กองทุนการศึกษา โครงการพระราชดำริสุดท้าย ด้วยความห่วงใยอนาคตชาติ

เป็นที่ประจักษ์ชัดในหัวใจของคนไทย และคนทั่วโลกแล้วว่า พระมหากรุณาธิคุณอันเกิดจากความรักในพระราชหฤทัยของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” นั้น แผ่ขจรไปไกล และปกเกล้าปกกระหม่อมชาวไทยทุกคน มาตลอด 70 ปี ที่ทรงครองราชย์ด้วย “ทศพิธราชธรรม”

และนับเป็นเวลากว่า 70 ปี ที่ทุกวินาทีของคนไทย ได้รับความรัก ผ่านพระราชกรณียกิจของพระองค์ในทุกๆ ด้าน ทำให้ทุกหย่อมหญ้าของแผ่นดิน ต้นไม้เล็กๆ ของพสกนิกรได้งอกเงยขึ้นทั่วไทย

เช่นเดียวกับพระราชกรณียกิจด้าน “การศึกษา” ที่ปรากฏเด่นชัดในพระบรมราโชวาทหลายต่อหลายครั้ง สะท้อนถึงความรักที่อยากให้อนาคตของไทยเติบโตขึ้นอย่างงดงาม

ในเรื่องแนวพระราชดำริด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้น นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ได้เปิดเผยไว้ในปาฐกถาเฉลิมพระเกียรติเรื่อง “แนวพระราชดำริด้านการศึกษากับอนาคตประเทศไทย” ณ ห้องประชุม สำนักพระราชวังเมื่อเดือนกันยายน 2559 ไว้ส่วนหนึ่ง

Advertisement

นพ.เกษมเริ่มต้นเล่าพระราชดำริเรื่องการศึกษานี้ด้วยการยก พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานไว้ในโอกาสวันเด็กปี พ.ศ.2530 ที่ว่า

“เด็กนอกจากจะต้องเรียนความรู้แล้ว ยังต้องหัดทำการงานและการทำความดีด้วย เพราะการทำงานจะช่วยให้มีความสามารถ มีความขยันอดทน พึ่งตนเองได้ และการทำดีนั้นจะช่วยให้มีความสุขความเจริญ ทั้งป้องกันตนไม่ให้ตกต่ำ”

เป็นการฉายภาพชัดถึงแนวทางการจัดการด้าน “การศึกษา” ตามแนวพระราชดำริของพระองค์เป็นอย่างดีว่านอกจากจะเป็นคนเก่งแล้ว เหนืออื่นใดต้องเป็นคนดี

เรื่องนี้ นพ.เกษมอธิบายว่า จากพระบรมราโชวาทนี้ บอกกับเราไว้ว่าจะให้การศึกษาสำเร็จผลนั้น เด็กจะต้องเรียนความรู้ ควบคู่ไปกับการหัดทำงาน และการเรียนความดี ความรู้นั้นทุกคนรู้อยู่แล้วว่าจำเป็นอย่างไร แต่การงานนั้นหลายคนอาจไม่รู้ประโยชน์ ท่านจึงอธิบายไว้ว่าที่ต้องเรียนการงานก็เพราะเราจะได้ฝึกให้ช่วยเหลือ พึ่งตนเองได้ และความดีจะช่วยให้ไม่ตกต่ำ นี่เป็นแนวทางที่สำคัญที่สุด

“นั่นเพราะพระองค์ทรงรู้ว่า ประเทศชาติของเราจะเจริญหรือเสื่อมลงนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชน หากทำไม่ดีประเทศชาติก็จะเสื่อม ทำดี ประเทศก็จะเจริญ สิ่งนี้รวมถึงการศึกษาของผู้ใหญ่ด้วย มิใช่เฉพาะเด็ก”

แม้จะรู้แนวทางแล้วว่า การศึกษาที่ได้ผลให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองได้ต้องเน้นการศึกษา ควบคู่การงานและความดี นพ.เกษมกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังขยายความไว้อีกด้วยว่า วิธีการที่จะทำให้การศึกษาประสบผลสำเร็จ ก็ต้องเน้นการศึกษา ควบคู่ไปกับการอบรม โดยเน้นเรื่องศีลธรรม จรรยาบรรณ จริยธรรม วัฒนธรรม ความสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่ และการเตรียมเป็นพลเมืองที่ดีของชาติในอนาคต

“ด้วยกลัวคนจะไม่เข้าใจ พระองค์รับสั่งถึงคำว่า “อบรม” ไว้อย่างชัดเจนว่าแตกต่างจากการสอน การสอนก็คือการให้ความรู้ แต่การอบรมนั้นต่างกัน การอบรมคือการฝึกจิตใจผู้เรียนให้ซึมซับ เป็นนิสัย ไม่ใช่ท่องมาสอบ หากจะเปรียบเหมือนต้นไม้ต้นหนึ่ง เด็กก็เหมือนต้นกล้า หน้าที่ของครูก็คือการรดน้ำ ใส่ปุ๋ย เตรียมดินให้ดี ป้องกันไม่ให้มีแมลงเข้ามากิน เพราะต้นไม้นี้มีความสำคัญต่อประเทศชาติ จะให้เด็กเป็นพลเมืองดี ครูก็ต้องให้การศึกษาและอบรมนั่นเอง”

