ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระอัจฉริยภาพด้านอวกาศ

หมายเหตุ – นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. ถ่ายทอดถึงพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านเทคโนโลยีอวกาศ ในโอกาสที่เคยร่วมคณะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าฯ ถวายภาพถ่ายดาวเทียมที่แสดงให้เห็นสภาพน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่องอวกาศอย่างยิ่ง และพระองค์ทรงงานด้านนี้มาก่อนที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศจะก่อตั้งขึ้นด้วยซ้ำ

เท่าที่ทราบและมีโอกาสได้ร่วมกับคณะทำงานทูลเกล้าฯ ถวายงาน ซึ่งก็คือแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ พระองค์มีความสนพระราชหฤทัยใน 2 เรื่องหลักๆ คือ “แผนที่” และ “ถ่ายรูป” ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่ผมดูแลโดยตรง ในอดีตพระองค์ทรงงานโดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศที่สามารถช่วยให้พระองค์สามารถทอดพระเนตรทุกแง่มุมของประเทศไทยได้อย่างชัดเจน ในขณะนั้น ประเทศไทยมีภาพถ่ายทางอากาศอยู่ในหลายหน่วยงาน ทั้งกรมที่ดิน กรมป่าไม้ แต่ลักษณะการใช้งานเป็นไปตามภารกิจ ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์ สามารถนำมาเชื่อมโยงกันได้ พระองค์ทอดพระเนตรภูเขา แม่น้ำ หนอง บึง ก็สามารถเชื่อมโยงว่าบริเวณนั้นมีความลาดชันอย่างไร จะดำเนินการใดๆ ได้บ้าง พระอัจฉริยภาพตรงนี้ คนทั่วไปไม่สามารถทำได้

นอกจากนี้ พระองค์มีความสนพระราชหฤทัยในเรื่องของการสื่อสาร วิทยุต่างๆ แรกๆ เป็นการสื่อสารตามแนวขอบฟ้า ต่อมาโลกและประเทศไทยเริ่มมีดาวเทียมสื่อสารเกิดขึ้น พระองค์ก็ทรงเรียนรู้

Advertisement

ที่เป็นพระมหากรุณาธิคุณในวงการในอวกาศคือ พระองค์พระราชทานชื่อ “ดาวเทียมไทยคม” (Thaicom) ซึ่งเป็นชุดดาวเทียมเพื่อการสื่อสารของประเทศไทยโดยตรง นอกจากนั้นมี “ดาวเทียมไทพัฒ” (Thaipat) ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครพัฒนาขึ้น และได้รับพระราชทานชื่อนี้มา

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับ สทอภ.ก็คือ “ดาวเทียมไทยโชต” ชื่อนี้พระองค์พระราชทาน แต่เรื่องนี้น่าสนใจมาก และเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยทราบ ตอนนั้น สทอภ. โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขอพระราชทานชื่อดาวเทียมดวงนี้ ครั้งแรกเราเรียกกันว่า ธีออส เพราะว่าเป็นตัวย่อของชื่อโครงการ Thailand Earth Observation Sytem : THEOS แต่คำย่อนี้บังเอิญไปพ้องกับภาษากรีก แปลว่า “พระเจ้า” และตอนแรกหลายคนยังเข้าใจว่าเป็นดาวเทียมของกรีก แต่ไม่ใช่ ที่ สทอภ.ยังไม่ได้ขอพระราชทานชื่อในตอนแรก เพราะดาวเทียมยังไม่ได้ยิงขึ้นสู่วงโคจร จึงถือว่ายังมีความเสี่ยงว่าจะสำเร็จหรือไม่ ดังนั้น สทอภ.จึงทดลองยิงขึ้นสู่วงโคจรก่อนระยะหนึ่ง เมื่อทดสอบว่าใช้งานได้ดีแล้ว จึงขอพระราชทานชื่อ ครั้งนั้น สทอภ.ได้เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในขณะนั้นทูลเกล้าฯ เสนอไป 3 ชื่อ แต่ปรากฏว่าชื่อที่พระองค์พระราชทานลงมากลับไม่ใช่ทั้ง 3 ชื่อที่ได้เสนอไป หลังจากนั้นจึงพระราชทานชื่อว่า ดาวเทียมไทยโชต พร้อมพระราชทานคำภาษาอังกฤษ Thaichote และคำแปลว่า “ดาวเทียมที่ทำให้ประเทศไทยรุ่งเรือง” มาด้วย

พระองค์ทรงใส่พระราชหฤทัยกับทุกเรื่อง และเรื่องนี้ก็เช่นกัน และเรื่องอื่นๆ ที่ สทอภ.ได้มีโอกาสทูลเกล้าฯ ถวายงาน เช่น ในช่วงเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 ขณะนั้น เทคโนโลยีดาวเทียมค่อนข้างก้าวหน้ามาก ที่ สทอภ.ได้นำทูลเกล้าฯ ถวาย ไม่ใช่แค่ภาพถ่ายดาวเทียมอย่างเดียว แต่เป็นภาพเคลื่อนไหวที่ถ่ายจากดาวเทียมเรดาร์ทุกวัน เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรแล้ว ทรงพอพระราชหฤทัยอย่างมาก พระองค์ตรัสว่า “ไหนลองเดินกลับไปใหม่” คณะก็เดินหน้า ถอยหลัง เพื่อให้พระองค์ทอดพระเนตรรูปเคลื่อนไหว

Advertisement

ในวันนั้นพระองค์พระพักตร์แจ่มใสมาก พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะได้เข้าเฝ้าฯ ถึง 3 ชั่วโมง พระองค์ทรงเล่าถึงสภาพของแม่น้ำป่าสัก เล่าถึงสุนัขทรงเลี้ยงลูกของ “คุณทองแดง” ที่ชื่อ “คุณป่าสัก” พระองค์ตรัสว่า “ตัวนี้ดุมาก ต้องนำไปเลี้ยงไว้ที่หัวหิน เพราะไล่กัดเขาไปทั่ว”

หลังจากนั้น สทอภ.ได้ทูลเกล้าฯ ถวายภาพถ่ายดาวเทียมให้พระองค์เป็นประจำ ทั้งนี้ พระองค์รับสั่งเพิ่มว่า ต่อไปนี้ดาวเทียมจะเข้ามามีบทบาทในหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องการเกษตร น้ำ และอื่นๆ อีกมากมาย

ดังนั้น นับจากนี้ไป สทอภ.จะเดินตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงชี้ทางไว้แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image