รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงรัชกาลที่ 9 จัดการน้ำ-สร้างสุขให้ไทย

“…หลักสำคัญว่า ต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…”

จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า พระองค์ทรงให้ความสำคัญในเรื่อง “น้ำ” เป็นอย่างยิ่ง เพราะมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตและอาชีพของปวงชนชาวไทยทุกคน

 

70 ปี 4,685 โครงการ

Advertisement

ตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ ทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายหลายด้าน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ทรงทำมาตลอดรัชสมัยมีทั้งหมด 4,685 โครงการ แบ่งออกเป็นประเภทของโครงการได้ 8 ประเภท

1.โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ 3,204 โครงการ

2.โครงการพัฒนาด้านการเกษตร 169 โครงการ

Advertisement

3.โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม 177 โครงการ

4.โครงการพัฒนาด้านส่งเสริมอาชีพ 341 โครงการ

5.โครงการพัฒนาด้านสาธารณสุข 57 โครงการ

6.โครงการพัฒนาด้านคมนาคมและการสื่อสาร 86 โครงการ

7.สวัสดิการสังคมและการศึกษา 393 โครงการ

8.โครงการพัฒนาแบบบูรณาการและอื่น 258 โครงการ

 

 

โครงการเกี่ยวกับน้ำมากที่สุด

จากโครงการในพระราชดำริทั้งหมดจะเห็นได้ว่า โครงการเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำ ของ “กษัตริย์นักพัฒนา” มีมากที่สุดถึง 3,204 โครงการ และกระจายไปแทบทุกจังหวัดทั่วประเทศ พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายศึกษาพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อให้พสกนิกรได้มีน้ำอุปโภคบริโภคและมีน้ำเพื่อการเพาะปลูกอย่างเพียงพอตามความต้องการในทุกฤดูกาล ไม่เพียงเท่านั้น พระองค์ยังสนพระราชหฤทัยในการจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพของน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุดในการดำรงชีวิตของผู้คนในประเทศไทย

ดังพระราชดำรัสในการเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ “The Third Princess Chulabhorn Science Congress” ณ โรงแรมแชงกรีลา วันที่ 11 ธันวาคม 2538 ความว่า

“…การพัฒนาแหล่งน้ำนั้น ในหลักใหญ่ ก็คือการควบคุมน้ำให้ได้ดังประสงค์ทั้งปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือ เมื่อมีปริมาณน้ำมากเกินไป ก็ต้องหาทางระบายน้ำออกให้ทันการณ์ ไม่ปล่อยให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายได้ และในขณะที่เกิดภาวะขาดแคลน ก็จะต้องมีน้ำกักเก็บไว้ใช้อย่างเพียงพอ ทั้งมีคุณภาพเหมาะสมแก่การเกษตร การอุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภค ปัญหาอยู่ที่ว่า การพัฒนาแหล่งน้ำนั้นอาจมีผลกระทบกระเทือนต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่ถ้าไม่มีการควบคุมน้ำที่ดีพอแล้ว เมื่อเกิดภัยธรรมชาติขึ้น ก็จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนสูญเสีย ทั้งในด้านเศรษฐกิจและในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งส่งผลกระทบเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง…”

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่วนใหญ่จะมีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษตรเป็นสำคัญ แต่ก็มีการพัฒนาแหล่งน้ำหลายๆ โครงการที่มีวัตถุประสงค์หลายๆ อย่างพร้อมกันไป สามารถสรุปวิธีการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริได้ ดังนี้

 

การบริหารจัดการน้ำท่วม

“การสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ” ซึ่งมีโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ อาทิ โครงการเขื่อนกักเก็บน้ำแม่น้ำป่าสัก จ.ลพบุรี และ จ.สระบุรี โครงการเขื่อนเก็บกักน้ำแม่น้ำนครนายก จ.นครนายก โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช

“การก่อสร้างทางผันน้ำ” หรือการขุดคลองสายใหม่เชื่อมต่อกับแม่น้ำที่มีปัญหาน้ำท่วม

“การปรับปรุงสภาพลำน้ำ” เป็นการปรับปรุงและตกแต่งลำน้ำเพื่อช่วยให้น้ำไหลตามลำน้ำได้สะดวก หรือให้กระแสน้ำไหลเร็วขึ้น กรณีลำน้ำมีแนวโค้งมากเป็นระยะไกล อาจพิจารณาขุดคลองลัดเชื่อม ซึ่งจะทำให้น้ำไหลผ่านได้เร็วขึ้น ยกตัวอย่าง โครงการขุดคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ ซึ่งร่นระยะทางเดินของน้ำได้ถึง 17 กิโลเมตร ทำให้น้ำระบายลงทะเลได้เร็วขึ้น

