พระเทพฯเสด็จงานวันสถาปนาจุฬาฯครบ 99 ปี ทรงระนาดเอกและทรงขับร้องเพลงไทย

เมื่อเวลา 07.05 วันที่ 26 มีนาคม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในงานวันครบรอบ 99 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมี ศ.กิตติคุณ สุชาดา กีระนันทน์ นายกสภาจุฬาฯ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ ตลอดจนคณาจารย์ บุคลากร นิสิต นิสิตเก่าเฝ้าฯ รับเสด็จ ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราช และสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า

การนี้ ทรงวางพุ่มดอกไม้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ จากนั้น ทรงบาตรที่บริเวณเสาธงหน้าหอประชุมจุฬาฯ ก่อนเสด็จฯไปยังอาคารมหาจุฬาลงกรณ์ ทรงวางพวงมาลัยถวายราชสักการะพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ต่อมาเวลา 10.00 น.สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯไปยังหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงระนาดเอกร่วมกับวงบ้านปลายเนิน ในเพลง“เชิดฉิ่ง-ศรทะนง” ก่อนทรงขับร้องและบรรเลงดนตรีไทยชุด “นเรนทราทิตย์: วีรกษัตริย์ผู้ทรงคุณธรรม” บทเพลงพระราชนิพนธ์และการแสดงพระราชทานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ของวงสายใยจามจุรี ร่วมกับวงดนตรีสากล สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นทอดพระเนตรการแสดงดนตรีไทยปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ เรื่องอิเหนา ตอนไหว้ พระ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

โอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดแพรคลุมป้ายชื่อ ห้องสมุดคณะวิศวกรรมศาสตร์ ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ทรงเปิดนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติจุฬาฯและสิ่งของทรงคุณค่า ที่หอประชุมประวัติศาสตร์จุฬาฯ ทรงเปิดแพรคลุมป้ายชื่ออาคารสัตววิทยวิจักษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ และอาคารศูนย์สัตว์ทดลอง ทรงปลูกต้นจามจุรี 6 ต้น ณ อุทยานจุฬาฯ 100 ปี

Advertisement

 

DSC_0546

DSC_0006

Advertisement

DSC_0163

DSC_0136

อนึ่ง “เพลงเชิดฉิ่ง-ศรทะนง” แบ่งเป็น 2 เพลงหน้าพาทย์ อย่างเพลงเชิดฉิ่ง ใช้ประกอบการร่ายรำของโขน หรือละครก่อนที่จะแผลงศร โดยมีฉิ่งตีกำกับเป็นจังหวะ ไม่ใช้กลองทัด หรือกลองตะโพน ส่วนเพลงศรทะนง ใช้เฉพาะกับการแผลงศร เพลงนี้มี 3 ตัว ซึ่งความหมายที่นำทั้งสองเพลงมาบรรเลงคือ ต้องการอนุรักษ์ทางเพลงศรทะนง ทั้ง 3 ตัวไว้และเป็นการบ่งบอกให้รู้ว่า หากจะทำการสิ่งใดให้สำเร็จต้องตั้งใจ มุ่งมั่น ทำไป จนในที่สุดก็จะสำเร็จได้ดังประสงค์ทุกประการ

ส่วน “นเรนทราทิตย์: วีรกษัตริย์ผู้ทรงคุณธรรม” เป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงอธิบายเรื่องความตอนหนึ่งว่า ข้าพเจ้าสนใจศึกษาจารึกปราสาทหินพนมรุ้งที่กรมศิลปากรพบใหม่ จารึกนี้สำคัญที่สุดที่ศ.เซเดส์แปลไว้ครึ่งหลักกับครึ่งหลังที่กรมศิลปากรพบ นั้น สวมกันได้พอดี ข้าพเจ้าจึงแปลใหม่ เนื้อหาของกวีนิพนธ์นี้เป็นเรื่องกษัตริย์องค์หนึ่งนามว่า นเรนทราทิตย์ ซึ่งทรงเชื้อสายจากราชสกุลวงศ์อันยิ่งใหญ่ มีพระรูปโฉมงดงามเป็นที่เสน่หาของเหล่าสตรี ทรงเป็นกวีผู้เป็นเลิศ เป็นผู้มีปัญญาและความรู้ ทรงเป็นผู้แกล้วกล้าในสงคราม ในที่สุดได้ศึกษาหลักธรรมะในศาสนาพราหมณ์ไศวนิกายพวกปาศุปตะ บำเพ็ญพรตอันแก่กล้า จึงเขียนบ่อเฉลิมพระเกียรติ แต่ไม่ใช้ข้อความในจารึก อาศัยจินตนาการของตนเอง ไม่หวังให้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ตั้งใจเพียงสร้างความพึงพอใจแก่ตนเอง ผู้ร่วมงานและผู้ชมการแสดงเท่านั้น

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image