พระมหากรุณาธิคุณ โครงการน้ำบาดาลขนาดใหญ่ พสกนิกรชื่นใจ-เปี่ยมสุข มีน้ำใช้อย่างยั่งยืน

พระมหากรุณาธิคุณ โครงการน้ำบาดาลขนาดใหญ่ พสกนิกรชื่นใจ-เปี่ยมสุข มีน้ำใช้อย่างยั่งยืน

ด้วยทรงห่วงใยพสกนิกรที่ประสบกับปัญหาภัยแล้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับ “โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง” ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 15 โครงการ ครอบคลุม 11 จังหวัด เป็น “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนราษฎรที่ประสบภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และใช้ในการเกษตรได้ตลอดทั้งปี

ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบ นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการว่า ประมาณปีเศษที่ผ่านมา มีผู้ใหญ่ในสำนักพระราชวังมาขอข้อมูลด้านน้ำบาดาล เพราะอยากหาวิธีแก้ปัญหาภัยแล้งให้หมดไปจากประเทศไทย และอยากให้ประชาชนมีน้ำสะอาดอุปโภคบริโภคอย่างพอเพียง ราคาไม่สูง รวมทั้งมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง เพราะในช่วงฤดูแล้งประชาชนในชนบทต้องจ่ายค่าน้ำในราคาที่สูงกว่าคนกรุงเทพฯ มาก อีกทั้งบางพื้นที่ ประชาชนไม่มีน้ำอาบ โดยบางคนไม่ได้อาบน้ำนานเป็นสัปดาห์

  “ทางกรมฯ ได้ส่งเอกสารข้อมูลทางวิชาการให้กับสำนักพระราชวังเกี่ยวกับน้ำบาดาล เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งน้ำบาดาลในประเทศไทยมีมากกว่าน้ำผิวดินจำนวนมหาศาล ถ้าเทียบกับจำนวนเขื่อนทุกเขื่อนในประเทศที่กักเก็บน้ำได้ 7 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ประเทศไทยมีปริมาณน้ำบาดาลที่กักเก็บอยู่ใต้ดิน มากถึง 1.1 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร”

พระมหากรุณาธิคุณ โครงการน้ำบาดาลขนาดใหญ่ 15 โครงการ 11 จังหวัด พสกนิกรชื่นใจ-เปี่ยมสุข มีน้ำใช้อย่างยั่งยืน
พระมหากรุณาธิคุณ โครงการน้ำบาดาลขนาดใหญ่ 15 โครงการ 11 จังหวัด พสกนิกรชื่นใจ-เปี่ยมสุข มีน้ำใช้อย่างยั่งยืน

จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว นำมาซึ่ง “15 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” โดยเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ทรงเปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.หนองฝ้าย อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี

Advertisement

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ฉายภาพวันแห่งความทรงจำว่า ผมมีโอกาสถวายงานเกี่ยวกับวิชาการในนิทรรศการ

  “พระองค์ทอดพระเนตรนิทรรศการอย่างสนพระราชหฤทัย และทรงมีพระราชดำริผ่านทางผู้ใหญ่ของสำนักพระราชวังว่า ทรงมีพระราชประสงค์ให้ทั้ง 15 โครงการเป็นโครงการที่ยั่งยืน ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ และให้ดูแลทำนุบำรุงรักษาระบบให้ประชาชนได้ใช้ตลอดเวลา”

 

Advertisement

น้ำบาดาล คือ ความมั่นคงของชีวิต

นายศักดิ์ดา กล่าวว่า  ประเทศไทยใช้น้ำผิวดินเป็นหลัก ในอดีตที่ผ่านมาไม่มีปัญหา เพราะฝนตกต้องตามฤดูกาล แม่น้ำลำคลองมีน้ำไหลตลอดทั้งปี น้ำสะอาดและมีคุณภาพ แต่ปัจจุบัน เนื่องจากป่าหมดน้ำไหลเร็ว ช่วงหน้าแล้ง น้ำไม่มี อีกทั้งคุณภาพน้ำก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้ ทำให้หลายพื้นที่ในหน้าแล้งขาดแคลนน้ำ ไม่มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตร

“น้ำบาดาลเข้ามาช่วยชาวบ้านให้มีน้ำใช้อย่างมั่นคง โดยกรมฯจะไปทำในพื้นที่ทุรกันดาร ไม่มีน้ำประปา ขาดแคลนน้ำผิวดิน หรือบางที่มีน้ำผิวดินแต่น้ำสกปรก ไม่สะอาด มีสารเคมี ประชาชนในพื้นที่มีความต้องการ และพร้อมดูแลระบบ”