“การสร้างคันกั้นน้ำ” เป็นวิธีป้องกันน้ำมิให้ไหลล้นตลิ่งเข้าไปท่วมพื้นที่ให้ได้รับความเสียหายด้วยการเสริมขอบตลิ่งของลำน้ำให้มีระดับสูงมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้มากขึ้น

“การระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม” พระองค์ทรงให้ขุดหรือปรับปรุงคลองระบายน้ำในบริเวณพื้นที่ลุ่มให้สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มหรือพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและให้สามารถเพาะปลูกได้ เช่น โครงการแก้มลิงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

“โครงการหาความสัมพันธ์ของระดับน้ำและประมาณน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา” คือการศึกษาหาความสัมพันธ์ของน้ำทะเลหนุน และปริมาณน้ำเหนือหลาก ผ่านเขตกรุงเทพฯ แล้วนำผลการวิเคราะห์ไปใช้สำหรับการบริหารจัดการปริมาณน้ำเหนือที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวมทั้งการบริหารการระบายน้ำในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลให้สอดคล้องกับสภาพน้ำทะเลหนุนสูง

 

การบริหารจัดการน้ำแล้ง

“ฝนหลวง” คือการทำฝนเทียมโดยการจัดการทรัพยากรน้ำในบรรยากาศมาใช้ประโยชน์

“การพัฒนาแหล่งน้ำผิวดิน” เป็นกระบวนการบริหารจัดการน้ำจากแหล่งน้ำผิวดินที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่

“อ่างเก็บน้ำ” เป็นการกักเก็บน้ำโดยการสร้างเขื่อนปิดกั้นระหว่างหุบเขาหรือเนินสูง เพื่อกั้นน้ำที่ไหลมาตามร่องน้ำหรือลำน้ำธรรมชาติ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

“ฝายทดน้ำ” ในพื้นที่ทำกินที่อยู่ระดับสูงกว่าลำห้วย ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเลือกใช้วิธีการก่อสร้างอาคารปิดขวางทางน้ำไหล เพื่อทดน้ำที่ไหลมาให้มีระดับสูงขึ้น จนสามารถผันเข้าไปตามคลองหรือคูส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูก ส่วนน้ำที่เหลือจะไหลข้ามสันฝายไปเอง

“ขุดลอกหนอง-บึง” เป็นวิธีการขุดลอกดินในหนองหรือบึงธรรมชาติที่ตื้นเขินเพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำฝนให้ได้ปริมาณมากขึ้น

“ประตูระบายน้ำ” เป็นการปิดกั้นลำน้ำ ลำคลองที่มีขนาดใหญ่และมีน้ำไหลในฤดูน้ำหลากเป็นจำนวนมาก เพื่อเก็บกักน้ำในฤดูน้ำหลากไว้ในฤดูแล้ง ขณะเดียวกันก็มีบานระบายเปิด-ปิดให้สามารถระบายน้ำส่วนเกินออกไป ดังเช่น โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ จ.นครศรีธรรมราช และโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำบางนราฯ จ.นราธิวาส ที่มีพื้นที่ติดทะเล ประตูระบายน้ำช่วยป้องกันน้ำเค็มไม่ให้รุกเข้าไปในพื้นที่เพาะปลูกและเก็บกักน้ำจืดไว้ใช้เพาะปลูกในฤดูแล้ง

“สระเก็บน้ำ” แหล่งเก็บน้ำฝน น้ำท่าหรือน้ำที่ไหลออกจากดิน นอกจากนี้ ยังเป็นองค์ประกอบของเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งทรงมีแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินและน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้งของเกษตรกร

 

การบริหารจัดการน้ำเสีย

ประกอบด้วย น้ำดีไล่น้ำเสีย เครื่องกรองน้ำธรรมชาติ สระเติมอากาศชีวภาพบำบัด การผสมผสานระหว่างพืชน้ำกับระบบเติมอากาศ การบำบัดน้ำเสียด้วยระบบบ่อบำบัดและพืชน้ำ และการเติมอากาศโดยใช้กังหันน้ำชัยพัฒนา

 

 

