“พระเทพฯ” ทรงเปิดโรงเก็บผลิตภัณฑ์-วิจัยพืช ก้าวสำคัญโรงงานหลวง “ดอยคำ”พระราชทาน

ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและระลึกถึงในหลวง รัชกาลที่ 9 ของปวงชนชาวไทย ทำให้ผลิตภัณฑ์ในโครงการหลวงได้รับความนิยมอย่างน่าสนใจ

จึงเป็นที่มาของการเปิด “โรงเก็บผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และโรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช” จัดโดย บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ณ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่

การนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิด จากนั้นทรงรับฟังผลการดำเนินงาน และเสด็จฯทอดพระเนตรภายในโรงเก็บผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และโรงปฏิบัติการวิจัยทางพืชอย่างสนพระทัย

นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดอยคำฯ กล่าวภายหลังเฝ้าฯรับเสด็จว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทดอยคำเติบโตอย่างก้าวกระโดด เติบโตอย่างผิดปกติ ซึ่งตนตั้งข้อสังเกตว่า อาจเพราะความระลึกถึงของพสกนิกรชาวไทย ที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทำให้คนไทยหันมาอุดหนุนผลิตภัณฑ์โครงการหลวงต่างๆ รวมถึงกระแสคนรักสุขภาพ ตลอดจนการรีแบรนด์ของบริษัทดอยคำเมื่อปีที่ผ่านมา ฉะนั้น เมื่อความต้องการผลิตภัณฑ์ดอยคำมีมากขึ้น การผลิตจึงต้องมากขึ้นตาม โดยเฉพาะการต้องมีคลังขนาดใหญ่ไว้สต๊อกผลิตภัณฑ์และสังเกตการณ์ก่อนส่งไปขาย ซึ่งที่ผ่านมาเราเช่าคลังเก็บผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านโดยรอบพื้นที่โรงงาน ซึ่งอาจมีปัญหาเรื่องมาตรฐานและความเสียหายจากภัยธรรมชาติ จึงถือโอกาสลงทุนครั้งใหญ่ดังกล่าว

Advertisement
พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา
โรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช
โรงเก็บผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

สำหรับโรงเก็บผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และโรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช ตั้งห่างจากโรงงานหลวงเพียง 2 กิโลเมตร ในส่วนโรงเก็บผลิตภัณฑ์เป็นอาคาร 3 ชั้น ทำหน้าที่อย่างอเนกประสงค์ อาทิ พื้นที่เก็บผลิตภัณฑ์ สถานที่ขนถ่ายสินค้า ห้องเย็น โรงเก็บบ๊วยดอง ในพื้นที่ใช้สอยรวม 14,053 ตารางเมตร ออกแบบภายใต้แนวคิดโรงงานสีเขียว ทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน ใช้งบก่อสร้าง 211 ล้านบาท ส่วนโรงปฏิบัติการวิจัยและโรงเรือน เป็นอาคารชั้นเดียว ทำหน้าที่ผลิตต้นพันธุ์พืชที่คุณภาพดีปลอดโรค ด้วยกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ รวมถึงการปรับปรุงสายพันธุ์ให้มีผลผลิตและคุณภาพตามที่ต้องการ ใช้งบก่อสร้าง 20 ล้านบาท

ภายในโรงเก็บผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

“ผมเชื่อว่าหากวัตถุดิบต้นทางดี ผลิตภัณฑ์ปลายทางก็จะดีสอดคล้องกัน ฉะนั้น หากเราเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ขยายต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์แข็งแรงกระจายไปให้เกษตรกรปลูก อย่างสตรอเบอรี่ เกษตรกรก็จะลดการใช้สารเคมีปนเปื้อน สามารถลดต้นทุน ขณะเดียวกัน ต้นก็ให้ผลผลิตเพิ่ม เป็นผลผลิตที่มีคุณภาพ เหล่านี้จะทำให้เกษตรกรก้าวหน้าและมีรายได้เพิ่ม ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ต้องเริ่มทำ” นายพิพัฒพงศ์กล่าว และว่า

ภายหลังจากเสด็จฯทอดพระเนตร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีรับสั่งถึงการมองไปข้างหน้า การใช้นวัตกรรมดูแล การสร้างมาตรฐานห้องแล็บ และทรงพระกรุณาโปรดมาก ที่อะไรที่ได้ให้การบ้านไว้ ก็ทำหมดทุกอย่าง พระองค์ทรงมีรับสั่งความว่า “ทำมาดี ก็ทำให้ดีต่อไป” ก่อนที่ตนจะกราบทูลอีกว่า การทำอะไรต่อมิอะไร เพื่อจะถวายเป็นที่ระลึกถึงในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อให้คนหันกลับมาเห็นว่านี่เป็นโรงงานรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้

การเพาะเนื้อเยื้อ

ภายในงานมีการทูลเกล้าฯถวายอนุสิทธิบัตรกรรมวิธีกระบวนการผลิตมะเขือเทศผง ซึ่งศึกษาวิจัยโดยคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ก่อนพระองค์จะพระราชทานให้กับบริษัทดอยคำไปทำผลิตภัณฑ์ต่อ

ซึ่ง ผศ.ธนกร ราชพิลา อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สกลนคร พร้อมด้วยนางสาวกิ่งกาญจน์ ป้องทอง ผู้ร่วมวิจัยมะเขือเทศผง กล่าวร่วมกันว่า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมะเขือเทศ ซึ่งมีปัญหาการผลิตล้นตลาด และสู้ราคากับมะเขือเทศจากจีนไม่ได้ เราจึงได้ศึกษาวิจัยจนได้เป็นมะเขือเทศผง ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้หลายรูปแบบ อาทิ แคปซูลอัดเม็ด หรือบรรจุซอง เพื่อใช้ผสมในอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งสามารถให้สีแดงแทนสีผสมอาหาร และไม่มีกลิ่น ทั้งนี้ แม้จะเป็นผง แต่ก็ยังคงคุณสมบัติของมะเขือเทศไว้ครบถ้วน คือ สารไลโคปิน ที่สามารถยับยั้งและป้องกันการก่อตัวของมะเร็งต่อมลูกหมาก ปอด และกระเพาะอาหารได้

นอกจากนี้ ยังศึกษาวิจัยมะขามป้อมผง ซึ่งมีวิตามินซีสูง และสตรอเบอรี่ผง เพื่อมอบให้บริษัทดอยคำใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องเสริมอาหารต่อไปในอนาคต

ผศ.ธนกร ราชพิลา พร้อมนักวิจัย และผู้บริหารจากมรภ.สกลนคร

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image