‘หมอดิน’นั่งวีลแชร์เดินเท้า 3 วันกับลูกชาย จากฉะเชิงเทรา สักการะพระบรมศพ ตั้งใจสืบสานทฤษฎีเกษตร ร.9

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน สำหรับบรรยากาศภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง สำนักพระราชวังได้เปิดให้พสกนิกรเข้าถวายสักการะก่อนเวลาจริงตั้งแต่เวลา 05.00 น. ทางประตูวิเศษไชยศรี ผ่านประตูพิมานไชยศรี ผ่านพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เข้าสู่กำแพงแก้วของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเพื่อขึ้นไปถวายสักการะพระบรมศพ เบื้องหน้าพระบรมโกศ

พสกนิกรยังเดินทางมาตั้งแต่เช้ามืด แม้การจราจรทั่วกรุงจะติดขัดเป็นพิเศษเนื่องจากจะมีการจัดกิจกรรมรวมพลังแห่งความภักดี เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ และร่วมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทั่วประเทศ รวมถึงบริเวณท้องสนามหลวง แต่ประชาชนยังคงต่อแถวรอคิวถวายสักการะพระบรมศพอย่างมิขาดสาย

น.ส.วรรณวิสา จัดพล พนักงานสาวบริษัทเอกชนวัย 30 ปี กล่าวว่า เดินทางพร้อมเพื่อน น.ส. อรณี พรหมดนตรี มาตั้งแต่เวลา 02.30 น.ของเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน เพราะทราบว่าวันนี้จะมีการจัดกรรมรวมพลังแห่งความดี ซึ่งเกรงว่าการจราจรจะติดขัด ทั้งนี้ ตนเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เคยแต่ได้ยิน ได้ฟังและรับรู้เรื่องราวของพระองค์ผ่านโทรทัศน์ จึงคิดว่าต้องมีสักครั้งที่ตนเข้าเฝ้าพระบรมศพให้ได้ ทั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีเพราะบริษัทของตนให้พนักงานมาสักการะพระบรมศพได้ 1 วันโดยไม่คิดเป็นวันหยุด

“สำหรับแนวทางพระราชดำริที่นำมาปรับใช้ คือ เรื่องความประหยัดอดออม ซึ่งนำมาใช้ได้จริงในชีวิตมนุษย์เงินเดือนได้เป็นอย่างดี” น.ส.วรรณวิสา กล่าว

Advertisement
.วรรณวิสา จัดพล
วรรณวิสา จัดพล

น.ส. อรณี พรหมดนตรี กล่าวว่า ใช้สิทธิวันหยุดที่บริษัทมอบให้พนักงานเดินทางเข้ากราบสักการะพระบรมศพ 1 วัน ก่อนมาคิดว่าต้องรอนานและเหนื่อย แต่เมื่อได้มาจริงๆ ใช้เวลา 4 ชั่วโมง กลับไม่รู้สึกว่านาน และพอเข้าไปในพระที่นั่งแล้วรู้สึกคุ้มค่ากับจิตใจมากๆ เพราะตัวเองไม่เคยรับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 มาก่อน เป็นโอกาสหนึ่งในชีวิตที่ได้ใกล้ชิดพระองค์ และร่วมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อประชาชนในที่แห่งนี้

“เรื่องหนึ่งที่ตั้งใจน้อมนำคำสอนพระองค์ไปใช้อย่างจริงจัง คือ การเกษตร มี อยู่ กิน อย่างพอเพียง โดยที่บ้านเกิดใน จ.นครศรีธรรมราช ทำสวนยางอยู่มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ตัวเองมาทำงานในกรุงเทพฯ นานแล้ว คิดอยากจะกลับไปอยู่บ้านกับครอบครัวมาสักพักหนึ่ง แต่แม่ได้ห้ามไว้เพราะช่วงหลังมานี้ราคายางตก แม่กลัวว่ากลับมาจะอยู่ลำบากรายได้ไม่มั่นคง ตัวเองเลยเริ่มศึกษาการปลูกพืชตามแนวพระราชดำริ ทั้งจากโทรทัศน์ อ่านหนังสือเพิ่มเติม ศึกษาสภาพดินที่บ้าน บอกแม่ซึ่งเป็นเกษตรกรรุ่นเก่าตลอดว่าเราสามารถทำทฤษฎีใหม่ ปลูกพืชผสมผสาน ให้มีผลผลิตอื่นเป็นรายได้เสริมได้ โดยแม่ก็เห็นด้วยลองปลูกสับปะรด กับผักสวนครัวแทรกตามแนวต้นยาง และตอนนี้ผักสวนครัวก็ออกผลมาได้ดี ใช้ทำอาหารทานได้ทุกวัน แจกจ่ายเพื่อนบ้านได้และในอนาคตอาจนำส่งขายได้ก็จะศึกษาเรื่องช่องทางการวางขายอีกครั้ง และถ้าไปได้ดีตัวเองก็จะกลับไปอยู่บ้านสวนยางที่นครศรีธรรมราชตามความตั้งใจ สานต่ออาชีพประจำครอบครัว และหลักการเกษตรของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9” พนักงานสาว กล่าวด้วยความปลื้มใจ

