกล้าฯถวายรางวัลและปริญญากิตติมศักดิ์ในฐานะที่ทรงอุทิศพระองค์บำเพ็ญพระราชกรณียกิจเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ

Advertisement

และ ภาคที่สี่ “พระการุณย์ดลสรรพการ” แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณต่อมวลมนุษยชาติ ในส่วนพสกนิกรชาวไทย ได้ทรงดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข โภชนาการ การแพทย์ การอาชีพ ซึ่งมีพระอัจฉริยภาพในการทรงอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมให้คงอยู่คู่ชาติไทย

แม้แต่ชาวต่างชาติที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ก็ทรงปฏิบัติต่อพวกเขาเหล่านั้นด้วยพระราชหฤทัยเปี่ยมด้วยพระเมตตากรุณาธรรมในฐานะสภานายิกาสภากาชาดไทย โดยไม่เลือกชาติ ภาษา ศาสนา และไม่เลือกที่รักมักที่ชัง จนที่เป็นยกย่องสรรเสริญและประกาศพระเกียรติคุณไปในสากลประเทศ

โอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดนิทรรศการพร้อมทอดพระเนตร โดย คุณชวลี อมาตยกุล เลขานุการมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นผู้ถวายรายงาน

คุณชวลีกล่าวว่า สัปตมวรรตบรมขัตติยราชินีนาถ โดย สัปต แปลว่า 7 จัดขึ้นเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา พระราชกรณียกิจของพระองค์ทรงดำเนินรอยตามสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าใน 4 ด้าน ซึ่งพระองค์ไม่ได้ทรงช่วยประชาชนในด้านใดด้านหนึ่ง แต่ทรงช่วยทั้งด้านการศึกษา ด้านคนไข้ในพระราชานุเคราะห์ ด้านส่งเสริมวัฒนธรรม งานศิลปาชีพ งานโขน

lad01050159p3
“ความโดดเด่นของนิทรรศการครั้งนี้ นับว่าโดดเด่นในทุกๆ ด้าน แม้เวลานี้พระองค์จะทรงพระชรา ไม่ได้เสด็จฯเยี่ยมราษฎรเฉกเช่นสมัยก่อน แต่ว่างานที่ทรงริเริ่มไว้ไม่ได้หยุดแค่นั้น กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถก็ยังดำเนินงานต่อ พระราชโอรส พระราชธิดา ทรงงานแทนพระองค์ เมื่อเจอคนไข้ เจอนักเรียน ก็ส่งมาที่กองราชเลขานุการฯ ซึ่งทางกองก็จะดำเนินการตามสิ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงวางรากฐานเอาไว้ และบางครั้งโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงงานแทนพระองค์ เมื่อกลับมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะทรงนำผลการดำเนินงานขึ้นกราบบังคมทูล พระองค์ก็จะพระราชทานพระราชวินิจฉัยมาว่าจะให้ทำอย่างไร ก็จะสืบต่อกันมาทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ”

นิทรรศการครั้งนี้เป็นนิทรรศการ “มีชีวิต” เพราะได้นำเทคโนโลยี “คิวอาร์โค้ด” (QR Code) มาเพิ่มความน่าสนใจในตัวนิทรรศการ ผู้เข้าชมเพียงนำแท็บเล็ตที่ทางผู้จัดงานเตรียมไว้ให้ไปสแกนคิวอาร์โค้ดในบอร์ดนิทรรศการ ก็จะได้ยินทั้งเสียง เห็นทั้งภาพเคลื่อนไหว ที่บอกเล่าพระราชกรณียกิจต่างๆ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

“เรามีคิวอาร์โค้ด แท็บเล็ต มีหูฟัง เพื่อนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ที่พระองค์ทรงทำอะไรเพื่อประเทศชาติและชาวโลกซึ่งมีมากมายเหลือเกิน แต่ไม่ค่อยมีใครรู้”

ทั้งนี้ คิวอาร์โค้ดมีทั้งหมด 45 จุด ใครสนใจข้อมูลจุดไหนก็สามารถสแกนคิวอาร์โค้ดดูตรงนั้นได้เลย และอีกหนึ่งความพิเศษ ผู้เข้าชมจะได้ฟังพระสุรเสียงของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วย

“ดิฉันทำงานถวายมาร่วม 40 ปี ได้เห็นทุกพระองค์ทรงงานหนักแค่ไหนเพื่อราษฎร ดิฉันไม่เคยเห็นว่าทุกพระองค์ทรงทำอะไรเพื่อพระองค์เอง แต่จะทรงนึกถึงแต่ราษฎรทั้งนั้น” คุณชวลีทิ้งท้าย

นิทรรศการเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ถึง 31 มีนาคม ทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00-15.00 น. การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ต้องทำการนัดหมายล่วงหน้า ติดต่อนัดหมายและขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร 0-2252-1965-67 ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 150 บาท นักเรียน/นักศึกษา 50 บาท

เมื่อชมนิทรรศการจบแล้ว สิ่งที่ได้รับรู้คือ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระเมตตาต่อปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ และประทับใจยิ่งนัก เมื่อได้ฟังพระสุรเสียงของพระองค์ที่ทรงมีรับสั่งถึงการทรงริเริ่มงานศิลปาชีพขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือประชาชน

นับเป็นนิทรรศการอันทรงคุณค่าและหาชมได้ยากยิ่ง เพราะไม่บ่อยครั้งนักที่จะได้ชมนิทรรศการที่จัดขึ้นใน “วังสระปทุม” สถานที่ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image