สมเด็จพระเทพฯ ทรงพระเมตตา พัฒนาวงการแพทย์ สปป.ลาว

IMG_7193

2113

2114 ตลอด 36 ปี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงงานด้านพัฒนามาโดยตลอด พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปยังท้องถิ่นทุรกันดารเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับราษฎรชาวไทยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ซึ่งไม่เฉพาะคนไทยเท่านั้น ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ “ประเทศเพื่อนบ้าน” อย่าง “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” หรือ สปป.ลาว ก็ได้รับพระราชทานความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเฉกเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อเสริมสร้างศักยภาพสามารถให้บริการประชาชน ทั้งในการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการรักษาพยาบาล ตั้งแต่ปี 2543 ปัจจุบัน ดำเนินการมายาวนานถึง 16 ปี

Advertisement

ว่าที่ร้อยตรี กิตติ ขันธมิตร กรมวังผู้ใหญ่ สำนักพระราชวัง กล่าวว่า โครงการฝึกอบรมเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ จาก สปป.ลาว ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เริ่มต้นจากการที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯไปทรงเยือน สปป.ลาว และพระราชทานเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ ตามความประสงค์ของโรงพยาบาล ต่อมามีพระราชดำริว่าควรจะมีการพัฒนาบุคลากรด้วย สำนักพระราชวัง จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลทำโครงการนี้ขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ.2543 จนถึงปัจจุบันอบรมไปแล้ว 18 รุ่น มีผู้เข้าอบรมมาจากโรงพยาบาลแขวง โรงพยาบาลเมือง รวม 731 คน มีหลักสูตรต่างๆ เช่น แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ เป็นต้น

นอกจากนั้น UNESCO ขอพระราชทานเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นทูตสันถวไมตรี และ WFP ขอพระราชทานเชิญทรงเป็นทูตพิเศษ รวมทั้งขอพระราชทานให้ทรงทำโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในประเทศต่างๆ อีก 11 ประเทศ เช่น สปป.ลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เป็นต้น โดยใช้แบบอย่างของโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนตามพระราชดำริในประเทศไทยไปดำเนินการ

โครงการตามพระราชดำริดังกล่าวนอกจากจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศต่างๆ แล้ว ยังช่วยให้ประเทศไทยและประเทศต่างๆ มีสัมพันธภาพแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นด้วย

2109

…16 ปีไทย-ลาวร่วมพัฒนาวงการแพทย์และสาธารณสุข

หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านวิชาการคือ “มหาวิทยาลัยมหิดล” นพ.สมชาติ โตรักษา คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า ในการดำเนินงานพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ของ สปป.ลาว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ หารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สปป.ลาว เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานให้สามารถตอบสนองต่อการพัฒนาวงการแพทย์และสาธารณสุข สปป.ลาว ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เกณฑ์การคัดเลือกเราให้เอกสิทธิ์กับทาง สปป.ลาวโดยตรง เพียงแต่มีเงื่อนไขว่า ขอให้คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลมาฝึกอบรมก่อน และปีต่อๆ ไป ขออย่าให้ส่งมาซ้ำ เพื่อจะได้กระจายประโยชน์ให้ทั่วถึง”

ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ในระยะแรกกำหนดให้มาฝึกอบรมแขวงละ 5 คน 5 แขวง ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และเทคนิคการแพทย์ รวม 25 คน

“ด้วยพระทัยที่มุ่งมั่น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเข้าใจบริบทสังคมของลาวว่า การพัฒนาจะเกิดขึ้นได้ดีเจ้าแขวงต้องมีความรู้ความเข้าใจด้วย จึงทรงเชิญเจ้าแขวงมาศึกษาดูงานที่เมืองไทย ซึ่งก็ทำให้เกิดการร่วมมือร่วมใจที่ดี”

การฝึกอบรม เป็นการอบรมระยะสั้น ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ใช้เวลา 45 วัน วิธีการฝึกอบรมมีทั้งบรรยาย ฝึกปฏิบัติ ภาคสนาม สัมมนากลุ่มย่อย และการศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนกับโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะในการตรวจวิเคราะห์ การตรวจวินิจฉัย การให้การรักษา และการใช้ยา เพื่อเพิ่มพูนทักษะกระบวนการทำงานเป็นทีม และการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง

โดยปัจจุบัน ได้พัฒนาหลักสูตรการอบรมออกไปอย่างกว้างขวางถึง 17 หลักสูตร อาทิ หลักสูตรสูติศาสตร์-นรีเวชศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์ ศัลยศาสตร์ วิสัญญีวิทยา โรคเมืองร้อน อายุรศาสตร์เบื้องต้น พยาบาลศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ กายภาพบำบัด เทคนิคการแพทย์โภชนาการ เป็นต้น

นอกจากนี้ เมื่ออบรมเสร็จแล้ว ยังมีการติดตามผลการอบรมเป็นประจำทุก 2 ปี โดยคณาจารย์จาก ม.มหิดล จะไปติดตามงานที่ สปป.ลาว เยี่ยมชมกิจการของโรงพยาบาลในภาพรวม มีการสังเกตการปฏิบัติงานของผู้เข้ารับการอบรม รวมทั้งมีการจัดประชุมวิชาการที่ สปป.ลาว โดยคณาจารย์จากประเทศไทยเดินทางไป สปป.ลาว มีการบรรยายทางวิชาการเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุข

