พระอารมณ์ขัน ‘พระเทพฯ’ อยู่มานาน กาลเวลาพาสุข

เป็นโอกาสที่พสกนิกรชาวไทยจะได้ติดตามพระราชกรณียกิจทั้งในและต่างประเทศของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสมือนได้ติดตามเบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด ผ่านภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่บอกเล่าเรื่องราว แนวคิด และมุมมองของพระองค์ที่ทรงพบเห็นสิ่งต่างๆ ที่สนพระราชหฤทัย ภายใต้นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ในหัวข้อ “อยู่มานาน กาลเวลาพาสุข (Happiness that long Life Brings)” ประจำปี 2558 จัดโดยสมาคมภาพถ่ายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

IMG_0176_resized_8

การนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงาน โดยมีนายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯกทม., นายนิติกร กรัยวิเชียร นายกสมาคมภาพถ่ายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี รองประธานกรรมการบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟฯ, นางลักขณา คุณาวิชยานนท์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เฝ้าฯรับเสด็จ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

โอกาสนี้ทรงบรรยายภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ตอนหนึ่งความว่า “ชื่อนิทรรศการอยู่มานาน กาลเวลาพาสุข เพราะว่าคนที่อยู่นานเป็นคนโชคดี ได้เห็นอะไรดีๆ ได้เห็นอะไรๆ เยอะแยะเต็มไปหมด รู้สึกว่าอยู่มาจนถึง 60 พรรษาได้รับความเมตตาจากใครต่อใครหลายคน ก็ทำให้สบายดี”

Advertisement

“อยู่มาถึงตอนนี้ ถือว่าอยู่มานาน ผู้รับราชการอย่างข้าพเจ้าก็ต้องเกษียณอายุเป็นธรรมดา ทำให้ต้องปรับตัวปรับใจอยู่บ้าง สุขภาพจะให้ดีเท่าแต่ก่อนก็เป็นไปไม่ได้ แต่กาลเวลาที่ผ่านมาก็ช่วยทำให้รู้จักคนมากขึ้น ได้เพื่อนดีๆ ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น และได้ชิมของที่ไม่เคยมาก่อน ได้ทำงานที่คิดว่าคุ้มค่า คือทำให้ตัวเองและผู้อื่นมีความสบายมากขึ้น ความทุกข์น้อยลง สิ่งเหล่านี้ถือว่าได้มาจากกาลเวลาที่อยู่มานาน มีประสบการณ์ที่ช่วยในการรับรู้และแยกแยะสิ่งที่รับรู้ด้วยอินทรีย์ทั้ง 5 หรือ 6 และนำพาให้เกิดความสุข”

จากนั้นทรงนำภาพถ่ายฝีพระหัตถ์บางส่วนมาบรรยาย เช่น ภาพลูกเต่า ชุดที่ 1 ยังไม่มีชื่อ มีแต่หมายเลข

IMG_7182

Advertisement

“เต่าในภาพเป็นเต่าหายาก ขณะนี้กำลังออกลูกอีก ส่วนเต่าในภาพจะตั้งชื่อ แต่ก็ยังคิดไม่ออก ก็เลยตั้งเป็นหมายเลข 1 2 3 4 คิดว่าเร็วๆ นี้อาจมีประกวดตั้งชื่อ แต่ตั้งไปแล้วก็ไม่รู้อีกว่าตัวไหนคือตัวไหน (พระสรวล)”

จากนั้นทรงบรรยายภาพศิลปะข้าวของกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว มูลนิธิชัยพัฒนา อำเภอเมือง จ.สุรินทร์

“เป็นเรื่องติดใจมานาน เวลามีเหตุด่วนเหตุภัยธรรมชาติ เช่น พายุ น้ำท่วมนา ชาวบ้านจะไปขอเมล็ดพันธุ์จากกรมการข้าว บ้างขอเมล็ดพันธุ์ไปปลูกใหม่ แต่ปลูกแล้วก็โดนถล่มอีก ก็รู้สึกหมดหวัง ตอนนั้นนึกถึงเพลงรักกับพี่ดีแน่ และร้องให้อธิบดีกรมการข้าวฟังไม่ให้หมดหวังว่า นาดีๆ ต้องใช้ข้าวปลูกพันธุ์ดี ถ้าปลูกไม่ดีก็ทำให้เสียที่นา เก็บเกี่ยวไปขายไม่ได้ราคา เสียเวล่ำเวลาเสียที่นาฟรีๆ อธิบดีก็ร้องเพลงตาม สร้างความฉงนใจแก่คนที่เกิดไม่ทัน แต่กับคนที่เกิดทันก็มีกำลังใจขึ้นมา ปัจจุบันโลกกำลังเปลี่ยนแปลง ดินฟ้าอากาศ คนต้องสู้กับฟ้า ต้องทำให้ดีที่สุด ส่วนในภาพนี้เป็นศิลปะจากข้าวที่สวยงาม”

IMG_7184

ขณะที่ภาพศูนย์รวมพระ วัดสีสะเกด เวียงจันทน์ สปป.ลาว ทรงเล่าว่า “ที่นี่เป็นสถานที่สวยงามมาก ตัวอาคารภายหลังองค์พระ มีติดกระจกสวยงาม ใครมีโอกาสต้องแวะไปชม”

