“พระองค์ภา” ทรงนำจนท.ยูเอ็นดูงาน สร้างชีวิตใหม่ “ผู้ต้องขังหญิง” จาก “ข้อกำหนดกรุงเทพ”

แม้ว่าจำนวนประชากรในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ของประชากรในอาเซียน แต่ไทยกลับมีผู้ต้องขังมากถึงร้อยละ 40 ของทั้งภูมิภาค และมีผู้ต้องขังล้นคุกเป็นอันดับ 6 ของโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติด และมีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ก้าวพลาด

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จึงได้ร่วมกับ สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอดีซี) ผลักดัน “ข้อกำหนดกรุงเทพ” ให้มีการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง ด้วยการคำนึงถึงศักดิ์ศรีขั้นพื้นฐาน ความเข้าใจ เตรียมความพร้อมในการดำเนินชีวิตหลังพ้นโทษแก่ผู้ต้องขังหญิงขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 นับแต่นั้น ทัณฑสถานทั่วประเทศก็ได้นำเอาข้อกำหนดกรุงเทพมาปรับใช้

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทูตสันถวไมตรี ด้านการส่งเสริมหลักนิติธรรมประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยูเอ็นโอดีซี จึงทรงนำผู้แทนราชทัณฑ์ องค์กรระหว่างประเทศในอาเซียน เสด็จไปเยี่ยมชมเรือนจำต้นแบบ “ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่” ทั้งนี้ มีรับสั่งเปิดการประชุมเน้นการตระหนักถึงความต้องการเฉพาะด้านของผู้ต้องขังผู้หญิง โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า

Advertisement

“หลายปีที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ของไทย และทัณฑสถานหญิงอีกหลายแห่ง ได้พยายามอย่างต่อเนื่องที่จะริเริ่มและดำเนินการปฏิรูประบบงานด้านการปฏิบัติและการฟื้นฟูผู้กระทำผิด การปฏิรูปต่างๆ นี้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง อีกทั้งยังมีส่วนสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติในภาพรวมด้วย ซึ่งทำได้โดยอาศัยการตอบสนองความต้องการของผู้กระทำผิดในการกลับตัวเป็นคนดี ช่วยลดความเสี่ยงในการกระทำความผิดซ้ำหลังพ้นโทษไปแล้ว ซึ่งถือเป็นกลไกหนึ่งในการป้องกันอาชญากรรม”

ต่อจากนั้น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จทอดพระเนตรการบริหารจัดการภายในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ที่บรรยากาศเต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา อาทิ จุดแรกรับ, คลินิกทันตกรรม, แฮปปี้ เซ็นเตอร์ หรือห้องศิลปะบำบัดผู้ต้องขัง, ห้องบริบาลทารก ซึ่งเด็กจะได้อยู่กับมารดาทั้งกลางวันและกลางคืน รวมทั้งมีพี่เลี้ยงจากภายนอก, หน่วยงานนวดแผนไทย สิ่งประดิษฐ์-ทอผ้า รวมทั้งห้องเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน

จากนั้นเสด็จไปยัง กาดมั่ว หรือ ตลาดฝึกวิชาชีพ ซึ่งพระองค์มีพระปฏิสันถารกับผู้ต้องขังอย่างไม่ถือพระองค์ โดยมีรับสั่งขอบคุณผู้ต้องขังทุกคน ทำให้ผู้ต้องขังหลายคนซาบซึ้งอย่างหาที่สุดไม่ได้

Advertisement

ในวันต่อมาพระองค์ทรงนำคณะผู้แทนองค์กรต่างๆ เสด็จไปดูงานยังโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงราย ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวอย่างแก้ปัญหายาเสพติดโดยใช้คนเป็นศูนย์กลางได้อย่างดี โดยทรงร่วมเสวนากับเหล่าตัวแทนผู้สูงอายุ และเยาวชนดอยตุงด้วย