อธิบดีฯ เผยอีกว่า ปัจจุบันกรมฯ มีทีมสำรวจน้ำใต้ดินซึ่งเป็นนักธรณีวิทยาที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ และทีมขุดเจาะน้ำใต้ดินที่เป็นวิศวกรที่มีความรู้ความชำนาญ และมีเครื่องมือทันสมัยในการดำเนินงาน ทำให้ใช้เวลาน้อยที่สุด 1 สัปดาห์ และมากที่สุด 2-3 เดือน ในการสำรวจหาแหล่งน้ำใต้ดินให้ประชาชน อีกทั้งยังใช้งบประมาณไม่สูงอีกด้วย

“อย่างที่ ต.หนองฝ้าย อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี โครงการน้ำบาดาลฯ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เปิดนั้น อยู่ในเขตเงาฝน ทำให้ฝนตกน้อย แห้งแล้ง เนื่องจากไม่มีลำน้ำลำห้วย หรือแม่น้ำไหลผ่าน เมื่อกรมฯ ไปสำรวจก็พบแหล่งน้ำที่มีขนาดถึง 500 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณเกือบเท่ากับเขื่อนป่าสัก 1 เขื่อน เป็นแอ่งตะกอนโบราณยุคควอเทอร์นารี่ ลักษณะเป็นทางน้ำโบราณ ประกอบด้วยกรวดทราย อายุน้ำบาดาล 7,530 ปี ยาว 12,000 เมตร กว้าง 6,000 เมตร ลึก 200 เมตร มีน้ำบาดาล 4 ชั้น โครงการนี้ใช้เวลาสำรวจไม่ถึง 1 เดือน และใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปี”

พระมหากรุณาธิคุณ โครงการน้ำบาดาลขนาดใหญ่ 15 โครงการ 11 จังหวัด พสกนิกรชื่นใจ-เปี่ยมสุข มีน้ำใช้อย่างยั่งยืน
พระมหากรุณาธิคุณ โครงการน้ำบาดาลขนาดใหญ่ 15 โครงการ 11 จังหวัด พสกนิกรชื่นใจ-เปี่ยมสุข มีน้ำใช้อย่างยั่งยืน

นอกจากสำรวจปริมาณน้ำแล้ว คุณภาพของน้ำบาดาลก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องตรวจก่อนนำมาใช้

“ทุกบ่อบาดาลของกรมฯ เราต้องตรวจคุณภาพน้ำเพื่อให้รู้ว่า น้ำมีแร่ธาตุอะไร บางบ่อเจาะแล้วสูบขึ้นมากินได้เลย โดยไม่ต้องกรอง เพราะน้ำบาดาลกว่าจะลงไปถึงชั้นกรวดทรายใช้เวลาหลายปี อย่างบ่อบาดาลที่หนองฝ้ายอายุน้ำ 7,530 ปี มีคุณภาพน้ำที่ค่อนข้างดี ที่สำคัญมีสังกะสีเยอะ นอกจากใช้อุปโภคแล้ว ยังใช้บริโภคได้เลย”

อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันคุณภาพน้ำเปลี่ยน แม้ปกติจะไม่เปลี่ยนและคุณภาพน้ำคงที่ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ยังได้สร้าง “บ้านน้ำ” เพื่อให้ประชาชนได้มากดน้ำดื่มฟรี โดยใช้ระบบ RO มีระบบอัลตราไวโอเลต ฆ่ารังสียูวี เพื่อให้มั่นใจว่า น้ำสะอาด 100%

“ทั้ง 15 โครงการเรามีบ้านน้ำดื่ม 1.ให้ประชาชนดื่มน้ำฟรี 2.มีงวงช้าง เป็นที่เติมน้ำเวลารถดับเพลิงมาเติมน้ำ 3.มีระบบประปา เพื่อต่อท่อไปให้ชาวบ้านทำระบบประปา”

อีกหนึ่งความพิเศษของน้ำบาดาล อธิบดีศักดิ์ดา เล่าว่า น้ำประปาต้องใช้คลอรีน สารส้ม ในการทำให้น้ำใสสะอาด ต้องผ่านหลายขบวนการ แล้วยังมีขยะจากคลอรีนและสารส้ม ซึ่งเป็นตะกอนดิน ตะกอนหินหลังจากกรองน้ำ

