ศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์-สยาม กลิตเตอร์ 1957 พระปณิธาน ‘ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์’ เพื่อผู้ป่วยยากไร้

เป็นเวลามากกว่าหนึ่งทศวรรษที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรและทรงติดตามการปฏิบัติงานของ หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) ไม่ว่าจะเป็นภูมิภาคใด หรือลำบากเพียงใดก็ตาม

ซึ่งทำให้พระองค์ทรงตระหนักถึงความเดือดร้อน ความทุกข์ยากของราษฎร ตลอดจนปัญหาด้านการเข้าถึงการสาธารณสุข ผู้เจ็บป่วยที่ยากไร้ รวมถึงสภาพจิตใจ และสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวของผู้ป่วย ที่รอความหวังในการได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น พระองค์จึงทรงมีพระปณิธานอันแน่วแน่ที่จะดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขของปวงชนชาวไทย ตลอดจนพระราชทานความช่วยเหลือครอบครัวของผู้ป่วยในพระอนุเคราะห์ตลอดมา

นำมาซึ่งพระดำริให้ตั้งศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง ในปี 2547 ต่อมาทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ในปี 2552 ซึ่งปัจจุบันไม่เพียงเปิดรักษาโรคมะเร็งแต่ยังรักษาโรคทั่วไปด้วย

Advertisement

และเพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยนอกวันละ 400-500 คน ผู้ป่วยในมีอัตราเต็มของเตียง 80-90% ถือได้ว่าเป็นอัตราที่สูง ในโอกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ 4 กรกฎาคม 2560 เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จึงได้ดำเนินโครงการจัดสร้าง “ศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์เฉลิมพระเกียรติ” เพื่อสนองพระปณิธานที่จะขยายการรักษาให้ครอบคลุมทุกโรค

การนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จไปทรงเปิดอาคารศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์เฉลิมพระเกียรติ ใน 3 โซนการให้บริการ ได้แก่ ศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ และห้องปฏิบัติการเอ็ม อาร์ ไอ โดยมี พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ โดยเสด็จด้วย

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยว่า ศูนย์การแพทย์แห่งนี้เป็นโรงพยาบาลทั่วไป มีศูนย์การรักษาเด่นอย่าง ศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด กระดูกและข้อ มะเร็งเต้านม นอกจากนี้ยังมี คลินิกทันตกรรม กายภาพบำบัด

ด้วยวิสัยทัศน์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ทรงต้องการให้บริการคนไข้ทุกระดับ ให้ผู้ป่วยที่ด้อยโอกาสได้รับการรักษาเหมือนโรงพยาบาลเอกชน เพราะทรงทราบดีว่ากว่าประชาชนจะเข้าถึงการรักษาต้องใช้เวลานานและหลายขั้นตอน

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีวิสัยทัศน์ จากการเสด็จไปเยือนต่างประเทศ ทรงสร้างหลักสูตรต่างๆ ที่ขาดแคลนในประเทศไทย อาทิ นักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ที่ได้หลักสูตรจากออสเตรเลีย เพราะทรงเล็งเห็นว่าประเทศไทย ผู้จะใช้เครื่องมือต้องเป็นแพทย์ ซึ่งไม่มีเวลามากนัก หลักสูตรนี้จะสอนนักรังสีวิทยาพยาบาล ให้เรียนรู้การใช้เครื่องมือเพื่อประหยัดเวลาให้แพทย์ได้ ทรงเติมเต็มจุดเล็กน้อยที่คนไม่ค่อยคิดถึง

“เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จไปทรงเยี่ยมประชาชนกับโครงการ พอ.สว. ได้ทอดพระเนตรเห็นประชาชนลำบาก ทุกข์ยากมาก กว่าจะเข้ามารักษาได้ตามระบบต้องใช้เวลานาน พระองค์จึงรับประชาชนเหล่านี้ไว้เป็นคนไข้ในพระราชานุเคราะห์ สมัยก่อนมีแต่คนไข้มะเร็ง แต่ช่วงหลังก็เปิดรับโรคอื่นๆ ด้วย ซึ่งเมื่อคนไข้รักษามะเร็งหายก็มักจะมีโรคอื่นๆ ตามมาด้วย พระองค์จึงไม่สบายพระทัยที่จะส่งคนไข้ไปยังโรงพยาบาลอื่น การมีศูนย์การแพทย์นี้ จึงสามารถรองรับผู้ป่วยในพระองค์ได้มากขึ้น”

