น้ำพระราชหฤทัย พระราชา มูลนิธิศูนย์รักษ์สุนัขหัวหิน ”โมเดล”บริหารจัดการครบวงจร

 

ภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปทอดพระเนตรการดำเนินงานของมูลนิธิศูนย์รักษ์สุนัขหัวหิน ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 อย่างพระเกษมสำราญ ตลอดเวลากว่า 2 ชั่วโมงภายในศูนย์นั้น ได้สร้างความประทับใจให้กับพสกนิกรชาวไทยเป็นจำนวนมากถึงพระเมตตาที่พระองค์ทรงมีต่อสุนัข เพื่อนร่วมโลกของมนุษย์ แม้ว่าสุนัขเหล่านั้นจะมิใช่สุนัขทรงเลี้ยงก็ตาม ทั้งยังทำให้ศูนย์รักษ์สุนัขแห่งนี้เป็นที่รู้จักของชาวไทยมากขึ้นด้วย

ภายในศูนย์รักษ์สุนัขฯแห่งนี้ เมื่อก้าวผ่านประตูรั้วเข้าไป สิ่งแรกที่จะได้เห็นอย่างสะดุดตาคือรูปปั้นคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง ที่ตั้งอยู่หน้าอาคารเรือนไทยจุดชมวิวใจกลางของศูนย์ รายล้อมไปด้วยอาคารของสุนัขในโซนต่างๆ

อนุสาวรีย์คุณทองแดง
เริ่มตั้งแต่โซนแรกรับ ถัดมาด้วยอาคารกายภาพและธาราบำบัด ที่อยู่ติดกับโซนพาราซอนหรือกรงสุนัขที่รอคอยบ้านใหม่ จากนั้นจะได้เห็นกรงของสุนัขที่สามารถให้เลือดได้ ก่อนที่บริเวณพื้นที่ที่เหลือจะเป็นคอกสุนัขขนาดใหญ่ ที่เต็มไปด้วยสุนัขเพศผู้และเมีย อยู่ร่วมกันในคอกอย่างเป็นธรรมชาติ ในบรรยากาศร่มรื่นพร้อมๆ กับเสียงเห่าของสุนัขที่ดังขึ้นต้อนรับผู้มาเยือนอยู่ตลอดเวลา

Advertisement

จุดเริ่มต้นของโครงการศูนย์รักษ์สุนัขหัวหินนี้ นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน เล่าว่า เกิดขึ้นด้วยน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จมาประทับ ณ วังไกลกังวล และทรงตระหนักถึงปัญหาของสุนัขจรจัดในเขตเทศบาลเมืองหัวหินซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว ทั้งบริเวณตลาด ชายหาด รวมถึงที่สาธารณะอื่นๆ ว่าอาจจะก่อให้เกิดเหตุรำคาญ ที่สำคัญหากไม่จัดการอย่างถูกวิธีอาจทำให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้าติดมายังคนได้ จึงมีพระราชประสงค์จัดตั้งโครงการขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2546 เพื่อให้เทศบาลหัวหินบริหารจัดการสุนัขจรจัดอย่างเป็นระบบ ทั้งด้านสุขภาพ อาหาร การควบคุมปริมาณ เพื่อคุณภาพชีวิตของสุนัขที่ดีขึ้น และสามารถเป็นโครงการต้นแบบของพื้นที่อื่นๆ ได้

พร้อมกันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้พระราชทานเงินจากการจำหน่ายเสื้อพิมพ์ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ครอบครัวคุณทองแดงจำนวน 4 ล้านบาท เป็นทุนในการก่อสร้างอาคารบนเนื้อที่ 20 ไร่เศษ ข้างวัดเขาอิติสุคโต หัวหิน ที่พระครูบรรพตพัฒนคุณ เจ้าอาวาส สนับสนุนพื้นที่ให้กับโครงการ

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2552 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเงินจากการจัดทำเสื้อยืดคุณทองแดงอีก 1 ล้านบาท เพื่อนำไปเป็นทุนประเดิมในการจัดตั้งมูลนิธิ ทั้งการดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆ โดยได้ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิตามพระราชประสงค์ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2552 ในชื่อ มูลนิธิศูนย์รักษ์สุนัขหัวหิน ในพระบรมราชูปถัมภ์Ž มีนายดิสธร วัชโรทัย เป็นประธานกรรมการมูลนิธิ และบริหารงานโดยเทศบาลหัวหิน