“พระองค์ทรงมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และนับว่าเป็นโครงการที่ได้รับความสนใจจากบุคลากรทางการแพทย์ของ สปป.ลาว เป็นจำนวนมาก เรียกว่าติดตลาด จำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปีนี้ รุ่นที่ 18 มีผู้เข้าร่วมอบรม 81 คน”

ไม่เพียงความรู้ใหม่ๆ ที่ได้รับ หากเมื่อฝึกอบรมเสร็จลุล่วงแล้ว คณะบุคลากรจาก สปป.ลาว ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานประกาศนียบัตรด้วย

นับตั้งแต่ดำเนินโครงการมา ผลการติดตามงานช่วยให้เกิดการพัฒนาทั้งสองทาง นั่นคือ ผู้เข้ารับการอบรมได้พัฒนาตนเองและแก้ไขปัญหาอุปสรรคร่วมกับอาจารย์ในสถานที่จริง ขณะเดียวกันคณะอาจารย์ได้รับประสบการณ์ตรงจากสถานที่จริงเช่นกัน ทำให้นำข้อจำกัดต่างๆ ไปพัฒนาหลักสูตรการอบรมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

2111
2112

…แพทย์ลาวรุ่น 18 ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ

นพ.เนรมิต คำวงศา หรือในภาษาลาวเรียกว่า ท่านหมอเนรมิต วิสัญญีแพทย์ โรงพยาบาลแขวงคำม่วน สปป.ลาว ผู้เข้ารับการอบรมรุ่น 18 เล่าถึงสภาพปัญหาวงการแพทย์และสาธารณสุขของ สปป.ลาว ว่าปัญหาทางการแพทย์และสาธารณสุขของลาวยังมีข้อจำกัดหลายด้าน

1.บุคลากรทางการแพทย์ที่ยังมีจำนวนน้อย และมีข้อจำกัดทางด้านการเรียนรู้ และความตื่นตัวด้านการปฏิบัติงาน ยังเทียบกับประเทศที่เจริญกว่าไม่ได้

2.คนไข้ ลาวเป็นประเทศที่มีหลายชนเผ่า ความเชื่อของแต่ละชนเผ่าไม่เหมือนกัน เช่น เจ็บท้องจะคลอดลูกแล้วเลือดไหล แทนที่จะรีบมาหาหมอ เขาก็รอให้เลือดไหลออกมาให้หมด แล้วจะหายเอง ทำให้อัตราการเสียชีวิตของแม่และเด็กสูงมากใน สปป.ลาว ซึ่งนี่คือความไม่รู้ ไม่เข้าใจ

3.การได้รับข้อมูลข่าวสารยังน้อยโดยเฉพาะในต่างจังหวัด รวมทั้งการใช้ภาษาที่แตกต่างกัน ทำให้สื่อสารกันไม่เข้าใจ และ

4.งบประมาณต่างๆ ยังขาดแคลน

“โครงการพัฒนาบุคลากรฯ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาทางการแพทย์ได้อย่างตรงจุด พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงคุณค่าของการพัฒนาคน ทำให้บุคลากร สปป.ลาวได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง เป็นตัวชี้วัดหนึ่งทางการบริหารทางการแพทย์และคุณภาพของสาธารณสุขดีขึ้น”

แม้ สปป.ลาวจะได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ทั้งเรื่องเวชภัณฑ์ การสร้างตึกอาคารโรงพยาบาล หรือเข้ามาฝึกอบรมบุคลากรเป็นระยะเวลาสั้น 3-6 เดือน แต่ก็เป็นการฝึกที่อยู่ในมหาวิทยาลัยที่เวียงจันทน์เท่านั้น

ท่านหมอเนรมิตบอกว่า โครงการพัฒนาบุคลากรฯของไทย “แตกต่าง” ออกไป เนื่องจากเป็นโครงการระยะยาวและยั่งยืน

“โครงการนี้ทำมาเป็นประจำ และพัฒนาขึ้นทุกๆ ปี”

“ที่ประทับใจหมอลาวทุกคนคือ เราได้เรียนกับอาจารย์ที่มีประสบการณ์ และมีความสามารถระดับประเทศของ ม.มหิดล ซึ่งอาจารย์ทุกคนตั้งใจมอบความรู้ให้เราอย่างเต็มที่ ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ทำให้เราเรียนรู้การทำงานอย่างเป็นระบบ การมีทีมงานที่สมบูรณ์ ซึ่งแตกต่างจากทีมงานของข้าพเจ้าที่ยังขาดบุคลากร”

“หรือบางอย่างที่ข้าพเจ้าปฏิบัติงานมาเป็นประจำและคิดว่าถูก แต่เมื่อมาฝึกอบรมที่นี่ อาจารย์ก็ได้อธิบายถึงข้อดีข้อด้อยแต่ละอย่าง วิธีการ เทคนิค จากที่คิดว่าถูกมาตลอด เมื่อได้ฟังคำชี้แจงก็เข้าใจมากขึ้น ได้เทคนิคดีๆ มากขึ้น”

