งดงาม! ซ้อมใหญ่ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศฯ ก่อนซ้อมเสมือนจริง 7 ต.ค.นี้ (ภาพชุด)

เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 28 กันยายน ที่กรมทหารราบที่ 11 (ร.11รอ.) รักษาพระองค์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ คณะกรรมการฝ่ายปฏิบัติการและดำเนินการจัดขบวนพระบรมราชอิสริยยศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จัดการฝึกซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศฯ ในส่วนกำลังพลฉุดชักราชรถ ราชยาน การแบกหาม และการถือเครื่องสูงประกอบพระราชอิสริยยศ ครั้งที่ 2 โดยเป็นการฝึกซ้อม 3 ริ้วขบวน ได้แก่ ริ้วขบวนที่ 1 พระยานมาศสามลำคาน และเสลี่ยงกลีบบัว ใช้กำลังพลจาก กรมการขนส่งทหารบก , ริ้วขบวนที่ 2 อัญเชิญพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานพระมหาพิชัยราชรถ ซึ่งเป็นการซ้อมกำลังพลฉุดชักราชรถพระนำ และพระมหาพิชัยราชรถ ใช้กำลังพลจากกรมสรรพาวุธทหารบก หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ และเจ้าหน้าที่จากกระทรวงวัฒนธรรม ที่มาร่วมซ้อมการถือเครื่องสูงประกอบพระมหาพิชัยราชรถ และริ้วขบวนที่ 3 การเคลื่อนเวียนโดยอุตราวัฎ (เวียนซ้าย) รอบพระเมรุมาศ ซึ่งเป็นการซักซ้อมของกำลังพลแบกหาม เสลี่ยงกลีบบัวและราชรถปืนใหญ่ ประกอบด้วย การเทียบเกรินบันไดนาควัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม การเลี้ยว การเทียบเกรินสนามหลวง และเทียบราชรถปืนใหญ่ การเชื่อมต่อราชรถปืนใหญ่ส่วนหน้าและส่วนหลัง การเวียนโดยอุตราวัฎ และการเทียบสะพานเชื่อมต่อเกรินพระเมรุมาศ

ทั้งนี้ ในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศที่ 1-3 ยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนอื่นๆ ได้แก่ นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า นักเรียนนายเรือ นักเรียนนายเรืออากาศ วงดุริยางค์ทหารบก วงดุริยางค์ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมสรรพาวุธทหารบก กองทัพเรือ กรมทหารขนส่งทหารบก นักเรียนโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง ผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการฝึกซ้อมครั้งที่ 2 คณะกรรมการได้นำข้อผิดพลาดจากการฝึกซ้อมครั้งก่อนเมื่อวันที่ 22 กันยายนมาสร้างความเข้าใจใหม่ และเน้นการปฏิบัติที่ถูกต้องอยู่แล้วให้ชัดเจนมากขึ้น อาทิ เพิ่มรายละเอียดพิธีการต่างๆ ทั้งยังเน้นการใช้วิทยุสื่อสารเสมือนวันจริง โดยในวันนี้เน้นการฝึกซ้อมแบบสมมติเวลา ใช้กำลังพลร่วมฝึกซ้อมมากกว่า 3,000 คน เพื่อดูความพร้อมในแต่ละส่วนว่าสามารถควบคุมกำลังพลได้เรียบร้อยหรือไม่ โดยมีการจำลองการปฏิบัติที่สำคัญ อาทิ การอัญเชิญพระบรมโกศจากพระยานมาศสามลำคาน ขึ้นสู่พระมหาพิชัยราชรถ การอัญเชิญพระบรมโกศจากพระมหาพิชัยราชรถเทียบเกยลาสู่ราชรถปืนใหญ่ และการอัญเชิญพระบรมโกศจากราชรถปืนใหญ่ขึ้นสู่พระจิตกาธาน

ทั้งนี้ การเดินริ้วขบวนที่1 และริ้วขบวนที่ 3 จะใช้เสียงกลอง ดุริยางค์ให้จังหวะ ส่วนริ้วขบวนที่ 2 จะใช้เพลงประกอบ 3 เพลง คือเพลงพญาโศก เพลงสรรเสริญเสือป่า เพลงสรรเสริญพระนารายณ์ ส่วนริ้วขบวนที่ 3 ซึ่งภาพรวมการฝึกซ้อมเป็นไปตามแผนแล้วกว่า 80% และจากนี้จะเป็นการซ้อมใหญ่ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวงในวันที่ 7 ,12 และ 21 ตุลาคมนี้ และจะมีการซ้อมริ้วขบวนที่ 4 และ 5 ในวันที่ 22 ตุลาคม