  “น้ำบาดาลที่มาทำระบบประปาไม่ต้องใช้คลอรีน สารส้ม และสิ่งสำคัญที่สุดไม่มีเชื้อโรคแบคทีเรีย บ่อบาดาลที่ระดับลึกเกิน 100-200 เมตร คุณภาพน้ำส่วนใหญ่ดื่มได้เลย” อธิบดีกล่าว

 

15 โครงการน้ำบาดาลฯ ชุบชีวิตพสกนิกร

ทั้ง 15 โครงการ 11 จังหวัด ประชาชนได้รับประโยชน์ 89,799 คน 22,500 ครัวเรือน หรือ 4 คนต่อครัวเรือน พื้นที่เกษตร 9,000 ไร่ ปริมาณน้ำรวม 10.73 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทุกโครงการดำเนินการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว

วันนี้ ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอุปโภค บริโภค และการเกษตร ประกอบด้วย

1.พื้นที่ ต.หนองฝ้าย อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี  2.พื้นที่ ต.ดงเค็ง อ.หนองสองห้อง จ.ขอนแก่น  3.พื้นที่ ต.ห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี (จุดที่ 1)

4.พื้นที่ ต.ห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี (จุดที่ 2)  5.พื้นที่ ต.ด่านทับตะโก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี  6.พื้นที่ ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา

7.พื้นที่ ต.หนองงูเหลือม อ.เมือง จ.นครปฐม  8.พื้นที่ ต.โพรงอากาศ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา  9.เทศบาล ต.ศรีรัตนะ อ.ศรีรัตนะ และ อ.พยุห์ จ.ศรีสะเกษ

10.พื้นที่ ต.นามะเขือ อ.ปลาปาก จ.นครพนม 11.พื้นที่ ต.โพธิ์ตาก และ ต.นาทราย อ.เมือง จ.นครพนม 12.พื้นที่ ต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ 13.พื้นที่ ต.ก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน

14.พื้นที่ ต.บ้านกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ 15.พื้นที่ ต.เกาะนางคำ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง

พระมหากรุณาธิคุณ โครงการน้ำบาดาลขนาดใหญ่ 15 โครงการ 11 จังหวัด พสกนิกรชื่นใจ-เปี่ยมสุข มีน้ำใช้อย่างยั่งยืน
พระมหากรุณาธิคุณ โครงการน้ำบาดาลขนาดใหญ่ 15 โครงการ 11 จังหวัด พสกนิกรชื่นใจ-เปี่ยมสุข มีน้ำใช้อย่างยั่งยืน
พระมหากรุณาธิคุณ โครงการน้ำบาดาลขนาดใหญ่ 15 โครงการ 11 จังหวัด พสกนิกรชื่นใจ-เปี่ยมสุข มีน้ำใช้อย่างยั่งยืน

 

พระราชวิสัยทัศน์กว้างไกล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวิสัยทัศน์กว้างไกล เนื่องด้วยปัจจุบัน ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับน้ำบาดาลมากขึ้น

นายศักดิ์ดา เผยว่า ต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรปใช้น้ำบาดาลเป็นหลัก ทั้งอังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส หรือเดนมาร์กที่ทั้งประเทศใช้น้ำบาดาล 99.99 % เพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตร รวมไปถึงประเทศแถบสแกนดิเนเวียก็ใช้น้ำบาดาล เพราะประเทศเป็นพื้นที่หิมะ น้ำผิวดินจะหาใช้ยาก

“การใช้น้ำของเขาก็จะใช้ตามหลักวิชาการ ไม่ได้สูบจนหมด แต่มีการคำนวณ อย่างกรมฯ ของเราก็ใช้น้ำตามหลักวิชาการ มีการคำนวณว่าจะใช้ยังไงให้ธรรมชาติเกิดความสมดุลทุกโครงการ”

นายศักดิ์ดา กล่าวอีกว่า ประเทศญี่ปุ่น เมืองคุมาโมโต้ ใช้น้ำบาดาลทั้งเมือง และได้รับรางวัลจากยูเนสโก้ด้วยว่ามีการบริหารจัดการน้ำบาดาลดีที่สุดในโลก ซึ่งเพิ่งจัดประชุมน้ำโลกขึ้นที่เมืองนี้ โดยชูหัวข้อน้ำบาดาลขึ้นมา ในคอนเซ็ปต์ว่า ทำให้น้ำที่มองไม่เห็น ขึ้นมาให้มองเห็น เหมือนการบอกเป็นนัยว่า “น้ำบาดาลมีบทบาทมากขึ้น”

