50 ปี ปลานิลจิตรลดา อาหารโปรตีนเพื่อคนไทยสุขภาพดี

เป็นที่ทราบกันดีว่า “ปลา” เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่มีประโยชน์กับร่างกาย หรือจะเรียกว่าเป็น “ราชาของโปรตีน” ก็ไม่ผิดนัก เพราะเป็นโปรตีนที่ย่อยง่ายกว่าโปรตีนชนิดอื่นๆ ทำให้ระบบการย่อยอาหารไม่ต้องทำงานหนัก ทั้งยังซ่อมแซมเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ที่สึกหรอ และเสริมสร้างร่างกายให้เจริญเติบโตตามวัย

ด้วยคุณประโยชน์มากมายเช่นนี้เอง ย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพันธุ์ปลาเพื่อให้เป็นแหล่งอาหารโปรตีนของปวงชนชาวไทยในการช่วยแก้ปัญหาพื้นฐานด้านโภชนาการที่ประเทศไทยประสบอยู่

ปลาพันธุ์พระราชทานนั้น คือ “ปลานิล” หรือ “ปลานิลจิตรลดา”

16

Advertisement

เนื่องในโอกาสปี 2559 เป็นปีมหามงคล “3 ปีติ” ที่คนไทยพร้อมใจกับเฉลิมฉลอง 70 ปี ครองราชย์, 84 พรรษา มหาราชินี และ 88 พรรษา มหาราชา ตลอดจนเป็นวาระครบรอบ 50 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพันธุ์ปลานิลให้กับกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำไปขยายพันธุ์และแจกจ่ายให้เกษตรกร

ชมรม “1 จานจากใจ” ด้วยความสนับสนุนของ มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานพระราชดำริ และ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) ร่วมกันจัดโครงการ “1 จานจากใจ…มื้อปลาอิ่มใจ” โดยได้พาคณะสื่อมวลชนเข้าชม “บ่อปลานิลต้นแบบ ณ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา” ซึ่งเป็นบ่อที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำปลานิลมาทดลองเลี้ยง ก่อนที่จะพระราชทานให้กรมประมงนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนต่อไป

สำหรับบ่อปลานิลต้นแบบ ปัจจุบันมีอยู่ 3 บ่อ จากที่เคยมีประมาณ 10 บ่อ โดยบ่อดังกล่าวอยู่ในบริเวณโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ฝั่งทางเข้าประตูพระยมอยู่คุ้ม ลักษณะของบ่อปลาเป็นบ่อดินมีขนาด 150 ตารางเมตร เลี้ยงแม่พันธุ์จำนวน 60 ตัว และพ่อพันธุ์จำนวน 30 ตัว

ดร.จรัลธาดา กรรณสูต
ดร.จรัลธาดา กรรณสูต

ดร.จรัลธาดา กรรณสูต อดีตอธิบดีกรมประมง ทายาทผู้รับพระราชทานพันธุ์ปลานิล กล่าวถึงที่มาของโครงการพัฒนาสายพันธุ์ปลานิลจิตรลดาว่า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี 2489 ขณะนั้นประเทศไทยตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อันเป็นผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานโครงการพระราชดำริมากมายเพื่อบรรเทาทุกข์ของประชาชน รวมถึงโครงการพันธุ์ปลานิล ปลาน้ำจืดตระกูลไนล์ ทิลาเปีย คือ Nile Tilapia จำนวน 50 ตัว ที่ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตแห่งญี่ปุ่น ขณะดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมาร ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 25 มีนาคม 2508 ซึ่งพระองค์ทรงรับมาเลี้ยงไว้ในบ่อที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

“เมื่อทรงเห็นว่าพันธุ์ปลานิลขยายพันธุ์เป็นจำนวนมากพอสมควร ในปี 2509 พระราชทานลูกปลานิลขนาด 3-5 เซนติเมตร จำนวน 1 หมื่นตัวให้แก่กรมประมง นำไปขยายพันธุ์ต่อและแจกจ่ายให้กับเกษตรกร พร้อมพระราชทานนามว่า ปลานิลจิตรลดา ซึ่งสอดคล้องกับชื่อเดิมคือ ไนล์ ทิลาเปีย อีกทั้งสีของปลาที่มีสีดำๆ เทาๆ ย่อยง่าย มีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ และสร้างภูมิคุ้มกันโรค”

