สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับ รพ.สมเด็จพระยุพราช

ตลอดระยะเวลากว่า 800 ปีที่ผ่านมาของชาติไทย พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้นำของชาติ ทรงนำพาประเทศผ่านพ้นภยันตรายต่างๆ และทรงทำนุบำรุงดูแลประชาชนชาวไทยให้มีแต่ความสงบสุขร่มเย็นมาโดยตลอด แม้ต่อมาจะทรงดำรงพระราชสถานะประมุขของชาติ เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ยังทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ทรงเป็นหลักชัยของแผ่นดินที่ประชาชนทั้งหลายเคารพศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทยนั้นมีความผูกพันกันมาเป็นเวลาช้านาน หากมีเรื่องใดที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว ประชาชนทั้งหลายย่อมจะร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันเป็นอย่างดี ซึ่งการก่อตั้งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ในปี 2520 เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรักความศรัทธาของประชาชนชาวไทยที่มีต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โดยแท้จริง

หากจะกล่าวถึงความเป็นมาของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชนั้น จะต้องย้อนไปพิจารณาถึงสภาวการณ์ของประเทศไทยในขณะนั้นก่อน กล่าวคือ นับแต่ปี 2518 เป็นต้นมา ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะวิกฤตทางการเมือง ต้องเผชิญกับภัยคอมมิวนิสต์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งกำลังแผ่อิทธิพลคุกคามความเป็นเอกราชของชาติไทยอย่างหนัก ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ดำเนินยุทธศาสตร์สร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อแบ่งแยกประชาชนออกจากรัฐบาล อันจะเป็นการง่ายที่จะเข้ายึดครองประเทศไทย

เมื่อผมเข้ารับหน้าที่นายกรัฐมนตรีในปี 2519 ภารกิจสำคัญภารกิจแรกที่รัฐบาลต้องรีบลงมือทำในทันที คือการหลอมรวมใจคนในชาติให้กลับมาเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้ง หลังจากที่เราต้องเผชิญกับวิกฤตความแตกแยกในบ้านเมือง อันเนื่องจากภัยคอมมิวนิสต์ดังกล่าว ซึ่งในช่วงเวลานั้นเองนับเป็นบุญบารมีของประเทศไทยอย่างยิ่งที่กำลังจะมีโอกาสสำคัญเกิดขึ้น นั่นคือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระรัชทายาท จะทรงเข้าพิธีหมั้นในวันที่ 17 ธันวาคม 2519 และจะมีพระราชพิธีอภิเษกสมรสในวันที่ 3 มกราคม 2520 คณะรัฐมนตรีจึงได้ปรึกษาหารือกันถึงการที่รัฐบาลจะร่วมกับประชาชนทั้งประเทศในการน้อมเกล้าฯ ถวายของขวัญแด่พระองค์ให้เหมาะสมและดีที่สุดเนื่องในโอกาสพิเศษดังกล่าว พร้อมกับจะถือโอกาสพิเศษอันหาได้ยากยิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการประสานความเข้าใจระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และสร้างความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติด้วยการพึ่งพระบารมีและพัฒนาประเทศในส่วนท้องถิ่นทุรกันดารไปในเวลาเดียวกัน

คณะรัฐมนตรีได้ปรึกษาหารือกัน ประกอบกับโดยคำนึงถึงพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีพระราชปรารภอยู่เนืองนิตย์ว่า “การที่ประชาราษฎร์จะแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่าน ก็ควรเป็นเรื่องการประกอบความดีงามเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเท่านั้น” เราจึงได้ข้อตกลงเบื้องต้นว่า จะรณรงค์จัดสร้างโรงพยาบาลขึ้นในท้องถิ่นทุรกันดาร โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้บริการแก่ประชาชนในเขตชนบทที่ยากไร้ห่างไกล และเพื่อเป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับทหาร ตำรวจ และหน่วยอาสาสมัครที่กำลังต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โดยผมได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตน้อมเกล้าฯ ถวายโรงพยาบาลในท้องถิ่นทุรกันดารเป็นของขวัญวันอภิเษกสมรสแด่องค์สมเด็จพระยุพราช