Advertisement

กรงสุนัขให้เลือด

บริหารจัดการด้วยความรัก อย่างเป็นระบบครบวงจร

นพพรกล่าวว่า เช่นเดียวกับเทศบาลอื่นๆ ที่มีกฎหมายเทศบัญญัติให้ดูแลเรื่องการจัดการสุนัขจรจัดในพื้นที่ มูลนิธิจึงมีทีมจับสุนัขซึ่งจะออกไปจับสุนัขตามคำร้องของชาวบ้านในพื้นที่หัวหินสัปดาห์ละ 2 วัน บางครั้งก็จะมีประชาชนนำสุนัขเข้ามาให้ที่ศูนย์รักษ์สุนัขแห่งนี้ เมื่อจับสุนัขเข้ามาแล้วจะนำไปไว้ที่โซนแรกรับเพื่อดูอาการก่อน 14-21 วัน หากสุนัขป่วยจะดำเนินการรักษาทันที เมื่อไม่มีอาการเจ็บป่วยก็จะทำหมัน ฉีดวัคซีน ถ่ายพยาธิ ก่อนจะทำประวัติคัดกรองสุขภาพ สุนัขตัวใดที่แข็งแรงจะส่งเข้าไปในโซนสุนัขให้เลือด สำหรับสุนัขโตเต็มวัยที่ไม่สามารถให้เลือดได้ก็จะแยกไว้ในคอกรวม และลูกสุนัขก็จะถูกแยกไว้ในโซนหาบ้านใหม่ เพื่อรอผู้มารับเลี้ยงต่อไป นอกจากนี้ยังมีโซนธาราบำบัดสำหรับสุนัขที่ผ่าตัด หรือสุนัขที่ร่างกายไม่แข็งแรง ต้องฟื้นฟูสุขภาพด้วย ซึ่งโซนนี้เปิดให้ประชาชนทั่วไปนำสุนัขเข้ามาใช้บริการได้ครั้งละ 100 บาท

บุษบา โชคสุชาติ รองนายกเทศมนตรี เทศบาลหัวหิน ผู้อำนวยการศูนย์รักษ์สุนัขฯ เผยว่า ทุกวันนี้ศูนย์ดูแลสุนัขกว่า 1,100 ตัว โดยมีสุนัขใหม่เข้ามาในศูนย์เดือนละกว่า 100 ตัว แต่มีสุนัขที่ประชาชนขอรับไปเลี้ยงเฉลี่ยไม่ถึง 20 ตัวต่อเดือน ทำให้มีสุนัขในความดูแลจำนวนมาก หลายครั้งที่ประชาชนนำสุนัขนอกพื้นที่มาให้ศูนย์ดูแลด้วยเห็นว่าเป็นโครงการของในหลวง แต่เราไม่สามารถรับได้เพราะเป็นสุนัขนอกเขตพื้นที่ ประชาชนก็นำสุนัขทิ้งไว้หน้าประตูทางเข้า เราก็ต้องนำสุนัขกลับเข้ามา เพราะกลัวจะเกิดอุบัติเหตุกับสุนัข เท่ากับว่าเรารับทุกตัว ซึ่งเรายึดหลักตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ต้องการให้ดูแลสุนัขด้วยความรักและให้เขาอยู่อย่างธรรมชาติ หากสุนัขแออัดเกินไปก็จำเป็นต้องขอนำสุนัขในคอกรวมไปไว้ที่คอกปศุสัตว์ จังหวัดกาญจนบุรีบ้าง

เพื่อให้ก้าวสู่ความเป็นศูนย์รักษ์สุนัขครบวงจร ในอนาคตก็จะมีโครงการที่จะทำฌาปนกิจสุนัข มีเตาเผาสำเร็จรูปของศูนย์เอง เมื่อสุนัขตายก็จะนิมนต์พระมาสวด ทำพิธีให้ โดยจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปมาใช้บริการได้ ทั้งยังมีโครงการที่จะจัดทำไบโอแก๊สจากมูลสุนัข เพื่อให้กระบวนการต่างๆ ครบวงจรมากขึ้น ทุกวันนี้เทศบาลหลายแห่งก็มาดูงานเพื่อไปปรับใช้ต่างกันออกไป เช่น เทศบาลภูเก็ตที่มีการบริหารจัดการลักษณะคล้ายๆ กันเพียงแต่ให้วัดเป็นผู้จัดการสุนัขŽ บุษบาเผย

