อุทกพัฒน์ ร่วมมือ กรมอุทยาน สานต่อพระราชดำริด้าน “ดิน น้ำ ป่า”ดร.สุเมธเผย “งานต้องเดินต่อไป”

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 28 ตุลาคม ที่มูลนิธิชัยพัฒนา นายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาและขยายผลเครือข่ายการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ตามแนวพระราชดำริ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 โดยมีนายรอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิฯ ร่วมเป็นพยาน

นายสุเมธ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ ต้องบอกว่าเราได้ทำงานร่วมกันในการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า มายาวนานแล้ว เพียงแต่จัดทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ปัญหาที่ประเทศเรากำลังเผชิญอยู่คือพื้นที่ต้นน้ำถูกทำลายเป็นปัญหาหลักที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเคยมีรับสั่งไว้ว่า เรื่องนี้หากประชาชนไม่ร่วมมือกับหน่วยราชการในการดำเนินงานด้านอนุรักษ์แล้วย่อมเป็นไปได้ยาก และเคยตรัสว่า เมื่อไหร่จะได้เห็นป่าไม้หมู่บ้านสักที นั่นก็คือการให้ประชาชนในหมู่บ้านเข้ามามีส่วนร่วม ลุกขึ้นมาปกป้องผืนป่าของเขาเอง นอกจากจะไม่ทำลายป่าแล้ว ต้องเพิ่มพื้นที่ป่า เพื่อความยั่งยืน โจทย์ก็คือต้องทำอย่างไรให้คนกับป่าอยู่ด้วยกันได้ คือน้ำต้องพอ เพื่อให้คนประกอบอาชีพได้

“มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ เรามีความรู้เรื่องน้ำ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีรับสั่งให้รวบรวมองค์ความรู้นี้ไว้ ก่อนจะพระราชทานให้หน่วยงานราชการได้ดำเนินการต่อเพื่อเป็นประโยชน์ได้ หลักการทรงงานของพระองค์ทำให้ทุกวันนี้ชาวบ้านเข้าใจสิ่งที่เรากำลังทำ และลุกมาปกป้องตัวเอง พระองค์ทรงคิดการใหญ่แต่ทำการเล็ก เมื่อชุมชนลุกขึ้นมาช่วยงานของเราจึงสำเร็จได้ สำหรับต่อจากนี้มูลนิธิฯจะสานงานด้านนี้ต่อไป เพราะงานยังไม่เสร็จ เราต้องช่วยกันทำ จากฐานความรักและสามัคคี ที่พระองค์เคยตรัสไว้เมื่อปี 2555 ซึ่งหลายคนได้ยกมากล่าวไม่นานนี้”

ดร.สุเมธ
ดร.สุเมธ

นายรอยล กล่าวว่า จากแนวพระราชดำริว่าเข้าใจ เข้าถึง พัฒนานี้ ที่อธิบายได้คือ ต้องเข้าใจปัญหาและสาเหตุ วิธีแก้ปัญหา เข้าถึงการกระทำนั้นๆ ลุกมาปฏิบัติ เพื่อให้การพัฒนานั้นยั่งยืนได้ โดยมูลนิธิฯได้น้อมนำพระราชดำริ ดำเนินงานสร้างตัวอย่างความสำเร็จของการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เริ่มต้นจาก 2 ชุมชนในปี 2546 จนปัจจุบันมีชุมชนกว่า 60 ชุมชนในพื้นที่ 19 ลุ่มน้ำ สามารถขยายผลเครือข่ายการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริได้ 603 ชุมชน และจัดเป็นพิพิธภัณฑ์จัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ 10 แห่ง อาทิ ที่เครือข่ายลุ่มน้ำแม่ละอุป จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นตัวอย่างชุมชนจัดการน้ำและแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยแบ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าฟื้นฟู ป่าเศรษฐกิจ และป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

Advertisement

ด้านนายธัญญา กล่าวว่า ความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานในการพัฒนาและขยายผลเครือข่ายการจัดการทรัพยากรดินน้ำป่าตามแนวพระราชดำริ เป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริสู่การขยายแนวคิดเชิงปฏิบัติและลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรมส่งผลให้เกิดตัวอย่างความสำเร็จในการดำเนินงานร่วมกันสามารถขยายผลไปสู่เครือข่ายชุมชนเกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนา ระหว่างชุมชนเครือข่ายหน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานเอกชนเพื่อใช้เป็นตัวอย่างขยายผลสำเร็จให้เกิดเครือข่ายการพัฒนาการจัดการทรัพยากรดินน้ำป่าตามแนวพระราชดำริอย่างยั่งยืนได้ในที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากลงนามความร่วมมือสำเร็จ นายสุเมธ ตันติเวชกุล ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ถึงแนวทางพระราชดำริด้านน้ำว่า ความจริงแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มิใช่รัฐบาลซึ่งจะทำทุกอย่างได้ทั้งหมด แต่ก็มีโครงการสำคัญๆมากมาย อย่างเช่นแก้มลิง สิ่งที่พระองค์รับสั่งไว้ทุกคนก็คงทราบดี สำหรับเรื่องน้ำนี้ถามว่าทำไปเพื่ออะไร ก็เพื่อตัวเองทั้งนั้น ทั้งน้ำ อากาศไม่เป็นมลพิษ ทำขึ้นเพื่อให้ชีวิตเราดี และได้ส่งต่อลูกหลานเราได้

“ทุกวันนี้ทำงานมาจนอายุ 78 ปีแล้ว ยังคงทำงานอยู่ สิ่งที่ทำให้อยากทำงานอยู่ก็คือหยาดพระเสโทที่ไหลหลั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงงานหนักมาตลอด 70 ปี ตั้งแต่ได้ถวายงานมา แค่ได้อยู่ใกล้พระองค์ก็เป็นความภาคภูมิใจแล้ว ความประทับใจที่สุดคือตอนที่บวช พระองค์มีรับสั่งให้เทศน์ถวายพระองค์ ความรู้สึกของเราที่นั่งอยู่บนธรรมาสน์ได้บรรยายธรรมให้พระองค์ เป็นความรู้สึกที่ภูมิใจที่สุดแล้ว” นายสุเมธ เผย

Advertisement

 

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

รอยล
รอยล
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image