การมาครั้งนี้จึงได้อะไรมากกว่าที่คาดหวังไว้ ไม่ใช่เฉพาะการเรียนเท่านั้น แต่ยังได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม เรียนรู้เรื่องการจัดการของแต่ละภาควิชา หรือแม้กระทั่งการเขียนโครงการ

“ข้าพเจ้าจดจำและพยายามถอดบทเรียนจากสิ่งที่ได้รับ เพื่อจะนำไปปรับใช้ที่ลาว อย่างการเขียนโครงการ แม้แต่แพทย์ที่ทำงานมา 20-30 ปี ไม่เคยมีท่านไหนลงมือเขียนโครงการ แต่เมื่อได้มาเรียน ได้รับคำแนะนำและรู้ถึงขั้นตอนการเขียนว่า การจะทำงานอะไรก็แล้วแต่ ต้องมีการบันทึก มีการเขียนเป็นโครงการหรือบทความวิชาการออกเผยแพร่ด้วย”

เวลาเพียงแค่ 6 สัปดาห์ของการฝึกอบรม ได้ทำให้แพทย์ลาวมี “เป้าหมาย” ที่จะกลับไปพัฒนาโรงพยาบาลที่ สปป.ลาวให้ดีขึ้น

“แพทย์ลาวทุกคนมีโครงการที่จะกลับไปพัฒนาโรงพยาบาลให้ได้คล้ายๆ กับที่เรียนรู้มา ตามศักยภาพที่เรามี”

“อย่างข้าพเจ้าซึ่งเป็นหมอดมยา เมื่อกลับไปแล้ว เริ่มแรกจะทบทวนงานที่ทำมาว่าเหมาะสมไหม ที่ทำมาก็ดีอยู่แล้ว แต่สิ่งดีๆ ที่ได้รับจากโครงการนี้จะเข้าไปเติมเต็มในส่วนที่ขาด นอกจากนี้ จะนำข้อมูลและความรู้ที่ได้ ไปเผยแพร่ให้กับบุคลากรและทีมงานของข้าพเจ้า”

ซึ่งท่านหมอเนรมิตเชื่อว่าโรงพยาบาลจะได้รับการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากรุ่นพี่หลายคนที่มาฝึกอบรม เมื่อกลับไป จะนำประสบการณ์การฝึกอบรมเผยแพร่ในที่ประชุม เพื่อให้คณะผู้อำนวยการรับรู้ ถ้าสิ่งไหนที่ผู้อำนวยการเห็นดีด้วย ก็จะนำไปสู่การปฏิบัติ

“ยกตัวอย่างเรื่องหมอเด็กที่กลับมาเล่าเรื่องการทำงานของโรงพยาบาลรามาธิบดี ว่ามีการแยกห้องเด็กอ่อนต่างหาก ซึ่งก่อนหน้านี้ โรงพยาบาลแขวงคำม่วนให้เด็กอ่อน เด็กกลาง และผู้ใหญ่ อยู่รวมกันในห้องไอซียู ก็จะทำให้เป็นอันตรายต่อเด็ก เพราะเชื้อโรคของผู้ใหญ่กับเด็กไม่เหมือนกัน เมื่อมีการนำมาบอกเล่าแบบนี้ ก็ทำให้เกิดความตระหนัก และปัจจุบันเรามีห้องเด็กอ่อนโดยเฉพาะแล้ว”

จากการพัฒนาไปในทางที่ดีและเห็นเป็นรูปธรรม ท่านหมอเนรมิตบอกว่า มาจากพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

“ทั้งที่เราไม่ใช่คนไทย แต่เป็นคนชาติอื่น แต่พระองค์ก็ยังทรงมีความพระเมตตากรุณา ทรงมีวิสัยทัศน์และทรงแก้ปัญหาได้ตรงจุด ซาบซึ้งในน้ำพระทัย และทรงไม่ได้พัฒนาเฉพาะวงการแพทย์ เรื่องอื่นๆ ก็ทรงเข้าไปพัฒนาด้วย”

“สำหรับคนลาว เมื่อใครหยิบยื่นสิ่งดีๆ ให้เราด้วยความรู้สึกดีๆ เราจะเปรียบคนนั้นดั่งพ่อแม่ที่หยิบยื่นสิ่งดีๆ ให้ลูก และวางแผนอนาคตให้ลูกว่าจะเดินไปทางไหน เปรียบดั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเห็นอนาคตและทรงชี้ทางเดินให้เราเพื่อให้ไปในสิ่งที่ดีที่สุด” นพ.เนรมิตกล่าว และว่า

“เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ ขอถวายพระพรให้พระองค์ทรงพระเจริญและมีพระพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์”

จากความร่วมมือดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้ประชาชนในราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เป็นการสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ขอบคุณภาพจากหนังสือปิยราชกุมารี

lad01010459p3
ว่าที่ร้อยตรีกิตติ ขันธมิตร-นพ.สมชาติ โตรักษา-นพ.เนรมิต คำวงศา

2110

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image