หลากลาย หลายชีวิต ‘งานศิลป์’ ใน ‘ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์’

ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเป็นเจ้าฟ้าหญิงแห่งราชวงศ์จักรีอีกพระองค์หนึ่ง ที่มีพระปรีชาสามารถในหลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์ที่ทรงพระปรีชาสามารถเป็นที่ยอมรับของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ทรงได้รับการถวายพระสมัญญานาม “เจ้าฟ้านักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” เนื่องด้วยประชาชนชาวไทยต่างประจักษ์ถึงความทุ่มเทในการทรงศึกษาค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ในสาขาต่างๆ เพื่อนำความรู้ ความสามารถมาพัฒนาประเทศชาติ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทย เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ และทรงนำงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศชาติเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย

นอกเหนือจากการทรงงานด้านวิทยาศาสตร์แล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ยังมีพระอัจฉริยภาพอย่างยิ่งในด้านศิลปะและการดนตรี ทรงได้รับการปลูกฝังด้านศิลปะและการดนตรีจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสุนทรียภาพด้านงานหัตถศิลป์จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ซึ่งต่อมาศาสตร์ทางด้านศิลปะนี่เองที่ทำให้ทรงค้นพบว่า สิ่งที่ทรงรักและมีความสุขทุกครั้ง เมื่อได้คิดถึง หรือมีโอกาสได้ทำ ก็คือ “การทำงานศิลปะ”

ด้วยพระปรีชาสามารถด้านศิลปะผนวกกับการทรงงานที่เป็นความสุขนี้ จึงทรงใช้เวลาว่างศึกษาปริญญาดุษฎีบัณฑิตที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทรงถ่ายทอดความสุขของพระองค์ผ่านสีเมจิกโคปิค (Copic) เป็นรูปภาพที่มีเอกลักษณ์และงดงาม ซึ่งรูปภาพต่างๆ จะจัดแสดงและจำหน่ายในงานนิทรรศการศิลปกรรม “หลากลาย หลายชีวิต” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เพื่อนำรายได้จากงานศิลป์มาแบ่งปันช่วยเหลือราษฎรผู้ยากไร้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นอกจากนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี โปรดให้นำงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์มาสรรค์สร้างต่อยอดเป็นงานศิลปะหลากหลายแขนง เช่น งานจิตรกรรม ชุดเสือและผีเสื้อ

Advertisement

 

Advertisement

โดยงานจิตรกรรมชุด “เสือ” นั้นเป็นการสื่อความหมายถึงรูปสัญลักษณ์ของ “พ่อ” ผู้ทรงเป็นผู้ปกครองเหนือราชอาณาจักร อันสื่อความหมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ราชาผู้ปกครองดินแดนด้วยพระเมตตา ทรงมีความห่วงใยทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร์ตลอดเวลา พระมหากษัตริย์ผู้ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรมพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงงานอย่างหนักเพื่อประชาชนและผืนแผ่นดินที่ทรงรัก รวมทั้งการนำงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ที่ทรงบรรจง จรดสีเมจิกโคปิค (Copic) ไปเป็นต้นแบบในงานประติมากรรม งานปัก ภาพพิมพ์เทคนิคต่างๆ และงานสื่อผสม (Mixed Media) เช่น เทคนิค Interactive Media ฯลฯ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ ชวนตื่นตาตื่นใจมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้ผู้ร่วมงานได้มีส่วนร่วมในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี โปรดให้จัดกิจกรรมการวาดภาพและระบายสี สำหรับเด็กและเยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 10 ขวบขึ้นไป เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ และการกล้าแสดงออกของเด็กๆ ซึ่งล้วนจะเป็นกำลังที่สำคัญของชาติต่อไปในอนาคต

นิทรรศการครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในระดับปริญญา ดุษฎีบัณฑิต หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ โดยเป็นการสำรวจวิทยานิพนธ์ ครั้งที่ 1 และเป็นการนำเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ ภายใต้นิทรรศการศิลปกรรม “หลากลาย หลายชีวิต” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 29 มีนาคม-22 พฤษภาคม 2561 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ The Queen’s Gallery ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ

รายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายจะร่วมสมทบทุนมูลนิธิจุฬาภรณ์ เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ป่วยยากไร้ รักษาผู้ป่วยในพระอนุเคราะห์ ตลอดจนสนับสนุนการศึกษา มอบทุนให้นักเรียนและนักศึกษาที่เรียนดี ประพฤติดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ บรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยพิบัติทั้งในและต่างประเทศ การพัฒนาชุมชน รวมถึงการสร้างอาชีพและเสริมรายได้ให้ประชาชนผ่านโครงการฝึกอาชีพจากพระดำริต่างๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image