อรณี พรหมดนตรี
อรณี พรหมดนตรี

นายพรชัย หารศรี หมอดินจิตอาสา จากแปดริ้วผู้พิการเดินไม่ได้จากอุบัติเหตุ มีความตั้งใจเดินทางด้วยวีลแชร์ จากหมู่บ้านหนองกระทิง ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา มายังพระบรมหาราชวัง โดยเข็นรถมาด้วยตัวเองพร้อมมีลูกชายคอยช่วยเข็นและเดินทางเคียงข้างกันมาจนถึงจุดหมายตลอดสามวัน จนวันนี้ทั้งคู่มีร่างกายอ่อนล้าแข้งขาอ่อนแรง

Advertisement

“ผมเป็นจิตอาสาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมประมง ซึ่งคอยเป็นวิทยากรเผยเเพร่ทฤษฎีด้านการเกษตรที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงคิดและทรงทำเพื่อประชาชน พร้อมน้อมนำมาปฏิบัติด้วยตัวเองและให้ชาวบ้านได้มาศึกษาเกษตรอินทรีย์ปลูกพืชไร้สารเคมี การเลี้ยงปลานิลจิตรลดา ปลูกพืชสวนครัวตามแนวรั้ว การทำเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชบำรุงดิน ปรัชญาหญ้าแฝก ทำปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งทุกอย่างล้วนเป็นปราชญ์ของพ่อ อันที่จริงทรงเป็นปราชญ์กับทุกๆ เรื่องที่ทรงทำ และทุกที่ที่เสด็จฯ ไปถึง ทรงเดินบนดินก็คิดแก้ปัญหาเรื่องดิน ทรงเห็นฟ้าก็คิดทำฝนหลวง ทรงไปอยู่ในชุมชนไหนก็คิดแก้ปัญหาของประชาชนในที่นั้น ตอนนี้ชาวบ้านยังทำตามไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเกษตรอินทรีย์ต้องใช้เวลา ความอดทน หลายคนเริ่มจากการปลูกพืชผสมผสานแทรกตามสวนไร่ ปลูกผักสวนครัวกินกันเอง และทำสารปราบศัตรูพืชจากสะเดา บอระเพ็ดหมัก ผมเชื่อว่าเมื่อเห็นผลของความพอเพียงก็จะเริ่มขยายทำเกษตรอินทรีย์กันเต็มตัวในอนาคต” นายพรชัย กล่าว

นายพรชัย กล่าวถึงความรู้สึกหลังได้เข้ากราบสักการะพระบรมศพว่า ตั้งใจปฏิญาณตนต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ว่าขอนำปราชญ์เรื่องดินของพ่อมาใช้กับตัวเองและเผยแพร่ต่อชาวบ้านให้มีความสุขกับชีวิตเกษตรอินทรีย์ พอเพียงมากที่สุด

S__7438369
พรชัย หารศรี หมอดินจิตอาสา และลูกชาย

นายชัยวัฒน์ หารศรี อายุ 18 ปี ลูกชาย กล่าวว่า พ่อได้ชักชวนตนมา ซึ่งเดิมทีตนได้มีใจที่อยากมาอยู่แล้ว เพราะเป็นเด็กต่างจังหวัดที่ไม่เคยมีโอกาสเดินทางมายังกรุงเทพฯ ทั้งนี้ แม้ตนเป็นเด็กต่างจังหวัด แต่ก็ทราบว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงงานหนัก

“เมื่อพ่อมาชวนว่าจะเดินทางไปถวายสักการะพระบรมศพด้วยการเดินเท้า ผมดีใจมากเพราะผมรู้ว่าพ่ออยากมาตั้งแต่กิจกรรมปั่นเพื่อพ่อเมื่อปี 2558 แล้วแต่พ่อมาไม่ได้ แต่ครั้งนี้ เราเดินทางตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายนจากจ.ฉะเชิงเทรา แม้จะเหนื่อยล้าจากการเดินทาง 3 วันเต็ม แต่ผมดีใจมากที่ได้เข้าสักการะพระบรมศพในพระบรมมหาราชวัง และอยากขอบคุณน้ำใจคนไทยที่ให้การช่วยเหลือผมและพ่อมาระหว่างการเดินทางตลอดสามวัน” นายชัยวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ ทางสำนักพระราชวังสรุปยอดรวมประชาชน ที่เดินทางมาสักการะพระบรมศพ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน หลังสำนักพระราชวัง ปิดไม่ให้ประชาชนเข้าพระบรมมหาราชวัง เพื่อขึ้นกราบสักการะพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในเวลา 21.00 น. ว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 34,490 คน รวม 24 วันมี 750,298 คน และมีประชาชนถวายเงินเพื่อร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นเงิน 3,634,051.50 บาท รวม 24 วัน เป็นเงินทั้งสิ้น 55,032,951.50 บาท
S__7438362

S__7438363

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image