Advertisement

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำรัสว่า “ไม่ต้องห่วงครอบครัวของฉัน จะทำอะไรก็ทำเถิด ขอให้เป็นสิ่งที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนก็แล้วกัน” ทั้งทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า “โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช”

การรณรงค์จัดสร้างโรงพยาบาลครั้งนั้น แม้ว่าในช่วงเริ่มต้นจะมีอุปสรรค โดยผู้ไม่เห็นด้วยโจมตีว่า “จะสร้างโรงพยาบาลเพื่ออะไร ในเมื่อไม่มีแม้แต่หมอ พยาบาล หรือเครื่องมือทางการแพทย์” ทั้งยังสำทับเพิ่มเติมอีกว่า “นำเงินไปซื้อเฮลิคอปเตอร์ให้ทหารใช้สักสองลำยังดีเสียกว่าสร้างโรงพยาบาล!” เมื่อเกิดเสียงครหาขึ้นเช่นนั้น ผมจึงต้องออกมายืนยันว่า เมื่อผมให้คำมั่นแล้วว่าจะร่วมกับประชาชนในการสร้างโรงพยาบาลในเขตทุรกันดาร ผมถือคำมั่นนั้นเป็นสำคัญว่าจะต้องสร้างโรงพยาบาลให้ได้ และจะต้องสร้างได้อย่างสมบูรณ์พร้อม มีแพทย์ พยาบาล และเวชภัณฑ์ครบถ้วนทุกประการด้วย ซึ่งแม้ในขณะนั้นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ด้วยพลังแห่งความจงรักภักดีและด้วยพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทำให้เราได้รับเงินบริจาคจากประชาชนทั่วประเทศเป็นจำนวนที่สูงถึง 155 ล้านบาทเศษ ทั้งได้ที่ดินมาเพิ่มด้วยอีก 81 แปลง และวัสดุก่อสร้างจำนวนมาก รวมเป็นมูลค่ากว่า 195 ล้านบาท อันเป็นเรื่องที่เกินความคาดหมายอย่างยิ่ง เป็นผลให้สามารถสร้างโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ได้ถึง 21 แห่ง และเป็นโรงพยาบาลที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดารมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งหมดสำเร็จได้เพราะรัฐบาล ข้าราชการ และประชาชนร่วมแรงร่วมใจกัน โดยเชื่อมประสานกันได้เพราะพระบารมีของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เปรียบเสมือนน้ำประสานทองเชื่อมผนึกกำลังของทุกฝ่ายร่วมกันฟันฝ่า จนผ่านพ้นวิกฤตความแตกแยกในครั้งนั้นไปได้ด้วยดี

พัฒนาการของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช นับแต่ก่อตั้งในปี 2520 จนถึงปัจจุบันนั้น อาจพิจารณาได้เป็น 4 ทศวรรษ กล่าวคือ ในทศวรรษแรก เมื่อก่อตั้งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชแล้ว จะเป็นทศวรรษแห่งการพัฒนาโครงสร้างและการดำเนินงานของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชให้มีประสิทธิภาพ โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ส่วนในทศวรรษที่ 2 นั้น เป็นทศวรรษแห่งการพัฒนาระบบบริการ เพื่อให้เป็นโรงพยาบาลต้นแบบและเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายที่สมบูรณ์แบบ มีการก่อสร้างตึกอุบัติเหตุ ห้องสมุด และห้องเฉลิมพระเกียรติ การจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์ และขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้ป่วย การพัฒนาในทศวรรษที่ 3 เป็นทศวรรษแห่งการพัฒนาคุณภาพ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานสากล ISO 9002 รวมถึงการรักษาระดับมาตรฐานและคงสภาพภูมิทัศน์แวดล้อมให้สวยงาม และการพัฒนาในทศวรรษที่ 4 เป็นทศวรรษแห่งการเป็นผู้นำและสร้างเครือข่าย ทั้งในด้านการพัฒนาคุณภาพ ด้านแพทย์แผนไทย และการสร้างภาคีเครือข่ายกับชุมชน