“จากนั้นปลานิลก็ได้ขยายไปอย่างกว้างขวาง เป็นแหล่งอาหารโปรตีน ซึ่งเป็นพระราชดำริสำคัญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในอันที่จะเผยแพร่อาหารโปรตีนราคาถูก เพราะเมื่อก่อน ประชาชนตามท้องถิ่นทุรกันดาร โดยเฉพาะภาคอีสาน ไม่ค่อยมีอาหารโปรตีนรับประทานกัน ทำให้ประชาชนมีการเจริญเติบโตไม่ค่อยดี เนื่องจากอาหารโปรตีนมีจำนวนน้อยและราคาแพง นอกจากพวกที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำก็อาจมีปลากิน แต่พวกที่อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำไปก็ไม่สามารถมีอาหารโปรตีนได้ กินแมลง กินกบ เขียด อะไรต่ออะไร ซึ่งก็หายาก”

1

บ่อปลานิลในสวนจิตรลดา

“ปลานิลจึงเป็นอาหารหลักของชาวบ้านในปัจจุบัน ซึ่งจะหาง่ายที่สุดและมีราคาถูก”

ปัจจุบัน นอกจากปลานิลจะเป็นปลาที่คนไทยบริโภคกันมากที่สุดแล้ว ยังสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนกว่าล้านคนในฟาร์มปลานิลที่มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 280,000 แห่งทั่วประเทศ ปลานิลเป็นปลาน้ำจืดเพื่อการส่งออกที่มีศักยภาพสูงกว่าปลาชนิดอื่นๆ มีการผลิตไม่น้อยกว่า 2 แสนตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท

และแม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานพันธุ์ปลานิลครั้งแรกเมื่อ 50 ปีมาแล้ว แต่ยังทรงสนพระราชหฤทัยพัฒนาคุณภาพของปลาที่ประชาชนจะเลี้ยงและบริโภคให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันปลานิลมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ คือ จิตรลดา 1 จิตรลดา 2 จิตรลดา 3 และ จิตรลดา 4

นอกจากนี้ยังมีปลานิลแดงสายพันธุ์ไทย ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างปลาหมอเทศและปลานิล พบครั้งแรกในปี 2511 ณ สถานีประมงน้ำจืด จ.อุบลราชธานี ต่อมามีการคัดมาเพาะและขยายพันธุ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปล่อยพันธุ์ปลานิลสีแดงเพื่อเพาะขยายพันธุ์ในสวนจิตรลดาและพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิลแดง”

ในปี 2532 บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ยังได้ริเริ่มการนำปลานิลจิตรลดามาผสมข้ามพันธุ์กับปลานิลอื่นๆ เพื่อให้ได้ลักษณะเด่น จนได้สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเมื่อนำมาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในปี 2541 ได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “ปลาทับทิม”

“ปลานิลทำประโยชน์ให้กับประเทศไทยมหาศาล ซึ่งเราเป็นเอ็กซเพิร์ทด้านนี้ ต่างประเทศมาขอศึกษาดูงานจากเรา โดยปลานิลที่คนไทยชื่นชอบคือปลานิลสีแดง เพราะคนไทยชอบทานปลาเนื้อนุ่ม ขณะที่ปลานิลที่ส่งออกต่างประเทศยังเป็นปลานิลสีดำเพราะต่างประเทศชอบปลาเนื้อแข็งมากกว่า”

จากพระราชประสงค์ให้ประชาชนมีอาหารโปรตีนรับประทานอย่างเพียงพอ เพื่อพัฒนาทางด้านสติปัญญาและความเจริญต่อเด็กไทย

วันนี้ ปลานิลสร้างคุณค่ามหาศาล “ปลานิลจิตรลดา” จึงนับเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แห่ง “ราชาประชารัฐ” โดยแท้จริงนั่นคือการที่พระราชา ประชาชนและรัฐ มีส่วนร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จนปลานิลจิตรลดาป็นหนึ่งในพลังที่ช่วยส่งเสริม สร้างสรรค์ความก้าวหน้าทั้งเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

021
เมนูอาหารจากปลานิล
027
เมนูอาหารจากปลานิล
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image