จัดการน้ำ-หนึ่งในศาสตร์พระราชา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านการบริหารจัดการน้ำในทุกด้าน ถ้าน้ำขาดแคลนก็ทรงหาวิธีจัดหาน้ำให้ และเมื่อน้ำท่วมก็ทรงบรรเทาให้น้อยลง และทรงหาวิธีป้องกันให้ หรือมีน้ำเน่าเสียก็ทรงจัดการแก้ไขให้ “ศาสตร์พระราชา” เรื่องการบริหารจัดการน้ำจึงมีหลายสิบทฤษฎี ทรงเปี่ยมไปด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถในด้านนี้อย่างแท้จริง

ซึ่งทั้งหมดนี้ ทรงทำด้วยพระราชหฤทัยเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขปวงชนชาวไทย ใต้ร่มพระบารมีของพระองค์ทำให้คนไทยอยู่เย็นเป็นสุข ด้วยทรงตระหนักว่า “น้ำคือชีวิต” และชีวิตของพสกนิกรชาวไทยต้องมีน้ำกินน้ำใช้อย่างยั่งยืน

 

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำโครงการสุดท้าย ในรัชสมัย ร.9

แม้ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จสู่ฟ้าเสวยสวรรค์แล้ว แต่สิ่งที่ทรงปฏิบัติมาตลอด 70 ปี ได้กลายมาเป็นมรดกให้พสกนิกรชาวไทยได้รักษา สืบสาน และต่อยอดต่อไป “โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เขื่อนห้วยโสมง)” ต.แก่งดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่แห่งสุดท้ายในพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงเปิดอ่างเก็บน้ำ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา

นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เล่าถึงความเป็นมาของเขื่อนห้วยโสมงว่า เป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่แห่งสุดท้ายในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง และปัญหาน้ำเค็มหนุนลุ่มน้ำแม่น้ำปราจีนบุรีในหน้าแล้งให้กับชาวอำเภอกบินทร์บุรี และชาวจังหวัดปราจีนบุรี

“เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับโครงการห้วยโสมงเป็นครั้งแรก พระองค์ทรงเขียนด้วยลายพระหัตถ์ว่า โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง ถ้าทำแล้วจะเกิดประโยชน์กับประชาชน”

กระทั่งปี 2552 คณะรัฐมนตรีมีอนุมัติให้เริ่มดำเนินการก่อสร้าง ระยะก่อสร้าง 9 ปี โดยกรมชลประทานเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 เป็นต้นมา และแล้วเสร็จในปี 2560

ทั้งนี้ อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาเป็นอ่างเก็บน้ำที่ทำจากดิน มีความยาว 3,967 เมตร ความลึก 32 เมตร มีความจุที่ระดับเก็บกักน้ำ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่บนเนื้อที่ 16,250 ไร่ มีระบบส่งน้ำและระบายน้ำครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 111,300 ไร่

 

น้ำท่วม-น้ำแล้งทุกปี

ผู้ว่าฯปราจีนบุรีเล่าว่า ก่อนสร้างอ่างเก็บน้ำ ชาว จ.ปราจีนบุรี โดยเฉพาะชาวกบินทร์บุรี และจังหวัดใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็น จ.นครนายก จ.ฉะเชิงเทรา ต้องประสบกับปัญหาน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมสูง น้ำแล้งเป็นประจำทุกปี สร้างความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า โดยในหน้าแล้ง นอกจากต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งแล้ว ก็ยังต้องประสบปัญหาน้ำเค็มหนุนรุกล้ำทำให้แม่น้ำปราจีนบุรีไม่สามารถผลิตน้ำประปาส่งให้ชุมชนที่เต็มไปด้วยบ้านเรือน โรงพยาบาล และวัดได้ ต้องอาศัยอ่างเก็บน้ำคลองไม้ปล้องมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อน

“ชาวกบินทร์บุรี แค่ฝนตกนิดหน่อย น้ำก็ท่วมแล้ว และไม่ท่วมธรรมดา ท่วมถึงชั้น 2 ของบ้าน ท่วมเป็นเดือน หรือหน้าแล้ง นอกจากไม่มีน้ำทำการเกษตร เรายังประสบปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ ทำให้น้ำประปาเค็ม โรงพยาบาลไม่สามารถใช้น้ำประปาได้ อย่างโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ต้องจ้างรถมาส่งน้ำ เสียค่าใช้จ่ายปีละ 6-7 แสนบาท”

แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณและพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทอดพระเนตรเห็นความเดือดร้อนตรงนี้ จึงมีพระราชกระแสให้สร้างอ่างเก็บน้ำขึ้น ซึ่งอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ได้มาพลิกชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น ดั่งที่พระองค์ทรงมีลายพระหัตถ์ไว้

ผู้ว่าฯปราจีนบุรี เปิดเผยว่า ภายหลังก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไปได้ 65 เปอร์เซ็นต์ ตนได้ให้กรมชลประทานทดลองเก็บน้ำและค่อยๆ ปล่อยน้ำ ค่อยๆ ระบายออกมา โดยเมื่อปี 2559 สามารถกักเก็บน้ำได้ 220 ล้านลูกบาศก์เมตร หน้าฝนก็ช่วยให้น้ำไม่ท่วม ส่วนหน้าแล้งที่ผ่านมาก็ช่วยให้สวนทุเรียนที่มีอยู่ 400-500 ไร่ รอดพ้นจากน้ำแล้งตายได้

“คาดว่าตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป หากแล้งนานถึง 4-6 เดือน เราก็สามารถสู้กับปัญหาภัยแล้งได้สบายๆ”

ขณะที่ชาวประมงที่ทำอาชีพเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลานิล ซึ่งปราจีนฯถือเป็นจังหวัดที่เลี้ยงปลามากเป็นอันดับต้นๆ ก็ได้อาศัยน้ำจากตรงนี้สร้างงานสร้างอาชีพ และสร้างรายได้เป็นจำนวนมาก และที่สำคัญช่วยให้ประชาชนมีน้ำประปาใช้ตลอดปี

“หลังจากอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดามาช่วยระบายเพื่อรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำปราจีนบุรีในช่วงฤดูแล้ง ทำให้พสกนิกรลืมตาอ้าปากได้ โรงพยาบาลไม่ต้องจ้างรถบรรทุกน้ำมาส่ง รวมทั้งอุตสาหกรรมหลายอย่างเริ่มทยอยมาตั้งโรงงานที่ จ.ปราจีนบุรี เพราะไม่กังวลเรื่องน้ำท่วมแล้ว”

 

อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา

 

อีกหนึ่งประโยชน์ที่ได้รับสูงสุด คือการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ จ.ปราจีนบุรี ประชาชนสามารถเข้าไปพายเรือชมวิวทิวทัศน์ความสวยงามของอ่างเก็บน้ำ และอุดหนุนผลิตภัณฑ์ปลาสดและปลาแปรรูปของชาวบ้านสร้างรายได้กลับคืนสู่ท้องถิ่น

“อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาสร้างประโยชน์ให้อย่างมหาศาลกับชาวปราจีนบุรี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาเป็นอ่างเก็บน้ำสุดท้ายที่มีพระราชดำริให้สร้างขึ้นขณะที่ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ พร้อมทั้งยังพระราชทานชื่ออ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ซึ่งมีความหมายว่า อ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช”

ซึ่งเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯทรงเปิดอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาอย่างเป็นทางการ

“นับเป็นอ่างเก็บน้ำสุดท้ายของในหลวง รัชกาลที่ 9 และเป็นอ่างเก็บน้ำแรกที่ในหลวง รัชกาลที่ 10 เสด็จฯมาทรงเปิด และทรงเยี่ยมเยียนประชาชน เป็นสมบัติของชาวปราจีนบุรี ที่ได้รับพระราชทานจากในหลวง ร.9 ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ยังชีพในการประกอบอาชีพ ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ” นายสุริยะกล่าว

ภายหลังการก่อสร้างและกักเก็บน้ำได้แล้ว ประชาชนต่างเห็นคุณค่า ชาวนาทำนาได้ผลผลิต ไม่เสี่ยงน้ำท่วม พืชสวน พืชไร่มีน้ำชลประทานที่กักเก็บไว้อุปโภคบริโภคเพียงพอ และมีอาชีพประมงพื้นบ้านเสริมรายได้ตลอดทั้งปี สามารถสร้างเศรษฐกิจในครัวเรือนมีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมาไม่มีน้ำท่วมใหญ่ จ.ปราจีนบุรี อีกเลย

เป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ ที่ทรงมองเห็นความทุกข์ยากและแก้ไขจนสำเร็จ ทำให้ราษฎรได้รับประโยชน์มหาศาลและมีความสุข

 

นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี

 

ขอขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ

อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

๖๐ ปี ครองราชย์ ประโยชน์สุข ประชาราษฎร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image