60 พรรษา ‘เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์’ ทรงวางรากฐาน ‘รพ.จุฬาภรณ์’ สู่ ‘วิทยาลัยการแพทย์’

จากการที่ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ไปในต่างจังหวัดและท้องถิ่นทุรกันดาร และจากที่ทรงรับเป็นประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) จึงทรงรับทราบถึงความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยของประชาชนที่ด้อยโอกาส

พระองค์ทรงเล็งเห็นว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะยังไม่มีผู้ใดทราบสาเหตุของการเกิดมะเร็งที่แน่ชัด การวินิจฉัยต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการตรวจค้น รวมทั้งการรักษาพยาบาลมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งไม่สามารถเข้าถึงการบริบาลในระยะเริ่มต้นของการเป็นมะเร็ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีโอกาสหายจากโรคสูง และเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จึงทรงมีพระปณิธานที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยที่ด้อยโอกาส โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง ให้มีโอกาสเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีทันสมัยระดับสากล

พระองค์ทรงมีพระดำริให้ก่อตั้ง “โรงพยาบาลจุฬาภรณ์” เมื่อปี 2552 เพื่อเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางชำนาญการด้านโรคมะเร็ง ขนาด 100 เตียง ดังพระปณิธานว่า

Advertisement

“ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้จัดตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ได้รับทุกข์ทรมานจากโรคมะเร็งและเป็นการยกระดับการรักษาให้ได้มาตรฐานสากล ช่วยพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการค้นคว้าวิจัยทางด้านวิชาการ ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ทัดเทียมนานาประเทศ สมดังที่ข้าพเจ้าได้ตั้งปณิธานไว้”

พระเมตตาต่อผู้ป่วยมะเร็ง

Advertisement

นางมาริษา สมบัติบูรณ์ รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ฝ่ายการพยาบาลและกิจการพิเศษ และโครงการตามพระราชดำริ กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงมีพระเมตตาต่อประชาชนชาวไทยอย่างมาก ทรงสร้างโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ขึ้นมา เพราะมีพระประสงค์ให้คนไข้ระดับกลางและระดับล่างได้รับการบริการจากการรักษาที่ดีและทันสมัย โดยเฉพาะด้านจิตใจ พระองค์ทรงให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

“พระองค์ทรงมีพระเมตตาต่อผู้เจ็บป่วยเป็นอย่างยิ่ง ทุกครั้งที่เสด็จเยี่ยมผู้ป่วยจะทรงไถ่ถามอาการและพระราชทานกำลังใจให้เสมอ จะรับสั่งกับผู้ป่วยเสมอว่า เวลาที่ทุกข์ใจหรือท้อแท้ให้นึกถึงพระองค์ จะทรงจับมือคนไข้หรือสัมผัสที่ตัวของคนไข้โดยไม่ทรงรังเกียจว่าผิวพรรณของเขาเป็นอย่างไร นี่คือกำลังใจที่ทำให้คนไข้ทุกคนมีความหวัง ทุกคนปลาบปลื้ม ถึงขนาดบางคนน้ำตาไหลออกมาด้วยความซาบซึ้ง”

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยี่ยมราษฎรและหน่วยแพทย์ พอ.สว. โอกาสนี้ทรงรับผู้ป่วยมะเร็งและลูกชายวัย 12 ปี ไว้ในพระอุปถัมภ์ (ภาพขวาล่าง) นางพะยอมและลูกชาย

ไม่เพียงผู้ป่วยโรคมะเร็งเท่านั้น ผู้เจ็บป่วยโรคอื่นๆ หากความทราบถึงพระเนตรพระกรรณก็จะทรงให้เจ้าหน้าที่ไปรับมาเป็นคนไข้ในพระอนุเคราะห์

“พระองค์ทรงมีพระเมตตาสูง สำหรับพระองค์ประชาชนมาเป็นอันดับหนึ่งเสมอ ต้องให้สิ่งที่ดี สิ่งที่ประชาชนควรจะต้องได้ อย่างถ้าทรงเห็นข่าวจากหนังสือพิมพ์ ก็จะทรงให้เจ้าหน้าที่ไปรับมารักษาดูแล หรือถ้าเสด็จออกหน่วย พอ.สว. ก็จะทรงพิจารณารับคนไข้ที่เป็นโรคยากๆ เป็นคนไข้ในพระอนุเคราะห์ ทรงทุ่มเทพระวรกายช่วยเหลือประชาชนให้มีสุขภาพพลานามัยที่ดี”