เหล่าสุนัขน้อยที่รอคอยคนไปดูแล

ความร่วมมือกับโรงพยาบาลสัตว์ม.เกษตรฯ หัวหิน และธนาคารเลือด

ผศ.นสพ.คงศักดิ์ เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหิน เผยว่า เพื่อดูแลสุขภาพของสุนัขภายในศูนย์ ทาง รพ.สัตว์เกษตร หัวหิน จึงได้เข้ามาร่วมมือในการดูแลสุนัขในศูนย์ เริ่มตั้งแต่เข้าไปดูสุขภาพสุนัข ทั้งการฉีดวัคซีน ทำหมัน รักษาโรคต่างๆ หรือกระทั่งสุนัขที่ได้รับอุบัติเหตุหรือกัดกันในคอก โดยจัดทีมสัตวแพทย์เข้าไปดูแลทุกสัปดาห์ ทั้งยังฝังไมโครชิพให้กับสุนัขที่ให้เลือดและดูแลมีผู้มาใช้บริการธาราบำบัดด้วย อีกส่วนหนึ่งคือโครงการสุนัขให้เลือด ที่คัดสุนัขจรจัดที่แข็งแรงมาเจาะเลือด ดูว่าจะสามารถให้เลือดได้ไหม ซึ่งหากสุนัขเหล่านี้ผ่านการคัดแล้วว่าไม่ติดโรค ไม่เป็นพยาธิ และเกล็ดเลือดไม่จาง จึงจะสามารถให้เลือดได้ ก่อนจะส่งกลับมาที่โรงพยาบาลเพื่อสกัดเป็นผลิตภัณฑ์ให้เลือดต่างๆ หรือนำไปช่วยเหลือสุนัขตัวอื่นๆ ต่อไป ซึ่งด้วยความที่เป็นสุนัขจรจัดทำให้สุขภาพของสุนัขเหล่านี้ไม่ดีมากนัก ปัจจุบันจึงมีสุนัขที่ให้เลือดได้เพียง 50 ตัวจากพันกว่าตัว ถือได้ว่ามีจำนวนไม่มาก ให้เลือดได้เพียง 3 เดือนต่อหนึ่งครั้งเท่านั้น ซึ่งก็หวังว่าในอนาคตจะมีสุนัขที่ให้เลือดได้มากขึ้น

จุดเริ่มต้นของโครงการธนาคารเลือดนั้น จริงๆ แล้วเราต้องการจะแสดงให้เห็นว่าสุนัขจรจัดเหล่านี้ที่ใครเห็นว่าไม่มีคุณค่า ก็เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ โดยเริ่มโครงการมาแล้วเกือบ 2 ปี ที่ผ่านมาเลือดของสุนัขเหล่านี้ได้ช่วยสุนัขที่มีเจ้าของในโรงพยาบาลสัตว์ เกษตรหัวหินแล้วหลายตัว อาจจะด้วยการผ่าตัดหรือรักษาโรคต่างๆ เนื่องจากเลือดสุนัขจริงๆ แล้วขาดแคลนอยู่มาก เจ้าของสุนัขที่ได้รับเลือดเมื่อทราบว่าเลือดของสุนัขจรจัดนั้นมาช่วยสุนัขของเขาได้ก็ต่างประทับใจ และรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงริเริ่มมูลนิธิศูนย์รักษ์สุนัขหัวหิน บ้านของสุนัขเหล่านี้อีกด้วยŽ ผศ.นสพ.คงศักดิ์กล่าว

บริการธาราบำบัด

น้ำพระราชหฤทัยต่อคนทำงาน

นับตั้งแต่วันนั้นจนกระทั่งวันนี้ มูลนิธิศูนย์รักษ์สุนัขหัวหิน ก็เปิดให้บริการมากว่า 12 ปีแล้ว เรียกว่าสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเมืองหัวหินไม่น้อย บุษบา โชคสุชาติ เผยว่า ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นเพราะโครงการเข้ามาแก้ปัญหาอย่างถูกจุด สืบเนื่องจากพระราชประสงค์ที่ต้องการให้โครงการนี้เป็นต้นแบบ ให้นำไปเรียนรู้ได้ การลดสุนัขในพื้นที่ก็คือการลดปัญหาของท้องถิ่น สุนัขไม่ออกมาทำร้ายนักท่องเที่ยว สำหรับมูลนิธิเองได้รับเงินอุดหนุนจากเทศบาลหัวหินจำนวน 5 ล้านบาท ซึ่งหลังจากที่พระองค์เสด็จมาที่มูลนิธิ ทำให้หลายฝ่ายต่างให้ความสนใจเข้ามาบริจาคอาหารตลอดปี การบริหารงานจึงไม่มีปัญหาใด พระองค์ทรงให้ทุกอย่างกับคนทำงานที่นี่ ให้อาคาร ให้การบริหารงานที่ดี มากไปกว่านั้นพระองค์ทรงคิดถึงคนหัวหินและสุนัข จากพระเมตตาที่พระองค์ทรงมองเห็นว่าหากให้ลดจำนวนตามเทศบัญญัติก็ควรดูแลคุณภาพชีวิตของเขา ทำให้นอกจากชาวหัวหินจะซาบซึ้งที่ทรงนึกถึงคนที่นี่แล้ว ยังรู้สึกภูมิใจที่มีโครงการของพระองค์ในพื้นที่ของเราด้วย