  “ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้น ประเทศที่เจริญแล้วใช้น้ำบาดาลทั้งสิ้น เพราะน้ำบาดาลตอบโจทย์เรื่อง Water Security ให้ความมั่นคงด้านน้ำกับประชาชน และไม่ใช่ว่าประชาชนมีน้ำใช้เท่านั้น แต่ยังเป็นน้ำที่มีคุณภาพกว่าน้ำผิวดินด้วย และน้ำใต้ดินมีมากกว่าน้ำผิวดินจำนวนมหาศาล”

นายศักดิ์ดา กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับ “โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง” ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 15 โครงการ ครอบคลุม 11 จังหวัด เป็น “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”

“น้ำบาดาลเป็นน้ำที่เสถียร ทำให้ชาวบ้านมีน้ำใช้อย่างมั่นคง ไม่ต้องพะวงว่า หน้าแล้งจะขาดแคลนน้ำ จากอดีตไม่มีความมั่นคงเลย ต้องรอน้ำผิวดินอย่างเดียว อีกทั้งน้ำยังมีคุณภาพดี ค่าใช้จ่ายถูกลง ซึ่งทั้ง 15 โครงการเป็นโครงการขนาดใหญ่ทั้งหมด และส่งน้ำได้ในระยะไกล วันนี้ ส่งได้ไกลประมาณ 10 กิโลเมตร และยังสามารถส่งได้ไกลที่สุด 40-50 กิโลเมตร ซึ่งนับเป็นต้นกำเนิดของน้ำบาดาลระยะไกล เพราะในอดีตเราจะเจาะให้เป็นรายหมู่บ้าน ก็จะมีบ้านไม่กี่หลังได้รับประโยชน์  แต่ครั้งนี้เป็นการพัฒนาน้ำบาดาลวอลลุ่มขนาดใหญ่ และส่งกระจายน้ำไปใช้ได้ในระดับตำบล รวมถึงเป็นการพัฒนาน้ำบาดาลในระดับลึก จากเมื่อก่อนเจาะลึก 50-70 เมตร ปัจจุบันเจาะได้ลึกเกิน 100-200 เมตร ลึกที่สุดเป็นกิโลเมตร”

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวทิ้งท้ายว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำลังดำเนินการเสนอให้วันที่ 3 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ทรงเปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.หนองฝ้าย อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี เป็น “วันน้ำบาดาลแห่งชาติ” โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไป

โครงการน้ำบาดาล พื้นที่ จ.เชียงใหม่
โครงการน้ำบาดาล พื้นที่ จ.ศรีสะเกษ
โครงการน้ำบาดาล พื้นที่ วัดสมานรัตนาราม จ.ฉะเชิงเทรา

 

คนห้วยกระเจาดีใจที่มีน้ำบาดาลใช้

อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี  ได้รับขนานนามว่า “อีสานภาคกลาง” พื้นที่ตั้งอยู่บริเวณเขตเงาฝน ทำให้ในแต่ละปี มีปริมาณฝนตกเฉลี่ยต่ำกว่าพื้นที่โดยทั่วไป พื้นดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย ทำให้เก็บน้ำไม่อยู่

เวลาที่ฝนตกลงมาก็จะซึมหายลงไปใต้ดิน ไม่สามารถก่อสร้างฝายหรืออ่างเก็บน้ำเอาไว้ใช้ในพื้นที่ได้ อีกทั้งไม่มีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่าน มีเพียงลำห้วยเล็กๆ ที่จะมีน้ำไหลในช่วงฤดูฝนเท่านั้น

ดังนั้นในช่วงหน้าแล้งของทุกปี ชาวบ้านจะเดือดร้อนเรื่องน้ำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำกินน้ำใช้ ส่วนเรื่องน้ำเพื่อการเกษตรก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะน้ำจะกินจะใช้ยังไม่มี