การรักษามาตรฐานสากล

ด้วยทรงมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาโรคมะเร็งอย่างแน่วแน่ นับตั้งแต่ปีแรกที่ก่อตั้งโรงพยาบาลขึ้น โรงพยาบาลได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีเครื่องมือการแพทย์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงระดับสากล ทัดเทียมอารยประเทศครบทุกมิติ รวมทั้งมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งหลายสาขา จนได้รับมาตรฐานคุณภาพ รพ. จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ในปี 2557

นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังพัฒนางานวิจัยทางวิชาการ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเน้นให้สร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้สู่การพัฒนาการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง จึงนำไปสู่การค้นพบยาใหม่ๆ เช่น วัคซีนมะเร็ง เป็นต้น

และเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 4 กรกฎาคม ของทุกปี เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเข้ารับการตรวจคัดกรองและค้นหาผู้ป่วยมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ตลอดจนได้รับการรักษาที่มีคุณภาพ มีโอกาสหายขาดจากโรคได้ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์จึงดำเนินโครงการบำเพ็ญพระกุศลเพื่อผู้ป่วย ดำเนินงานตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน โดยตรวจคัดกรองและติดตามการเกิดมะเร็งให้กับประชาชนทั่วไปโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับ มะเร็งปอด เป็นต้น

รพ.จุฬาภรณ์เป็น รพ.ทั่วไป

นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา จำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปี ยอดผู้ป่วยเพิ่มจาก 40,000 ราย ในปี 2552 มาเป็น 110,000 ราย ในปี 2558 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย เริ่มมีภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น เช่น โรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ด้วยพระกรุณาธิคุณ พระองค์มีพระดำริให้ขยายการให้บริการของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จากรักษาเฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง เป็นรักษาผู้ป่วยร่วมกับการรักษาแบบทั่วไป เพื่อให้ครอบคลุมโรคต่างๆ ได้มากขึ้น ทรงพระกรุณาให้จัดสร้าง “โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ส่วนขยาย ขนาด 400 เตียง” ในโครงการเฉลิมพระเกียรติ 90 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2558

 

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ทรงมุ่งมั่นพัฒนางานด้านการแพทย์และนักวิจัยฝีมือดี เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศในการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ในสาขาที่ขาดแคลน พระองค์ทรงมีพระวินิจฉัยเห็นชอบก่อตั้ง “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 ตามพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ.2559 ประกอบด้วย วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ และสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตนักวิจัยและแพทย์ฝีมือดีเข้าสู่วงการแพทย์

วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์

ปี 2560 นับเป็นปีแรกที่วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์เปิดรับสมัครนักศึกษาใน 3 หลักสูตร คือ แพทยศาสตรบัณฑิต พยาบาลศาสตรบัณฑิต และวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศเพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถด้านการวิจัยและวิชาการให้กับระบบสาธารณสุขไทย

 

ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์

ด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ โครงการจัดสร้างอาคารสำหรับหน่วยงานภายใต้วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงถือกำเนิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยจะเริ่มดำเนินโครงการจัดสร้างบนเนื้อที่ 24 ไร่ ภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 90 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในปี พ.ศ.2560 นี้ ทรงพระกรุณาพระราชทานนาม “ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์” ให้เป็นชื่อของอาคาร มีความหมายว่า “ศูนย์การแพทย์ที่ระลึกถึงพระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐยิ่ง” เพื่อถวายสดุดีและระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

ศูนย์การแพทย์ภัยพิบัติและฉุกเฉินเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์

ในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ 4 กรกฎาคม 2560 เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จึงได้จัดสร้างอาคารเพื่อขยายการให้บริการของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ บนพื้นที่ 17 ไร่ ภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อเป็นอาคารผู้ป่วยทั่วไปและศูนย์การแพทย์ภัยพิบัติและฉุกเฉิน ซึ่งพระองค์พระราชทานนามศูนย์การแพทย์ดังกล่าวว่า “ศูนย์การแพทย์ภัยพิบัติและฉุกเฉินเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์”