Advertisement

นายอินทัช พันธุพงษ์ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย อายุ 18 ปี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีโอกาสได้ติดตามริ้วขบวนพระศพของสมเด็จพระสังฆราชมาก่อน ก็คิดว่ามีความงดงามมากแต่ไม่ได้มีโอกาสร่วมขบวนในครั้งนั้น มีแต่เพื่อนๆมาเล่าให้ฟัง เมื่อมีโอกาสครั้งนี้จึงรีบสมัครมาคัดตัว โดยตนได้ร่วมอยู่ในริ้วขบวนที่ 1 ฝึกซ้อมมาแล้วกว่า 2 เดือน ทั้งท่าเคารพ การเดินเท้าต่อเท้า ท่าบุคคลมือเปล่า และระเบียบวินัย งานครั้งนี้ถือเป็นงานที่ต้องเสียสละแต่นำมาซึ่งความภูมิใจทั้งตนเองและครอบครัว ที่ครั้งหนึ่งมีโอกาสถวายงานพ่อหลวง เพราะถึงแม้จะเป็นคนรุ่นหลังที่ไม่ค่อยได้เห็นพระองค์เสด็จฯไปทรงงานที่ต่างๆ แต่ก็เรียนอยู่ในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งได้มีโอกาสรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทุกปี นักเรียนชั้นม.6 ที่จบการศึกษา ก็จะได้เข็นรถยนต์พระที่นั่งในงานจบการศึกษา งานครั้งนี้จึงถือเป็นความภาคภูมิใจอีกครั้งหนึ่งที่ได้ถวายงานพระบรมวงศานุวงศ์

จ่าสิบเอกระดับชาติ ไร่ดี อายุ 37 ปี พลฉุดชักมหาพิชัยราชรถ กล่าวว่า แม้จะรับราชการทหารสังกัดกรมสรรพาวุธมานานกว่า 12 ปี แต่ก็เพิ่งจะมีโอกาสได้เข้าร่วมในริ้วขบวนพระบรมศพเป็นครั้งแรก ในฐานะพลฉุดชัก ที่ต้องคัดเลือกจากคนสมัครกว่า 500 คน เหลือ 200 คน มีการคัดพลทหารออกเรื่อยๆ จนได้เป็นตัวจริง เหมือนฝันสำเร็จแล้ว ครอบครัวก็รู้สึกตื่นเต้นและภูมิใจ คุณแม่ถึงกับร้องไห้ เมื่อรู้ว่าเราได้ถวายงานในครั้งนี้ เมื่อได้คัดเลือกแล้วก็ฝึกซ้อมอย่างหนักตลอด 2 เดือนกว่า ทั้งร่างกายและจิตใจ ซ้อมขณะแดดออก ฝนตก ยืนนิ่งๆให้ได้มากกว่าครึ่งชั่วโมง กลับบ้านไปก็ซ้อมคุกเข่า ถวายบังคม เพื่อให้สมพระเกียรติในวันจริง เพราะนี่คือความใฝ่ฝันที่พลทหารคนหนึ่งจะได้ทำหน้าที่ถวายงานพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย

ด้าน พันโท ภัทรพล เฉยเจริญ อายุ 56 ปี หัวหน้าชุดเกรินบันไดนาค อายุ 56 ปี กล่าวว่า มีโอกาสได้รับทำหน้าที่ประจำเกรินบันไดนาคเป็นครั้งที่ 2 โดยประจำจุดสะพานเกยลาพระมหาพิชัยราชรถ ขึ้นสู่ราชรถปืนใหญ่ อีกครั้งหนึ่งคือในพิธีของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในจุดเดียวกัน ในพระราชพิธีครั้งนี้ยังได้ทำหน้าที่ฝึกสอนพลฉุดชัก ซึ่งหลายคนมีโอกาสได้ถวายงานมาตั้งแต่งานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทุกคนต่างทำเต็มร้อย เพราะทุกขั้นตอนไม่อาจกลับมาแก้ไขได้อีกแล้ว ต้องทำให้สมพระเกียรติที่สุด และแม้จะปฏิบัติหน้าที่เป็นครั้งที่ 2 ก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

จ่าสิบเอกระดับชาติ
พันโท ภัทรพล
นายอินทัช
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image