ทว่าวันนี้ พระมหากรุณาธิคุณได้พลิกฟื้นชีวิตให้มีน้ำใช้อย่างบริบูรณ์แล้ว

นายสิริพงศ์ สืบเนียม นายกเทศมนตรีเทศบาล ต.ห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ต.ห้วยกระเจา เป็นตำบลใหญ่ พื้นที่ 230 ตารางกิโลเมตร มี 21 หมู่บ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเกษตรกร ทำไร่อ้อย ไร่มัน ทำนาปี พึ่งพาน้ำจากน้ำฝน ปีไหนฝนดีก็ได้กินข้าว แต่ถ้าปีไหนไม่มีฝนก็ไม่มีน้ำ พอแห้งก็แห้งแล้งมาก ต้องเอาน้ำไปแจกใส่ถังไปให้กลางหมู่บ้าน แล้วต้องใช้น้ำอย่างประหยัดจนกว่าฝนจะมา ปีไหนแล้ง 2-3 ปีติด ก็ไม่ต้องพูดถึงลำบากมาก

“เราดิ้นรนกันมานาน อย่างปีที่ผ่านมาแล้งมาก ชาวบ้านก็จะมาบอกแล้ว นายกฯ ฉันไม่มีน้ำ นายกฯ เมื่อไหร่น้ำจะมา เราเป็นผู้นำก็เครียด คนเราถ้าเปิดน้ำไม่ออก เปิดไฟไม่ติดก็หงุดหงิดแล้ว เทศบาลต้องเข็นน้ำแจกเกือบทุกหมู่บ้าน”

  “แต่เมื่อโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเข้ามา มีคนแต่งเพลงให้เลย เทวดามาโปรด อยู่มาหลายชั่วอายุคน ไม่เคยเจอน้ำบาดาลลักษณะนี้ เป็นโครงการใหญ่ที่สร้างประโยชน์ให้ชาวบ้านมหาศาล อะไรๆ ก็ดีขึ้น เราได้ใช้น้ำบาดาลที่เป็นน้ำแร่ คนห้วยกระเจาอาบน้ำแร่ กินน้ำแร่ฟรี โดยโครงการเฟสแรกช่วยชาวบ้านได้ 9 หมู่บ้าน รวมไปถึงศูนย์ราชการทั้งหมด เฟสที่ 2 ช่วยได้อีก 11 หมู่บ้าน และยังมีบ้านน้ำดื่มที่ให้ประชาชนมากดน้ำฟรีด้วย ชาวบ้านก็มากดน้ำฟรีกันทุกวัน เรียงคิวกันมา ผลิตแทบไม่ทัน ดูแล้วมีความสุข”

นายสิริพงศ์ กล่าวอีกว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่คนห้วยกระเจา 21 หมู่บ้านได้รับพระเมตตาในครั้งนี้ ตอนนี้ ไม่มีใครเดือดร้อนแล้ว

“พวกเราต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงรับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ชื่นใจและสบายใจกันแล้ว” เล่าพร้อมรอยยิ้ม และว่า

“ในอนาคตเราจะต่อยอดทำโครงการพืชเกษตรน้ำน้อย โดยนำน้ำที่เหลือจากอุปโภคบริโภคมาส่งตามท่อเมนที่อยู่ข้างถนนตลอด 10 กว่ากิโลเมตร เพื่อปลูกพืชน้ำน้อย ปลูกข้าวโพดอ่อน ปลูกฟัก ปลูกแฟง”

“น้ำเป็นชีวิตเป็นทุกสิ่ง มีน้ำก็ไม่จนแล้ว ถ้าคนขยัน” นายสิริพงศ์กล่าว และว่า เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ตนและชาวบ้านได้ไปรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และได้ทำป้ายที่เขียนว่า “ท่านนำน้ำมาเหมือนเทวดามาโปรด” ไปชูให้ทั้ง 2 พระองค์ทอดพระเนตร และพระองค์แย้มพระสรวล โบกพระหัตถ์ทักทายพสกนิกรที่ไปเฝ้าฯ รับเสด็จ

นับเป็นวันแห่งความปลาบปลื้มปีติยินดี

“คนห้วยกระเจาดีใจที่มีน้ำบาดาลใช้” นายกฯ สิริพงศ์กล่าว

นายสิริพงศ์ สืบเนียม นายกเทศมนตรีเทศบาล ต.ห้วยกระเจา

 

จากเคยเดือดร้อน วันนี้มีน้ำใช้ไม่มีวันหมดแล้ว

ส่วนพื้นที่ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ก็ไม่ต่างกัน จากพื้นที่ที่เคยแห้งแล้งหนักสุดถึง 8 เดือนต่อปี วันนี้ชุ่มชื้นไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แห่งที่ 2