แม้ว่าเจ้าหน้าที่และเหล่าคณะทำงานภายในศูนย์จะทำงานด้วยใจ แต่การเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการดำเนินงานที่ศูนย์รักษ์สุนัขหัวหินนี้ นับเป็นขวัญและกำลังใจให้กับคนทำงานได้เป็นอย่างดี

ผศ.นสพ.คงศักดิ์ ผู้ถวายรายงานในครั้งนั้นเผยว่า ในวันนั้นพระองค์ทรงพระเกษมสำราญยิ่ง หลังจากทอดพระเนตรการดำเนินงานในโซนต่างๆ ก็มีรับสั่งถามรายละเอียดต่างๆ และทอดพระเนตรในทุกโซน แม้ว่าอากาศจะร้อน ทั้งยังมีรับสั่งเป็นห่วงในเรื่องภาระของคนทำงานที่ทำงานกับสุนัขจะต้องมีใจรักกับปริมาณสุนัขที่เยอะเช่นนี้ ตรัสถามว่า ไหวไหมŽ ทำให้พวกเราทุกคนรู้สึกปลาบปลื้มและยืนยันว่าจะทำให้เต็มที่ เพื่อให้พระองค์สบายพระราชหฤทัย เท่านี้ก็ทำให้คนทำงานรู้สึกซาบซึ้งมากแล้ว

พระองค์ทรงมองเห็นภาพของปัญหา มีพระราชวินิจฉัยในมุมกว้าง ทรงรู้ต้นตอของสาเหตุสุนัขจรจัด และทรงเป็นแบบอย่างที่ดีของคนเลี้ยงสุนัขอย่างแท้จริง ในมุมของสัตวแพทย์นั้นเรารู้ว่าปัญหานี้เกิดขึ้นมานานมากแล้ว เกิดจากการที่คนเลี้ยงสุนัขทอดทิ้งเขา เมื่อเขาโตขึ้น ไม่ทำหมันก่อให้เกิดการขยายพันธุ์อย่างไม่ควบคุม วันหนึ่งเมื่อไม่รักก็นำไปทิ้ง แต่พระองค์ทรงมีสุนัขทรงเลี้ยงหลายต่อหลายสุนัข ผมเองได้มีโอกาสถวายงานเป็นหนึ่งในคณะสัตวแพทย์ที่ดูแลสัตว์เลี้ยงส่วนพระองค์ ได้เห็นพระองค์ทอดพระเนตรสุนัข เมตตาต่อสุนัข พระองค์ทราบว่าสุนัขเหล่านี้ชื่ออะไรบ้าง เจ็บป่วยอะไร นิสัยอย่างไร พาไปรับการรักษาด้วยพระองค์เอง พระองค์ทรงศึกษาว่าสุนัขเหล่านี้จะมีพฤติกรรมอย่างไรและต้องเลี้ยงอย่างไรให้สุขภาพแข็งแรง ป้องกันโรคและให้อาหารอย่างไร ที่สำคัญคือทรงมีเวลาให้กับสุนัขทรงเลี้ยงเหล่านี้ แม้จะมีพระราชภารกิจมากเพียงไร เป็นความรักที่พระองค์ทรงมีให้กับสัตว์เลี้ยง หากเป็นคนธรรมดาก็อาจกล่าวได้ว่านี่คือไอดอลของเจ้าของสัตว์เลี้ยงเลยทีเดียวŽ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์ ม.เกษตรฯกล่าว

น้ำพระราชหฤทัยที่ทรงมีต่อทุกชีวิต
กรงสุนัขแรกรับ

_MG_2756

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image