เจเรมี ดักลาส ผู้แทนยูเอ็นโอดีซี ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก เผยว่า การดูงานครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการศึกษาอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นเหตุอย่างโครงการดอยตุง ที่สร้างคนเพื่อขจัดปัญหายาเสพติดได้ดี และเมื่อก้าวพลาดเข้าสู่เรือนจำแล้ว เรือนจำเชียงใหม่ก็ทำให้เห็นว่ามีการดูแลตามเพศสภาพได้อย่างดี ทั้งการศึกษา สุขภาพ และสังคม นับว่าดีที่สุดในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการสร้างอาชีพถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาการกลับเข้าสู่เรือนจำได้อย่างดี ซึ่งการที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงร่วมเผยแพร่แนวคิดนี้ด้วยพระองค์เอง ถือเป็นแรงผลักดันที่ดีในระดับอาเซียน

เจเรมี

ขณะที่ บุษบา ศักรางกูร ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เผยว่า ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่มีจำนวนผู้ต้องขัง 1,977 ราย โดยหลังจากนำเอาข้อกำหนดกรุงเทพมาปรับใช้ ก็เน้นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากขึ้น อย่างเช่นการค้นตัวก่อนเข้าเรือนจำต้องทำโดยเจ้าหน้าที่หญิงในห้องมิดชิด มีการแจ้งขั้นตอนก่อน ในด้านจิตใจจะมีทีมนักจิตวิทยาคอยพูดคุย มีการศึกษาผู้ต้องขังรายคน ว่าอาชีพเดิมอะไร เป้าหมายคืออะไร เพื่อวางแผนการปฏิบัติเป็นรายบุคคล ทั้งการดูแลรวมถึงฝึกอาชีพ เช่น การนวด เมื่อฝึกจนได้รับใบประกาศและใกล้พ้นโทษ ก็จะนำผู้ต้องขังนั่งรถไปทำงานศูนย์ของเรือนจำในเขตเมือง บางคนมีรายได้นับหมื่นเป็นเงินก้อนไว้ตั้งตัวเมื่อออกจากเรือนจำ ขณะที่การทอผ้าไหม ผู้ต้องขังสามารถคิดลายเองได้จนได้รับลิขสิทธิ์ถึง 5 ลาย นอกจากนี้ดอยตุงก็ได้มาสอนคั่วกาแฟให้กับผู้ต้องขังด้วย

บุษบา

ด้าน อ้อย (นามสมมุติ) อดีตผู้ต้องขังคดีลักทรัพย์ที่ออกไปเปิดร้านดอกไม้ของตนเอง เผยว่า เพราะคบกับเพื่อนไม่ดี ทำให้เกิดความผิดพลาดในชีวิตจนต้องขาดอิสรภาพอยู่ 6 ปี ตลอดเวลาที่อยู่ที่นี่ก็พยายามศึกษาอาชีพต่างๆ อย่างนวด ซักรีด การจัดดอกไม้และภาษาอังกฤษ ที่ทำให้ออกไปสื่อสารกับคนอื่นได้ มีนักจิตวิทยาที่ทำให้เราเข้าใจชีวิต คลายเครียด แน่นอนว่าก่อนออกจากคุกทุกคนคงรู้สึกเคว้ง แต่การมีทักษะอาชีพช่วยให้เราตั้งเป้าหมายของตนเองได้ ตอนนั้นคิดว่านี่คือบทเรียนที่สำคัญมากที่จะไม่ยอมเสียเวลาแบบนี้อีก เมื่อสังคมให้โอกาสเราต้องเป็นคนดี ซึ่งต้องถือเป็นพระกรุณาของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ทรงไม่ลืมพวกเรา ทรงเป็นกำลังใจให้เรามองเห็นคุณค่าในตนเอง ทุกวันนี้จึงภูมิใจที่มีอาชีพมั่นคงเป็นเจ้าของกิจการ และไม่กลับไปสู่วังวนเดิมๆ

ชีวิตใหม่ผู้ต้องขัง

นวดแผนไทยแบบล้านนา

ห้องทันตกรรมที่มีแพทย์จากภายนอกมาดูแล

ดนตรีบำบัดในห้องกิจกรรม
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image