138 Thailand 7 August 2015 (Large)

ต่อด้วยภาพสังเวยผีเสื้อสมุทรต้องถวายพระอภัยมณีและม้าลาย จ.ระยอง ตรัสว่า “ชาวบ้านแก้บนผีเสื้อสมุทร ด้วยการเอาพระอภัยมณีไปถวายมากมาย แต่ที่แปลกคือไม่ว่าเจ้าที่ไหน ทำไมต้องมีถวายม้าลาย ก็ยังหาเหตุผลไม่ได้”

ส่วนภาพใครเป็นตัวจริง ใครเป็นตัวปลอม (ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล) รับสั่งว่า “ถือว่าเป็นพระเอกของงานต้องมาให้ได้ เชิญมาให้ถ่ายรูปกับภาพ”

และภาพศูนย์เรียนรู้การพัฒนาอมก๋อย “การใช้ไม้ไผ่ยาวมากระทบกันในโลกนี้ ไม่ได้มีเพียงลาวกระทบไม้ที่ใช้ไม้ไผ่ 2 ลำแล้วเดินเข้าไป เดินไม่ดีแล้วถูกหนีบ นี่คือกะเหรี่ยงกระทบไม้ที่มีไม้ไผ่หลายไม้ ซึ่งไม่ได้เห็นกันง่ายๆ”

จากนั้นรับสั่งถึงไฮไลต์นิทรรศการในปีนี้ว่า “ปีนี้ข้าพเจ้าอายุ 60 ปี ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคมปีที่แล้วใครๆ พากันให้ขนมเค้กแบบต่างๆ ถึงตอนนี้มีถึง 117 ก้อนแล้ว ในนิทรรศการนี้ผู้จัดจึงเลือกรูปเค้กหลายรูป”

IMG_7170

ด้วยพระอารมณ์ขันจากที่ทรงบรรยายภาพฝีพระหัตถ์ ทำให้ตลอดระยะเวลามีเสียงหัวเราะจากบรรดาผู้ที่มาเฝ้าฯ เป็นระยะๆ โดยหลังจากทรงบรรยายเสร็จผู้จัดงานได้ทูลเกล้าฯ ถวายเค้กก้อนที่ 118 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแย้มพระสรวลและทรงยกกล้องส่วนพระองค์ขึ้นฉายรูปเป็นที่ระลึก ก่อนทรงเปิดนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ประจำปี 2558 และทอดพระเนตรนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ที่ทรงบันทึกไว้ระหว่างการเสด็จฯไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ในช่วงปี 2557-2558 จำนวนทั้งสิ้น 158 ภาพ แบ่งเป็น 8 กลุ่ม ได้แก่ สิงสาราสัตว์ สถาปัตยกรรม มุมมองสีสัน เค้กวันเกิด โลกกว้าง ฉลอง พืชพรรณ และผู้คน

สำหรับนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “อยู่มานาน กาลเวลามีสุข” ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดให้เข้าชมระหว่างวันที่ 11 ธันวาคม 2558 ถึง 6 มีนาคม 2559 (หยุดทุกวันจันทร์) ตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น. และจะมีการจำหน่ายหนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “อยู่มานาน กาลเวลามีสุข” ในราคาเล่มละ 900 บาท ณ ห้องนิทรรศการชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (สี่แยกปทุมวัน) และศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายได้ทั้งหมดนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย

ในวันเดียวกัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯไปทรงเป็นประธานเปิดนิทรรศการ “ปิยราชกุมารี” ซึ่งเป็นนิทรรศการที่พระองค์พระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญพระฉายาลักษณ์ที่นายนิติกร กรัยวิเชียร นายกสมาคมภาพถ่ายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นผู้ฉาย ระหว่างปี 2532-2558 จำนวน 60 องค์ โดยบางภาพไม่เคยเผยแพร่มาก่อน ณ ไลฟ์สไตล์ฮอลล์ ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ

IMG_7190

IMG_7193

IMG_7196

IMG_7197

IMG_7198

IMG_7206

ภายหลังจากเปิดงาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรพระฉายาลักษณ์ของพระองค์อย่างสนพระราชหฤทัย พร้อมตรัสกับผู้ถวายการติดตามว่า “นิทรรศการนี้ถือเป็นการแสดงพระฉายาลักษณ์ของเราอย่างเป็นทางการ” ก่อนเสด็จฯกลับ

นายนิติกร กรัยวิเชียร นายกสมาคมภาพถ่ายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ความพิเศษของนิทรรศการ “ปิยราชกุมารี” คือการรวบรวมพระฉายาลักษณ์ในอิริยาบถต่างๆ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้ประชาชนชาวไทยได้ชื่นชมพระบารมีของพระองค์ผ่านพระฉายาลักษณ์ ซึ่งบางภาพฉายไว้นานแล้วแต่ยังไม่เคยเผยแพร่มาก่อน รวมถึงบางภาพที่ฉายในปีนี้ด้วยเช่นกัน

“ผมมีความประทับใจทุกภาพที่มีโอกาสได้ฉาย สำหรับภาพที่ประทับใจมากที่สุดคือ ภาพแรกที่ฉายเมื่อปี 2532 เป็นภาพขาว-ดำที่ประทับริมหน้าต่าง เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้ฉายอย่างเป็นทางการ และเป็นภาพที่ทรงเป็นธรรมชาติมาก” นายนิติกรกล่าว

ทั้งนี้ ได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือ “ปิยราชกุมารี” จำหน่ายในราคา 3,000 บาท จัดพิมพ์จำนวน 3,000 เล่ม ทั้งนี้จะนำรายได้ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image