ไม่เพียงแต่ขยายงานด้านการแพทย์ พระองค์ยังทรงมีพระดำริให้มีการระดมทุนผ่านโครงการการกุศลต่างๆ เช่น โครงการถักร้อยสร้อยรัก เพื่อผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ โดยทรงใช้พระอัจฉริยภาพด้านการสร้างสรรค์ศิลปะหลายแขนง ทั้งนี้ ทรงมีพระดำริให้ก่อตั้ง “บริษัท สยาม กลิตเตอร์ 1957 จำกัด” ณ บริเวณพระตำหนักจักรีบงกช อ.เมือง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตเครื่องประดับอัญมณีที่ทรงออกแบบ ภายใต้เครื่องหมายการค้า CM1975 นำรายได้สมทบทุนช่วยผู้ป่วยยากไร้ ตลอดจนพระราชทานความช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้ป่วยในพระอนุเคราะห์

โอกาสนี้ พระองค์เสด็จไปทรงเปิดบริษัทด้วยพระองค์เอง พร้อมทอดพระเนตรสินค้าภายในร้าน ทอดพระเนตรแฟชั่นโชว์เครื่องประดับ

ภายในงานมีเหล่าคนดังมาร่วมงานคับคั่ง อาทิ นวลพรรณ ล่ำซำ, ท่านผู้หญิงภรณี มหานนท์, สุริยน ศรีอรทัยกุล, สุมิตรา กิจกำจาย, ชนัดดา จิราธิวัฒน์, สุพรทิพย์ ช่วงรังษี, นีรนาท เผ่าสวัสดิ์ และ อุษณีย์ มหากิจศิริ ลีโอณีโอ

ทั้งนี้ยังจัดให้มีการประมูลเครื่องประดับจำนวน 8 รายการ อาทิ ชุดสร้อยคอ เข็มกลัดต่างๆ โดยมีผู้ร่วมประมูลสมทบทุนร่วมกัน 6,474,442 บาท

สำหรับการก่อตั้ง บริษัท สยาม กลิตเตอร์ 1957 จำกัด นับเป็นการสานความใฝ่ฝันเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ทรงมีพระประสงค์จะมีร้านเครื่องประดับเป็นของพระองค์เอง ด้วยทรงมี “สมเด็จแม่” สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นผู้จุดประกายความรักในเครื่องประดับ

สยาม กลิตเตอร์ 1957

การนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชทานสัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนถึงแรงบันดาลพระทัยในการออกแบบครั้งนี้ว่า เกิดจากที่ครั้งหนึ่งพระองค์ทรงได้รับเชิญให้ออกแบบเครื่องประดับกับแบรนด์ แอสปรี ประเทศอังกฤษ ซึ่งขายดี และทรงรู้สึกว่ามีราคาที่สูง จึงอยากให้คนไทยได้ซื้อของในราคาที่เป็นเหตุเป็นผลและจับต้องได้ จึงได้ออกแบบในแบรนด์ของพระองค์เอง

สำหรับชื่อบริษัท สยาม กลิตเตอร์ 1957 นั้น พระองค์รับสั่งว่า ได้นำมาจากชื่อบริษัทของ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ที่ทรงมีบริษัทชื่อ สยาม รีโนเวต รับออกแบบตกแต่งพื้นที่ จึงทรงตั้งชื่อให้คล้องกัน สำหรับ 1957 นั้นเป็นปีประสูติ โดยทรงใช้เวลากลางคืนในการออกแบบ เพราะเงียบและมีไอเดีย สำหรับคอลเล็กชั่นที่พระองค์ทรงภูมิพระทัยที่สุดคือคอลเล็กชั่นเสือ ที่ทรงออกแบบร่วม 180 แบบ ถือเป็นสัตว์ทรงโปรด แต่ไม่ได้นำมาจำหน่ายครั้งนี้ ซึ่งทรงหวังให้คอลเล็กชั่นเครื่องประดับนี้ได้ส่งออกต่างประเทศด้วย

ด้วยพระปณิธานเพื่อผู้ป่วยยากไร้

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์
แฟชั่นโชว์เครื่องประดับ
แฟชั่นโชว์เครื่องประดับ

ศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image