Advertisement

ส่วนในทศวรรษที่ 5 นั้น ก้าวต่อไปของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช อันเป็นภาพฝันที่พวกเราทุกคนจะมุ่งหน้าพัฒนาให้เป็นความจริงคือ การเป็นโรงพยาบาลในอุดมคติและเป็นที่ปรารถนาของทั้งบุคลากรในวงการแพทย์ และประชาชนที่มารับการรักษา จะต้องเป็นโรงพยาบาลที่มีคุณภาพในด้านการรักษาพยาบาลและการจัดการโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน และพยายามรักษามาตรฐานที่ดีเลิศนั้นไว้ได้โดยตลอด โดยการพัฒนาโรงพยาบาลไปตามแนวทางดังกล่าวนั้น อาจแบ่งออกเป็น 2 ส่วนสำคัญ คือ ส่วนที่เป็นไปเพื่อความสะดวกสบายของคนไข้ ญาติ และบุคลากร เราจะต้องพัฒนาโรงพยาบาลโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมด้านต่างๆ ซึ่งโรงพยาบาลควรเป็นสถานพยาบาลที่สะอาด ร่มรื่น สวยงาม และมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้เจ็บป่วยที่มาใช้บริการ ญาติที่มาเยี่ยมไข้ หรือแม้แต่สำหรับบุคลากรของโรงพยาบาลเอง และการพัฒนาด้านการแพทย์และการให้บริการ โดยจะต้องมีจำนวนแพทย์ที่เหมาะสมในการรักษาพยาบาล รวมถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาวิชาให้เพียงพอ เพื่อให้เกิดศักยภาพในการให้บริการอย่างสมบูรณ์แบบ และจะต้องมุ่งเน้นเรื่องยาเวชภัณฑ์ เครื่องมือทางการแพทย์ให้มีอยู่ครบถ้วนเสมอ จะเอื้อต่อการทำหน้าที่ของแพทย์พยาบาลและการรักษาพยาบาลเป็นไปได้อย่างทันท่วงที ทั้งยังจะเป็นการเพิ่มมาตรฐานการให้บริการทางการแพทย์อีกด้วย รวมถึงการพัฒนาและส่งเสริมการแพทย์แผนไทยด้วย เพื่อที่การรักษาพยาบาลจะเป็นไปได้ในทุกรูปแบบและครบวงจร

ผมเชื่อมั่นว่าหากเราทุกคนประกอบภาพแห่งโรงพยาบาลในอุดมคตินี้ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น ปรับปรุงคุณภาพของโรงพยาบาล และดำเนินการพัฒนาตามแนวทางที่ยึดประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นที่ตั้ง โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชที่มีมาตรฐานในระดับสากล ก็จะมิได้มีอยู่แต่เพียงในอุดมคติ หากแต่จะสามารถปรากฏเป็นที่ประจักษ์แก่ทุกฝ่ายได้ถึงความเป็นเลิศในการให้บริการด้วยมาตรฐานที่ดีเยี่ยม

จะเห็นได้ว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชนั้นเกิดขึ้นจากความรักความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นโรงพยาบาลที่เกิดขึ้นได้จากทุนทรัพย์ของประชาชน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้มีพระราชดำรัสว่า โรงพยาบาลแห่งนี้เป็น “โรงพยาบาลของประชาชน” และทรงย้ำให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกคนตระหนักถึงข้อนี้อยู่เสมอ เพื่อให้ประชาชนทุกคนจะได้รับการดูแลรักษาอย่างดีที่สุด โดยถ้วนหน้าและอย่างเสมอภาคกัน นอกจากนี้ทรงมีสายพระเนตรที่กว้างไกล ได้พระราชทานพระราชดำริแก่ชาวโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ความว่า

“โรงพยาบาลนั้นไม่ต้องสร้างเพิ่มแล้ว มีเท่านี้พอแล้ว แต่ขอให้ทำให้ดี และพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป และควรจะมีมูลนิธิในแต่ละที่เป็นของตนเองไว้สนับสนุนกิจการของโรงพยาบาลให้เป็นไปด้วยดีเพื่อประโยชน์ของประชาชน…”

ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์จึงได้มีการก่อตั้งมูลนิธิสาขาขึ้น อันเป็นก้าวสำคัญสู่การพัฒนาในระยะต่อมา กล่าวคือ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทุกแห่งจะมีมูลนิธิสาขาของตนเอง ทำหน้าที่อุปถัมภ์ค้ำชูโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชแต่ละแห่ง ร่วมกับเงินงบประมาณจากภาครัฐที่สนับสนุนโรงพยาบาลของเรา นอกจากนี้แล้ว มูลนิธิสาขายังมีบทบาทในการดูแลประชาชนในท้องถิ่นของตนเองอีกทางหนึ่งด้วย

จากสายพระเนตรที่ยาวไกลขององค์ผู้เป็นสมเด็จพระยุพราชในวันนั้น ส่งผลดีต่อประชาชนอย่างกว้างขวางมายาวนานจวบจนปัจจุบัน อำเภอที่ตั้งของโรงพยาบาลที่เคยทุรกันดาร ได้รับการพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองและมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากสภาพพื้นที่ที่ทุรกันดารและไม่เป็นที่ปรารถนาของประชาชนจะมาตั้งถิ่นฐาน ก็กลับกลายเป็นอำเภอที่มีประชาชนย้ายมาอยู่อาศัยหนาแน่นขึ้น มีการพัฒนาให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองและมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อาจกล่าวได้ว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเป็นจุดศูนย์รวมจุดหนึ่งที่ชักนำพาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาสู่ท้องที่ทุรกันดาร

การที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชประสบความสำเร็จและเจริญก้าวหน้ามาได้จวบจนทุกวันนี้ สืบเนื่องมาจากพระบารมีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และพระราชวินิจฉัยเรื่องสำคัญๆ ที่พระราชทานแก่คณะกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเสมอมา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่มูลนิธิส่วนกลาง มูลนิธิสาขา และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทุกแห่งอย่างหาที่สุดมิได้ และอีกสิ่งหนึ่งที่จารึกอยู่ในความทรงจำของบรรดาชาวยุพราชทุกคน คือ ความร่วมมือประสานใจจากทุกฝ่าย นับตั้งแต่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขทุกสมัย ที่ยึดมั่นและรักษาสัญญาใจที่ให้กับประชาชนทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เริ่มก่อสร้างโรงพยาบาลว่า จะดูแลและบำรุงรักษาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทุกแห่งตลอดไป ผู้บริหารระดับสูงในส่วนภูมิภาคที่มีโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตั้งอยู่ คณะกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั้งส่วนกลางและสาขา บุคลากรของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทุกแห่ง ตั้งแต่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตลอดถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนโรงพยาบาลด้วยดีเสมอมา และที่ขาดไม่ได้คือ ประชาชนชาวไทยทั่วประเทศที่พร้อมใจกันบริจาคเงินและทรัพย์สินจนก่อให้เกิดโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชขึ้นมาได้ ความสำเร็จนี้เกิดจากทุกฝ่ายที่มีเจตจำนงอันแน่วแน่ในการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และความตั้งมั่นในการที่จะสืบสานและปฏิบัติงานให้สมดังพระราชปณิธานของพระองค์ผู้ทรงเป็นนายกกิตติมศักดิ์ที่เคยพระราชทานไว้เป็นหลักชัย ว่า

“ทุกคนที่ทำงานให้แก่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จะต้องไม่ลืมว่าโรงพยาบาลนี้กำเนิดขึ้นจากความมุ่งปรารถนาอันแรงกล้าของคนไทยทั่วราชอาณาจักร ที่ต้องการจะเห็นผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารทุกหนแห่งได้รับความเอาใจใส่รักษาพยาบาลเป็นอย่างดีให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้ โดยทั่วถึงเสมอหน้ากัน”

เนื่องในโอกาสการเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ อันเป็นมหามงคลยิ่งนี้ ข้าพระพุทธเจ้าขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคล ขอพลานุภาพแห่งคุณพระรัตนตรัย และอำนาจสรรพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลพิภพ โปรดอภิบาลบันดาลให้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเจริญพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน ทรงพระเกษมสำราญ พระสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง มีพระราชประสงค์จำนงหมายสิ่งใด ขอจงสัมฤทธิ์ และทรงสถิตเป็นพระมิ่งขวัญร่มโพธิ์ทองของปวงชนชาวไทยตราบกาลนิรันดร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image