พระประชาธรรมนาถ (ไพรัตน์ ปญฺญาธโร) เจ้าอาวาสวัดสมานรัตนาราม และเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา (ธรรมยุต) จ.ฉะเชิงเทรา เผยว่า แม้ต.บางแก้วจะเป็นพื้นที่ติดแม่น้ำบางปะกง แต่ก็ประสบปัญหาน้ำเค็มในฤดูแล้ง น้ำจืดที่สูบมาพักไว้ในบ่อก็ใช้ได้เพียง 2-3 เดือน อีกทั้งประสบปัญหาน้ำกร่อย จนทำให้ชาวบ้านประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค นี่ไม่รวมกับน้ำทำการเกษตรที่ต้องหยุดไปเลยช่วงหน้าแล้ง เพราะไม่มีน้ำ

“น้ำประปาก็หยุดจ่ายในช่วงหน้าแล้ง ทำชาวบางแก้วเดือดร้อนหนัก ในพื้นที่มีความพยายามทุกวิถีทาง ตั้งแต่การซื้อรถบรรทุกน้ำ 2 คัน นำน้ำจืดจากต่างอำเภอมาให้ชาวบ้านได้กินได้ใช้ แต่ด้วยใช้เวลาไป-กลับชั่วโมงกว่าๆ ในหนึ่งวันต้องวิ่งหลายเที่ยว ค่าใช้จ่ายจึงสูงมาก ขณะเดียวกันพยายามเจาะใช้น้ำบาดาล ก็ไม่เจอน้ำจืดเลย เพราะเทคโนโลยีสมัยก่อนเจาะลึกเพียง 1 ร้อยกว่าเมตร ทำให้ชาวบางแก้วเริ่มหมดหวัง”

“กระทั่ง 2 ปีหลังมานี้้รับทราบว่าเทคโนโลยีการเจาะใช้น้ำบาดาล สามารถเจาะได้ลึกลงไปอีก คือสามารถเจาะผ่านชั้นหิน ความลึก 3 ร้อยกว่าเมตรได้แล้ว จึงลองเจาะดู พบน้ำจืดจริง แต่ก็ยังไม่พอใช้ จึงพยายามจะเจาะเพิ่มให้เพียงพอความต้องการ กระทั่งได้รับพระเมตตาจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”

  “หลังจากมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สถานการณ์ตรงกันข้ามเลย ต.บางแก้วมีน้ำใช้แล้ว เป็นน้ำแร่บริสุทธิ์ รสชาติออกหวานๆ ที่สูบมาจากชั้นหิน ตอนนี้ชาวบ้านสามารถมากรอกน้ำไปได้เลย แม้ไม่ได้ให้ฟรี เพราะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องสูบขึ้นมา แต่ก็ถือว่าราคาถูกมาก อย่างน้ำขนาด 20 ลิตร ราคาเพียง 6-7 บาท”

พระประชาธรรมนาถ เผยว่า อาตมาและชาวบ้านรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น หากทรงไม่รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คงไม่สะดวกรวดเร็วอย่างนี้ ก็รู้สึกดีใจ อุ่นใจ วันนั้นที่เคยเดือดร้อน วันนี้เรามีน้ำใช้ไม่มีวันหมดแล้ว แม้ฤดูแล้งเราก็มีน้ำใช้ ไม่ขาดแคลนเหมือนเมื่อก่อน ถือเป็นโครงการที่ให้ประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง รวมถึงผู้ป่วยในโรงพยาบาลวัดสมานรัตนาราม ที่มีศูนย์ฟอกไต จะไม่ได้รับผลกระทบจากการไม่มีน้ำบริสุทธิ์ใช้อีกแล้ว

“ตอนนี้รอบวัดสมานฯ มีแหล่งท่องเที่ยว มีศูนย์ราชการต่างๆ และชุมชนรอบๆ หลายพันครัวเรือน ก็เชื่อว่าจากนี้ชุมชนจะเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การมีโครงการจัดหาน้ำบาดาลฯ นี้ จะทำให้ที่นี่เป็นเมืองใหม่เลย” พระประชาธรรมนาถ กล่าว

  นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย ดั่งพระปฐมบรมราชโองการ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

พระประชาธรรมนาถ (ไพรัตน์ ปญญาธโร)
วัดสมานรัตนาราม
วัดสมานรัตนาราม
ตู้กดน้ำดื่ม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image