“แต่ก่อนจะพัฒนาเด็กนั้น พระองค์รับสั่งว่า ครูถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดูแล ปัจจุบันครูเน้นเขียนตำราวิทยานิพนธ์ปรับเงินเดือนบ้าง ย้ายไปที่ใหม่บ้าง คุณภาพชีวิตของครูไม่ดีบ้าง หลายครั้งที่เราลงพื้นที่ไปเห็นครูมีคุณภาพชีวิตแย่ อย่างโรงเรียนหนึ่งที่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ครู 4 คน ต้องพักอยู่ในห้องเดียวกันซึ่งหลังคารั่ว ฝนตกก็ต้องตื่นนอนมาหลบฝน รอให้ฝนหยุดเช็ดน้ำแล้วจึงได้นอนต่อ ห้องน้ำก็อยู่ห่างไกล เขาก็อยากจะย้ายโรงเรียน สุดท้ายคณะองคมนตรีก็สงสารขอพระราชทานทุนทรัพย์ของพระองค์ไปช่วยเหลือคุณครูเหล่านี้ เมื่อเขามีบ้านพักใหม่ คุณภาพชีวิตดีขึ้น เขาก็ยอมอยู่สอนเด็กๆ ต่อไป”

เพื่อให้คำสอนของพระองค์เป็นรูปธรรม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงรับสั่งให้ประธานองคมนตรี และองคมนตรีเข้าเฝ้าฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2555 และมีรับสั่งว่า

“ฉันจะตั้งกองทุนการศึกษา ให้เอาเงินฉันไปใช้ ไปทำอย่างไรก็ได้ เป้าหมายคือให้โรงเรียนสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง”

เป็นพระราชประสงค์ให้คณะองคมนตรีได้จัดตั้งกองทุนการศึกษาขึ้นอันเป็นโครงการพระราชดำริโครงการสุดท้าย และตั้ง “โรงเรียนคุณธรรมจริยธรรม” เพื่อสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง นับเป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว ทุกวันนี้มีโรงเรียนในที่เข้าร่วมกว่า 155 โรงเรียน โดยเริ่มต้นจากโรงเรียนในแถบภาคกลาง ก่อนจะกระจายไปยังภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือในเวลาต่อมา กระจายครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศไทย

นพ.เกษมเผยว่า แน่นอนก่อนที่จะไปสู่โรงเรียนคุณธรรมจริยธรรม ต้องมองให้เห็นว่าภาพรวมการศึกษาไทยในตอนนั้น แม้กระทรวงศึกษาธิการจะใช้งบประมาณสูงมาก แต่สังคมไทยก็ยังมีปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่น โพลต่างๆ ออกมาว่าประชาชนยอมรับได้ที่เห็นการคอร์รัปชั่น ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่การสร้างคนดี แก้ไขได้ เพราะคนเก่งอาจจะโตมาเป็นคนเก่งที่ดีหรือไม่ดีก็ได้ แต่คนดีจะทำให้สังคมดีโดยรวมเอง

“แนวทางของพระองค์คือการสร้างคนดี มีน้ำใจ ยกตัวอย่างง่ายๆ คนเรียนเก่งก็จะช่วยติวเพื่อนที่ล้าหลังเอง มิใช่สอนให้เด็กแข่งกันกับเพื่อน เพื่อให้ตนได้ลำดับดีๆ ได้ที่หนึ่งของชั้น เราต้องเปลี่ยนมาสอนให้เด็กแข่งกับตัวเอง เรื่องความมีน้ำใจนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะหากเราสร้างนิสัยนี้ให้ซึมซับไปกับเด็กไทย เด็กจะมีนิสัยมีน้ำใจ จบไปมีน้ำใจกับเพื่อนมนุษย์ เพื่อนร่วมชั้น ประเทศไทยก็จะน่าอยู่ขึ้นได้ด้วยคำคำเดียว”

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังพระราชทานแนวคิดไว้ด้วยว่า การจะให้มีน้ำใจนั้น ก็ต้องฝึกหัดให้นักเรียนรู้จักการทำงานเป็นกลุ่ม เป็นหมู่คณะมากขึ้น จะได้มีความสามัคคี รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ความรู้และประสบการณ์ให้แก่กัน ซึ่งนี่จะทำให้ประเทศเราเข้มแข็ง ไปอยู่ที่ไหนก็มีนิสัยสามัคคี ช่วยเหลือกัน”

“ทั้งหมดทั้งมวลนี้ แม้พระองค์ประชวรอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช แต่ก็ทรงทราบว่าโรงเรียนชายแดนต่างจังหวัดมีปัญหาอะไร และทรงแนะนำแนวทางแก้ปัญหาไว้ได้ทั้งหมด” นพ.เกษมย้ำ