อาคารดังกล่าวจะขยายการให้บริการของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์สู่ความชำนาญเฉพาะทางด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด และยังให้บริการครอบคลุมการตรวจรักษาโรคทั่วไป โดยจะเปิดให้บริการเดือนธันวาคม 2560

 

ทรงเป็นแบบอย่างการช่วยเหลือคน

ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์เปิดให้บริการได้พัฒนาก้าวหน้าเป็นอันมาก ดั่งพระปณิธานขององค์ประธานก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างให้กับบุคลากรทุกคนในโรงพยาบาล

ดังพระดำรัสที่ทรงมีต่อแพทย์ใหม่และแพทย์ใช้ทุน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 ว่า

“…อยากให้แพทย์ทุกคนปฏิบัติงานตามพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยเป็นแพทย์ต้องมีความอดทน ดูแลผู้ป่วยจากหัวใจ ให้ความรัก ความเมตตากับคนไข้ และให้แพทย์ทุกคนคิดเสมอว่า คนไข้ทุกคนเป็นเสมือนญาติของเรา”

นางมาริษา สมบัติบูรณ์ กล่าวว่า พระองค์ทรงเน้นให้บุคลากรมีจิตเมตตาเป็นสำคัญ

“พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างให้พวกเราเดินตาม ทรงไม่ถือพระองค์กับคนไข้เลย ทรงอดทน มีขัตติยมานะ ทรงปลูกฝังแพทย์และพยาบาลโดยทรงสอนให้ดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจ เหมือนเป็นญาติพี่น้อง เพราะคนไข้ต้องการกำลังใจ โดยเฉพาะคนไข้มะเร็งที่บางคนอาจมีชีวิตอยู่ไม่ได้นาน เราก็ต้องให้สิ่งที่ดีที่สุดกับเขา” นางมาริษากล่าว

พระองค์ทรงเป็นผู้ที่ฟ้าส่งมาโปรด

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยี่ยมราษฎรและหน่วยแพทย์ พอ.สว. จ.พะเยา โอกาสนี้ทรงรับผู้ป่วยมะเร็งและลูกชายวัย 12 ปีไว้ในพระอุปถัมภ์

นางพะยอม วังเค็ม เล่าว่า เป็นมะเร็งลำไส้ส่วนกลางมานาน 1 ปีกว่าแล้ว แพทย์บอกว่ามีเวลาเหลือ 3-6 เดือน พอทราบข่าวว่าพระองค์จะเสด็จฯมา จึงเข้าไปติดต่อกับปลัดอำเภอและไปรอเฝ้าฯรับเสด็จด้วยความหวังที่เป็นที่พึ่งสุดท้ายของชีวิต

“วินาทีที่พระองค์ทรงรับอุปการะลูกชาย และมีพระดำรัสว่าจะเลี้ยงดูให้ดีที่สุด วินาทีนั้นดีใจอย่างบอกไม่ถูก เหมือนเราไม่ตายแล้ว มีพระองค์มาต่อชีวิตให้ และเหมือนกับว่าฟ้ามาโปรดลูกชายคนเดียวที่ห่วงที่สุด หากดิฉันไม่มีชีวิตอยู่แล้ว ลูกชายจะไม่มีโอกาสเรียนและจะใช้ชีวิตต่ออย่างไร ซึ่งพระองค์มีพระกรุณาธิคุณต่อเราสองคนแม่ลูกจนไม่รู้จะกล่าวอย่างไรได้” นางพะยอมกล่าว

เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนชาวไทยถึงน้ำพระทัยและพระเมตตาที่ไม่มีที่สิ้นสุดของเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ ทรงอุทิศพระวรกายในการที่จะทำให้พสกนิกรชาวไทยมีสุขภาพอนามัยและความเป็นอยู่ที่ดี

เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติครบ 5 รอบ ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

มาริษา สมบัติบูรณ์
นางพะยอมและลูกชาย
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

————————————————–

ขอบคุณข้อมูลจาก วารสาร 7 ปีแห่งการเดินทางจากโรงพยาบาลรักษาโรคมะเร็ง ก้าวสู่การเป็นวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ และวารสาร Patient First

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image