เพื่อให้ “โรงเรียนคุณธรรมจริยธรรม” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประสบความสำเร็จนั้น คณะกรรมการกองทุนฯจึงต้องแบ่งขั้นตอนออกเป็น 6 ขั้นตอนคือ

1.การสร้างความยอมรับจากทุกภาคส่วนในโรงเรียนร่วมกัน ตกลงกันทั้ง ผู้บริหาร ครู และนักเรียน รับรู้ว่าเราต้องการจะเปลี่ยนโรงเรียนให้ดีขึ้น

2.เมื่อตกลงร่วมกันแล้ว ถึงร่วมกันระดมความคิด ทำบัญชีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในสายตาของแต่ละคนเมื่อช่วง 2-3 ปีที่ได้พบเห็นมา รวมทั้งพฤติกรรมพึงประสงค์ที่อยากจะเห็นในรอบ 12 เดือน มองให้ครบอย่าง 360 องศา ทั้งครู นักเรียน และผู้บริหาร ก่อนจะไปหาความถี่ของทั้งสองสิ่ง

3.ให้ทุกคนลองคิดว่าหากต้องการให้มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์นั้น จะใช้ยาวิเศษคือคุณธรรมใดมาแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้

4.เมื่อได้คุณธรรมที่ทุกคนตกลงกันแล้ว เช่น ความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ จิตอาสา แต่ละคนก็ควรคิดโครงการที่จะทำให้มีคุณธรรมเหล่านี้มากขึ้นใน 1 ปีต่อจากนั้น เช่น ผู้บริหารคิดว่าจะทำให้การจัดซื้อจัดจ้างจะโปร่งใสมากขึ้น ครูจะไม่เบียดเบียนเวลาราชการ นักเรียนบอกจะไม่ลอกการบ้านเพื่อน กลับบ้านไหว้พ่อแม่ ไม่เที่ยวกลางคืน ดูหนังสือรับผิดชอบ

5.เมื่อได้นโยบายแล้ว ทุกคนก็ออกมาประกาศสิ่งที่จะทำให้คนอื่นฟัง ทำให้เขาตั้งใจจริงซึ่งเขาเหล่านี้พูดเองโดยไม่มีคนบังคับ เขาได้แสดงความรับผิดชอบเอง ก็จะปฏิบัติกันจริง

6.ขั้นสุดท้ายคือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและการทำให้ยืนยาว ซึ่งเราเห็นได้ชัดว่าเปลี่ยนแปลงจริง

นพ.เกษมกล่าวต่อว่า ผลสำเร็จของโครงการนี้ แรกเริ่มคือสิ่งแวดล้อมของ โรงเรียนดีขึ้น ร่มรื่น เพราะมีชมรมจิตอาสาของเด็กๆ ช่วยดูแล ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารและนักเรียนดี รู้จักรับผิดชอบตัวเอง เด็กมีวินัย ปฏิบัติตามข้อตกลง และกฎระเบียบต่างๆ ของโรงเรียน ผลพลอยได้ที่เราไม่คาดหวังคือผลการสอบโอเน็ตของเด็กเหล่านี้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับสัดส่วนเดิมที่มีเพียง 5% ของเด็กที่จะเก่ง นั่นเป็นเพราะคนเก่งก็ช่วยเพื่อน แนะนำเพื่อน และก็เก่งขึ้นไปด้วยกัน โรงเรียนยังได้รับรางวัลต่างๆ มากขึ้น ทำให้ชุมชนเกิดความตื่นตัวอยากเข้ามาช่วยดูแลบุตรหลานในโรงเรียนด้วย

ทั้งยังกล่าวต่อว่า จากความสำเร็จที่ผ่านมา ทำให้โรงเรียนโดยรอบ อยากจัดให้มีระบบเช่นนี้บ้าง ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา จึงก่อตั้งมูลนิธิยุวสถิรคุณขึ้น ขยายโครงการนี้ต่อปีนี้กว่า 3,000 โรงเรียน ตามรูปแบบที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้สร้างไว้ ขยายไปยังโรงเรียนอาชีวะ อำเภอคุณธรรม โรงพยาบาลคุณธรรมทั่วประเทศ โรงเรียนแพทย์ และบริษัทต่างๆ ต่อไปอีก

ก่อนที่ นพ.เกษมจะทิ้งท้ายด้วยการถ่ายทอดแนวพระราชกระแสเรื่องการศึกษา ที่ทรงมีต่อเหล่าคณะองคมนตรีในครั้งนั้นมาเป็นตัวอย่างในการช่วยกันสร้างคนดีว่า

“เรื่องที่จะสร้างคนดีขอให้เป็นหน้าที่ การสร้างคนดีนั้นเป็นเรื่องยากและยาว ต้องเอาอาสาสมัครมาช่วยทำเยอะๆ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image